เชียงใหม่ ในความทรงจำ

-

เขียนโดย SeanUeang

วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 10.35 น.

  4 ตอน
  1 วิจารณ์
  5,668 อ่าน

แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน พ.ศ. 2561 11.43 น. โดย เจ้าของนิยาย

แชร์นิยาย Share Share Share

 

4) เวียงเชียงใหม่

อ่านบทความตามต้นฉบับ อ่านบทความเฉพาะข้อความ

​ดวงสุริยนยังมิโผล่พ้นขอบฟ้าเหนือขุนเขาแม่ออน จึงปรากฏเพียงลำแสงแห่งช่วงอาทิตย์อุทัย ณ เบื้องทิศอำเภอสันกำแพงเป็นสีแดงส้มรำไร ค่อยทยอยกลืนกินพื้นที่สีดำในรัตติกาลทีละนิดละหน่อย ส่วนฟากฟ้าฝั่งตะวันตกน้ำปิงยังมืดสนิท แต่มีเสียงไก่โห่ขันปลุกชาวเมืองเชียงใหม่ลุกตื่นก่อนตะวันฉายฟ้า

โคมไฟให้แสงสว่าง ส่องพื้นสะพานนวรัฐไปตลอดช่วงความยาว รายรอบล้อมด้วยความมืดมิดของผืนน้ำแม่ระมิงค์ เสียงลมขับกล่อมพร้อมเสียงคลื่นน้ำสาดฝั่ง รถถีบคุณภาพดีสัญชาติญี่ปุ่นวิ่งอ้อยอิ่งไปทางตลาด “วโรรส” ตั้งอยู่บริเวณที่ชาวเชียงใหม่เรียกกันว่า “กาดหลวง” เจ้าของมันขับเคลื่อนมาจากฝั่งถนนเจริญเมือง ข้ามสะพานนวรัฐอันใหญ่โตอลังการ ลงยังฝั่งถนนท่าแพแล้วเลี้ยวขวาไปกาดหลวง

“กาดหลวง” แปลเป็นภาษาไทยกลางได้ว่า “ตลาดใหญ่” จะกล่าวว่าเป็นตลาดกลางแห่งนครพิงค์เชียงใหม่ก็ไม่ผิด

ตลาดนี้ประกอบด้วยตลาดสามแห่งเข้าด้วยกัน ได้แก่ ตลาดวโรรส ตลาดต้นลำไย และตลาดนวรัฐ

อาคารพาณิชย์ไม้กึ่งปูนสองชั้นเรียงต่อกันเป็นสี่เหลี่ยม ตรงกลางเป็นลานโล่ง เป็นเช่นนี้ทั้งตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไย บรรยากาศของกาดหลวงในยามใกล้รุ่งนั้นดูคึกคัก เหล่าพ่อค้าแม่ขายต่างพากันจับจ่ายซื้อของสดจำนวนมากๆ ไปเป็นวัตถุดิบหรือเอาขายต่อ บ้างก็เป็นชาวบ้านที่ออกมาหาซื้อของสดกลับบ้านไปทำกับข้าว ทั้งเนื้อสัตว์ ผักผลไม้เรียงราย ข้าวสารอาหารแห้งก็มี เป็นตลาดที่ครบครันไปเสียทุกอย่าง หากมาช่วงสายถึงช่วงกลางวัน จะมีทั้งของกิน เครื่องใช้ในครัวเรือน ผ้า ยา เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์พื้นเมือง ของฝาก ของที่ระลึกมากมาย ตลาดแห่งนี้จึงคล้ายกับห้างสรรพสินค้าพื้นเมืองและของใช้แทบทุกชนิด

นอกจากนี้กาดหลวงยังเป็นพื้นที่ของคนหลากหลายกลุ่ม คนแขกซิกข์ขายผ้า ทั้งผ้าสำเร็จรูปและผ้าพื้นเมือง คนจีนขายยาและของจิปาถะ ส่วนคนพื้นเมืองขายของกิน ของสด และของจิปาถะเล็กๆน้อยๆ

ทองสุกถีบรถถีบมาถึงตลาดวโรรสแต่เช้าเพื่อจิบกาแฟร้อนเจ้าประจำ ติดอกติดใจในรสชาติตั้งแต่จ่าเจษพามาเที่ยวสงกรานต์เชียงใหม่เมื่อปีที่แล้ว

เสียงผ้าห้ามล้อเสียดสีเอี๊ยดเบาๆ รถถีบสีเทาเลื่อมวิ่งมาจอดเทียบเคียงรถเข็นสีเหลืองอมส้ม หญิงอายุราว ๔๐ กว่าปียืนชงกาแฟให้ลูกค้าเจ้าอื่นอยู่ ควันร้อนๆ พวยพุ่งขึ้นจากหม้อเป็นเมฆปุยน้อยเมื่อหญิงแม่ค้าเปิดฝาหม้อน้ำร้อนออก แต่ทองสุกจินตนาการว่ามันเหมือนเปลวระเบิดที่หย่อนลงมาจากเครื่องบินสหรัฐมากกว่า

“เหมือนเดิมครับ” ทองสุกจะสั่งแต่กาแฟเข้มๆ ใส่นม หวานพอดี เหมือนเดิมทุกครั้งทุกคราได้มากาดหลวงจนเจ้าของร้านจำขึ้นใจ

“สักพักเน้อ วันนี้ตื่นสาย ลูกค้าก็เยอะ” ปากก็พูด มือก็ชง ดูวุ่นวายเหลือเกินวันนี้

“ดีกว่าไม่มีลูกค้านะครับพี่”

“แล้วเจอแล้วล่ะ สาวคนนั้น” เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนใกล้ตัวหรือคนรู้จักจะเอาใจช่วยมาก เพราะเห็นว่าเป็นรักที่ทองสุกทุ่มเทสุดชีวิต

“ยังเลยพี่ มีแค่ภาพถ่าย รู้ข้อมูลแค่ชื่อเล่น จะตามหาที่ไหนยังไงได้ ตอนนี้ผมยังมืดแปดทิศอยู่เลยครับ”

“เอาน่า เดี๋ยวก็เจอ พี่เอาใจช่วย”

การได้จิบกาแฟร้อนๆ ยามเช้า มีสายลมเย็นพัดมาจากลำน้ำระมิงค์ให้ชื่นกายสบายใจ ช่างเป็นอะไรที่สุดวิเศษ

ทองสุกเลือกมาจิบกาแฟรสเยี่ยมในกาดหลวงแทนการชงดื่มเอง ยอมเสียเงินเพื่อเสพรสชาติของกาแฟท่ามกลางบรรยากาศแบบพื้นบ้านเชียงใหม่ ยังเห็นคนใส่ชุดพื้นเมือง พูดภาษาพื้นเมือง ด้วยสำเนียงภาษาหลากหลาย ชาวเขาชาวดอยหอบเอาของป่าและผักสดลงมาขายจากดอยสุเทพ คนแขกเปิดร้านขายผ้าในห้องแถวเรียงรายรอบอาคารตลาดวโรรส คนจีนเปิดแผงขายยาอยู่ภายในกาด มันเป็นสีสันอย่างหนึ่ง และเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายในเมืองเชียงใหม่ ที่พบเห็นได้ไม่มากนัก

สองฝั่งน้ำปิงคือความหลากหลาย ทั้งคนเมืองเชียงใหม่ ไทใหญ่ พม่า จีน โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกน้ำปิง ณ ชุมชนวัดเกตุการาม เต็มไปด้วยแขกมุสลิม แขกซิกข์ คนจีน อาศัยปะปนรวมกับคนเมืองเชียงใหม่ พื้นที่ตรงนั้นเป็นของคนแขกเสียส่วนใหญ่ มีสะพานข้ามน้ำปิงแบบชั่วคราวเรียกว่า “ขัวแตะ” เนื่องจากพื้นสะพานทำจากไม้ไผ่ขัดสานกันไปมา คนเชียงใหม่เรียกการขัดสานว่า “แตะ”

เหตุที่เป็นสะพานแบบชั่วคราวเนื่องจากสะพานไม้ไผ่มักสร้างขึ้นช่วงหน้าแล้ง คราถึงหน้าน้ำ กระแสระมิงค์สุดเชี่ยวกรากซัดทำลายโครงสร้างไม้ไผ่ทั้งหมดไหลลับไป

ทองสุกหยิบกล้องยี่ห้อสัญชาติอเมริกันรุ่นใหม่ตัวเรือนพลาสติกคุณภาพดีออกจากกระเป๋าหนังวัวสีน้ำตาลมันวาวมาเก็บบรรยากาศรอบๆ

“กล้องใหม่เหรอ หน้าตาน่ารักดี” แม่ค้าเอ่ยถาม

“ใช่แล้วครับ กล้องตัวเดิมขายไปแล้วหนึ่งตัว ใช้ยากเกินไป”

“กล้องตัวใหญ่นั่นเหรอ” 

“โอ้ย ยังอยู่ในกระเป๋านี่แหละ ตัวนั้นไม่ขายครับ คุณภาพไม่คุ้มขาย เก็บไว้ถ่ายงานสำคัญๆ ไอ้ที่ขายคือกล้องเยอรมันตัวสีเงินที่เอาห้อยคอมาทุกครั้ง ไม่ใช่มันใช้ไม่ดี แต่ช่องมองเล็งก็ยาก ชัตเตอร์ก็แข็ง อุปกรณ์ยังหายากแถมแพงอีกต่างหาก มาพกตัวเล็กๆ สบายๆ ถ่ายสนุกดีกว่า”

“พี่จำได้ว่าวันที่น้องมาเที่ยวเชียงใหม่ครั้งแรก น้องแบกมาตั้งสามตัวสี่ตัว พี่ก็สงสัยว่าน้องไม่หนักคอหลักไหล่เหรอ” พูดจบก็ยื่นแก้วกาแฟร้อนให้ทองสุก

“มาเที่ยวไกลๆ ทั้งทีก็อยากได้รูปคุณภาพดีกลับบ้านเนาะครับ แต่ในยามปกติบางทีช่างภาพอย่างผมก็ไม่ได้อยากแบกอุปกรณ์มากๆ แถมหนักเกือบสิบกิโลกรัมไปถ่ายรูปหรอกครับ ขอกล้องตัวเดียวที่ถ่ายรูปติด ถ่ายเพลิน ถ่ายแล้วไม่เครียดก็พอ” ยกแก้วกาแฟจิบ ชิมรสชาติเข้มข้นอันโปรดปราน

“จริงอย่างน้องว่า ถ้าจะมีกล้อง ขอกล้องอะไรก็ได้ที่มันถ่ายรูปติด แค่นั้นพอละ ฮ่าๆๆ” หัวเราะตบท้าย

เสียงเพลงจากวิทยุทรานซิสเตอร์ดังแว่วมาจากร้านค้าที่อยู่ห่างออกไป มันเป็นเพลงของนักร้องคนดังแห่งยุค เสียงก้องกังวานมีพลังดั่งระฆังเนื้อทอง เนื้อหาของเพลงกล่าวถึงชายหนุ่มภาคกลางที่หลงเสน่ห์สาวเวียงพิงค์ จนต้องเดินทางขึ้นมาตามหาถึงนครเชียงใหม่

เพลงนี้เหมือนเขียนจากชีวิตจริงของทองสุก ด้วยเนื้อเพลงที่มิอาจเถียงได้ว่าไม่จริงสักหน่อย

“เพลงนี้พี่มอบให้น้องเลย” หญิงเจ้าของร้านแซวทองสุกผู้กำลังนั่งจิบกาแฟอย่างสบายใจ

ดวงตะวันโผล่พ้นยอดดอยแล้ว ถึงเวลาที่ทองสุกต้องเสียเงินให้แม่ค้า ลุกออกจากร้านกาแฟรุดมุ่งตรงไปยังสะพานไม้ไผ่ เพียงต้องการเก็บภาพอีกมุมหนึ่งของสะพานนวรัฐในยามฟ้าสาง

แต่ก่อนไปขอฟังบทเพลงที่ผู้แต่งเขียนขึ้นจากชีวิตตัวเองให้จบเสียก่อน

ท้องถนนระหว่างกลางตลาดต้นลำไยกับตลาดนวรัฐ พ่อค้าแม่ขายแบกหาบบุงย่ามขายสินค้า บ้างจับจองที่นั่งบนทางเท้า ผู้คนชุลมุนกันเต็มถนน เมื่อรถใหญ่ผ่านมาต่างแหวกทางหลบหลีกให้มันผ่านไป ถนนจึงโล่งเพียงชั่วขณะ ก่อนจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนอีกครา ช่างภาพหนุ่มเห็นภาพนั้นจึงบันทึกภาพ

สุริยนพ้นขอบฟ้า สาดแสงไปทั่วพื้นปฐพี ลำแสงลูบโลมพื้นผิวทุกสรรพสิ่งให้ดูเป็นสีทองอร่าม เพริศแพรวผุดผ่องทั่วทั้งนครพิงค์ ตั้งแต่ผืนน้ำลำปิงจรดยอดดอยสุเทพเสียดฟ้า เหมือนว่าทุกสิ่งล้วนเสกสร้างด้วยทองคำ ผืนน้ำระมิงค์ราวกับทองคำหลอมเหลวไหลลงจากดอยเชียงดาว ระรอกคลื่นสะท้อนแสงสีทองระยับแวววาวจับตา ถัดออกไปหลังสะพานนวรัฐคือโบสถ์คริสต์ประจำโรงเรียนเชียงใหม่ คริสเตียน กลายเป็นสีทองไม่ต่างจากสะพาน

สายน้ำปิงใสสะอาดมาก ใสจนสามารถมองทะลุถึงพื้นทรายใต้น้ำ เห็นปลาหลากหลายชนิดเวียนว่ายอย่างมีความสุขในกระแสน้ำไหลเย็น ปลาซิวปลาสร้อยเกล็ดเงินเงาวับว่ายเกาะกลุ่มเป็นฝูงใหญ่ เมื่อพบปลาใหญ่ว่ายมา ต่างพากันแตกฝูงกระเจิงคนละทิศทาง ค่อยกลับมารวมกันใหม่เมื่อปลาใหญ่ผ่านไป

ทองสุกมุ่งมั่นประกอบกล้องพับเข้ากับขาตั้งกล้อง ดึงเลนส์ของมันออกมาพร้อมกับกระโปรงจีบสีดำขลับ ต่อสายลั่นชัตเตอร์ แล้วจัดองค์ประกอบภาพ

“วันนี้ได้สะพานนวรัฐสักรูป กับวิหารลายคำวัดพระสิงห์ ก็น่าจะพอแล้ว” ทองสุกคิดในใจ

กล้องพับตัวใหญ่ถ่ายได้เพียงแค่แปดรูปต่อม้วน ต้องคิดวางแผนให้ดีก่อนจะตัดสินใจลั่นไก เช่นเดียวกับการเป็นพลแม่นปืน กระสุนมีจำกัด แต่เป้าหมายมีเยอะ ยิงเท่าที่จำเป็น และเข้าเป้าที่สำคัญที่สุด

ดวงตาจ่ออยู่กับช่องมองภาพขนาดเล็กอย่างคร่ำเคร่ง จนคิดว่าได้มุมที่น่าพอใจแล้ว จึงออกแรงกดชัตเตอร์ฉายแสงลงฟิล์ม

ครั้งแรกในชีวิตกับการถ่ายภาพด้วยฟิล์มสีแบบสไลด์ ทองสุกได้รับเป็นของขวัญวันเกิดเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แต่เพิ่งจะมีโอกาสได้นำออกมาใช้

ฟิล์มม้วนนี้ถือเป็นสิ่งท้าทาย เพราะหากวัดแสงไม่พอนั่นหมายถึงว่าเสียของดีไปโดยใช่เหตุ มันไม่ใช่อย่างฟิล์มทั่วไปที่สามารถรับแสงได้มากกว่าปกติ แถมความไวแสงของเนื้อฟิล์มต่ำเอามาก และหากจะล้างฟิล์มต้องส่งกลับไปต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้ฟิล์มสียังไม่เป็นที่นิยมมากนักในเมืองไทย จึงไม่มีร้านไหนรับ จะล้างเองก็สิ้นเปลืองค่าอุปกรณ์ แถมยังไม่มั่นใจว่าล้างแล้วจะได้รูปออกมาดีไหม ทำได้เพียงส่งกลับไปหามาสเตอร์ของเขา ณ ดินแดนหอนาฬิกายักษ์ เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อให้ได้รูปกลับมา

ม้วนนี้คงจะรอเป็นเดือนกว่าจะได้รูป

ชัตเตอร์ลั่นฉับ บันทึกทิวทัศน์เบื้องหน้าทั้งแสงและสี ตื่นเต้นอยากเห็นรูปเหลือเกิน

เหม่อมองสายเลือดใหญ่แห่งเวียงพิงค์แสนเพลินจิต แม้แสงแดดเริ่มทวีความร้อน ลมโกรกปะทะร่างกายก็เป็นลมร้อน แต่รู้สึกเย็นใจ มีความสุขกับสายน้ำอันกว้างใหญ่สายนี้ เป็นความรู้สึกซึ่งยากจะอธิบายให้ใครเข้าใจได้

หากมีสาวผู้หมางปองอยู่ด้วยเคียงกาย คงวิเศษสุดบรรยาย

ภารกิจบนสะพานไม้ไผ่ข้ามน้ำปิงเสร็จลุล่วงแล้ว ได้เวลาออกกำลังน่องปั่นรถถีบไปหามื้อเช้ากินแถบย่านถนนท่าแพ เปลี่ยนบรรยากาศจากกาดหลวงหรือกาดเพิงหมาแหงนสันป่าข่อยใกล้บ้าน อันจำเจเห็นกันแทบทุกวัน

**********

วันถัดมา เขาก็พากันยาเที่ยวเมืองเชียงใหม่ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่นตามคำร้องขอ ย้อนรอยอดีตภาพความทรงจำของเขา ด้วยใจยังคิดถึงคะนึงหาถึงวันวานล่วงผ่านพ้นไป คิดถึงใครสักคนที่เขาผูกพัน และยังไม่ลืมเธอ

ผ่านมาหลายสิบปี กาดหลวงเปลี่ยนไปเยอะ กลายเป็นอาคารพาณิชย์ปูนซีเมนต์หรูหราอลังการไม่แตกต่างจากห้างสรรพสินค้า มีที่จอดรถสะดวกสบาย ห้องน้ำห้องท่าสะอาดและเพียงพอรองรับผู้ใช้บริการ ร้านค้าในห้องแถวต่างๆ ร้านอาหาร ถูกจัดให้เป็นหมวดหมู่ ดูดีมีระเบียบเรียบร้อยตามความเหมาะสม ง่ายต่อการเดินเลือกหาซื้อสินค้าต่างๆ ส่วนสินค้าของสดพวกวัตถุดิบต่างๆส่วนใหญ่ถูกย้ายออกไปยังบริเวณเชิงสะพานนครพิงค์ซึ่งไม่ห่างกันเท่าไหร่นัก

ทองสุกประคองอัลบั้มภาพไว้ในอ้อมแขน เปิดรูปกาดหลวงเมื่อสิบกว่าปีก่อน มันช่างต่างกับบรรยากาศของความเป็นจริงในปัจจุบันเสียเหลือเกิน ราวแผ่นฟ้ากับพื้นเหว ความเจริญหลั่งไหลเข้ามาเชียงใหม่ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี สามารถเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่ไปได้ถึงขนาดนี้เลยหรือ ผู้คนมากมายเหลือล้น รถราวิ่งวุ่นเริ่มจะมีสภาพเป็นกรุงเทพมหานครแห่งภาคเหนือ ซึ่งก็น่ายินดีอยู่ สำหรับเมืองนี้ที่กำลังจะได้เป็นศูนย์กลางของภาคเหนืออย่างเต็มภาคภูมิ เป็นเมืองที่เจริญก้าวหน้า มีเศรษฐกิจที่ดี มีความสะดวกสบายเข้ามาในวิถีชีวิตของผู้คน

แต่นั่น ได้ทำลายมนต์เสน่ห์อะไรบางอย่างอันเคยมีมา

ร้านกาแฟร้านเดิมเนืองแน่นไปด้วยผู้คน แต่ดูเหมือนว่าวันนี้ร้านจะโดนลูกค้าชาวไทใหญ่ปิดล้อมอยู่

“เหมือนเดิม.... อ้าว” ทองสุกชะงัก เมื่อเห็นเจ้าของรถเข็นกาแฟคันเดิมเปลี่ยนไปเป็นคนอื่น แม่ค้าคนใหม่วัยสาวเงยหน้ามองทองสุกกับกันยาอย่างฉงน

“อ่อ เอากาแฟร้อน ใส่นม เข้มๆนะครับ” มันคือกาแฟสูตรเดิมที่เขาเคยมาสั่งแทบจะทุกวันในอดีต

แม่ค้าคนใหม่ดูท่าทางไม่น่าจะเป็นคนเชียงใหม่ น่าจะเป็นชาวไทใหญ่เสียมากกว่า ด้วยแววตาและใบหน้าสวยคม และเมื่อแม่ค้าสนทนากับลูกค้าเจ้าอื่นก็จะใช้ภาษาไทใหญ่

“คนขายคนเก่าไปไหนล่ะครับ” ทองสุกถามหาแม่ค้าซึ่งเคยคุ้นหน้าคุ้นตากัน

“ย้ายบ้านย้ายครัวไปอยู่สันทรายละ น้องก็เลยซื้อกิจการต่อ”

“กาดหลวงเปลี่ยนไปขนาดนะครับ สร้างอาคารเพิ่มขึ้นมากเลย” ทองสุกกล่าวกับแม่ค้า พูดจบก็เอื้อมมือรับแก้วเซรามิคลายไก่จากแม่ค้าหน้าคม

“ไปอยู่ไหนมา ไม่รู้เหรอว่า...” แม่ค้าพูดเช่นนี้ทองสุกรู้สึกได้ถึงบางสิ่ง และทันทีที่ได้ฟังเรื่องราว เขาจึงเข้าใจ

“ไฟไหม้กาดต้นลำไย ลามมากาดหลวง ไม่เหลืออะไรสักอย่าง”

“ไฟไหม้กาดหลวงเมื่อไหร่ครับ”

“สักห้าหกปีก่อนเนี่ย” แม่ค้าเงยหน้าตอบ แล้วรีบก้มหน้าห้มตาชงกาแฟให้ลูกค้าคนอื่น

ทองสุกจิบกาแฟชิมรสชาติ พยักหน้าเล็กน้อยพร้อมส่งเสียงอืมเบาๆจากลำคอ แต่ไม่พูดจาคำใดออกมา

“เมื่อก่อนพ่อมาร้านนี้ประจำเลยล่ะสิ” กันยาถาม

“ใช่ มาจนสั่งเหมือนเดิมได้ แม่ค้าย้ายไปสันทรายสงสัยเบื่อหน้าพ่อละ ฮ่าๆๆ” พูดติดตลก

“วันนี้พ่อจะพาหนูไปเที่ยวไหนบ้าง”

“ที่ไหนก็ได้ที่พ่ออยากไป”

**********

ตากล้องหนุ่มถีบรถถีบจากกาดหลวง แล่นรถถีบไปตามถนนสายท่าแพ สองฝั่งถนนเรียงรายด้วยบ้านไม้โบราณยกพื้นสูงมีกาแล ห้องแถวไม้ชั้นเดียวและสองชั้น สิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยเหล่านั้นดูหลากหลายรูปแบบตามแต่ช่างฝีมือได้สรรค์สร้างผลงาน สลับกับวัดวาอารามรูปแบบช่างเมืองเหนือสุดแสนวิจิตรเกินพรรณนา ลวดลายประดับทั้งบนวิหารและเจดีย์แลดูลงตัวไม่อึดอัดหรือขัดลูกตา นั่นเป็นวัดโบราณ หาใช่ได้สร้างขึ้นใหม่แต่อย่างไร

ผู้คนเริ่มออกขวักไขว่ บ้างปั่นรถถีบ บ้างขี่รถเครื่องมอเตอร์ไซค์ และบ้างก็นั่งวัวต่างเกวียน เสียงจ๊อกแจ๊กจอแจเป็นภาษาคำเมืองเหนือ แม้รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ฟังอ่อนโยนไม่กระด้างหู คนหลายคนยังติดการใส่หมวกออกบ้านมาจากยุคมาลานำไทย แต่งตัวดูดีเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้หญิงคนใดเป็นแม่บ้านแม่ศรีเรือนก็ใส่ชุดสบายๆ นุ่งผ้าซิ่นลายขวางอย่างชาวเหนือทั่วไป สาวๆผมเปียใส่ชุดนักเรียนถือกระเป๋าหนังดำผิวมันยืนรอรถประจำทางไปเรียนหนังสือ พูดคุยเจื้อยแจ้วหวานหู พวกเธอหน้าตาจิ้มลิ้ม ผิวเนียนละไม น่าดูชมทีเดียวเชียว

ดอยสุเทพเทียมฟ้า ผืนแผ่นดินแรกในแดนดินเชียงใหม่ที่ได้รับแสงแรกของวัน แสงสีทองสะท้อนจากองค์พระธาตุนั้นเด่นตระหง่านท่ามกลางแมกไม้ไพรพง

กว่าจะมาถึงสี่แยกประตูท่าแพ ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงไปกับการจอดรถบันทึกภาพตรงหน้าและเปลี่ยนม้วนฟิล์ม

ถึงสี่แยกท่าแพแล้ว ขอเวียนรอบคูเมืองเชียงใหม่รูปสี่เหลี่ยมอายุเกือบเจ็ดร้อยปีได้เสียหน่อย ระหว่างทางลัดเลาะคูเมืองเชียงใหม่ไปนั้น จะเห็นแนวกำแพงและประตูเมืองเชียงใหม่เป็นซากปรักหักพัง สิ่งนี้ไม่ได้พังเพราะสงครามหรือความเก่าแก่ตามกาล แต่หายไปเนื่องจากถูกรื้อถอนโดยรัฐบาลในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เอาไปขายประมูลหาเงินเข้าคลัง

ณ ช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่สองกำลังปะทุดุเดือด ประเทศชาติต้องการงบประมาณ แต่กลับต้องมาทำลายมรดกอันล้ำค่าไปอย่างน่าเสียดายเพื่อแลกกับเงิน ยังดีว่าเหลือส่วนที่เป็นเหมือนป้อมปราการตามมุมเมือง สภาพทรุดโทรมเต็มที

จากการสอบถามข้อมูลจากชาวบ้าน เขาเรียกว่า “แจ่งเมือง” แปลเป็นไทยคงหมายถึง “มุมเมือง” จากถนนลอยเคราะห์ รถถีบวิ่งเวียนไปตามเข็มนาฬิกา จะมีสี่แจ่ง “แจ่งกะต๊ำ” “แจ่งกู่เฮือง” “แจ่งหัวลิน” และ “แจ่งศรีภูมิ” โดยชาวเมืองเชียงใหม่ถือว่าแจ่งศรีภูมินี้เป็นแจ่งเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด

เชียงใหม่มีประตูเมืองมากมาย ชาวเมืองเชียงใหม่ที่มาตั้งรกรากในเวียงมานานแล้วบอกว่ามีถึง ๙ ประตู โดยตัวเมืองเชียงใหม่ชั้นในมีห้าประตู แต่ประตูหลายแห่งก็พังทลายหายไปเสียแล้ว

รอบนอกคูเมือง บ้านเรือนผู้คนค่อนกระจุกอยู่เบื้องฝั่งตะวันออกของตัวเมือง เนื่องจากเป็นย่านการค้ามาตั้งแต่โบราณ แต่ความหนาแน่นของสิ่งปลูกสร้างยังสอดแซมด้วยพรรณไม้ยืนต้น ฝั่งใต้เป็นชุมชนช่างฝีมือจากพม่า ส่วนฝั่งตะวันตกเป็นผืนนากว้างใหญ่ไพศาล ยาวไปสุดถึงเชิงดอยสุเทพได้กระมัง ทางเหนือว่ากันว่ามีหนองน้ำขนาดใหญ่เรียกว่าหนองบัว กินเนื้อที่ไปจนถึงบริเวณวัดพันตาเกิน

เชียงใหม่นี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผืนนา ผืนป่า ผืนน้ำ และแดนดอย

น้ำเป็นร้อย ดอยเป็นแสน นาเป็นล้าน คำคนเฒ่าเมืองเชียงใหม่เคยกล่าวไว้

ขี่รถถีบไปพอจะครบรอบแล้ว จึงเลี้ยวเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ทางสี่แยกประตูท่าแพ มุ่งตรงไปยังวัดซึ่งตั้งอยู่เบื้องหน้า สามารถมองลอดอุโมงค์ต้นไม้ขนาดใหญ่สองข้างทาง เห็นตัววิหารได้จากระยะไกล โดยเฉพาะสิงห์ปูนปั้นสองตัวนั่งตระหง่านเห็นเป็นสง่าอยู่หน้าวัด ขนาบสองข้างประตูทางเข้าวัด

เจ้าสิงห์สองตัวเหมือนเป็นยามเฝ้าวัดตามคติความเชื่อของชาวลานนา เขาเชื่อว่ามันเฝ้าระวังมิให้สิ่งชั่วร้ายเข้าสู่เขตพุทธาวาสได้

เมืองเชียงใหม่นี้ร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย เรียงรายของข้างทางแผ่กิ่งก้านสาขาออกมาในถนนให้กลายเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ร่มรื่น

ร่มไม้นั้นให้ร่มเงาแก่กายชาวเมืองเชียงใหม่ ส่วนร่มเงาแห่งจิตใจ คงเป็นเงาจากร่มโพธิ์ของพระพุทธศาสนา อันมั่นคงและหยั่งรากลึกอยู่คู่นครพิงค์เชียงใหม่มาช้านานนับร้อยปี

ในรอบเขตน้ำคูเมือง มีวัดไม่น้อยกว่ายี่สิบวัด หากรวมกับวัดที่อยู่รายรอบเวียงแล้ว คงไม่ต่ำกว่าห้าสิบวัด

บ้านเรือนในตัวเมืองเชียงใหม่มีทั้งเรือนไม้ยกพื้นสูงอย่างโบราณและห้องแถวไม้ รั้วบ้านส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่ขัดสาน บ้างเป็นไม้เนื้อแข็งตีตะปู คงมีแต่วัดและศูนย์ราชการบางแห่งเท่านั้นที่ใช้กำแพงก่ออิฐฉาบปูน

คนในเมืองเชียงใหม่ไปไหนมาไหนด้วยการเดินเท้าและใช้รถถีบเป็นส่วนใหญ่ มีบ้างจะได้เห็นรถมอเตอร์ไซต์และรถยนต์ นานๆจะพบสักทีก็คือวัวล้อต่างเกวียน แต่หากต้องเดินทางไปไหนไกล รถโดยสารประจำทางเป็นทางเลือกแรกๆที่ถูกพูดถึง วิถีชีวิตคนเชียงใหม่ดูเรียบง่าย แม้เดินตามกระแสแฟชั่นและเทคโนโลยีของโลกภายนอกบ้าง แต่ความเป็นตัวตนซึ่งผูกติดกับ “ฮีตฮอย” และ “วัฒนธรรม” ยังคงเหนียวแน่น ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมลานนาที่ใครต่อใครใฝ่ฝันจะมาเยือน

ถีบรถมาถึงสี่แยกกลางเวียง เห็นยอดวิหารไม้ประดับประดาด้วยแก้วหลากสีอยู่ทางซ้ายมือ หน้าจั่วประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปนกยูง ลงรักปิดทองสวยงาม ไกลออกไปอีกหน่อยเห็นยอดเจดีย์ขนาดมหึมาสูงเสียดฟ้า แต่หักพังทลายลงจนไม่เห็นยอดฉัตร ต้นไม้ใบหญ้าขึ้นคลุมเขียวเสมือนไร้คนเหลียวแล น่าเสียดายนักกับโบราณสถานสุดอลังการไม่ต่างจากปีระมิด แม้หักพังก็ยังงดงาม หากเต็มองค์จะมีความงดงามเพียงใด เดี๋ยวเยี่ยมวัดพระสิงห์แล้วคงต้องกลับมาแวะเวียน

**********

ผ่านมาแล้วสิบเก้าปีสำหรับภาพจำ

ภาพจำเหล่านั้น เหลือไว้ในภาพถ่ายและความทรงจำของคนเป็นพ่อ

กาลเวลาพัดพาให้สรรพสิ่งเปลี่ยนไปอย่างกู่ไม่กลับ

“เปลี่ยนไปมากเลยนะ เวียงพิงค์” ทองสุกเปรยขึ้นลอยๆ ขณะควบรถเครื่องนำกันยาตรงไปยังวัดพระสิงห์

ถนนสายท่าแพ เริ่มคับคั่งด้วยตึกรามอาคารสมัยใหม่ สภาพสังคมเปลี่ยนไปในแนวเดียวกับกรุงเทพมหานคร คับคั่ง แข่งขัน และเร่งรีบกว่าเมื่อก่อน จำนวนรถบนท้องถนนมีมากขึ้น ทำให้ถนนท่าแพดูเหมือนว่าจะแคบลงไปมากโข

แนวกำแพงตลอดจนประตูท่าแพหายไปอย่างไร้ร่องรอย สี่แยกถนนหน้าประตูท่าแพถูกปรับภูมิทัศน์ จัดการพื้นที่เสียใหม่ให้กลายเป็นวงเวียนขนาดใหญ่ รอบหอนาฬิกาประจำเมืองถูกปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนหย่อมขนาดเล็กรายล้อม ให้ผู้คนมาทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ อาคารพาณิชย์ผุดขึ้นยิ่งกว่าดอกเห็ด เรียงกันเป็นตับสองฝั่งถนนหลายเส้น ตึกสูงระฟ้าขึ้นล้อมตัวเมืองเชียงใหม่ ถนนในเวียงแปรสภาพเป็นคอนกรีตซึ่งแข็งแรงกว่าถนนลาดยางเดิม อีกทั้งแคบลงเนื่องจากถูกปรับพื้นที่ทำทางเท้าหรับคนเดิน แต่ยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาการจลาจรติดขัดอย่างในกรุงเทพ เนื่องจากปริมาณรถยนต์ในเมืองเชียงใหม่ยังมีไม่มากจนก่อปัญหา

ส่วนอนาคตนั้นไม่แน่ หากความเจริญได้หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับการหายไปของวิถีชีวิตแบบเก่า

**********

วิหารวัดพระสิงห์เป็นไม้กึ่งปูนหลังนี้ดูใหญ่โต ศิลปะแบบลานนาผสมผสานกับศิลปะแบบรัตโกสินทร์ที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในช่วงรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่จุดเด่นของวัดนี้ไม่ได้อยู่ที่วิหารหลังใหญ่หลังนี้ แต่ไปอยู่ ณ วิหารน้อยด้านหลัง ที่เรียกว่า “วิหารลายคำ” เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญแห่งนครพิงค์เชียงใหม่ ซึ่งครั้งหนึ่งทองสุกเคยมาร่วมสรงน้ำพระองค์นี้กับสาวน้อยสันป่าตองคนหนึ่งในงานสงกรานต์เชียงใหม่

วิหารลายคำเป็นวิหารขนาดเล็ก ศิลปะแบบลานนาเชียงใหม่ขนานแท้สุดแสนวิจิตรงดงาม ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ลายทองคำเปลว และกระจกสี มีสิงห์หน้าตาประหลาดสองตัวนั่งอยู่บนแท่นปูนขนาบสองข้างทางขึ้นวิหาร พญานาคชูคอขู่ฟ่อประกบบันได

ติดตั้งกล้องตัวใหญ่บนขาหยั่งสามขา จัดองค์ประกอบภาพแล้วฉายแสงใส่ฟิล์มกระจกสักใบค่อยตามด้วยฟิล์มสี เก็บภาพของวิหารลายคำ เจดีย์องค์สีขาว มีช้างโผล่ออกจากเจดีย์เพียงครึ่งตัวรอบเจดีย์ทั้งสี่ทิศพร้อมด้วยเจดีย์ราย และอุโบสถสองสงฆ์

เมื่อย่างกรายเข้าภายในวิหาร เบื้องหน้าคือพระพุทธสิหิงค์องค์สีทองสว่างสุกใสน่าเลื่อมใสศรัทธา สัมผัสได้ถึงความสงบ สุขุมเยือกเย็น รังสรรค์ออกจากจิตวิญญาณแห่งชาวเหนือ

ลำแสงลอดปล่องหน้าต่างส่องเข้ามา เป็นแสงสะท้อนจากองค์พระธาตุสีขาวด้านข้างวิหาร กระทบสีทองคำเปลวให้สุกใสระยิบระยับ ลวดลายทองคำเปลวประดับพันเกี่ยว ทั่วเสาวิหาร หลังองค์พระพุทธสิหิงค์เป็นลวดลายเหมือนปราสาท ฝาผนังสองข้างแต่งแต้มไปด้วยสีสันของภาพจิตรกรรม เป็นภาพเล่าเรื่องอะไรสักอย่าง แต่เมื่อวิเคราะห์พิจารณาดูแล้ว จะมองเห็นภาพวิถีชีวิตของผู้คนเชียงใหม่ในอดีต ผู้ชายทุกคนสักขา ผู้หญิงทุกคนนุ่งซิ่น เหล่าขุนนางอำมาตย์เชียงใหม่มีข้าราชบริพารติดตาม

ภาพเชียงใหม่เมื่อหลายร้อยปีก่อน คงงดงามไม่แพ้ทุกวันนี้

แต่แปลก วัดในเชียงใหม่ดูเงียบสงบ เยือกเย็น กว่าวัดในภาคกลางที่เขาเคยพบเห็นมา ตั้งแต่เข้ามาในเขตวัด เขายังไม่พบพระ ขโยมวัด หรือญาติโยมสักคน อาจเป็นเพราะมิใช่วันศีลก็ได้ วัดจึงเงียบสงบกว่าปกติ

แต่ช่างเสีย ภาพเบื้องหน้ามันดึงดูดใจ ให้ทองสุกต้องบันทึกภาพเก็บไว้

ฟิล์มกระจกแผ่นที่สองถูกบรรจุเข้ากับตัวกล้องพร้อมปฏิบัติงาน

**********

กันยาเดินชมลายแต้มอย่างเพลินใจ ชวนให้คิดจินตนาการถึงเชียงใหม่ในครั้งโบราณกาล คงงดงามมากนัก

เธอคิดไม่ต่างจากทองสุกเลย และคงไม่ต่างจากทุกผู้ทุกคนที่ได้มาเยี่ยมเยือนวิหารลายคำ

ทองสุกเดินตามเข้ามาในวิหาร หลังจากเก็บภาพมุมกว้างพาโนรามาอยู่นอกวิหาร เดินขึ้นมาแล้วก็ไม่พูดไม่จา ตั้งกล้องบนขาตั้งเพื่อเก็บภาพบรรยากาศภายในวิหารน้อยๆอันงดงามนี้อีกครั้ง เขารู้สึกว่าที่แห่งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ยังคงงดงามเหมือนวันวานที่ผ่านมา และอยากให้เป็นเช่นนี้ตลอดไป

“พ่อ ถ่ายรูปหนูหน่อย” ลูกสาวเรียกร้อง ทองสุกจึงหันกล้องเร็วไวเหมือนหันปากกระบอกปืนกลหาเป้าหมาย

“เดินเข้าไปใกล้หน้าต่างหน่อย มองออกไปข้างนอกหน้าต่างนะ ไม่ต้องมองกล้อง” ทองสุกพยายามจัดองค์ประกอบภาพให้ออกมาดูดี แต่กว่าจะได้ดูภาพก็รอล้างรูปนั่นแหละ

เสียงกล้องลั่นชัตเตอร์ดังก้องวิหารแสนเงียบสงบ ทองสุกจึงสั่งให้ลูกสาวหลบออกจากมุมกล้องเพื่อเก็บภาพวิหารอันว่างเปล่า โดยมีพระพุทธสิหิงค์เป็นองค์ประธานอย่างงามสง่า เสาวิหารประดับลายคำเป็นเส้นนำสายตาสู่พระประธานอันเป็นจุดเด่นของภาพ ซึ่งมีภาพปราสาทอันสรรสร้างจากลายคำให้ดูอลังการ

**********

แผนที่ขนาดใหญ่ในกระเป๋าถูกนำออกมาแผ่หลากางอยู่เบื้องหน้าเขา เพื่อดูว่าเชียงใหม่มีสถานที่สำคัญอยู่พิกัดใดบ้าง รถถีบหนึ่งคันอาจไม่สะดวกมากนักสำหรับการเดินทางไกล หรือไปหลายๆสถานที่ในวันเดียว แต่คนมีความมุ่งมั่นอยากรู้อยากเห็นเช่นทองสุก เขาเชื่อว่าเขาทำได้ และไปได้

ถึงเวลาหอบกล้องออกจากวัดพระสิงห์ ถีบรถวิ่งฉิวลอดอุโมงค์ต้นไม้ไปยังเจดีย์มหึมาสูงตระหง่านอยู่กลางเวียง แม้ยอดฉัตรได้หักพังทลายลง แต่หาได้ลดทอนความงดงามและยิ่งใหญ่อลังการของเจดีย์องค์นั้น นั่นคือหลักฐานความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของพุทธศิลป์ถิ่นไทยลานนาเวียงพิงค์เชียงใหม่ในครั้งอดีตกาล

“วัดพันเตา” “วัดเจดีย์หลวง” คือสถานีต่อไป

วันนี้เอาแค่ในสี่เหลี่ยมกำแพงเวียงเชียงใหม่ก็พอ เพราะในสี่เหลี่ยมมุมเมืองนี้มีอะไรมากมายให้ไปเยี่ยมเยือนจนแทบไปไม่ทันในหนึ่งวัน

***********

 

คำยืนยันของเจ้าของนิยาย

✓ เรื่องนี้เป็นบทความเก่า ยังไม่ได้ทำการยืนยัน

คำวิจารณ์

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเขียนวิจารณ์ได้


รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
คำวิจารณ์เพิ่มเติม...

โหวต

เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ
0 /10
ความถูกต้องในการใช้ภาษา
0 /10
ภาษาที่ใช้น่าอ่าน
0 /10

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถโหวดได้


แบบสำรวจ

 

ไม่มีแบบสำรวจ

 

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา