เอ็นเข่าอักเสบ ไม่ควรปล่อยไว้ อีกหนึ่งสาเหตุอาการปวดเข่าเรื้อรัง
เมื่อเกิดอาการหรือรู้สึกปวดหัวเข่าขึ้นมา สิ่งแรกที่ใครหลาย ๆ คนอาจนึกถึงเลยก็คือ ‘เอ็นเข่าอักเสบ’ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากเนื้อเยื่อที่มีหน้าที่ในการยึดระหว่างกระดูกและกล้ามเนื้อในบริเวณเข่า ได้เกิดการบาดเจ็บหรืออักเสบขึ้นมา จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและยังสร้างความทรมานอีกด้วย
โดยอาการเอ็นหัวเข่าอักเสบนั้นมีสาเหตุที่ทำให้เกิดอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การใช้งานหัวเข่ามากเกินพอดี ไปจนถึงการเกิดอุบัติเหตุที่หัวเข่า และในบทความนี้เราจะมาอธิบายข้อควรรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับเอ็นเข่าอักเสบกัน
เอ็นเข่าอักเสบ (Patellar Tendinitis )
เอ็นหัวเข่าอักเสบเกิดจากการบาดเจ็บหรืออักเสบขึ้นที่เอ็นของหัวเข่า ซึ่งเอ็นของหัวเข่านี้คือเนื้อเยื่อที่มีหน้าที่ยึดระหว่างกระดูกและกล้ามเนื้อในบริเวณหัวเข่า และในอาการเอ็นเข่าอักเสบเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งการใช้งานหนักของเข่า และการเกิดอุบัติเหตุ
โดยอาการทั่วไปของเอ็นเข่าอักเสบจะได้แก่ ปวดและเจ็บบริเวณเข่า เกิดการบวมแดงที่หัวเข่า หรือเกิดความลำบากในการเคลื่อนไหวบริเวณเข่า ซึ่งในผู้ที่อาการไม่หนักมากสามารถที่จะดูแลเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ แต่ถ้าหากมีอาการหนักหรือมีอาการเรื้อรังควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ทันที
เอ็นเข่าอักเสบเกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุที่ทำให้เกิดเอ็นหัวเข่าอักเสบมีอยู่มากมายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเข่าที่ผิดสะสมมาเป็นช่วงระยะเวลานาน หรือการเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บอย่างเฉียบพลัน โดยสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเอ็นเข่าอักเสบมีดังนี้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเอ็นเข่าอักเสบ
1.ออกกำลังกายโดยที่ยังไม่ได้มีการยืดหยุ่นกล้ามเนื้อหรือวอร์มอัปอย่างถูกวิธี
2.ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ต้องใช้เข่ามากเกินไป เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล เทนนิส กระโดดเชือก วิ่งมาราธอน เป็นต้น
3.ใช้งานเข่าด้วยท่าทางเดินซ้ำกันระยะเวลานาน ๆ
4.เคลื่อนไหวบริเวณเข่าผิดท่า
5.เกิดอุบัติเหตุหรือได้รับการกระแทกอย่างแรงบริเวณหัวเข่าเฉียบพลัน
6.อายุที่มากขึ้น ในผู้สูงอายุข้อเข่าจะมีความยืดหยุ่นน้อยลง และมีความเสื่อมสภาพไปตามเวลา ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเอ็นเข่าอักเสบหรือเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุได้ง่าย
7.ผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อม ก็จะทำให้เกิดอาการเอ็นเข่าอักเสบได้เช่นเดียวกัน
อาการสัญญาณเตือนเอ็นเข่าอักเสบ
หากใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายเป็นเอ็นหัวเข่าอักเสบหรือไม่ ในหัวข้อนี้เราจะมาอธิบายอาการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นให้ได้รู้และนำไปสังเกตตัวเองกัน ซึ่งอาการที่บ่งชี้ให้เห็นว่ากำลังเกิดเอ็นเข่าอักเสบมีดังนี้
- ปวดหัวเข่าในเวลาที่งอเข่า
ลักษณะอาการ มีการสะดุดของกระดูกอ่อนสะบ้าเข่า และเกิดเสียงขึ้นบริเวณหัวเข่าเมื่อมีการงอเข่าหรือเคลื่อนไหว โดยจะมีอาการปวดเข่าด้านหน้าอย่างมากในผู้ที่เป็นกระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ
- ปวดเข่าด้านนอก
ลักษณะอาการ เกิดอาการปวดเข่าด้านนอกในบริเวณที่เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ และอาการจะหนักขึ้นเมื่อมีการวิ่งขึ้นลงเนินเขา หรือมีการก้าวเท้ายาว ๆ
- ปวดเข่าด้านหลัง
ลักษณะอาการ เกิดอาการปวดแปลบ ๆ ใต้ข้อพับเข่า และอาการจะหนักขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนท่านั่งหรือมีการวิ่ง
- เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด
ลักษณะอาการ ในช่วงแรกจะไม่สามารถเดินหรือทำการลงน้ำหนักได้อย่างเต็มที่100% แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์อาการจะดีขึ้น แต่ก็อาจเกิดอาการปวดเข่าเมื่อต้องบิดหัวเข่าอยู่บ้าง
ใครบ้างที่เสี่ยงเอ็นเข่าอักเสบ
อาการเอ็นหัวเข่าอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัยก็จริง แต่ก็มีกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงในการเกิดเอ็นเข่าอักเสบสูงกว่าคนทั่วไปอยู่เช่นเดียวกัน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่
- ผู้ที่ทำกิจกรรมในท่าทางเดิมเป็นระยะเวลานาน ๆ
- นักกีฬาที่ต้องใช้งานเข่าหนักเกินไป เช่น วิ่งมาราธอน บาสเกตบอล ฟุตบอล กระโดดเชือก เป็นต้น
- ผู้ที่มีการเคลื่อนไหวหรือใช้ท่าทางหัวเข่าที่ไม่ดี
- ผู้สูงอายุ เมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ความยืดหยุ่นของข้อเข่าจะลดน้อยลง
- ผู้ที่ต้องทำงานยกของหนัก จะทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักที่มากในขณะที่ยกของ
เอ็นเข่าอักเสบ..ปล่อยไว้อาจเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม
การเกิดเอ็นหัวเข่าอักเสบเป็นระยะเวลานานเรื้อรัง หรือมีอาการเอ็นเข่าอักเสบรุนแรง แต่กลับเพิกเฉยไม่รีบเข้ารับการรักษากับแพทย์ ก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมได้
เนื่องจากการปล่อยให้เอ็นเข่าอักเสบเรื้อรังจะทำให้กระดูกข้อเข่าบดและเสียดสีกันหนักมากขึ้น จนส่งผลให้ข้อเข่าเกิดการเสื่อมสภาพ และจะก่อให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย
การตรวจวินิจฉัยเอ็นเข่าอักเสบ
ในการตรวจวินิจฉัยอาการเอ็นหัวเข่าอักเสบนั้นโดยทั่วไปแล้วจะตรวจด้วยการซักประวัติเพื่อสอบถามอาการเบื้องต้น ไปจนถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ก็อาจมีการตรวจวินิจฉัยเอ็นเข่าอักเสบด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ เช่น
การเอกซเรย์
การเอกซเรย์ข้อเข่าจะช่วยให้แพทย์สามารถรู้จุดที่มีการบาดเจ็บหรืออักเสบได้ เพื่อที่จะทำการรักษาได้อย่างตรงจุด เนื่องจากการเอกซเรย์จะทำให้มองเห็นภาพและแยกกระดูกที่มีความปกติกับกระดูกที่มีการอักเสบในบริเวณข้อเข่าออกจากกันได้ง่าย
การอัลตราซาวด์
การอัลตราซาวด์จะช่วยให้แพทย์มองเห็นร่องรอยการฉีกขาดของเส้นเอ็นบริเวณหัวเข่าได้ชัดเจน เนื่องจากการอัลตราซาวด์เป็นเทคโนโลยีที่จะสร้างภาพเสมือนภายในของหัวเข่าด้วยการใช้คลื่นเสียง
การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI นั้นจะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดของอวัยวะต่าง ๆ ในบริเวณเข่าได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเส้นเอ็น กระดูก ไปจนถึงปริมาณน้ำในข้อเข่า ด้วยเทคโนโลยีที่จะสร้างภาพเสมือนภายในบริเวณเข่าด้วยสนามแม่เหล็กความเข้มสูงและคลื่นวิทยุ
วิธีรักษาเอ็นเข่าอักเสบ
เมื่อเกิดอาการเอ็นหัวเข่าอักเสบขึ้น วิธีการรักษานั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลัก ๆ ด้วยกัน คือ วิธีรักษาเอ็นเข่าอักเสบเบื้องต้นที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และวิธีรักษาเอ็นเข่าอักเสบด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยในหัวข้อนี้เราจะมาอธิบายทั้ง 2 วิธีนี้อย่างละเอียดกัน
การรักษาเอ็นเข่าอักเสบเบื้องต้น
- การประคบเย็น
เมื่อเกิดอาการปวดหรือบวมเราสามารถที่จะใช้การประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการได้ โดยนำผ้าที่ห่อน้ำแข็งมาประคบในบริเวณที่เอ็นเข่าอักเสบ ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายด้วยท่าบริหารกล้ามเนื้อ
หมั่นออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง เนื่องจากการที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงจะทำให้เกิดเอ็นเข่าอักเสบได้ง่าย
- การใช้อุปกรณ์กระชับสะบ้าเข่า
ใช้อุปกรณ์กระชับสะบ้าเข่า หรือใช้ผ้าพันรอบ ๆ ข้อต่อเข่า เพื่อช่วยรองรับน้ำหนักและลดการกระแทกที่จะส่งไปถึงข้อเข่า
วิธีรักษาเอ็นเข่าอักเสบทางการแพทย์
- รับประทานยาแก้ปวด
การทานยาแก้ปวดเพื่อรักษาอาการเอ็นเข่าอักเสบสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าลงได้ โดยยาแก้ปวดต่าง ๆ ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin) , นาพรอกซอน (Naproxen) และสมุนไพรที่ใช้ทานแก้ปวดเข่า เป็นต้น แต่ถ้าหากทานยานานเกิน 1 สัปดาห์แล้วยังไม่หายปวด ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- ฉีดคอร์ติโคสเตอรอยด์ (Corticosteroids)
ยาชนิดนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มยาที่ลดอาการปวดหรืออักเสบ ซึ่งการฉีดยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ (Corticosteroids) จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเอ็นเข่าอักเสบเรื้อรัง
- การทำกายภาพบำบัด
ทำการกายภาพบำบัดโดยการเกร็งตัวในขณะที่มีการยืดตัวอยู่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ
- การผ่าตัด
ในผู้ที่แพทย์ได้วินิจฉัยว่าไม่สามารถรักษาเอ็นเข่าอักเสบด้วยวิธีอื่น ๆ ข้างต้นได้ เช่น ผู้มีที่อาการเอ็นเข่าอักเสบรุนแรง หรือเอ็นเข่าเกิดการฉีกขาด ก็จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีผ่าตัดในการรักษา
เอ็นเข่าอักเสบ กี่วันหาย
ในอาการเอ็นหัวเข่าอักเสบนั้นถ้าหากเป็นอาการที่ไม่รุนแรงจะสามารถหายเองได้ในระยะเวลา 2-3 วัน แต่ในกรณีที่มีอาการเอ็นเข่าอักเสบรุนแรงก็จะใช้เวลารักษานานหลายสัปดาห์
แนวทางการป้องกันเอ็นเข่าอักเสบ
แนวทางการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเอ็นหัวเข่าอักเสบนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นไปที่อาหารที่สามารถช่วยบำรุงกระดูกและเส้นเอ็น ซึ่งเป็นอาหารที่มีแคลเซียมและคอลลาเจนสูง เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ปลาแซลมอน เป็นต้น
- ยืดหยุ่นร่างกายหรือวอร์มอัปทุกครั้งก่อนที่จะออกกำลังกาย
- เมื่อจะเล่นกีฬาที่อาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนหรือใช้งานบริเวณหัวเข่ามาก ก็ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันหรือช่วยลดแรงกระแทกของหัวเข่า
- บริหารความแข็งแรงของหัวเข่าและกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการกระโดด
- หลีกเลี่ยงการนั่งยอง นั่งพับเพียบ หรือนั่งคุกเข่า เป็นระยะเวลานาน ๆ
- หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหรือเอ็นเข่าอักเสบ
- จัดบ้านหรือห้องให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่อาจทำให้สะดุดล้ม
ข้อสรุป
เมื่อเกิดอาการปวดหรือบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าควรที่จะสังเกตอาการต่าง ๆ ให้ดี ว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดเอ็นหัวเข่าอักเสบหรือไม่ เพื่อที่จะสามารถดูแลเบื้องต้นด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการรักษากับแพทย์ได้อย่างทันท่วงที
และในผู้ที่รู้ตัวว่ามีอาการเอ็นเข่าอักเสบนั้น ก็ควรที่จะติดตามอาการของตัวเองอยู่เสมอ เพราะถ้าหากมีอาการเอ็นเข่าอักเสบเรื้อรัง หรือมีความรุนแรงมากขึ้น ก็ไม่ควรเพิกเฉย และรีบเข้าปรึกษาแพทย์และรับการรักษาทันที เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และอาจส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมอีกด้วย
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้