มนตราดอกกุหลาบ
เขียนโดย 2305
วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559 เวลา 13.07 น.
แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน พ.ศ. 2559 14.21 น. โดย เจ้าของนิยาย
10) บทที่ 9
อ่านบทความตามต้นฉบับ อ่านบทความเฉพาะข้อความบทที่ 9
รจนาถูกอาจารย์นงนุชเชิญตัวให้ไปพบในวันจันทร์ถัดมา เธอพอจะคาดเดาได้ว่าคงเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคืนวันเสาร์ที่บ้านของวัชรินทร์อย่างแน่นอน นงนุชมองดูลูกศิษย์สาวตั้งแต่เธอย่างเท้าเข้ามาในห้องด้วยสายตาที่พินิจพิจารณา เมื่อเธอรับไหว้รจนาแล้ว ก็อนุญาตให้รจนานั่งลงที่เก้าอี้ที่อยู่ตรงกันข้ามได้
“ที่ครูขอให้เธอมาพบในวันนี้ เพราะมีบางเรื่องที่ครูอยากจะพูดกับเธอเกี่ยวกับอองรี”
“ค่ะ”รจนารับคำและคิดไม่ถึงว่าจะกลับกลายเป็นเรื่องนี้
“ครูไม่อยากจะก้าวก่ายความสัมพันธ์ของเธอทั้งสองคนหรอกนะ เพราะเห็นว่าต่างก็โตๆกันแล้ว เพียงแต่ครูคิดว่าในเมื่อครูเคยเอ่ยปากฝากฝังให้เธอช่วยเป็นเพื่อนดูแลเขา เพราะเห็นว่าเธอมีความสนิทสนมกับเขาอยู่ก่อน”
“หนูก็ได้พยายามทำตามที่อาจารย์มอบหมายให้อย่างดีที่สุด”
“ครูขอบใจ”นงนุชกล่าว “ อองรีเป็นลูกชายของเพื่อนของครูที่รู้จักกันมานาน เมื่อเขามาอยู่ที่นี่ ครูในฐานะผู้ใหญ่ก็อดที่จะคอยสอดส่องดูแลเขาด้วยความเป็นห่วงไม่ได้ จึงได้ฝากฝังให้หนูช่วยดูแลเป็นหูเป็นตาให้อีกทางหนึ่ง แต่ถ้าหนูรู้สึกลำบากใจ หรือไม่สบายใจ หนูก็ไม่จำเป็นต้องทำตามที่ครูขอก็ได้นะ เพราะยามนี้ครูก็เห็นว่า อองรีก็สามารถปรับตัวเข้ากับที่นี่ได้ดีพอสมควรแล้ว”
“หนูไม่มีอะไรลำบากใจค่ะ”
“ถ้าเช่นนั้นครูจะถือว่า นับจากนี้ไป การที่เธอทั้งสองจะคบกันนั้น เป็นความสมัครใจของพวกเธอกันเองนะ”
“อาจารย์หมายความว่าอย่างไรกันคะ”
นงนุชมองดูลูกศิษย์สาวที่นั่งสงบเสงี่ยมอยู่เบื้องหน้าก็บังเกิดความรู้สึกเอ็นดูขึ้นมา
“ไม่ใช่ครูจะห่วงแต่อองรีในฐานะลูกของเพื่อนเท่านั้นนะ แต่ครูก็ยังห่วงหนูในฐานะลูกศิษย์คนหนึ่งเช่นกัน”
“ทำไมหรือคะอาจารย์ หนูทำอะไรที่ไม่เหมาะสมหรือคะ”
“ครูได้ฟังจากลูกสาวครูว่า อองรีเคยประกาศว่าหนูเป็นคนรักของเขา”
รจนารู้สึกร้อนวูบวาบขึ้นมาที่ใบหน้าในทันที ก่อนที่จะกล่าวว่า
“ตอนนั้นเหตุการณ์มันบังคับค่ะ เขาทำเพื่อเจตนาที่จะปกป้องหนู”
“แต่พวกเธอก็มีความรู้สึกเกินกว่าความเป็นเพื่อนหรือเปล่า”
“อาจารย์....”รจนากล่าวได้แค่นั้น ก็รู้สึกไม่อาจที่จะกล่าวอันใดต่อไป
“ครูไม่อยากที่จะก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของเธอนะ แต่อยากจะฝากข้อคิดเอาไว้ว่า วัฒนธรรมประเพณีของเรากับเขานั้น แตกต่างกันมาก และครูไม่คิดว่าจะเข้ากันได้ด้วย ครูไม่อยากให้เธอถลำลึกไปกว่านี้”
รจนาน้อมรับคำเตือนของนงนุชด้วยความขอบคุณ เธอครุ่นคิดตลอดมาหลังจากนั้นว่าสิ่งที่นงนุชเตือนเธอนั้น หมายถึงอะไร เธอออกจากห้องของนงนุชแล้วเดินมาเรื่อยๆจนกระทั่งมาถึงห้องสมุดที่เธอนัดกับอองรีไว้
หลังจากทักทายกันแล้ว เธอได้นั่งลงที่เก้าอี้ฝั่งตรงกันข้ามกับเขา แล้วหยิบสมุดกับดินสอขึ้นมาวาดแบบกระเป๋าตามที่เธอได้จินตนาการเอาไว้ แต่คำพูดของนงนุชยังคงตามมารบกวนจิตใจของเธอ จนเธอไม่อาจมีสมาธิที่จะทำงานได้ เธอขีดฆ่าแบบกระเป๋าที่เธอออกแบบร่างไว้ ภาพแล้ว ภาพเล่า จนสมุดฉีกหมดไปเกือบครึ่งเล่ม ทำให้อองรีที่กำลังอ่านหนังสืออยู่และลอบมองกิริยาของเธอมาตลอด ต้องกล่าวเบาๆว่า
“ความคิดดีๆ มักจะมาในยามที่เรามีจิตใจปลอดโปร่งโล่งสบาย ถ้าวันนี้ยังคิดไม่ออก ก็พักไว้ก่อนดีกว่าครับ”
เวลาผ่านไปอีกหลายวัน รจนายังไม่สามารถออกแบบกระเป๋าที่ต้องส่งเป็นการบ้านให้ถูกใจเธอได้ แม้ว่าเธอจะพยายามค้นหาในนิตยสารแฟชั่นต่างๆ เพื่อหวังว่าจะช่วยให้เกิดความคิดขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ผลถูกใจเธอแต่อย่างใด
วันหนึ่งขณะที่อองรีกำลังนั่งคอยรจนาแสดงดนตรีอยู่นั้น เมื่อเธอแสดงเสร็จ เธอก็รีบมาหาเขาที่นั่งคอยอยู่ที่ม้านั่งด้านนอก แล้วร้องขอยืมสมุดและปากกาในทันที อองรีรีบส่งสมุดและปากกาของเขาให้แก่เธอ รจนาลงมือวาดรูปกระเป๋าอย่างคร่ำเคร่ง โดยมีอองรีนั่งดูอยู่อย่างเงียบๆ เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เธอก็ผ่อนลมหายใจออกมาด้วยความโล่งอก พร้อมกับส่งแบบกระเป๋าที่เธอเพิ่งร่างเสร็จ ให้เขาดู
“เสร็จเสียที นึกว่าจะคิดไม่ออกแล้ว” เธอกล่าวอย่างภาคภูมิใจ อองรีรับสมุดนั้นมาดู มันเป็นกระเป๋าสะพายที่รจนาออกแบบโดยนำ ดอกกุหลาบดอกเล็กๆมาแต่งเติมเป็นลวดลาย ได้กลมกลืนกับรูปแบบของกระเป๋าได้อย่างลงตัว ไม่มีที่ติ
“สวยมากเลยครับ ดูหรูหรา งามสง่า และมีราคา ไม่เหลือเค้าโครงที่คุณพยายามทำในตอนแรกเลยนะครับ” เขากล่าวชมจากใจจริง
“ตอนแรกฉันพยายามจะดัดแปลงจากกระเป๋าฟรังซัวร์ใบนั้น แต่คิดเท่าไรก็ไม่ถูกใจ คงเป็นเพราะฉันไปผูกติดกับมัน จึงทำให้ความคิดของฉันไม่เป็นอิสระ พอฉันปล่อยให้จินตนาการของฉันเป็นอิสระ มันก็เริ่มได้ผล ฉันเกิดจินตนาการเมื่อสักครู่นี้เอง ตอนที่กำลังแสดงดนตรีอยู่ จึงต้องรีบวาดไว้ก่อนที่จะลืมเลือนไป”
เธอรับสมุดนั้นคืนมาจากเขา แต่ขณะที่กำลังจะฉีกกระดาษคู่นั้นออกมานั้น เธอพลิกดูจึงได้เห็นว่า อีกด้านหนึ่งของกระดาษ มีบันทึกการเรียนของอองรี ที่เขาจดบันทึกไว้อยู่
“ตายจริง ฉันไม่ทันดูว่าคุณได้จดบันทึกไว้อีกด้านหนึ่ง”
“ไม่เป็นไรครับ ถ้าเช่นนั้น ขอผมเอากลับไปลอกข้อความที่จดไว้ก่อน แล้วพรุ่งนี้ผมจะเอาแบบร่างที่คุณร่างไว้มาให้”
รจนากล่าวขอบคุณเขาด้วยความยินดี ก่อนที่จะชวนกันเดินทางกลับหอพัก เหมือนเช่นเคย คืนนั้นอองรีคัดลอกบทเรียนของเขาลงใส่กระดาษใบใหม่ จากนั้นจึงเปิดดูแบบร่างกระเป๋าที่รจนาร่างไว้อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็เกิดความคิดบางประการขึ้นมา เขาจึงได้หยิบโทรศัพท์มือถือของเขาขึ้นมา แล้วถ่ายรูปภาพวาดกระเป๋านั้น ส่งไปให้แก่พ่อของเขาที่ฝรั่งเศส
วันรุ่งขึ้น รจนามาพบกับอองรีที่ห้องสมุด ตามที่ได้นัดกันไว้ อองรีกำลังใช้คอมพิเตอร์เพื่อทำงานอยู่ เธอจึงนั่งลงที่โต๊ะข้างๆที่มีกองหนังสือของเขาวางอยู่ เธอเหลือบมองดูกองหนังสือตั้งนั้น แล้วเกิดความอยากรู้ว่าเขาได้เรียนอะไรบ้าง จึงเอื้อมมือไปหยิบสมุดที่วางอยู่ในนั้นขึ้นมาเล่มหนึ่ง ในนั้นมีลายมือขยุกขยิกของเขาเป็นภาษาฝรั่งเศสที่เธอพออ่านได้บ้าง เธอพลิกเร็วๆไปยังหน้าอื่นๆ ก็พบว่ามีหน้าหนึ่งที่เขาวาดการ์ตูนเป็นรูปเครื่องบินลำเล็กๆหลายลำกำลังยิงสู้กัน ที่หัวกระดาษของหน้านั้น มีภาษาไทยตัวโตๆ เขียนว่า “ง่วงจัง” รจนาต้องยกมือขึ้นปิดปากหัวเราะด้วยความชอบใจ
อองรีขยับกายลุกขึ้น เธอจึงรีบปิดสมุดเล่มนั้นแล้ววางคืนไว้ตามเดิม ก่อนจะหันมากล่าวขอโทษกับเขาที่เธอมาช้า อองรีส่งสมุดที่มีภาพวาดกระเป๋าที่รจนาได้ออกแบบไว้คืนให้แก่เธอ จากนั้นทั้งสองคนก็ชวนกันลงไปรับประทานอาหารกลางวัน ที่โรงอาหารที่อยู่ใกล้ๆ
“เย็นนี้คุณต้องแสดงดนตรี เช่นเคยใช่ไหมครับ”
“ค่ะ”
“ตอนเย็นเราทานข้าวด้วยกันก่อน แล้วเมื่อได้เวลาที่คุณแสดงเสร็จ ผมจะไปรับนะครับ”
“ด้วยรถสปอร์ตคันละสิบล้านหรือเปล่าคะ”รจนากระเซ้าอย่างอารมณ์ดี
“ด้วยรถไฟฟ้าขบวนละร้อยล้านครับ”อองรีตอบด้วยอารมณ์ที่สดชื่นไม่ต่างกัน
แต่ก่อนนั้น รจนาชอบที่จะไปไหนมาไหนตามลำพัง แต่เมื่อได้มาสนิทสนมกับอองรีแล้ว เธอกลับรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เดินเคียงข้างกับเขา แม้ว่าอองรีจะมารับเธอทุกครั้งที่เธอต้องแสดงดนตรี แต่ด้วยความสุภาพและมีมารยาทของเขา เขาจึงต้องขออนุญาตเธอก่อนทุกครั้งเช่นกัน ความสุภาพของเขา บวกกับความเป็นห่วงที่เขาแสดงออกต่อเธอในหลายครั้งหลายหน ทำให้รจนารู้สึกว่า อองรีมีความแตกต่างจากผู้ชายคนอื่นๆที่พยายามจะเข้ามาตีสนิทกับเธอ
บ่ายวันนั้น รจนาไม่มีเรียนแล้ว แต่อองรีมีชั่วโมงที่ต้องเรียนอีกตลอดทั้งช่วงบ่าย ก่อนแยกกันที่โรงอาหาร เธอเดินไปที่ร้านค้าแล้วซื้อบ๊วยเค็มห่อหนึ่งส่งให้แก่เขา ที่รับมาด้วยท่าทางงุนงง
“ถ้าคุณรู้สึกง่วงนอนขณะเรียนหนังสือ ลองหยิบขึ้นมาใส่ปากสิคะ”
อองรีรับบ๊วยถุงนั้นมาและเก็บลงกระเป๋าเสื้อด้วยความยินดี เพราะนี่นับเป็นของชิ้นแรกที่รจนามอบให้แก่เขา แม้จะมีราคาเพียงไม่กี่บาท แต่สำหรับเขาแล้วบ๊วยถุงนี้กลับมีค่ายิ่งนัก
รจนาเดินกลับมาที่หอพัก ก็ได้พบว่าวัชรินทร์ได้มารอพบเธออยู่นานแล้ว เขาขอให้เธอขึ้นรถไปกับเขาสักครู่ รจนาไม่อาจจะปฏิเสธได้จึงจำต้องไปกับเขาแต่โดยดี เมื่อขับรถไปได้สักพัก วัชรินทร์ก็กล่าวว่า
“พรุ่งนี้พี่ต้องออกเดินทางแล้ว พี่คงไม่มีความสุขถ้าพี่ไม่ได้ปรับความเข้าใจกับรจก่อน”
“ปรับความเข้าใจอะไรคะ รจไม่ได้โกรธพี่สักหน่อย”
“จริงหรือ”วัชรินทร์ถามด้วยความยินดี
“ค่ะ รจไม่ได้โกรธ ไม่ได้ทะเลาะ ไม่ได้ผิดใจอันใดทั้งสิ้น เพียงแต่ว่ารจเป็นคนพูดตรงๆจนอาจจะทำให้พี่รู้สึกไม่สบายใจ และคิดว่ารจโกรธพี่”
“ถ้าเช่นนั้นหมายความว่ารจยังให้โอกาสพี่ใช่ไหม”
“รจรู้ตัวเองดีว่ารจเป็นใคร และพี่เป็นใคร รจไม่อยากให้พี่มาเสียเงินเสียทองเสียเวลาไปกับผู้หญิงบ้านนอกลูกชาวนาเช่นรจ วันหนึ่งพี่คงมีโอกาสได้พบกับผู้หญิงที่คู่ควรกับพี่และเป็นที่ถูกใจของคุณแม่ของพี่”
“รจอย่าประชดพี่และเอาครอบครัวของพี่เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้เลย ผู้หญิงของพี่ พี่ต้องเป็นคนเลือกเอง ขอเวลาและโอกาสให้พี่บ้าง ระหว่างที่รจยังเรียน พี่จะพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวของพี่เอง และเมื่อถึงเวลาที่พี่พร้อม พี่ก็พร้อมที่จะพิสูจน์ให้ใครๆเห็นว่ารจนั้นคู่ควรกับพี่เพียงใด”
รจนานิ่งเงียบไม่รู้จะกล่าวอันใด เพราะรู้ตัวว่าหากพูดมากไปกว่านี้ ก็จะพาลมีปากเสียงและทะเลาะกันในที่สุด วัชรินทร์เลี้ยวรถเข้าไปในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง เธอจึงถามว่า
“เรามาที่นี่ทำไมคะ”
“พี่ตั้งใจจะมาหาซื้อโทรศัพท์สักเครื่องให้รจ เผื่อว่าเวลาพี่อยากจะติดต่อด้วยจะได้โทรหาได้สะดวก”
วัชรินทร์กล่าวยังไม่ทันจบ เสียงโทรศัพท์ในกระเป๋าของรจนาก็ดังขึ้น เธอหยิบมันออกมาแล้วรับสายของอองรีในทันที
“รจนา เย็นนี้ที่คณะของผมเขามีประชุมเรื่องงานลอยกระทง ผมอาจจะไปทานอาหารมื้อเย็นกับคุณไม่ได้นะ”
“ค่ะ ไม่เป็นไรค่ะ”เธอกล่าวตอบ
“ผมยังไม่ทราบว่าจะประชุมนานเพียงใด แต่จะพยายามไปรับคุณที่ร้านอาหารเมื่อคุณแสดงดนตรีจบให้ทันนะครับ”
“ขอบคุณค่ะ” รจนาเก็บโทรศัพท์ลงในกระเป๋าแล้วหันมาพบกับสายตาที่แสดงความน้อยอกน้อยใจของวัชรินทร์ ที่นั่งอยู่ข้างๆ
“รจมีโทรศัพท์ โดยที่ไม่เคยบอกให้พี่รู้เลยหรือ”
“รจก็ไม่ค่อยจะบอกใครอยู่แล้ว พี่ก็รู้ถึงนิสัยประหยัดมัธยัสถ์ของรจดีไม่ใช่หรือคะ”
“แต่รจบอกให้อองรีรู้ใช่ไหม รจบอกอองรีได้ แต่บอกพี่ไม่ได้อย่างนั้นหรือ”วัชรินทร์พูดด้วยเสียงอันดังจนเกือบจะเป็นตะโกน
“พี่หมอคะ รจไม่ได้ให้เบอร์โทรศัพท์แก่อองรีนะคะ แต่เป็นอองรีที่ให้โทรศัพท์เครื่องนี้แก่รจค่ะ”
วัชรินทร์ยิ่งฟังก็ยิ่งบังเกิดความน้อยใจ จึงตัดพ้อว่า
“รจปฏิเสธเสื้อผ้า ข้าวของราคาแพงๆที่พี่ซื้อให้ แต่รจกลับยอมรับโทรศัพท์ถูกๆตกรุ่นที่อองรีมอบให้เช่นนี้หรือ”
รจนาเริ่มรู้สึกไม่พอใจขึ้นมาเมื่อรู้สึกว่าวัชรินทร์กำลังวัดคุณค่าของตัวเธอออกมาเป็นมูลค่าตัวเงินอีกครั้งหนึ่ง
“พี่หมอคะ ที่อองรีให้โทรศัพท์เครื่องนี้แก่รจ ไม่ใช่เพราะว่ามันมีราคาถูกหรือตกรุ่น เขาไม่ได้ให้เพราะหวังที่จะติดต่อกับรจ แต่ที่เขาให้เพราะเขาเป็นห่วงรจ ที่ต้องกลับหอพักในยามค่ำคืนคนเดียว ที่รจไม่ให้เบอร์โทรศัพท์แก่ใคร เพราะรจเคารพสิทธิของเขาเสมอ รจคิดอยู่เสมอว่าโทรศัพท์เครื่องนี้เป็นของเขา ไม่ใช่ของรจ แต่ถ้าพี่อยากได้เบอร์ รจก็จะให้ค่ะ” กล่าวจบเธอก็เปิดกระเป๋าแล้วหยิบปากกาออกมาจดเบอร์โทรศัพท์ส่งให้แก่เขา ก่อนที่จะเปิดประตูลงจากรถไปอย่างรวดเร็ว
ค่ำคืนนั้น รจนาแสดงดนตรีเสร็จ ก็เดินออกมาพบอองรีที่นั่งคอยอยู่แล้วที่ด้านนอกของร้านอาหาร เธอรีบเดินไปหาเขาพร้อมกับส่งยิ้มให้ด้วยความยินดี
“ทำไมไม่เข้าไปคอยในร้านคะ เดี๋ยวยุงกัดตายพอดี”
“ผมรู้สึกเกรงใจเจ้าของร้านครับ เข้าไปนั่งสั่งแต่น้ำผลไม้มาทานทุกครั้ง”
รจนาต้องแอบยิ้มให้กับเหตุผลของเขา ก่อนจะชวนกันออกเดินเพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้า
“การประชุมเป็นอย่างไรบ้างคะ”
“พวกเขาให้ผมไปคิดว่าจะขายสินค้าอะไรดีในคืนวันลอยกระทง เพื่อหาทุนมาจัดกิจกรรมของคณะ คุณคิดว่าผมควรจะขายอะไรดีครับ”
“ขายน้ำสิคะ”รจนาแนะนำอย่างคนมีประสบการณ์ “ขายน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ก็ได้ ขายง่ายกำไรดี”
“มีคนแนะนำเช่นนี้เหมือนกัน ว่าแต่ผมจะไปติดต่อสินค้าพวกนี้ได้อย่างไรครับ”
“คุณก็คอยเฝ้ามองดูรถน้ำอัดลมและรถส่งน้ำแข็งที่เขามาส่งที่โรงอาหารสิคะ แล้วก็นัดหมายเขาว่าจะให้มาส่งของที่ไหน เมื่อไร ส่วนแก้วนั้น ไปหาซื้อที่สำเพ็งจะถูกกว่า”
“สำเพ็งอยู่แถวไหนครับ คุณจะพาผมไปได้ไหมครับ”
“อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเท่าใดหรอกค่ะ คุณจำครั้งโน้นที่ฉันพาคุณไปทานบะหมี่จับกังได้ไหมค่ะ สำเพ็งก็อยู่ไม่ไกลจากตรงนั้นเท่าไร ที่เราเรียกว่าย่านไชน่าทาวน์ไงคะ”
“อ๋อ ผมจำได้แล้ว แต่ผมไปเองคงไปไม่ถูก คุณจะเป็นไกด์พาผมไปเที่ยวย่านนั้นอีกสักครั้งได้ไหมครับ”
รจนาหยุดเดินแล้วหันมาสบสายตากับเขาด้วยความรู้สึกขบขันในท่าทางเหมือนเด็กที่อ้อนวอนอยากได้ของเล่นของเขา
“ได้ไหมครับ”อองรีออดอ้อนต่อไป “ผมยินดีจ่ายค่าจ้างนำเที่ยวให้คุณนะครับ”
รจนาหัวเราะออกมาก่อนจะกล่าวว่า
“ฉันพาคุณไปได้ แต่ฉันไม่คิดค่าบริการหรอกค่ะ ตอนนั้นที่ฉันคิดค่าบริการก็เพราะคุณเป็นนักท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ คุณเป็นเพื่อนของฉัน ฉันจะคิดค่าบริการจากเพื่อนได้อย่างไรกัน”
“คิดได้สิครับ เพื่อนส่วนเพื่อน งานส่วนงาน ทุกคนล้วนต้องกินต้องใช้ทั้งนั้น ถ้ามัวแต่คิดถึงความเป็นเพื่อนแล้ว จะเอาเงินที่ไหนเลี้ยงชีพครับ”
“คุณอองรีคะ ที่นี่เมืองไทยนะคะ บางทีเราก็ให้ความสำคัญกับน้ำใจ มากกว่าเงินทองค่าจ้างค่ะ”
อองรีรับฟังสิ่งที่เธอกล่าว แม้จะไม่เห็นด้วยแต่ก็นับถือจิตใจของรจนายิ่งนัก ผู้หญิงที่ไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง ต้องประหยัดอดออมและทำงานหาเลี้ยงชีพ แต่กลับร่ำรวยน้ำใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ
“เอาเป็นว่าวันเสาร์นี้ คุณเตรียมตัวให้พร้อมนะคะ แล้วฉันจะพาคุณไป ไชน่าทาวน์”
“เย้ ดีใจจัง”อองรีร้องออกมาด้วยความยินดี “อยากให้ถึงวันเสาร์เร็วๆจัง ว่าแต่ที่เมืองไทยมีแต่ไชน่าทาวน์หรือครับ เฟรนชทาวน์ของคนฝรั่งเศสมีบ้างไหมครับ”
“ไม่มีหรอกค่ะ”รจนาทำเสียงดุ “ถ้าเฟรนชฟรายด์ล่ะก็พอจะหาได้บ้าง”
“น่าเสียดายนะครับที่ไม่มีชุมชนชาวฝรั่งเศสที่นี่ แต่ถ้าไม่รังเกียจขอเพียงพื้นที่เล็กๆในหัวใจของคุณให้คนฝรั่งเศสเช่นผมได้ซุกอยู่บ้างจะได้ไหมครับ”
รจนาส่ายศีรษะอย่างเหนื่อยใจกับสำนวนของเขา ก่อนที่จะรีบก้มหน้าแล้วเดินให้เร็วขึ้นเพื่อปกปิดความอายที่กำลังจะฟ้องออกมาบนใบหน้าอันงดงามของเธอด้วยสีหน้าที่แดงเรื่อขึ้นเรื่อยๆ
อองรีกลับมาถึงห้องพักของตนเอง แล้วเปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อเช็คข้อความที่พ่อของเขาส่งเข้ามา
“ได้รับข้อเสนอในการปรับปรุงแบบของกระเป๋าถือแล้ว กำลังส่งให้ฝ่ายออกแบบพิจารณา ถึงแม้จะเป็นลูกของพ่อ แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติ”
“รับทราบครับ”อองรีพิมพ์ตอบกลับไป ก่อนที่จะล้มตัวลงนอนนึกถึงแต่ใบหน้าของรจนา จนกระทั่งหลับไป
คำยืนยันของเจ้าของนิยาย
✓ เรื่องนี้เป็นบทความเก่า ยังไม่ได้ทำการยืนยัน
คำวิจารณ์
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเขียนวิจารณ์ได้
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
โหวต
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถโหวดได้
แบบสำรวจ