แก้วกุสุมาสยายปีกเหนือท้องนภาสีครามก่อนจะสังเกตเห็นบางสิ่งกำลังแหวกว่ายท่ามกลางสายชลแห่งนทีสีทันดร!!
ด้วยความสงสัยตามวิสัยเด็ก ทำให้ธิดาน้อยครึ่งยักษ์ครึ่งกินรี โผบินไปเกาะอยู่ที่กิ่งของต้นไม้ใหญ่ เพื่อพิศดู 'บางสิ่ง' นั้นได้ชัดเจน
ร่างใหญ่ลำตัวยาวประมาณหลายโยชน์กำลังดำผุดดำว่ายท่ามกลางสายนที ยามเมื่อแสงจันทร์สาดส่องแสงกระทบเกล็ดสีเขียวมรกตเป็นประกายแวววับดูน่าพิศมัย แสงที่สาดส่องมาทำให้ธิดายักษ์เห็นร่างนั้นชัดเจนยิ่งครึ่ง!!
"งูยักษ์!!"
แก้วกุสุมาอุทานออกมาด้วยความตกใจ เสียงของเด็กน้อยทำให้นาคราชองค์รัชทายาทอย่างธีรสุวัฒน์มองหาต้นเสียงจนพระเนตรของพระองค์ประสบพบกับร่างน้อยที่กำลังตื่นใจกับสิ่งมีชีวิตใหม่ที่แก้วกุสุมาเข้าใจว่าเป็นงูยักษ์
ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนหนี ธีรสุวัฒน์ก็รีบ 'เลื้อย' ไปรัดแก้วกุสุมาไว้
"ปล่อยเรานะ!!"
แก้วกุสุมาเอ่ยวาจาใส่ 'งูยักษ์' ในความเข้าใจของนาง เมื่อเห็นคนตัวเล็กมีท่าทีขัดขืน ธีรสุวัฒน์จึงคืนร่างเป็นเด็กหนุ่มวัย13ปี ก่อนจะปล่อยคนตัวเล็กให้เป็นอิสระ
"เจ้าเป็นใครกัน ทำไมมาแอบดูข้าล่ะ เจ้าช่างไม่มีมารยาทเอาเสียเลย"
คนที่มีอายุมากกว่ากล่าวด้วยสีหน้าที่เอือมระอา ก็มันจริงนี่นา เจ้าตัวเล็กนี่มาแอบดูข้าเล่นน้ำทำไมล่ะ
"เราไม่ได้แอบดูเจ้านะ!! เราแค่บินผ่านมาเฉยๆ เจ้าน่ะสิ!! ไม่มีมารยาท เจ้าทำร้ายเราก่อนนะ!!"
เมื่อคนที่เด็กกว่าพูดเช่นนั้น ร่างสูงถึงกับรู้สึกผิด ก็ใครจะไปรู้ว่านางแค่บินผ่านมาเฉยๆเล่า
"ข้าขอโทษ ว่าแต่เจ้าชื่อว่ากระไรล่ะ"
"แก้วกุสุมา"
ร่างน้อยตอบสั้นๆ แต่ได้ใจความ
"เจ้าล่ะ เจ้างูใหญ่ เจ้าชื่อกระไรล่ะ"
คำว่า 'งูใหญ่' ทำให้ธีรสุวัฒน์ถึงกับชะงัก เจ้าเด็กนี่กล้าดียังไงมาหาว่านาคราชอย่างข้าเป็นเพียงแค่งูใหญ่!! แต่ว่าเป็นงูใหญ่ก็ยังดีกว่าเป็นงูเขียวล่ะหว่า...
"ข้าชื่อธีรสุวัฒน์นาคราช เป็นรัชทายาทแห่งองค์ภุชเคนทรานาคราช ไม่ใช่งูใหญ่อย่างที่เจ้าคิด!!"
คำพูดของคนตรงหน้าทำให้ร่างเล็กที่กำลังเรียงร้อยถ้อยคำเกิดความเข้าใจว่าคนตรงหน้าคือ 'นาคราช'หรือเรียกให้เข้าใจก็คือพญานาคนั้นเอง มิใช่งูใหญ่อย่างที่ตนคิด
การได้รู้จักเพื่อนใหม่ทำให้แก้วกุสุมาลืมภารกิจที่จะมาสระอโนดาตไปหมดสิ้น การมีเพื่อนใหม่ทำให้แก้วกุสุมาร่าเริงขึ้นมาก
"เจ้าอยากชมใต้บาดาลหรือเปล่าล่ะ ข้าจะพาไป" นาคน้อยเอ่ยถามคนตัวเล็ก
แก้วกุสุมาอยากจะลองชมใต้บาดาลนทีสีทันดรสักครั้ง จึงเสกมนต์ปีกของนางให้หายไป ก่อนที่จะพยักหน้ารับคำชวนของเพื่อนใหม่ ก่อนที่ธีรสุวัฒน์จะกลายร่างเป็นนาคราชดังเดิม
แม้ตอนแรกเด็กหญิงจะกลัวอยู่บ้างแต่บรรยากาศใต้บาดาลนี่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก ยิ่งลึกลงเท่าใด ยิ่งได้เรียนรู้สิ่งมีชีวิตต่างๆมากมายยิ่งนัก
"ธีรสุวัฒน์นั้นตัวอะไรหรือ??"
แก้วกุสุมาชี้นิ้วไปยังสิ่งมีชีวิตที่ครึ่งเหมครึ่งปลา
"นั่นคือเหมวาริน"
"แล้วนั้นล่ะ??"แก้วกุสุมาชี้นิ้วไปยังปลาที่มีรูปร่างแปลกประหลาดยิ่งนัก เพราะปลาตัวนี้มีเขางอกมาจากหน้าผาก
"นั่นคือศฤงคมัสยา เป็นปลาวิเศษ ซึ่งเป็นร่างจุติของพระวิษณุ"
ระหว่างที่กำลังเพลินตาเพลินใจอยู่ในโลกใต้บาดาล พลันสายตาของนางก็สังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตบางอย่าง
ร่างกายท่อนบนเป็นหญิงสาวแต่ตั้งแต่บั้นเอวลงไปเป็นหางปลาสีเขียวที่กำลังแหวกว่ายอยู่ใต้ท้องนที ผมยาวสยายคล้ายกับสาหร่ายแห่งท้องทะเล
"นั่นคืออะไรเหรอธีรสุวัฒน์ แปลกพิลึก??"
"นั่นคือเงือก อมนุษย์ครึ่งคนครึ่งปลา"
"เหงือกเหรอ"
ด้วยความใสซื่อของนางทำให้ธีรสุวัฒน์กลั้นหัวเราะไม่อยู่
"ฮ่าๆๆๆ...เงือกต่างหาก"
"เงือกเหรอ??"
"ใช่" ธีรสุวัฒน์กล่าวก่อนจะยิ้มให้เพื่อนต่างวัยและต่างเผ่าพันธุ์
เมื่อเสร็จการท่องโลกใต้บาดาลแล้ว แก้วกุสุมาก็เอ่ยลาเพื่อนใหม่ก่อนฟ้าสาง เพราะถ้าหากสุวรรณรัศมีรู้ว่านางหายไป ต้องเกิดเรื่องวุ่นวายเป็นแน่แท้
"แล้วพบกันใหม่นะ แก้วกุสุมา"
"ข้าเองก็เหมือนกัน ข้าไปก่อนนะ"
ร่างน้อยพูดก่อนจะโผบินขึ้นสู่ท้องฟ้าท่ามกลางสายตาห่วงใยจากเพื่อนใหม่ซึ่งหวังว่าในกาลครั้งหน้า ข้าจะต้องได้พบเจ้าอีกเป็นแน่แท้ แก้วกุสุมา!!
#เกร็ดความรู้
มหานทีสีทันดร
นทีสีทันดร
คำว่า นทีสีทันดร ประกอบด้วยคำว่า นที กับคำว่า สีทันดร. คำว่า นที แปลว่า แม่น้ำ. ส่วน สีทันดร คือสายน้ำทั้ง ๗ สาย ที่อยู่รอบเขาพระสุเมรุ และคั่นอยู่ระหว่างภูเขา ๗ เทือก ที่ล้อมเป็นวงกลมรอบเขาพระสุเมรุอยู่. สายน้ำ ๗ สาย นั้น คั่นอยู่ระหว่างเทือกเขาเทือกหนึ่งกับอีกเทือกหนึ่ง ซึ่งเรียงซ้อนกันมาเป็นชั้น ๆ. ภูเขา ๗ เทือกนั้น มีชื่อว่า
ยุคุนธร
อิสินธร
กรวิก (อ่านว่า กอ-ระ -วิก)
สุทัสนะ (อ่านว่า สุ -ทัด-สะ -นะ)
เนมินธร วินตกะ (อ่านว่า วิน-ตะ -กะ)
และ อัสกัณ (อ่านว่า อัด-สะ -กัน)
รวมเรียกว่า เขาสัตบริภัณฑ์ (อ่านว่า สัด-ตะ -บอ-ริ-พัน) หรือ เขาสัตภัณฑ์ (อ่านว่า สัด-ตะ -พัน) ก็ได้
สีทันดร แปลว่า เป็นสายน้ำที่มีน้ำใสสะอาด ซึ่งฝุ่นและตะกอนจมลงหมด มีความกว้างและลึก และจะลดความกว้างและลึกน้อยลงจากสายที่อยู่ใกล้ภูเขาเรื่อยมาจนถึงสายที่อยู่นอกสุด.