เชียงใหม่ ในความทรงจำ

-

เขียนโดย SeanUeang

วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 10.35 น.

  4 ตอน
  1 วิจารณ์
  5,656 อ่าน

แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน พ.ศ. 2561 11.43 น. โดย เจ้าของนิยาย

แชร์นิยาย Share Share Share

 

3) บ้านใหม่หลังเก่า

อ่านบทความตามต้นฉบับ อ่านบทความเฉพาะข้อความ
ขนาดตัวอักษร เล็ก กลาง ใหญ่ ใหญ่มาก
เมื่อรถไฟพ้นจากอุโมงค์ขุนตาลในตำนาน รถไฟวิ่งฝ่าความมืดมิดร่วมห้านาทีจึงพบแสงสว่างอีกฟากของอุโมงค์
ตำนานได้กล่าวอ้างว่าชายต่างถิ่นใดได้ลอดอุโมงค์ขุนตาลจะได้ครองรักกับสาวเมืองเหนือ
อาจจะจริงแท้สำหรับบางคน แต่ไม่ใช่สำหรับทองสุก แม้มีรักสมัครใจต่อสาวเมืองเหนือ เขากลับมิสมหวังได้ร่วมครองรักดังปรารถนา
เขาล้วงมือลงกระเป๋าหนังหูหิ้วใบโต ขลุกขลักควานหาสิ่งหนึ่งจนพบ อัลบั้มภาพเล่มหนาปรากฎตัวออกมาจากกระเป๋าส่วนตัว ปกทำด้วยผ้าสักหลาดสีแดง ปักด้วยด้ายสีทอง “เชียงใหม่ในความทรงจำ” อัลบั้มแห่งความหลังและความทรงจำ  ถูกเก็บซ่อนไว้ถึงเจ็ดปี ตั้งแต่เขาอยู่กินกับแม่ของกันยา อัลบั้มนี้กลายเป็นความลับมาโดยตลอด เนื่องจากกาญจน์ค่อนข้างหึงหวงทองสุกไม่น้อย และไม่ชอบยิ่งหากทองสุกพูดถึงเชียงใหม่ แม้ว่าทั้งสองได้พบรักกันที่เชียงใหม่ก็ตาม
อัลบั้มเล่มนี้ดูเลอค่ามาก เสมือนมีมูลค่ามหาศาล
ใช่แล้ว ความทรงจำของทองสุกมีค่าเหนือยิ่งสิ่งใด โดยเฉพาะเรื่องของความรักในครั้งเก่า ทองสุกพูดกับกันยาเสมอว่า
“สมบัติล้ำค่าที่คนเรามองข้ามเสมอคือความทรงจำ แต่ไม่ใช่สำหรับพ่อ”
อัลบั้มเปิดรับแสงและสายลม เหมือนเปิดประตูมิติสู่อีกห้วงเวลาถึงวันคืนที่ผ่านพ้นมานานแสนนาน รูปถ่ายสีขาวดำ ย้อมสีซีเปียมากมาย มีภาพสีสอดแทรกแซมอยู่ไม่กี่ใบ ภาพเหล่านั้นบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของชายวัยกลางคน บางเรื่องลูกสาวไม่เคยรับรู้มาก่อน หนังสือภาพเล่มนี้ราวกับนวนิยายชีวิตของชายคนหนึ่ง โดยมีตัวหนังสือเป็นข้อความสั้นๆ เล่าเรื่องไปพร้อมกับภาพถ่าย ภาพแล้วภาพเล่าร้อยเรียงเป็นเรื่องราววรรณกรรม บรรยายชีวิตชายต่างถิ่นผู้มาใช้ชีวิตร่วมกับชาวเมืองเหนือ ทั้งเรื่องรบ เรื่องรัก
พ่อพลิกกลับสู่รูปแรกของเล่ม ภาพนั้นหาใช่ใครอื่น
“อภิสิทธิ์ชน คนไม่เปียกน้ำสงกรานต์ ปี ๒๔๙๘ จ่าสิบเอกเจษฎา โปธา”
รูปครึ่งตัวของพ่อบุญธรรมสมัยหนุ่มหล่อ ไว้หนวดดูเข้มแบบชาวตะวันตก สวมหมวกสักหลาด สะพายกล้องไว้รุงรังเต็มตัว ท่ามกลางคนมากมายรายล้อมในงานสงกรานต์เชียงใหม่
ทองสุกเป็นคนรอบคอบ รูปถ่ายทุกใบจะระบุวันเวลาและชื่อผู้ถ่ายภาพไว้ด้วย ช่วยเตือนความจำได้ดี
ในหน้าแรกๆ เป็นรูปถ่ายเมืองเชียงใหม่ในช่วงสงกรานต์ซึ่งพ่อได้เล่าผ่านไปแล้ว รูปขบวนแห่แหนพระพุทธสิหิงค์ พระเสตังคมณี ช่างฟ้อน บรรยากาศบ้านเมืองเชียงใหม่ในช่วงเทศกาลสำคัญ และสาวงามนามว่าปลาน้อยที่พ่อรักนักรักหนา หมดชุดรูปสงกรานต์เชียงใหม่แล้วเริ่มด้วยรูปสถานีรถไฟเชียงใหม่ อาคารไม้ขนาดยาวและกว้างใหญ่ มีอาคารหลังคาหน้าจั่วสูงฝั่งหนึ่งเป็นที่ทำการ อีกฟากตรงกันข้ามเป็นหอนาฬิกาสูงใหญ่คล้ายป้อมปราการโบราณ ซึ่งอีกไม่นานรถไฟจะนำพาทั้งสองไปยังที่แห่งนั้น ในหน้าเดียวกันมีรูปขนาดไม่ใหญ่มากเหน็บไว้มุมล่างขวา มุมรูปถูกหนีบเข้ากับสันอัลบั้มจนงอ ชายผมแสกกลางคนหนึ่งสวมเสื้อคอปก กางเกงขาบาน แต่สวมรองเท้าแตะดูตลกดี ยืนพิงรถเต่าสภาพเริ่มผุ ฉากหลังเป็นโรงแรมรถไฟ มุมรูปติดท้ายเล่มเกวียนวิ่งผ่าน ข้อความเขียนทับไว้ด่านล่างของรูป
“คนติดบุหรี่ กับเต่าแก่ของเขา ปี ๒๔๙๘ ทองสุก เชื้อประจิม”
**********
รถไฟเทียบเข้าสถานีเชียงใหม่เมื่อยามเช้า ผู้คนมากมายต่างลุกลี้ลุกลนเก็บข้าวของตนได้หอบหิ้วกลับบ้าน พวกเขาเบียดเสียดแย่งกันลงจากรถไฟดูชุลมุน เหมือนมดขนไข่หนีฝนอย่างไรอย่างนั้น ส่วนทองสุกไม่จำเป็นต้องเก็บข้าวของอะไรให้ยุ่งยากอย่างคนอื่น ด้วยทักษะจากการเดินป่าในต่างประเทศและการได้ไปร่วมสงครามเกาหลี ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องทำอะไรให้ตัวเองยุ่งยาก กระเป๋าเป้หนึ่งใบ กระเป๋าสะพายข้างไว้ใส่กล้องและฟิล์มอีกหนึ่งใบก็เพียงพอ สัมภาระอื่นๆที่จำเป็นถูกส่งมาล่วงหน้าแล้ว
บรรยากาศยามเช้า แสงแดดอ่อนๆกำลังสาดส่องเข้ามาในสถานี ผู้คนมากมายเดินกันขวักไขว่วุ่นวายนัก ทองสุกจำเป็นต้องเปลี่ยนกล้อง ใช้ตัวที่สามารถเก็บภาพมุมกว้าง เพื่อเก็บบรรยากาศในสถานีรถไฟปลายทางแห่งแดนเหนือ
คนอย่างเขา เห็นอะไรก็ถ่ายหมด ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร และเพราะอะไร ภาพถ่ายของเขาสามารถอธิบายแทนทุกอย่างที่เขาเห็น เพราะการเป็นช่างภาพสายข่าวและสารคดี เขาใส่ใจที่จะเก็บภาพในทุกๆช่วงเวลา ไม่ว่าจะเวลาใดได้ออกนอกบ้าน กล้องและกระเป๋ากล้องไม่เคยห่างตัว แม้แต่เวลาออกไปจ่ายตลาด กล้องก็ยังห้อยอยู่กับคอของเขาเช่นกัน
เก็บภาพบรรยากาศเสร็จแล้วเร่งจ้ำฝีเท้าออกไปหน้าสถานี แต่สถานการณ์โดยรอบเต็มไปด้วยผู้คนขวักไขว่กันจนสถานีรถไฟเชียงใหม่แทบแตก อาจต้องล่าช้าในการเดินออกไปยังจุดนัดหมายที่จ่าสิบเอกเจษฎาได้นัดไว้ คือบริเวณถนนด้านหน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่
รถเต่าสีเขียวเข้มอย่างรถจิ๊บทหารสภาพมอซอเหมือนทหารผ่านศึกเช่นเดียวกับเจ้าของมัน ที่เพิ่งผ่านสงครามเกาหลีมาได้สองปี จอดอยู่หน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ ชายวัยกำลังจะเข้าสามสิบในปีนี้เป็นเจ้าของ ยืนพิงรถสูบบุหรี่อย่างสบายใจ ควันบุหรี่ปลิวผ่านใบหน้าเคร่งขรึมเช่นชายชาญชาติทหารกล้า สายตาของเขามองไปยังตัวอาคารสถานีสุดแสนวุ่นวาย เนืองแน่นไปด้วยผู้คน
ทันใดนั้นปรากฏร่างชายคนหนึ่งโผล่พรวดออกจากฝูงชนคับคั่งเบียดเสียด แลชะเง้อหาใครสักคน ทันใดนั้นจ่าเจษผู้กำลังสูบบุหรี่อย่างสบายใจได้ยกมือให้เห็นเป็นพิกัด
จ่าสิบเอกเจษฎา ทุกคนเรียกสั้นๆว่า “จ่าเจษ” ฉายาเสือร้ายแห่งสันป่าตอง บ้านเกิดอยู่ป่าซาง จังหวัดลำพูน แม้ตัวเล็กกระจ้อยร่อยแต่อาจหาญไม่เคยกลัวใคร เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มบ่าว นิสัยห้าวนักเลง เคยขึ้นตีมวยมาแล้วหลายเวที และเป็นผู้ผ่านสงครามอันหนาวเหน็บ ณ คาบสมุทรเกาหลี
ทองสุกเดินปรี่ตัวปลิวจนดูเหมือนว่าสัมภาระได้ขนมาจากพระนครนั้นมันช่างเบาเสียเหลือเกิน กระเป๋าใบนั้นคงยัดมาเพียงนุ่นหรือหนังสือพิมพ์ให้ดูหนาเท่านั้น
ขณะชายหนุ่มเดินตรงเข้ามาหาชายผู้สูงวัยกว่า มือของเขาหมุนหน้าเลนส์กล้องไปพลาง ก่อนจะหมุนตัวกลับไป ยกกล้องลั่นชัตเตอร์เก็บภาพสถานีรถไฟ และหมุนตัวกลับมาอย่างรวดเร็วพร้อมกับขึ้นฟิล์มเฟรมต่อไป
“สวัสดีครับจ่า” ทองสุกกล่าวทักทาย ไม่ยกมือไหว้แต่ยกกล้องลั่นชัตเตอร์
“เอ้อ สวัสดี ไม่ได้เจอกันแค่ไม่ถึงปี แกดูหล่อขึ้นเยอะเลยนะ”
“จ่าก็พูดเกินไป ผมก็ยังเหมือนเดิมแหละ จ่าต่างหากที่ไม่เหมือนเดิม ได้ขึ้นเป็นจ่าสิบเอกแล้ว แบบนี้ต้องฉลอง”
“เออๆ ผมเลี้ยงแน่นอน เอ้าๆ เดี๋ยวจะเสียเวลา รีบเอาข้าวของครัวใช้ไว้ที่เบาะหลังรถซะ”
ทองสุกเปิดประตูรถเต่าได้ก็รีบโยนๆของไว้บนเบาะ ไม่ต้องให้มันเรียบร้อยนักหรอก ชีวิตทหารมันง่ายๆ ขอให้มันเป็นระเบียบและไม่พังก็พอ
เอาของขึ้นรถเสร็จก็ได้เวลาเดินทางสู่บ้านหลังใหม่ในชีวิต
ชีวิตในเมืองเหนือ
รถเต่าคันเก่าสุดแกร่งของจ่าสิบเอกเจษฎา ค่อยขยับขับเคลื่อนตัวออกห่างจากสถานีรถไฟอย่างเชื่องช้าสมชื่อรถเต่า ไปตามถนนลาดสายเล็กๆ พอให้รถคันใหญ่สวนกันได้โดยไม่ต้องหลบ
บ้านไม้ เรือนไทยลานนา อาคารพาณิชย์ไม้ห้องแถวชั้นเดียว และแบบไม้กึ่งปูนศิลปะอังกฤษผสมพื้นเมืองเรียงรายสองข้างทางบนถนนสายเจริญเมือง มีต้นทองกวาวปลูกเรียงรายสลับต้นก้ามปูเป็นแถวแนวสองฝั่งถนนเสมือนรั้วบ้าน บ้านเมืองนี้ช่างดูสงบเสียจริง การจราจรไม่วุ่นวายเหมือนกรุงเทพ ภาพวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายนั้นมีมนต์สะกดให้ทองสุกเป็นต้องเหลียวดู ผู้คนยังใส่ชุดพื้นเมืองกับการพูดจากันด้วยภาษาถิ่นเมืองเหนือ เป็นภาพแสนประทับใจ
วัวต่างเกวียนวิ่งรับส่งคนและสินค้าประปราย เรียกร้องให้ทองสุกยกกล้องขึ้นบันทึกภาพ
“ยินดีต้อนรับสู่เชียงใหม่นะคุณทองสุก” จ่าเจษเปรยขณะขับเคลื่อนรถของเขาผ่านชุมชนสันป่าข่อย ก่อนเลี้ยวเข้าตรอกซอยเล็กๆ ไม่นานนักก็ถึงบ้านไม้กึ่งปูนสองชั้น ศิลปะผสมผสานอังกฤษเข้ากับลานนาอันกำลังเป็นที่นิยมชมชอบของคนมีสตางค์ล้นกระเป๋า
นี่แหละบ้านของทองสุก บ้านที่จ่ายไปด้วยก้อนเงินสด เพราะต้นทุนชีวิตแสนดีของทองสุกเอง ประกอบกับรายได้จากงานถ่ายภาพซึ่งสร้างรายได้มหาศาลเป็นกอบเป็นกำ ด้วยสังคมเมืองไทยกำลังเริ่มนิยมการถ่ายภาพมากขึ้น ทองสุกติดต่อกับครูผู้ถ่ายทอดวิทยาการการถ่ายภาพจากตะวันตกและญี่ปุ่น เพื่อสั่งซื้อกล้องราคาถูกคุณภาพดีและฟิล์มถ่ายภาพมาขายให้กับคนไทย โดยเฉพาะกล้องสัญชาติอเมริกัน ซึ่งทางบริษัทกำลังผลิตกล้องคุณภาพดีในราคาประชาชนทั่วไปเอื้อมถึง ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะกลางๆ พอซื้อกล้องราคาไม่สูงมากได้
**********
อัลบั้มภาพเปิดรูปพ่อและผองเพื่อน หน้าหนึ่งเป็นทองสุกกับจ่าเจษยืนพิงรถเต่าสภาพซอมซ่ออยู่หน้าบ้านหลังนั้น
“บ้านใหม่ กับเพื่อนเก่า ปี ๒๔๙๘ ทองสุก เชื้อประจิม”
อีกหน้าเป็นรูปชายฉกรรจ์ยืนเป็นแถวเรียงรายนับได้หกคน มีสะพานนวรัฐเป็นฉากหลัง หนึ่งในนั้นมีทองสุกอยู่รั้งท้าย ต่างคนต่างเสนอหน้าเข้าหากล้อง
“ชมน้ำปิง ปี ๒๔๙๘ จ่าสิบเอกเจษฎาลั่นชัตเตอร์” ข้อความใต้ภาพเขียนไว้
“นี่ใครบ้างพ่อ” กันยาถาม เธอชำเลืองมองภาพนั้นใจจดจ่อ
“พ่ออยู่ท้ายสุดเพราะหาที่แทรกไม่ได้ คนหน้านี่จ่าเจษ ถัดไปคือจ่าเบศร์ สองสหายร่วมรบสมัยไปเกาหลี แล้วก็ไอ้วีระ ไอ้บรม ไอ้เล็ก” ปากเล่านิ้วก็ชี้ให้ดูเป็นคนไป
รอยยิ้มพลันปรากฏบนใบหน้าผู้พ่อ พลางหัวเราะเบาๆแล้วเปรยขึ้นว่า
“หวังว่าจะยังอยู่กันครบนะ ไม่เป็นพิษสุราตายกันไปเสียก่อน”
พูดแบบนี้ยืนยันได้เลยว่า พรรคพวกของพ่อกินเหล้าดุทุกคน
รถไฟขบวนยาวเหยียดลากสังขารของมันมาจากสถานีรถไฟหัวลำโพง พาผู้คนนับร้อยนับพันเดินทางข้ามภูมิภาคจนถึงจุดหมายปลายทางยังสถานีรถไฟเชียงใหม่ได้สำเร็จสวัสดิภาพ
ยามเช้า ฟ้ากำลังสาดแสงทอง ช่วงเวลาเดียวกับเมื่อเกือบสิบเก้าปีก่อน เมื่อลมสงกรานต์พัดทองสุกมาเชียงใหม่เป็นครั้งแรก ผู้คนพลุกพล่านขวักไขว่ราวกับมดขนไข่หนีฝน คนมาเที่ยวเชียงใหม่มีมากขึ้นทุกปีๆ ส่วนมากจะเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น ไม่ใช่คนลานนา และบางส่วนเป็นชาวต่างชาติ พากันหลั่งไหลล้นทะลักเข้ามาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๑๐ นับตั้งแต่ความเจริญด้านสาธารณูปโภค สังคม และการขนส่งของเมืองเชียงใหม่ พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดไปพร้อมกับกระแสโลกาภิวัฒน์ เพื่อให้สมกับศูนย์กลางของภาคเหนือเช่นโบราณกาลก่อน เชียงใหม่จึงเปลี่ยนไปมาก แม้ว่าช่วงปีพ.ศ.๒๕๑๐ เป็นต้นมา สงครามเวียดนามทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่นักท่องเที่ยวจากต่างชาติยังคงหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่เกรงกลัวสงคราม ซึ่งดุเดือดเลือดสาดอยู่ไม่ห่างนักจากพรหมแดนไทย ครั้งนั้น ทองสุกและจ่าเจษได้ไปร่วมสร้างวีรกรรมอันกล้าหาญ ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังเป็นภัยคุกคาม ณ ดินแดนเวียดนาม
“เชียงใหม่ มาถึงแล้ว” กันยารีบลงจากรถไฟ หมายจะได้ยืนอยู่บนผืนแผ่นดินลานนาเชียงใหม่
ผิดกับทองสุก เขาเดินลงมาอย่างสุขุม เยือกเย็น ความอาลัยอาวรณ์แทบล้นจากอก
ผืนแผ่นดินแห่งนี้ รอยเท้าของเขาไม่เคยเลือนหายไปแม้แต่ก้าวเดียว เขายังจดจำได้ทุกฝีก้าวเคยย่างกรายไป
“สิบกว่าปี ที่จากไป” เขาเปรยอย่างแผ่วเบา
“คิดถึงแม่จังเลย นึกถึงตอนที่พ่อพาแม่มาถ่ายรูปที่นี่ หนูยังจำได้”
เมื่อวันวานครั้งทองสุกยังคบหากับแม่ของกันยา “กาญจน์” เขาพาสองแม่ลูกกาญจน์และกันยามาถ่ายรูปในสถานีรถไฟ ถึงกับล้างผลาญฟิล์มไปนับสิบม้วนภายในวันเดียว มันเป็นวันที่กันยาประทับใจที่สุด
แต่ไม่ใช่กับทองสุก
“พ่อก็จำได้นะ” เสียงของทองสุกเย็นยะเยือก หนาวสะท้านเข้าไปถึงใจของกันยา ถึงกับสะอึกนิ่งไปเสีย
กันยาฉุกคิดว่าเธอไม่ควรพูดในเรื่องบางเรื่อง
ทองกวาวยังคงออกช่อดอกสีแสดแดง ประดับประดาเมืองเชียงใหม่ให้สวยงาม คู่กับเอื้องผึ้งเอื้องคำที่เหลืองอร่ามดั่งทองคำสวยงามทั่วทั้งนครพิงค์ เป็นทิวเรียงรายยาวสุดสายตาตลอดเส้นทางของถนนเจริญเมือง
เจริญเมือง เจริญไปมาก เจริญจนผิดหูผิดตาทองสุกไปเสียหมด อาคารพาณิชย์ปูนซีเมนเริ่มเข้าคุกคามรุกล้ำสองฝั่งถนน บดบังและเข้าแทนที่อาคารไม้รุ่นเก่า ซึ่งเคยเห็นจนชินตาเมื่อหนหลัง และบดบังทิวทัศน์ดอยสุเทพจากมุมถนนเจริญเมืองให้คับแคบลงไปกว่าเดิม โรงแรมรถไฟเชียงใหม่ดูเหมือนว่าถูกรื้อถอนออกไปเพื่อก่อสร้างเป็นอะไรใหม่ก็ไม่รู้ รถราวิ่งขวักไขว่วุ่นวายบนถนนคอนกรีตเสริมเหล็กทันสมัย การจลาจรเริ่มแน่นขึ้นจนเห็นได้ชัด ความเจริญหลั่งไหลมาสู่เชียงใหม่อย่างมากและรวดเร็วด้วยเวลาเพียงไม่กี่สิบปี
มันดูรวดเร็วเกินไป เกินกว่าทองสุกจะรับได้ แม้แต่คนท้องถิ่นเองก็ยังรู้สึกแบบนั้นเช่นกัน
เพื่อแลกกับความเจริญ ความสะดวกสบาย ความทันสมัย และความปลอดภัยในชีวิต จึงยอมให้สิ่งสวยงามเคยมีมาเลือนหายไปตามกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน
สองพ่อลูกพึ่งพารถโดยสารสายเชียงใหม่สันกำแพงตรงหน้าสถานีรถไฟขาเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ ผ่านท้องถนนเจริญเมืองที่เปลี่ยนไปจนทองสุกรู้สึกใจหาย กันยาเห็นพ่อเหลียวซ้ายเหลียวขวาตลอดเวลาที่นั่งอยู่บนรถ เขายกกล้องเก็บภาพอยู่สองสามภาพ จึงปล่อยให้มันห้อยอยู่ตรงหน้าอก
“เปลี่ยนไปมากจริงๆ” ทองสุกเปรยขึ้น
ไม่นานเกินห้านาทีก็ได้ลงรถ เดินเข้าตรอกซอยนิดหน่อยก็ถึงบ้าน
บ้านหลังเก่า
บ้านแห่งความหลัง
บ้านในความทรงจำของทองสุก
แต่เป็นบ้านหลังใหม่ในชีวิตกันยา ซึ่งโชคชะตาและสายลมสงกรานต์ พัดพาชีวิตสาวกรุงเทพคนนี้มาไว้ในเมืองเชียงใหม่ ตามเส้นทางชีวิตเธอได้เลือกเดิน
เดินตามรอยผู้พ่อบุญธรรมในแดนดินเชียงใหม่
ทองสุกยืนเหม่อมองบ้านหลังเดิมด้วยความคิดคะนึงหา
บ้านเก่ามาก แต่สภาพยังดูไม่ชำรุดทรุดโทรมมากนัก ตัวอาคารปูนกึ่งไม้สองชั้นศิลปะแบบอังกฤษสมัยสัมปทานป่าไม้ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาเชียงใหม่ อายุของมันประมาณสองชั่วอายุคนได้ แม้ว่ามันดูเก่าคร่ำคร่า แต่คุณค่าของมันมิใช่น้อยเลย ดูเลอค่ากว่าอาคารพาณิชย์รุ่นใหม่เสียด้วยซ้ำ
“น่ากลัวจัง” สภาพบ้านมืดหม่นขาดการดูแลมาหลายปีนั้นสร้างบรรยากาศอึมครึมเป็นภาพหลอนให้กันยาหวั่นกลัว
“เดี๋ยวจัดบ้านทำความสะอาดให้ดี ลูกจะไม่อยากเชื่อสายตาเลยล่ะ” ทองสุกพูดจบก็เดินไปปลดแม่กุญแจตัวเขื่อง ค่อยคลายโซ่ออกจากประตูรั้วเลื่อน ปลดสิ่งพันธนาการเคยสะกดบ้านหลังนี้ไว้ให้ร้างคนมาสิบปี
 ถึงเวลาปลดผนึก ประจัญบานกับฝุ่นเขรอะเกรอะกรัง สัตว์มีพิษมากหลาย จัดการกับบ้านที่ปล่อยรกร้างอึมครึมมานานหลายปีจนสกปรกรุงรัง เต็มไปด้วยความมืดมนหม่นหมอง ให้กลับมามีชีวิตชีวาสวยงาม และดูอบอุ่นเช่นกาลก่อนเช่นมันเคยเป็น พลิกโฉมบ้านผีสิงให้กลายเป็นวิมานสถานโอ่อ่า ส่วนใดเป็นปูนก็ขาวสะอาดตา ส่วนใดเป็นไม้ก็เงาวับด้วยขี้ผึ้งลูบชโลม หยากไย่ใยแมงมุม เศษใบไม้ และขยะมูลฝอยต่างๆ ถูกกำจัดออกไปให้สิ้น เมื่อการทำความสะอาดบูรณะซ่อมแซมบ้านครั้งใหญ่ลุล่วง เหมือนยกดอยหลวงเชียงดาวทั้งดอยออกจากอก ทองสุกและกันยาสำเร็จล่วงไปภายในหนึ่งวัน แม้สังขารนี้เหนื่อยล้ามาหนึ่งคืนเต็มกับการนั่งรถไฟจากพระนครหลวงมาถึงนครพิงค์เชียงใหม่ แต่สองพ่อลูกยอมอดยอมทนเพื่อให้ที่ซุกหัวนอนของตนนั้นสะอาดน่านอน
“เห็นแล้วก็หายเหนื่อยเลยเนาะพ่อ”
“แน่นอน ไม่น่าเชื่อว่าเราทำให้มันกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิม”
สองพ่อลูกยืนอยู่หน้าบ้านหลังเก่าในสภาพใหม่เอี่ยม เชยชมความงามอย่างพึงพอใจ ไฟทังเสตนสีเหลืองเจิดจ้าในยามพลบค่ำ ส่องสว่างไสวจนผิดหูผิดตาผู้คนรายรอบนั้น เพราะมันตกอยู่ในความดำมืดมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๗  จนทุกคนคิดว่ามันกลายสภาพเป็นบ้านร้างไปเสียแล้ว แสงนี้จึงเป็นสัญญาณให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงรับรู้ถึงการมาเยือนของเจ้าของบ้าน และน่าดีใจที่สุดเมื่อรู้ว่าเจ้าของบ้านยังคงเป็นคนเดิม “ทองสุก” คนบ้ากล้องจากกรุงเทพ
ทองสุกคนเดิม ทุกคนคุ้นเคยและจำได้ ในภาพชายผิวเข้มผู้มีกล้องถ่ายรูปห้อยคอตลอดเวลา
**********

 

คำยืนยันของเจ้าของนิยาย

✓ เรื่องนี้เป็นบทความเก่า ยังไม่ได้ทำการยืนยัน

คำวิจารณ์

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเขียนวิจารณ์ได้


รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
คำวิจารณ์เพิ่มเติม...

โหวต

เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ
0 /10
ความถูกต้องในการใช้ภาษา
0 /10
ภาษาที่ใช้น่าอ่าน
0 /10

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถโหวดได้


แบบสำรวจ

 

ไม่มีแบบสำรวจ

 

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา