เชียงใหม่ ในความทรงจำ

-

เขียนโดย SeanUeang

วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 10.35 น.

  4 ตอน
  1 วิจารณ์
  5,568 อ่าน

แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน พ.ศ. 2561 11.43 น. โดย เจ้าของนิยาย

แชร์นิยาย Share Share Share

 

2) แรกพบยลดวงพักตร์

อ่านบทความตามต้นฉบับ อ่านบทความเฉพาะข้อความ

​     ลมสงกรานต์พัดหวนกลับยังเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันเวลาย่างเข้าเดือนเมษายน พัดพาความคิดถึงให้มาบรรจบกัน คือการพัดพาคนในครอบครัวได้กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง พัดพาความสุข ความร่มเย็น ความงดงาม แห่งคิมหันตฤดู นิวัติสู่อ้อมกอดแห่งขุนเขาและสายน้ำปิง นอกจากนี้ ยังพัดหอบเอาคนจากต่างถิ่นมาสู่เมืองเชียงใหม่ และมีจำนวนมากขึ้นทุกๆปี

     เชิงสะพานนวรัฐฝั่งตะวันตก เนืองแน่นไปด้วยผู้คนออกมาเล่นน้ำจำนวนมากมายมหาศาล อีกส่วนหนึ่งก็ออกมารอชมขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญ และสรงน้ำพระพุทธรูป ณ พุทธสถานเชียงใหม่

     ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเมือง ฟ้อนแห่ครัวทาน สารพัดชื่อจะเรียกการฟ้อนรูปแบบนี้ แต่ชื่อที่นิยมใช้ที่สุด คงเป็นชื่อ “ฟ้อนเล็บ” เพราะเวลาฟ้อน ช่างฟ้อนต้องสวมเล็บปลอมทำจากทองเหลือง ฟ้อนเล็บเป็นการฟ้อนที่พบเห็นได้บ่อยในเชียงใหม่และแปดจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งรู้จักและเรียกกันในนามว่า “ลานนา” ทุกงานประเพณี ทุกเทศกาล งานรื่นเริง ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เจ้าใหญ่นายโต ฟ้อนเล็บถูกพูดถึงและนำออกมาฟ้อนเป็นอันดับแรกๆ โดยเฉพาะงานประเพณีสำคัญอย่าง สงกรานต์ ฟ้อนเล็บจึงเปรียบเสมือนสิ่งสำคัญอันขาดไม่ได้เลยในงานสงกรานต์ ราวกับเกิดมาคู่กัน เช่นเดียวกับพวงดอกทองกวาว เอื้องผึ้ง เอื้องคำ พวงดอกไม้ผู้เบ่งบานเมื่อประเพณีสงกรานต์มาถึง

     ช่างฟ้อนคนงามทั้งหลายกำลังฟ้อนรำอย่างพร้อมเพียง อ้อนแอ่นอรชรยุรยาทเยื่องย้าย ตามจังหวะวงกลองและทำนองเพลงปี่ นำหน้าขบวนพระพุทธรูป ซึ่งกำลังเคลื่อนออกจากเชียงใหม่เป็นเส้นเป็นสาย

     สำหรับงานบุญ ไม่มีคำว่าอิดโรย แม้ว่าระยะทางของขบวนต้องเคลื่อนไปนั้นแสนยาวไกลเพียงใด พวกเธอก็ยินดีฟ้อนรำนำไป

     ทุกสายตาจับจ้องเหล่าช่างฟ้อนคนงามหลายสิบชีวิต กำลังรำฟ้อนนำขบวนพระพุทธรูป พวกเธอเป็นเทพีแสนงาม เทพีแห่งเมืองเหนือ เทพีแห่งสงกรานต์เชียงใหม่ ความงามของเหล่าช่างฟ้อนสะกดทุกสายตาราวกับต้องมนต์ที่สำแดงออกมาผ่านท่วงท่าฟ้อนรำ

     เล็บปลอมประดิษฐ์จากทองเหลืองยาวเพียงคืบนั้นกรีดกราย เสื้อผ้าไหมแขนกระบอกสีไข่มุก ห่มสไบแพรอัดจีบสีชมพู ดูแวววาวเมื่อยามต้องแสงอาทิตย์งามจับตา นุ่งซิ่นลายขวางแบบฉบับเมืองเหนือ ต่อตีนผ้าซิ่นด้วยลวดลายอันวิจิตร เปี่ยมด้วยฝีมือเชิงช่างเลอล้ำค่า เกล้าผมมวย ทัดเอื้องคำ เธอช่างงาม เชิดฉายงามสง่า สาวเมืองเชียงใหม่นี้ งามมิยิ่งหย่อนไปกว่าสาวถิ่นอื่นใดในโลกหล้า ใบหน้าของเธอเอิบอิ่ม ดูมีความสุขยิ่ง แววตาร่าเริงสดใส เธอส่งรอยยิ้มส่งให้ทุกๆคน รอยยิ้มนั้นเป็นมิตร รอยยิ้มแสนพิมพ์ใจ และจะฝังลึกลงไปในหัวใจของผู้ชมทุกๆคน ใครมีกล้องถ่ายภาพ เป็นต้องยกกล้องขึ้นมาเล็ง แล้วลั่นไกชัตเตอร์

     ช่างภาพพร้อมกับกล้องขนาดใหญ่ มีเลนส์ยืดยาวออกมาด้วยกระโปรงจีบสีดำ เล็งกล้องไปหาช่างฟ้อนคนงามคนหนึ่งในขบวน ซึ่งไม่ได้งดงามเลิศเลอเยี่ยงนามงามอันผู้คนทั่วหล้าชื่นชม แต่สาวเอื้องเหนือคนนี้กลับมีเสน่ห์น่าหลงใหล ผิวขาวอมสีน้ำผึ้ง ตาเล็กใส หน้ามนแป้น พลันส่งยิ้มให้กล้องตัวใหญ่ตัวนั้น นั่นเป็นรอยยิ้มแสนหวาน รอยยิ้มพิมพ์ใจ

     รอยยิ้มของเธอช่างมีเสน่ห์ยิ่งเหลือ เกินหักห้ามใจมิให้หลงรักเธอในเพียงแรกพบ

     ช่างฟ้อนคนสวยแห่งเมืองเชียงใหม่คงไม่รู้ ว่าเธอกำลังสบสายตากับช่างกล้องหนุ่มคนนั้น ผ่านช่องมองเล็กๆ สายตาทั้งสองประสานกัน มีเพียงกระจกไม่กี่ชิ้นเท่านั้นขวางกลางกั้นเอาไว้

     นิ้วแตะรอบนปุ่มชัตเตอร์เรียบร้อยแล้ว เมื่อจังหวะมาถึง ก็ได้เวลาลั่นชัตเตอร์  กล้องเปิดช่องทางให้แสงฉายลงไปยังแผ่นฟิล์ม

     ช่างกล้องลดอุปกรณ์ลง สบตามองบรรจบเข้ากับสายตาช่างฟ้อนคนงามแบบตาต่อตา เผยให้เห็นใบหน้าอันคมเข้ม น่าเกรมขาม แฝงไปด้วยความนุ่มนวลและอบอุ่น พลางส่งยิ้มให้ด้วยไมตรีจิตอันดี

     ตาสบตา ยิ้มแลกยิ้ม ของชายหนุ่มต่างถิ่นกับสาวช่างฟ้อนเมืองเชียงใหม่

     เหมือนโลกทั้งใบมันช้าไปเสียหมด เสียงเซ็งแซ่จากผู้คนรอบข้างพลันเงียบสงัด เหลือเพียงจังหวะโต๊ะ ตึ่ง โนง ของวงกลองพื้นบ้าน เสียงปี่เคยอึกทึกกลับแผ่วเบา ผู้คนรอบข้างเสมือนไร้ความเคลื่อนไหวใดๆ มีเพียงเธอยังคงรำฟ้อนตามจังหวะกลองและทำนองปี่อย่างงามสง่า กลิ่นน้ำอบน้ำขมิ้นส้มป่อยลอยหอมฟุ้ง ชวนใฝ่ฝัน ให้พลันเคลิบเคลิ้มเมื่อได้ยลภาพเธอรำฟ้อน

     “แรกพบยลดวงพักตร์ ดลใจให้รัก สาวงามเวียงเหนือ”

     ช่างภาพหนุ่มพรรณนาพร่ำเพ้อในใจด้วยอารมณ์ศิลปินและความเจ้าบทเจ้ากลอนของตน ใจเขาต้องมนต์สาวเอื้องเหนือคนนี้เสียแล้ว

     สาวช่างฟ้อนคนงามแห่งนครพิงค์ จะติดตรึงใจของเขาไปชั่วกาลนาน

     ขบวนช่างฟ้อนและวงกลองผ่านไป ตามด้วยริ้วขบวนศักดิ์สิทธิ์ ช่างภาพหนุ่มเหลียวมองตามช่างฟ้อนที่เขาหมายปอง ใจอยากได้ภาพเธออีกสักภาพ ภาพมุมกว้างๆ ภาพเธอฟ้อนรำในขบวนแห่ศักดิ์สิทธิ์

     “เอ็งจะไปไหนวะ ทองสุก” ชายวัยสามสิบกว่าๆ ที่มาด้วยกันกับช่างภาพ ถามด้วยความสงสัย

     “ผมจะไปถ่ายช่างฟ้อนอีกมุมหนึ่ง ตรงนั้นเห็นอาคารพุทธสถานด้วย จ่าตามผมมาแล้วกันนะ” ตอบอย่างเร็วไว และรีบแทรกตัวฝ่าฝูงชนมากมายอย่างว่องไว

“อ้าวเฮ่ย แล้วเอ็งไม่... อ้าว ไปซะแล้ว ไวอย่างวอก” คำถามยังไม่ทันจบ ก็ไม่ทันเสียแล้ว

     ทองสุก เป็นคนต่างถิ่นจากเมืองพระนครหลวงกรุงเทพมหานครคนหนึ่ง ถูกลมสงกรานต์พัดพามาถึงเมืองเชียงใหม่ เขาเดินทางจากกรุงเทพเพื่อมาเที่ยวสงกรานต์เชียงใหม่เป็นครั้งแรก ตามคำเชื้อเชิญของจ่าสิบเอกเจษฎา นายทหารชาวเชียงใหม่ ทั้งสองได้รู้จักกันเมื่อทองสุกไปทำหน้าที่นักข่าวและช่างภาพสงครามในสงครามเกาหลี

     ทองสุกไม่ใช่ชาวกรุงเทพโดยกำเนิด แต่เกิดที่อำเภอพระประแดง สมุทรปราการ

     รีบเร่งฝีเท้าจ้ำเข้าไป ฝ่าฝูงชนให้ไวว่อง เพื่อรอถ่ายขบวนช่างฟ้อนอีกภาพ โดยเฉพาะภาพของเธอคนนั้น

     ภาพของเธอ ไม่เพียงแต่บันทึกอยู่ในม้วนฟิล์มเท่านั้น แต่ฝังลึกลงไปในห้วงดวงใจของเขาด้วย เพราะอะไร ทำไมหนอ จึงได้รักเธอเพียงแรกพบสบตา สาวงามช่างฟ้อนคนนี้มีมนต์หรือไร แม้นว่าเธอมิได้งดงามมากไปกว่าสาวชาวพระนครหลวงกรุงเทพ แต่เธอดูนุ่มนวล อ่อนหวาน สง่างาม เลอล้ำค่า สำหรับทองสุกแล้ว เธอสวยมาก สวยจนลืมความงามของสาวชาวกรุงไปเสียหมดสิ้น ใจนี้อยากพบ อยากรู้จัก อยากใกล้ชิด และครองคู่กับเธอ เธอเท่านั้น

     เมืองเหนือนี้นี่หนอ ไม่มีใครคนไหนเลย จะสามารถรอดพ้นจากมนต์ขลังไปได้

     มนต์ขลัง แห่งเวียงเชียงใหม่

     มนต์เสน่ห์ แห่งสาวเอื้องเหนือ

     เอื้องฟ้าในป่าไพรและดงดอย หาใช่งามด้อยไปกว่ากุหลาบสีสวยในเมืองกรุง

     ฝ่าฝูงชนมากมายมหาศาลมาถึงยังจุดหมายได้ทันท่วงที ขบวนช่างฟ้อนกำลังเคลื่อนมาช้าๆ เข้าสู่ตำแหน่งที่หมายไว้ เร่งปรับระยะโฟกัส รูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ ด้วยความคล่องแคล่วว่องไวชำนิชำนาญ แล้วยกกล้องขึ้นเล็ง จัดองค์ประกอบภาพให้ลงตัว รอเวลาให้ช่างฟ้อนจะเข้าสู่ตำแหน่งที่ต้องการ

     กล้องกระโปรงพับคุณภาพดีสัญชาติเยอรมันคู่มือตัวนี้ มีองศาภาพมุมกว้าง ทำให้สามารถเห็นได้ทั้งอาคารไม้พุทธสถานเชียงใหม่ ขบวนช่างฟ้อนทั้งขบวน ตลอดจนสภาพบ้านเรือนและบรรยากาศบนถนนท่าแพ โดยมีช่างฟ้อนคนงามคนนั้นเป็นจุดเด่นของภาพ

     และแล้วก็ถึงเวลาลั่นไกชัตเตอร์อีกครั้ง เมื่อเธอคนนั้นเข้าสู่พิสัยกล้อง ชัตเตอร์ลั่นฉับบันทึกความทรงจำ เป็นภาพสุดท้ายของฟิล์มม้วนนี้พอดี ปิดจบม้วนอย่างงดงาม

     ลดกล้องลงเพื่อกรอฟิล์มเก็บเข้าม้วน แต่ยังคงแลมองสาวช่างฟ้อนคนนั้นด้วยใจหมายปอง

     เป็นอีกครั้งที่ทั้งสองได้สบตา แต่คราวนี้ ทองสุกได้ยืนในตำแหน่งใกล้กับเธอมากขึ้น ใกล้มากพอจะสนทนากันได้ ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ของบรรยากาศรอบข้าง

     “น่ารักจังเลยนะครับ” เอ่ยปากชมด้วยจริงใจและน้ำเสียงนุ่มนวล

     ทางฝ่ายช่างฟ้อนมิอาจเอ่ยถ้อยวาจาตอบโต้ได้ ด้วยหน้าที่ของเธอต้องฟ้อนรำจนกว่าขบวนทั้งหมดจะเข้าสู่พุทธสถาน ทำได้เพียงยิ้ม และหลบสายตาอย่างเขินอายเท่านั้น

     เมื่อขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญเข้าสู่พุทธสถานจนแล้วสิ้น ประชาชนทั้งชาวเชียงใหม่และคนต่างถิ่น เข้าร่วมงานสรงน้ำพระพุทธรูปประจำเมืองเชียงใหม่ในเขตพุทธสถาน ด้วยเป็นงานบุญใหญ่ในรอบปี พุทธสถานจึงดูคึกคัก ผู้คนเนืองแน่นจนดูอึดอัด

     “เฮ่ย ทองสุก แกมองหาใครอยู่วะ” จ่าเจษเอ่ยปากถามเมื่อเขาเห็นทีท่าของทองสุก กำลังชะเง้อหาใครบางคนด้วยใจกระวนกระวาย

     เขาชะเง้อมองหาช่างฟ้อนคนนั้นด้วยใจร้อนรุ่ม ดั่งไฟลุกโชนในดวงใจ เขาหมายใจว่าวันนี้จะต้องทำความรู้จักกับเธอให้ได้

     “ช่างฟ้อนคนหนึ่งน่ะจ่า”

     “แกมาหลงรักช่างฟ้อนที่นี่ แล้วแกเคยรู้จักเขามาก่อนเหรอ”

     “ไม่ ผมไม่รู้จักเธอมาก่อน”

     “แกนี่หนา” จ่าเจษพูดลอยๆ

      ทองสุกไม่สนใจคำพูดจ่าเจษ ยังคงใจจดจ่อกับการมองหาช่างฟ้อนที่หมายปอง ท่ามกลางผู้คนหลายร้อย มาร่วมสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญ เอื้องคำสีเหลืองสดใสนั้นสะดุดตา เหล่าช่างฟ้อนสี่คนพากันไปสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ บ้างถือขันเงิน บ้างก็ถือสรวยดอกไม้ สายตาผู้ผ่านสงครามนั้นมิเคยพลาดเป้า หนึ่งในช่างฟ้อนสี่คนนั้น มีช่างฟ้อนที่ทองสุกหมายปองอยู่ด้วย

     ทองสุกเดินมุ่งตรงไปหาเธอ พลางคิดแผนในหัวไว้ว่าจะเริ่มสนทนากับเธออย่างไรดี หรือจะจีบเธอด้วยวิธีไหน

     เดินไป มือก็ใส่ฟิล์มม้วนใหม่ลงกล้องให้วุ่น เสร็จตัวหนึ่ง ก็ไปใส่อีกตัวหนึ่ง นึกขึ้นได้ว่าพกกล้องพับยี่ห้อโพลารอยด์มาด้วย กล้องที่ถ่ายแล้วได้ภาพทันที มีกระบวนการล้างอัดฟิล์มในตัวฟิล์มเอง แผนหนึ่งของช่างภาพความคิดบรรเจิดก็ผุดขึ้นมาในหัว

     สลุงเงินใบน้อยลวดลายวิจิตร หยาดน้ำขมิ้นส้มป่อยอย่างบรรจงลงรางรินน้ำ น้ำแห่งศรัทธาไหลไปเป็นสายไปตามราง สุดปลายทางแล้วรินลงสู่องค์พระพุทธสิหิงค์เป็นสายระลอกน้อยๆ กระทบแสงแดดระยับ องค์พระพุทธสิหิงค์สีทองอร่าม น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่ง

     พระพุทธสิหิงค์ ชาวเมืองเชียงใหม่เรียกว่า พระสิงห์ เป็นคติความเชื่อจากศรีลังกาแต่ครั้งโบราณ พวกเขาเชื่อว่า นี่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เมืองเชียงใหม่ได้รับจากดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาลังกา ด้วยความเป็นสิงห์ขององค์พระปฏิมาฯ รูปร่างขององค์พระจึงอ้วนอวบหนา บึกบึนน่าเกรงขาม ใบหน้านิ่งสงบเปี่ยมด้วยบารมี ต่างจากองค์พระในถิ่นอื่นๆ ซึ่งเน้นความงดงามดุจอิสตรี

     น้ำส้มป่อยรินรดลงองค์พระปฏิมา ชาวเมืองเหนือเชื่อว่าส้มป่อยคือพืชที่มีพลังอำนาจในตัว เป็นของศักดิ์สิทธิ์ นำมาผสมน้ำเป็นน้ำมนต์ดีนัก ส้มป่อยจึงปรากฏในพิธีกรรมต่างๆ ของชาวลานนา

     ใบหน้าของสาวน้อยผู้เปี่ยมด้วยศรัทธาผุดผ่องสดใส มององค์พระอย่างมีสติและสงบ สำรวมกายวาจาอย่างเรียบร้อย เป็นภาพน่าประทับใจอย่างยิ่ง

     เมื่อน้ำในสลุงน้อยถูกรินออกจนหมด จึงค่อยๆเงยหน้าขึ้น

ด้านหลังองค์พระ เฉียงไปเบื้องขวาของเธอ คือช่างภาพดูคุ้นหน้าคุ้นตา เขาเดินเข้ามาหาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและเป็นมิตร พร้อมยื่นกระดาษสีขาวให้กับเธอ

     “ผมให้คุณครับ”

     บทสนทนาเล็กๆ จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์

     สาวช่างฟ้อนอมยิ้ม เมื่อสบตาหนุ่มช่างกล้องชาวใต้ เธอแสดงอาการอายออกมาอย่างชัดเจน  หน้าแดง ยืนเกร็ง และไม่ปริปากพูดสิ่งใดๆเลย

     “รับรูปสวยๆ ของคุณไว้เป็นที่ระลึกเถอะครับ” ทองสุกพยายามชวนคุย แต่กลับไร้เสียงใดๆตอบกลับจากเธอ มีเพียงเสียงซิบซาบจากเพื่อนๆของเธออีกสามคนซึ่งยืนอยู่ไม่ห่างนัก

     “นั่นแน่ โอกาสมาแล้วเน้อปลาน้อย” เพื่อนของเธอยุเสริม

     “บ้า!” เธอปริปากพูดคำแรก หลังจากยืนนิ่งมาเสียนาน

     “นั่นๆๆๆ อย่างกับละครจอแก้ว พบรักเมื่อวันสงกรานต์”

     เธอรับรูปนั้นจากมือทองสุก รูปถ่ายของเธอค่อยชัดขึ้นเป็นลำดับตามกระบวนการเคมี ภาพนั้นคือภาพของเธอกำลังสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์

     “ผมแนะนำว่า ให้คุณนำรูปนี้ไปส่งร้านถ่ายภาพ ให้เขาคัดลอกแล้วอัดรูปนะครับ เพราะฟิล์มพวกนี้อายุไม่ยาวเท่ากับรูปที่อัดด้วยกระดาษอัดโดยตรง” ทองสุกให้คำแนะนำแก่เธอ

     ฟิลมแบบอินแสตนท์ คนไทยเรียกว่าโพลารอยด์ตามชื่อยี่ห้อ เป็นฟิล์มที่ให้ภาพได้ทันทีหลังจากการถ่าย แต่อายุการเก็บรักษาไม่ยืนยาวนัก อย่างมากก็ห้าสิบปี อย่างต่ำก็แค่สิบถึงยี่สิบปี ทองสุกสื่อเป็นนัยยะว่า อยากให้เธอเก็บรักษาสิ่งที่เขามอบให้ไว้นานๆ

     ภาพแห่งความทรงจำนี้เป็นพยาน ว่าครั้งหนึ่ง สงกรานต์เชียงใหม่ทำให้เขาและเธอได้มาพบกัน

     พลิกดูข้างหลังภาพ มีข้อความเขียนด้วยลายมือของทองสุกอย่างบรรจง ความว่า “มอบให้ช่างฟ้อนคนสวย ถ่ายไว้เมื่อ ๑๓/๐๔/๒๔๙๘ พุทธสถานเชียงใหม่” อ่านแล้วก็ยิ้ม ไม่คาดคิดมาก่อนว่า จะมีคนมาชมผู้หญิงหน้าตาบ้านๆอย่างเธอว่าสวย

     “ขอโทษนะครับ ชื่ออะไรเหรอครับ” ทองสุกถามด้วยวาจาอ่อนหวานและสุภาพ

     “ปลาน้อยเจ้า! ยังบ่มีคู่เน้อ โสด” เสียงนั่นไม่ใช่เสียงของเธอ แต่เป็นเสียงของเพื่อนของเธอ เป็นเหมือนกองเชียร์อยู่ใกล้ๆ

     “ปลาน้อยครับ” เรียกชื่อเธออย่างสุภาพ

     อยากขอที่อยู่เธอเพื่อส่งจดหมายมาหา แต่เกรงกลัวจะเป็นการเสียมารยาทเกินไป จึงเอ่ยว่า

     “ปลาน้อยมาฟ้อนทุกปีไหมครับ”

     “มาบ้างไม่มาบ้าง แต่น้องมาร่วมงานที่พุทธสถานทุกปี” ออกตัวว่าอายุอ่อนกว่าทองสุก

     “ถ้าปีหน้าปีไหนพี่มีโอกาสกลับมาสงกรานต์เชียงใหม่อีก พี่จะเอารูปของน้องมาให้นะครับ”

     “เจ้า ยินดีนักๆเน้อเจ้า” ยินดี ในภาษาคำเมือง แปลว่าขอบคุณ เธอเงยหน้าสบตาทองสุกอีกครั้ง ช่างเป็นเวลาที่มีความสุขสำหรับทองสุกเหลือเกิน มันดูหวานซึ้ง งดงาม และน่าจดจำเป็นยิ่ง

“พี่ชื่อทองสุกครับ ปลาน้อย” อยากจะอยู่กับเธอนานๆ แต่เหมือนฟ้าไม่เป็นใจ

     “ทองสุก อีกไม่นานก็ได้เวลากลับแล้ว เดี๋ยวจะไปถึงสันป่าตองค่ำมืด ไม่ได้ทำอะไรซักอย่าง” เสียงของจ่าเจษดังมาจากข้างหลัง

     “ถ้าอย่างนั้น น้องขอตัวก่อนเน้อเจ้า น้องก็มีธุระต่อเหมือนกัน” ต่างคน ต่างก็มีภาระต้องทำ

     วันเวลาแห่งความสุขช่างผ่านไปเร็วไวเสียเหลือเกิน ทองสุกมองหน้าปลาน้อยอย่างอาลัย อยากอยู่พูดคุย อยากทำความรู้จักกันให้มากกว่านี้ เขาหวัง และหวังอย่างมาก ว่าจะกลับมาพบเธออีกให้ได้ ไม่เร็วก็ช้า

     “ผมขอตัวก่อนนะครับ แล้วผมจะกลับมาหาใหม่” ทองสุกให้คำมั่น แต่ปลาน้อยหาได้เชื่อคำเขาไม่

     ใครจะไปเชื่อกับคำพูดของคนเพิ่งจะรู้จักกัน คำสัญญาจากชายแปลกหน้า พูดจาคนละภาษา ต่างบ้านต่างเมือง จะให้ปักใจเชื่อได้อย่างไร แต่ก็ปฏิบัติตนไปตามมารยาท เธอยิ้มรับคำนั้น พยักหน้าเล็กๆพองาม

     ทองสุกเดินจากไปอย่างอาลัยอาวรณ์ ใจเขามีเพียงปลาน้อย พร่ำเพ้อทุกวินาทีถึงแต่ปลาน้อย ปลาน้อย ปลาน้อย ชื่อนี้วนเวียนในดวงจิตมิรู้วาง เหลียวหลังมาดู ก็เห็นปลาน้อยและเพื่อนๆ โบกมือลาและหันหลังเดินลับไปในฝูงชน

     ปวดใจเหลือเกิน ที่จำต้องลาไกลคนรักของตน แม้เป็นรักเพียงแรกพบก็ตาม

     รักเอ๋ย รักแรกพบ ยากนักจะหักใจ มันจริงแท้ดังเขาเล่าว่า ห้ามสายน้ำ ห้ามสายลม ห้ามแสงแดด ยังห้ามได้ แต่ห้ามความรู้สึกและใจรักนั้นมิได้เลย

     ภาพของวันสงกรานต์ในม้วนฟิล์มจะถูกล้างและอัดภาพในเร็ววันหลังจากทองสุกกลับกรุงเทพ

     ภาพของวันสงกรานต์ปีนี้ ปีพ.ศ.๒๔๙๘ จะอยู่ในฟิล์มและภาพถ่ายเรื่อยไปเท่าที่มันจะอยู่ไปถึง แต่ภาพของปลาน้อยรำฟ้อนนั้น จะไม่มีวันหายไปจากใจของทองสุก เขารักเธอเพียงแรกพบ รักมาก โดยไม่คิดเผื่อใจเสียเลยสำหรับรักในครั้งนี้ ทองสุกตั้งใจว่า สงกรานต์เชียงใหม่ปีหน้า และต่อไปทุกๆปี หรือหากแม้มีโอกาสกลับมาเชียงใหม่ เขาจะกลับมาเพื่อหาผู้หญิงที่ชื่อ “ปลาน้อย”

     เมื่อลมสงกรานต์พัดผ่านพ้นเมืองเชียงใหม่ไป ดอกทองกวาว เอื้องผึ้ง เอื้องคำ ก็ร่วงโรยลงไปตามวันเวลาฤดูกาล รอคอยลมสงกรานต์รอบใหม่พัดมาเยือนในปีต่อไป ทุกชีวิตกลับสู่สภาวะปกติอย่างที่เคยเป็น ยกเว้นใครบางคนที่ยังคงเพ้อหาถึงช่วงเวลาที่เขาจดจำไม่เคยลืม สงกรานต์เชียงใหม่ทำให้เขาได้พบกับความรัก

     อยากขอบคุณลมสงกรานต์ ที่ช่วยหอบเขามาจากพระนครหลวงกรุงเทพ พัดพามาถึงเมืองเชียงใหม่ ให้ได้มาพบกับความสุข ความรัก ความทรงจำ และความผูกพัน ที่ลมสงกรานต์พัดนำมามอบให้กับเขา ณ เมืองเชียงใหม่

     อยากขอบคุณสายน้ำแม่ระมิงค์ ที่ช่วยพัดพาให้สาวเชียงใหม่นามว่า “ปลาน้อย” ได้มาพบกับเขา

     หากสายลมสงกรานต์คือสายลมแห่งความรัก สายน้ำแม่ปิงระมิงค์เชียงใหม่คงเป็นสายธารแห่งความรัก

     บัดนี้ ลมฝนกำลังพัดมาเยือนเชียงใหม่แล้ว และลงมาเยือนถึงเมืองพระนครหลวงกรุงเทพด้วย

     ยามเย็นในวันหนึ่ง ฝนห่าแรกเทลงจากฟากฟ้าเมืองบน สู่เมืองคนพื้นปฐวี สวรรค์มอบความชุ่มฉ่ำแก่เมืองคนเป็นหนแรกในรอบปี ละอองฝนปลิวฟุ้งตามสายลมอ่อนๆ กรุงเทพมหานครพลันเงียบสงัด ไร้ซึ่งรถหรือผู้คนใดๆสัญจรไปมาบนถนนเลย มีเพียงเสียงเพลงจากลำโพงรูปแตรทองเหลือง กำลังขับขานเสียงเพลงจากแผ่นครั่งสีดำมันเงาวับ กำลังหมุนไปตามวงจร เคล้าคลอกับบรรยากาศยามฝนตกดังมาจากบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งภายในห้องเปิดไฟทังเสตนสีเหลือง ชายนั่งประจำโต๊ะทำงานกำลังเขียนบันทึกเรื่องราว เขาพยายามถ่ายทอดความรู้สึกภายในใจ ยากจะอธิบายให้ใครฟังได้ พร่ำเพ้อพรรณนาต่างๆ ถึงสาวเชียงใหม่คนหนึ่ง ซึ่งได้พบกันในวันสงกรานต์เชียงใหม่

     ลมสงกรานต์ที่พัดมาเยือนเชียงใหม่ครั้งนั้น ได้พัดพาให้ทั้งสองคนได้มาพบกัน

     นี่เป็นรักแรกพบของเขา และสามารถทำให้เขาเพ้อคร่ำครวญได้ทุกมื้อยาม

     รูปบุคคลเต็มตัว ซึ่งเป็นรูปของปลาน้อยกำลังฟ้อนรำ ถูกอัดใส่กรอบไม้อย่างดี วางไว้บนโต๊ะทำงาน ให้เขาได้พร่ำเพ้อครวญหาทุกๆวัน

     หลังจากเขียนบทสารคดีและจัดส่งเอกสารมาทั้งวัน ทองสุกพักเหนื่อยด้วยการจิบเบียร์และเขียนบทกวี

     บทเพลงจากความรู้สึกอัดอั้นในใจ เขาเขียนเพลงหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้ปลาน้อยเพียงคนเดียว และเขาก็ร้องให้ตัวเองฟังพียงคนเดียว เพราะเขาไม่รู้เลยว่า หากร้องเพลงนี้ให้ปลาน้อยฟัง ปลาน้อยจะรู้สึกอย่างไร จะยอมรับในความรับที่เขามอบให้ไหม

     มีความรัก ก็มีความสุข แต่บางครั้ง ในความหวังที่ได้มาซึ่งความสุข ย่อมมีความทุกข์ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนมีความรักเสมอๆ

     “เมื่อแรกพบ ยลดวงพักตร์ ดลใจให้รัก สาวงามเวียงเหนือ”

     นี่ไม่ใช่รักแรกของทองสุก แต่เป็นความรักแรกพบของทองสุก ครั้งแรกในชีวิต

     “ส่งรอยยิ้มแสนพิมพ์ใจ ให้พี่ใฝ่ปอง เฝ้าแลมอง นวลน้องฟ้อนรำ”

     รอยยิ้มเมื่อแรกพบ ยังคงปักจิตเขาไม่รู้คลาย

     “ใส่เสื้อสีสวย ผ้าซิ่นนั้นด้วย ลวดลายเลอล้ำ

     เกล้าผมมวยทัดเอื้องคำ เจ้างามคู่เวียงเหนือ งามยิ่งเหลือ แม่หญิงนครพิงค์”

     ช่างฟ้อนชาวเชียงใหม่นามว่า “ปลาน้อย” กำลังทำให้ชีวิตของหนุ่มเมืองกรุงคนหนึ่งเปลี่ยน  ไปทั้งชีวิต ร้อนรุ่มไปทั้งใจ สมองคิดหมุนวนเวียน แค่เพียงเรื่องของปลาน้อย ความรักครั้งนี้ครอบงำจิตใจของเขา ดั่งต้องมนต์ของสาวช่างฟ้อนเมื่อวันสงกรานต์ มนต์ขลังเหนี่ยวรัดดวงใจของเขาไปอีกนานแสนนาน

     สิ่งที่ทองสุกอยากจะทำให้สำเร็จเป็นขั้นแรกในความรักครั้งนี้ คือการตามหาปลาน้อยให้พบ

     และแล้วในวันหนึ่งที่ฟ้าปลอดโปร่ง อากาศแจ้งแจ่มใส โอกาสก็มาถึง มีจดหมายหยอดใส่ตู้ทิ้งไว้รอให้เปิดอ่าน ทองสุกเห็นเป็นจดหมายจากสำนักงาน รีบแกะอ่านลุ้นระทึกยิ่งกว่าลุ้นหวยลอตเตอรี่

      “อนุมัติให้คุณทองสุก ย้ายขึ้นไปประจำอยู่กับสำนักงานสาขาภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่”

ไม่มีสิ่งใดน่ายินดีไปมากกว่าเรื่องนี้อีกแล้ว เขาลุ่มหลงคลั่งไคล้สาวเชียงใหม่คนนี้เสียโงหัวไม่ขึ้น ด้วยมนต์รักและมนต์ขลัง เหนี่ยวรั้งดวงใจเขาไว้ ณ แดนดินถิ่นเหนือ นามว่าเวียงพิงค์เชียงใหม่

**********

     “พ่อดีใจโคตรๆเลยล่ะวันนั้น” ทองสุกพูดกับลูก

     “ไหนว่าพ่อจำไม่ค่อยได้ไง เล่ามาเสียละเอียดยิบเป็นเมล็ดงาบด” ลูกสาวช่างเปรียบเปรย

     “ก็จำไม่ค่อยได้แหละ ถ้าจำได้คงจะละเอียดกว่านี้”

     “โห ถ้าพ่อจำได้ยิ่งกว่านี้ ให้เล่าเป็นวันก็ไม่จบ”

     ทองสุกในวัย ๔๗ ปี พา “กันยา” ลูกสาวบุญธรรมของเขา นั่งรถไฟจากหัวลำโพงเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง คือสถานีรถไฟเชียงใหม่ เพื่อพาลูกสาวไปมอบตัวเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหม่ในชีวิตเธอ แต่เป็นหลังเก่าของตัวเขาเอง บ้านที่เต็มไปด้วยความหลังและความทรงจำ

      หัวรถจักรขนาดใหญ่ลากสังขารของมัน พ่วงติดไปด้วยตู้รถขนาดไม่ได้น้อยไปกว่ามันด้วยจำนวนหลายสิบ ผ่านป่าฝ่าดงมาจนเข้าเขตภูมิภาคลานนา หรือภาคเหนือของประเทศไทยแล้ว เส้นทางในภาพจำอันคุ้นเคย เมฆหมอกลอยเต็มฟ้าปกคลุมบดบังยอดดอยเอาไว้ ดลจิตดลใจให้ทองสุกผู้พ่อร้องเพลงท่อนหนึ่งขึ้นมาเบาๆเคล้าบรรยากาศภายนอก

     “ป่าเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บาน.....”

     “ลมฝนบนฟ้าผ่านฟ้ามองดังม่านน้ำตา” ลูกสาวร้องประสานเสียงในวรรคต่อมา

     “ร้องได้ไงเนี่ย” ทองสุกถามด้วยความสงสัย

     “อ้าว ก็พ่อเล่นเปิดฟังแทบจะทุกวัน จะร้องไม่ได้ไปได้ยังไง”

      พ่อลูกคู่นี้สนทนากันอย่างสนุกสนาน ด้วยความสนิทกันมากจนแทบจะกอดคอกันได้ โชคดีของกันยา ทองสุกเป็นพ่อหัวคิดสมัยใหม่ ด้วยเคยไปศึกษาการถ่ายภาพถึงเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ จึงเปิดกว้างและให้โอกาสลูกสาวบุญธรรมคนนี้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตามใจเธอใฝ่ต้องการ

**********

 วอก – ลิง บางครั้งก็ใช้เป็นคำด่า

 สลุง – ขัน

 

คำยืนยันของเจ้าของนิยาย

✓ เรื่องนี้เป็นบทความเก่า ยังไม่ได้ทำการยืนยัน

คำวิจารณ์

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเขียนวิจารณ์ได้


รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
คำวิจารณ์เพิ่มเติม...

โหวต

เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ
0 /10
ความถูกต้องในการใช้ภาษา
0 /10
ภาษาที่ใช้น่าอ่าน
0 /10

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถโหวดได้


แบบสำรวจ

 

ไม่มีแบบสำรวจ

 

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา