ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน รู้ไว้ก่อนสายเกินแก้
เมื่อคนเราอายุมากขึ้นก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเองได้อย่างชัดเจน บางคนอาจจะตาเริ่มพร่ามัว บางคนอาจจะมีอารมณ์ที่แปรปรวน รวมไปถึงการปวดเข่าก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่สามารถเป็นได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาการปวดเข่านั้น ไม่ใช่อาการที่ปกติแต่อย่างใด เพราะว่าถ้าหากปวดเข่านานไร้การรักษาจะทำให้ข้อเข่าเกิดการสึกหรอและปวดบวมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย สำหรับบทความนี้จะพูดถึงโรคข้อเข่าเสื่อมสภาพว่ามีที่มาอย่างไร เราไปรับความรู้พร้อมๆ กันเลยครับ
โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
Osteoarthritis หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของโรคข้อเข่าเสื่อม คือกระดูกบริเวณข้อเข่าของเรามีความผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถใช้งานในสภาพเดิมได้ ซึ่งกระดูกข้อเข่าจะเสื่อมสภาพลงและมีอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เบื้องต้นอาการของข้อเข่าเสื่อมมักเกิดจากการย่อตัว นั่งงอเข่า กระโดดเป็นเวลานาน รวมไปถึงการใช้งานหัวเข่าเป็นเวลานานเกินไปโดยที่ไม่ได้พัก ซึ่งการปล่อยไว้แบบนั้นจะทำให้เจ็บข้อเข่าและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาจะทำอะไรนานๆ เราควรคำนึงถึงกระดูกและร่างกายของเราในอนาคตด้วยครับ
โรคข้อเข่าเสื่อม อันตรายแค่ไหน คลิกอ่าน ข้อเข่าเสื่อม
ข้อเข่าเสื่อมเกิดจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมคือความเสื่อมและสึกหรอของกระดูกอ่อน ผิวข้อเสื่อมสภาพ ทำให้กระดูกข้อต่อเสียดสี เนื้อกระดูกจะเสื่อมสภาพ และยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้ออักเสบอีกด้วย
ปัจจัยเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมมีด้วยกัน 7 ข้อ ดังนี้
- เพศ เพศหญิงเป็นเพศที่มีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าเพศชายได้ถึง 2 เท่า เพราะฉะนั้นแล้วควรระมัดระวังเรื่องการเดิน
- อายุ ยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย เนื่องจากการใช้งานของข้อเข่ามากเกินไปนั่นเอง
- กีฬา การเล่นกีฬาก็มีส่วนทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกันครับ เช่น การเล่นกีฬาที่มีการปะทะกันอย่างกีฬาฟุตบอล หากไม่ระวังตัวในขณะเล่นกีฬา อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและข้อเข่าเสื่อมเร็วได้ครับ
- อุบัติเหตุ อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่หลายคนมิอาจเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตามถ้าคุณประสบอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่าหรือเอ็นฉีก ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ครับ
- น้ำหนัก คนน้ำหนักมากตอนยืนนานจะมีอาการปวดข้อเข่า เพราะฉะนั้นแล้วการที่เรามีน้ำหนักตัวมากก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกันครับ
- พฤติกรรม สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงการเกิดโรคข้อเข่าอักเสบ คือการปรับเปรียบพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น นั่งพับเพียบ, นั่งคุกเข่า หรือนั่งยองๆ เป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องนั่งจริงๆ ควรเปลี่ยนท่านั่งบ้างครับ
- ความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ ใช้งานข้อกระดูกมากเกินไปก็ไม่ดี แต่หากใช้งานน้อยเกินไปหรือไม่ใช้เลยก็ไม่ดีเช่นกันครับ เพราะฉะนั้นแล้วเราควรหมั่นออกกำลังกายอย่างพอดีเพื่อสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกให้แข็งแรงครับ
ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ผู้ที่อายุน้อยก็มีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้หากดูและรักษาเข่าไม่ดี มาดูสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมในแต่ละวัยกันครับ
ข้อเข่าเสื่อมในผู้ที่อายุน้อย
- ผู้ที่เคยได้รับการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า ทั้งจากการออกกำลังกายและอุบัติเหตุ จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายเนื่องจากข้อเข่าได้รับการกระทบกระเทือนซ้ำๆ จากการออกกำลังกาย หรือกระทบกระเทือนด้วยความแรงจากอุบัติเหตุ
- ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ก็สามาถเกิดข้อเข่าเสื่อมได้ในขณะที่มีอายุน้อยเช่นกัน เพราะว่ารับประทานอาหารไม่ถูกหลักจนทำให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักตัวมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมสภาพเร็ว
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรครูมาตอยด์ หรือโรคเก๊าท์ มีส่วนทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ เพราะโรคเหล่านี้มักทำลายกระดูกอ่อน ทำให้เกิดอาการบวม และข้อเข่าเสื่อมหลังจากนั้น
ข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ
โดยทั่วไปแล้วโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุจะเจอในเพศหญิงตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากปัจจัยของกระดูก, กล้ามเนื้อ และฮอร์โมน จะทำให้ผู้สูงอายุเริ่มเจ็บเข่า และเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในที่สุด
ระยะอาการข้อเข่าเสื่อม
อาการของข้อเข่าเสื่อมมีด้วยกันทั้งหมด 3 ระยะ หากรู้สึกมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและวิธีป้องกัน โดยรายละเอียดของข้อเข่าเสื่อมในแต่ละระยะมีดังนี้
ข้อเข่าเสื่อมระยะแรก
ข้อเข่าเสื่อมระยะแรกจะมีอาการปวดหัวเข่าและเจ็บข้อเข่า จะรู้สึกได้จากการใช้งานหัวเข่า เช่น การนั่งพับเพียบ, นั่งยองๆ, การนั่งขัดสมาธิ, การงอเข่าได้ไม่สุด รวมไปถึงการเดินเป็นเวลานานเช่นกัน หากคุณมีอาการเจ็บเข่าจากการทำกิจกรรมพวกนี้ นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังจะเป็นข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกแล้วครับ
ข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลาง
ข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลางจะมีอาการแตกต่างกันกับข้อเข่าเสื่อมระยะแรก คือจะมีเสียงดังเวลาขยับข้อเข่า และจะลุกขึ้นยืนได้ลำบากกว่าเดิมด้วยครับ บริเวณข้อเข่าจะมีอาการบวม มีความรู้สึกอุ่นๆ เวลาสัมผัสกับข้อเข่า
ข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง
ข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรงเป็นข้อเข่าเสื่อมระยะสุดท้ายของโรคข้อเข่าเสื่อม โดยจะมีอาการปวดข้อเข่ารุนแรงมากที่สุด และปวดอยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่ได้ขยับตัวเลยแม้แต่น้อย ข้อเข่าเสื่อมระยะนี้จะมีการตรวจเจอน้ำในช่องข้อเข่า และข้อเข่าโก่ง ขาโก่งผิดรูป มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เพราะว่าจะปวดอยู่ตลอดเวลลาเลยครับ
การวินิจฉัยอาการข้อเข่าเสื่อม
แนวทางการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม มีอยู่ 4 ข้อ ดังนี้
- การคัดกรองเบื้องต้น
การคัดกรองเบื้องต้น จะเป็นการทำแบบประเมินในเบื้องต้นของการตรวจข้อเข่าเสื่อมโดยทั่วไป หากคุณพบว่าตนเองรู้สึกว่าข้อเข่าบวม, เจ็บข้อเข่า หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคข้อเข้าเสื่อมหรือไม่ สามารถทำแบบประเมินเบื้องต้นได้เลยครับ
- การตรวจวินิจฉัยข้อเข่า
สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การส่งตรวจเอกซเรย์ และการเจาะเลือด
- การส่งตรวจเอกซเรย์ เป็นการตรวจเพื่อหาช่องว่างของกระดูกในข้อเข่า และตรวจหาตุ่มกระดูกที่เกิดขึ้นรอบๆ ข้อเข่าว่าผิดปกติหรือไม่
- การเจาะเลือด เป็นการนำเลือดไปวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ นอกเหนือจากโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ เป็นต้น
- Knee Scoring
เป็นการประเมินข้อเข่า โดยแพทย์จะเป็นคนประเมินระดับความรุนแรงข้อข้อเข่าว่าอยู่ไหนระดับไหน เป็นมากหรือน้อย และจะใช้ระบบ Scoring เป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินข้อเข่าเสื่อมของผู้ป่วย
วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัด
หลังจากที่แพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อมแล้ว จะมีการแนะนำวิธีรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด โดยวิธีการรักษาจะแต่งต่างกันออกไป ได้แก่ การออกกำลังกาย, การรักษาทางชีวภาพ (Biological Therapy), การรักษาด้วยการใช้ยา, การทำกายภาพบำบัด, การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery) และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Arthroplasty) เป็นต้น
การออกกำลังกาย บริหารข้อเข่า
การออกกำลังกายเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อข้อเข่า ทำให้กล้ามเนื้อสามารถพยุงข้อเข่าได้ดีขึ้น อีกทั้งยังทำให้ข้อเข่าไม่ต้องรับน้ำหนักมากจนเกินไปอีกด้วย ทั้งนี้ ควรออกกำลังกายอย่างพอเหมาะตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมมากจนเกินไป
การรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยการใช้ยา
ข้อเข่าเสื่อม กินยาแล้วทำไมไม่ดีขึ้น ? การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น สามารถทำได้โดยการบริโภคยาและฉีดยา โดยยาจะช่วยลดอาการปวดข้อเข่าได้ หากทว่าหลายคนคงสงสัยว่าทำไมกินยาแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือไม่หายขาด เพราะว่ายาแก้ปวดที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น เป็นยาในกลุ่มของยาแก้อักเสบ มีหน้าที่ลดอาการปวดของข้อเข่าได้ แต่ถ้าหยุดยาแล้วก็จะทำให้มีอาการปวดข้อเข่าตามเดิม จึงสรุปได้ว่ายากลุ่มนี้สามารถลดอาการปวดข้อเข่าได้ แต่ไม่สามารถทำให้หายสนิทได้ครับ
การทำกายภาพบำบัด
สำหรับการทำกายภาพบำบัด จะเป็นการบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณข้อเข่าหลังจากเลเซอร์นั่นเองครับ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายทั้งก่อนการผ่าตัดและหลังจากการผ่าตัดครับ
วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัด
นอกจากวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบทั่วไปแล้ว ก็ยังมีวิธีการรักษาโดยการผ่าตัดอีกด้วยครับ โดยจะแบ่งเป็นการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง และการผ่าตัดโดยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง
Arthroscopic Surgery หรือการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผ่าตัด โดยการสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปในบริเวณข้อเข่า ทำให้เห็นกระดูกบริเวณข้อเข่าได้ชัดเจน โดยปกติแล้วการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง จะเหมาะกับการรักษาผู้ป่วยที่เอ็นข้อเข่าขาด หรือเอ็นเข่าอักเสบ รวมไปถึงข้อเข่าล็อค อย่างไรก็ตามการผ่าตัดวิธีนี้จะขึ้นอยู่ในดุลพินิจของทีมแพทย์ครับ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
Arthroplasty หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมที่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างปกติ โดยหลังจากผ่าตัดแล้วจะช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อเข่าได้ เหมาะกับการช่วยผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมให้กลับมาใช้ชีวิตได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยจะมีอยู่ 2 วิธี คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด
โดยหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้ว ควรบริหารกล้ามเนื้อขาอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลา 5-6 เดือน ควรงอเข่าให้ได้อย่างน้อย 100 องศา หลังจากข้อเข่าเริ่มคงที่แล้ว สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติเลยครับ
การป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม
หากคุณรู้ถึงความร้ายแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว ก็ไม่ควรให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับตัวคุณเองและคนที่คุณรัก โดยโรคข้อเข่าเสื่อมมีวิธีป้องกันง่ายๆ ดังนี้ครับ
- ควบคุมน้ำหนักตัว
การคุมน้ำหนักตัวมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ เพราะถ้าหากน้ำหนักมากเกินไป จะทำให้ข้อเข่าเริ่มเสื่อมและปวดบวมได้ในที่สุด และควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการด้วยครับ ไม่รับประทานของมันมากจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าหนัก
ควรงดการใช้งานข้อเข่าหนักจนเกินไป เพราะหากได้รับการกระทบกระเทือนซ้ำๆ เป็นอย่างแรงก็มีส่วนทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ครับ
- ไม่ออกกำลังกายอย่างหักโหม
การออกกำลังกายเป็นสิ่งท่ีดีต่อสุขภาพ นอกจากจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ร่างกายยังได้เผาผลาญอีกด้วย แต่ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนเกินไปครับ
- หมั่นดูแลบริหารกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อต่อให้แข็งแรง
หากกล้ามเนื้อรอบข้อต่อแข็งแรง จะส่งผลให้ข้อต่อเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้น้อยครับ เพราะฉะนั้นแล้วควรดูแลบริหารกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอครับ
- จัดบ้านให้โล่งต่อการเดิน
ควรทำความสะอาดบ้านให้สะอาดและจัดบ้านให้โล่งต่อการเดิน เพื่อลดอุบัติเหตุและความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมครับ
- บันไดควรมีราวจับ
สำหรับการขึ้นบันได ก็ควรมีราวจับเพื่อเสริมความปลอดภัยต่อการเดินขึ้นลงบันไดครับ มิเช่นนั้นแล้วอาจสะดุดหกล้มก็เป็นได้
- ใช้ส้วมแบบชักโครก งดการใช้แบบยอง
การเลือกใช้สุขภัณฑ์ที่ดีก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้น้อยลงครับ อย่างเช่นการเลือกใช้ส้วมแบบชักโครก ก็จะสะดวกต่อการขับถ่ายมากกว่าส้วมแบบใช้ยองครับ
- เลี่ยงห้องน้ำที่ลื่น ควรมีเก้าอี้นั่ง
ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่ควรระมัดระวังเลยครับ เพราะการอาบน้ำในห้องน้ำที่ลื่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมเลยครับ เพราะฉะนั้นแล้วก็ควรเลี่ยงการอาบน้ำที่มีห้องน้ำลื่น และควรมีเก้าอี้นั่งระหว่างอาบน้ำครับ เพราะจะสามารถลดความเสี่ยงในการลื่นล้มในห้องน้ำได้
แนะนำอาหารช่วยบำรุงข้อเข่า
นอกจากยาที่ช่วยลดอาการเจ็บปวดของข้อเข่าแล้ว อาหารก็มีส่วนช่วยทำให้ข้อเข่ามีอาการที่ดีขึ้นเช่นกันครับ เราไปทำความรู้จักกัน 7 อาหารที่ช่วยบำรุงข้อเข่าได้เลยครับ
- น้ำเต้าหู้ สารอาหารในถั่วเหลืองจะมีคอลลาเจน ถ้าดื่มเป็นประจำจะดีต่อร่างกายมากเลยครับ
- กุ้งแห้ง แคลเซียมจากกุ้งแห้งจะช่วยเสริมกระดูกของเราให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น เพราะกุ้งแห้ง 100 กรัม มีแคลเซียมสูงถึง 2,300 มิลลิกรัมเลยล่ะครับ
- มะเขือเทศ เป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่ช่วยในเรื่องของคอลลาเจน อีกทั้งยังซ่อมแซมกระดูกได้อีกด้วยครับ
- ฝรั่ง สำหรับฝั่งแล้วเป็นผลไม้ที่ช่วยในเรื่องของการต่อต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังช่วยบำรุงข้อเข่าได้อีกด้วยครับ
- ขิง เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ของการต่อต้านการอักเสบ มีสรรพคุณในเรื่องของการไหลเวียนเลือด ีกทั้งยังช่วยลดอาการปวดเข่าได้ด้วยครับ
- ปลาทะเล สำหรับเนื้อปลาทะเลอย่างปลาทูก็สามารถช่วยต่อเติมข้อกระดูกอ่อนในร่างกายที่ถูกทำลายลงได้ อีกทั้งยังมีไขมันโอเมก้า 3 และคอลลาเจนอีกด้วย
- งาดำ เป็นพืชที่มีสรรพคุณหลายอย่างเลยครับ นอกจากจะมีส่วนช่วยทำให้กระดูกนั้นแข็งแรงแล้ว ก็ยังมีแร่ธาตุทองแดง และแร่สังกะสีอีกด้วย ซึ่งช่วยในเรื่องของการสร้างคอลลาเจน และช่วยเพิ่มมวลของกระดูกด้วยครับ
ข้อสรุป
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ง่ายกับคนที่ใช้งานหัวเข่าเยอะเกินไป การออกกำลังกายอย่างหนัก และรวมไปถึงคนที่น้ำหนักตัวมากจนเกินไป ในระยะแรกอาจจะไม่รุนแรงมาก แต่ถ้าหากปล่อยไว้นานจะมีอาการทรุดลง และทำให้ไม่สะดวกต่อการดำเนินชีวิต
เพราะฉะนั้นแล้วต้องคอยดูแลรักษาสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอและรับประทานอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการเพื่อป้องกันการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมและเสริมสร้างกระดูกที่แข็งแรงครับ
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้