high school detective คู่ป่วนปริศนา ไขคดีฆาตกรรม

-

เขียนโดย จอมนางค์

วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561 เวลา 20.50 น.

  4 ตอน
  4 วิจารณ์
  6,251 อ่าน

แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม พ.ศ. 2561 21.18 น. โดย เจ้าของนิยาย

แชร์นิยาย Share Share Share

 

2) เด็กหนุ่มผู้มองเห็น 70%

อ่านบทความตามต้นฉบับ อ่านบทความเฉพาะข้อความ

บทแรก เด็กหนุ่มผู้มองเห็น

            เด็กหนุ่มทำหน้าเมื่อยเมื่อวิ่งลงบันไดมาแล้วพบ ‘แขก’ ซึ่งแน่นอน เขาไม่ได้เชิญ มากดออดยืนสะโหลสะเหล ทำท่าเหมือนจะล้มแหล่ไม่ล้มแหล่รออยู่หน้าบ้าน เจ้าตัวถอนหายใจออกมาหนึ่งเฮือก ส่งสีหน้าเบื่อหน่ายไปให้ผู้มาเยือนอย่างไม่ปิดบังอารมณ์ อคิราห์เป็นคนตื่นเช้าก็จริง แต่เช้าวันหยุดทั้งทีก็อยากจะทำงานบ้านให้เสร็จ คงเพราะอยู่คนเดียวในบ้านสองชั้นงานบ้านที่ต้องทำจึงมากขึ้นเป็นเงา ยิ่งช่วงหลังสอบ เสื้อผ้าที่สุมๆ รวมกันเอาไว้ในช่วงเตรียมสอบกับขี้ฝุ่นจับเป็นก้อนบนพื้นยิ่งทำให้รำคาญใจจนไม่อยากจะรับแขก

                ‘น่าเบื่อชะมัด นี่คดีคงไม่คืบหน้าอีกตามเคย!’

                ข่าวภาคค่ำเมื่อคืนนี้พูดถึงกรณีการเสียชีวิตอย่างปริศนาของคุณครูสาวอายุยี่สิบแปดปี ลูกสาวของนักการเมืองท้องถิ่นรายดัง หล่อนถูกพบเป็นศพถูกรัดคอตายคาห้องพักเมื่อสามสัปดาห์ก่อน ที่ว่าเป็นข่าวเมื่อวานนี้คือ มารดาของหล่อนออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานอย่างล่าช้าของตำรวจ ลำพังความกดดันจากทางสามีนักการเมือง ตำรวจก็ตัวลีบอยู่แล้ว เจอคนเป็นแม่มานั่งร้องไห้กล่าวโทษตำรวจออกสื่อ อย่างนี้คนรับผิดชอบคดีคงใกล้ผูกคอตายอยู่รอมร่อ

                เรื่องเกิดขึ้นที่พื้นที่ใกล้ๆ นี้เสียด้วย ป่านนี้สารวัตร ‘คนนั้น’ ก็คง ‘ร้อนอาสน์’ แย่ละมัง

                รู้อย่างนี้น่าจะไปค้างบ้านเพื่อนก็จะดีหรอก!

                ตอนนี้... สารวัตรคนที่ว่านี้ก็นั่งคอตกหมดสภาพอยู่ตรงหน้า เสื้อตัวที่สวมนั่นก็ตัวเดียวกับที่เห็นเมื่อสองวันก่อน แปลว่าอย่างน้อย... ก็สองวันล่ะนะที่ไม่ได้กลับบ้าน ความเครียดที่เข้าสู่จุดสูงสุดของผู้มาเยือนยิ่งทำให้บรรยากาศหม่นหมองไปด้วยสีเขียวตุ่นๆ เหมือนโคลนโรยตัวลงปกคลุมโดยรอบ

                “เมียไม่ให้เข้าบ้านอีกแล้วเหรอครับสารวัตร อย่าเห็นบ้านคนอื่นเป็นโรงแรมจะได้ไหม” กังวานเสียงหน่ายโลกใบหน้าบึ้งตึงขัดกับวัยนั้นช่างเสียดแทง สารวัตรโรจน์ รุ่งโรจน์เงยใบหน้าที่มีสภาพอิดโรยขึ้นมองเด็กหนุ่มร่างสูงผู้เป็นหลานชายเต็มตาหนนี้ ถ้ามองจากภายนอกแล้ว อคิราห์ ศศิประเวศน์ เป็นเด็กหนุ่มมัธยมปลายหน้าตาหล่อเหลาที่ชอบทำท่าทางเบื่อหน่ายและนิสัยไม่ชอบสุงสิงมนุษย์แต่จริงๆ แล้วที่เจ้าตัวทำแบบนั้นก็มีเหตุผลอยู่

                ดวงตาของอคิราห์มองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น

                เมื่อยังเล็กขณะที่เด็กชายอคิราห์เดินตามคุณลุงบ้านตรงข้ามก็พูดว่า

                ‘สีเหมือนกับคุณยายผมเลย คุณลุงกำลังจะตายเสียแล้วล่ะ...’ หลังจากนั้นเพียงวันเดียวคุณลุงที่ถูกทักว่าแบบนั้นก็ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพราะอาการของโรคปอดกำเริบ นอนรักษาตัว ทนทุกข์ทรมานอยู่เพียงสองวันกับหนึ่งคืนก็จากไป เด็กชายอคิราห์กลายเป็นเด็กที่ถูกพูดถึงมากในช่วงหนึ่งในฐานะผู้ทำนายความตายได้อย่างแม่นยำ

                แน่นอน ลุงบ้านตรงข้ามไม่ใช่รายแรกและรายเดียว ประโยคประเภท

                ‘ทะเลาะกับคุณน้าผู้ชายมาหรือฮะ?’

                ‘นี่... พี่ชายกำลังจะไปทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า’ หรือกระทั่ง

                ‘เป็นสีชมพูสดใสเลยล่ะ พี่ชายเขายอมขอพี่สาวแต่งงานแล้วหรือฮะ?’ ประโยคเหล่านี้ก็มักถูกต้องราวกับร่วงรู้ทุกสิ่งอย่างได้เพียงแค่มอง นานๆ เข้า แม่ของเด็กชาย น้องสาวแท้ๆ ของเขาก็ออกกังวล ประโยคติดปากที่เจ้าหล่อนมักถามถูกชายคือ

                “รู้ได้ยังไงน่ะลูก?” กับประโยคแปลกประหลาดที่เด็กชายจะตอบคือ

                “ก็สีของคุณลุงเขาเศร้ามากเลยนี่ฮะ” กับที่เธอมาเล่าให้เขาฟังในภายหลังอย่างร้อนใจว่า

                “คุณลุงทรัพย์บ้านตรงข้ามที่เพิ่งตายไป พี่จำได้ไหมคะ ลูกหลานบ้านนั้นบอกว่าแกอาการกำเริบมาพักหนึ่งแล้วแต่ไม่ยอมบอกใคร คงรู้ตัวว่าใกล้จะถึงเวลาเต็มทีถึงได้ปิดเอาไว้ มารู้จากหมอตอนอยู่ที่โรงพยาบาลว่า หมอเคยเตือนแกเอาไว้ ให้ไปบอกลูกหลานเรื่องจะให้อยู่โรงพยาบาลยาวแต่แกไม่บอก พอปุบปับก็ไปเลย” โรจน์ยังไม่เห็นสาระในเรื่องที่น้องสาวพูดอยู่ดี เขาบอกอย่างไม่ใส่ใจว่า

                “ก็คนแก่ยังไงล่ะ กลัวต้องไปตายที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านตัว”

                “ไม่เกี่ยวกับเราหรอกค่ะเรื่องนั้น” เจ้าหล่อนอธิบายหน้ามุ่ย “หนูถามตาคีร์ว่า แกรู้ได้ยังไงว่าคุณลุงบ้านตรงข้ามจะตาย แกบอกหนูว่า แกเห็นสีของคุณลุง เป็นสีที่เศร้ามาก”

                “สี?” เขาทบทวนอย่างไม่เข้าใจนัก

                “ใช่ค่ะ แกบอกว่าแกเห็นสี ผู้คนมีสีต่างๆ มากมาย สีของคนจะเปลี่ยนไปในแต่ละวัน ถ้ามีความสุขมากๆ ก็จะเปล่งประกายระยิบระยับ พี่จำได้ไหมคะ แกทักหลานคนขายขนมหวานท้ายซอยว่า กำลังจะไปทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า แล้วเด็กคนนั้นก็ถูกจับได้ว่าขโมยเงินบริจาคที่ศาลเจ้าแม่ไทรข้างสถานีตำรวจ ตาคีร์บอกว่า สีของเด็กคนนั้นเป็นสีเทา”

                “เด็กคนนั้นเป็นพวกวัยรุ่นที่ชอบมั่วสุม แล้วก็ติดยาด้วย หลานอาจบังเอิญไปรู้เข้าก็เลยทักออกไป” เขายังไม่ยอมรับความกังวลนั้นมาเป็นสาระอยู่นั่นเอง จนกระทั่งเจอกับตัวเข้าอย่างจัง

                จำได้ว่าวันนั้นน้องสาวมีงานสำคัญที่ไม่ไปร่วมไม่ได้จึงฝากให้เขาซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงตำรวจชั้นผู้น้อยไปรับเด็กชายจากโรงเรียน ขากลับ เขาพาเด็กชายขับเข้าทางอ้อมที่ต้องผ่านร้านอาหารเล็กๆ ซึ่งเคยพาหลานชายไปประจำ ที่พิเศษคือ วันนี้มีการตั้งด่านตรวจตรงหน้าร้านพอดี พอเห็นเขา ตำรวจรุ่นน้องก็วิ่งเข้ามาทัก

                “พี่โรจน์” เพราะต้องยืนตากแดดอยู่กลางถนนทั้งวัน คนทักจึงต้องยิ้มทั้งเหงื่อไหลไคลย้อย ขณะผลัดให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่หยุดรถแทนตัวเองซึ่งเลี่ยงออกมาตรวจใบขับขี่จากรถจักรยานยนต์แทน

                “เออ” เขาขานรับง่ายๆ “เลิกกี่โมงวันนี้ เดี๋ยวถ้าเลิกเร็วเดินเข้าไปในร้านสิ ชวนไอ้ตี๋กับเด็กใหม่เข้าไปด้วย พี่เลี้ยงข้าว...”

                “ไอ้อ๊อฟอยู่ด้วยนะพี่ เก็บค่าปรับอยู่นู่น” คนถูกชวนหันไปรับใบขับขี่จากเจ้าของรถจักรยานยนต์ที่เทียบเข้ามา ตรวจหมวกกันน็อค เล่มทะเบียนรถและสภาพโดยรวม ในขับขี่ในมือเป็นอย่างสุดท้าย เหตุการณ์ดูปกติเมื่อเจ้าตัวชำเลืองมองเด็กชายที่ยืนจ้องตาแป๋ว มือเล็กถูกอุ้งมือใหญ่ของลูกพี่กุมไว้หลวมๆ อดไม่ได้ที่จะแกล้งแซว “ไม่เจอกันสองวันมีลูกชายโตขนาดนี้เลยนะพี่”

                “เฮ้ย... หลานหรอกโว้ย พามากินข้าว” คนแก้ตัวหัวเราะเบาๆ อย่างไม่ถือเป็นสาระ ดึงมือหลานชายให้ออกเดินตามทางโรยกรวดของร้าน ตอนนั้นเอง นายตำรวจรุ่นน้องส่งใบขับขี่คืนเจ้าของ ร้องถามไปตามระเบียบว่า

                “กระเป๋าอะไรครับ?” คำตอบที่ได้รับ เป็นคำตอบทั่วไปอย่างที่คิดว่าจะเจอ

                “เสื้อผ้าเก่าครับ ไม่ใส่แล้ว จะเอาไปบริจาค” นายตำรวจยิ้มรับ เหตุการณ์ปกติดีทุกอย่าง ยกเว้นเสียงตะโกนเล็กๆ ของเด็กชาย หลานของนายตำรวจรุ่นพี่ที่เพิ่งเจอหน้ากันเป็นครั้งแรก

                “โกหก!” เด็กชายคนนั้นสะบัดแขนผู้เป็นลุง หันมายืนจังก้า “พี่ชายคนนั้นกำลังโกหก!”

                เด็กชายเพียงคนเดียวทำให้เสียงจอแจของผู้คนทั่วบริเวณนั้นเงียบงัน เหลือเพียงเสียงรถราครืนคราน

                “คีร์...” คนเป็นลุงยืนตะลึง ได้แต่ครางชื่อหลานเบาๆ

                “คุณแม่บอกว่า โกหกเป็นคนไม่ดี พี่เป็นผู้ใหญ่โกหก เป็นผู้ใหญ่ไม่ดี!” คราวนี้ เจ้าของใบขับขี่นอกจากจะอึ้ง อ้าปากค้าง ยังกระชากหมวกกันน็อคออกจากศีรษะ ยืนกระสับกระส่าย โรจน์เห็นกริยานั้นแล้วก็มองหน้าลูกน้อง เจ้าของใบขับขี่และหลานชายสลับกัน

                หรือว่า...

                “โหน่ง... ค้นซิ” นายตำรวจรุ่นน้องที่ยืนตีฝีปากกันอยู่เมื่อครู่ เพิ่งจะหายจากอาการช็อคไปหมาดๆ ก็ต้องยืนอ้าปากค้างอีกแล้วกับคำสั่งของลูกพี่

                “ครับ?”

                “ค้นกระเป๋า” อคิราห์เป็นเด็กแปลก โรจน์รู้ แต่ทุกครั้งเขามักมีข้ออ้างกับตัวเองเสมอ อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ... หาก ไม่ใช่เขาผู้เป็นลุงกับน้องสาวผู้เป็นแม่แท้ๆ ของหลานหรอกหรือที่ทุกครั้งได้ประจักษ์ว่า สิ่งที่เด็กชายพูดมักจะถูกต้องแม่นยำเสมอ ครั้งนี้... เขาบอกกับตัวเอง ครั้งนี้ ถ้าสิ่งที่อคิราห์พูดเป็นเรื่องจริง เขาจะยอมรับ หลานชายมี ‘บางอย่าง’ พิเศษไปกว่าคนอื่น และถ้ามันเป็นจริง ไม่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เขาจะหาคำตอบให้ได้ เพื่อน้องสาวและหลานชายเพียงคนเดียว

                กระเป๋าถูกรื้อออกตรวจค้น ในชั้นแรก ผู้มองใจหายวาบ ในกองเสื้อผ้าเก่าๆ มีวัตถุสีดำเมื่อมถูกห่อ ซุกซ่อนปะปนไว้ ปืนเถื่อนแบบประกอบเองกระบอกหนึ่ง กับอีกกระบอกเป็นปืนลูกโม่แบบเก่า เมื่อค้นลงไปละเอียดกว่านั้น ยาบ้านับสิบเม็ดถูกยัดลงในตะเข็บกางเกงที่ถูกดัดแปลงไว้

                อคิราห์พูดถูกอีกแล้ว...

 

                เรื่องที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นสร้างความงุนงงสงสัยให้กับทุกคนที่เห็นเหตุการณ์ ลูกน้องของเขาเอาแต่ถามแล้วถามอีกว่า

                ‘หลานพี่รู้ได้ยังไงน่ะ?’

                เขาเองก็อธิบายลำบาก ได้แต่พูดกระท่อนกระแท่นไปว่า อคิราห์คงสังเกตเห็นพฤติกรรมน่าสงสัยของคนร้ายตอนที่ผู้ใหญ่มัวแต่คุยกัน แกจึงจับพิรุธได้ว่าอีกฝ่ายโกหก แต่ถึงกระนั้น คนอื่นๆ ก็ยังประหลาดใจอยู่ดี

                เด็กหกขวบมองเห็นพิรุธของคนร้ายทั้งๆ ที่ตำรวจมองข้าม

                เมื่อสอบถามอคิราห์ในภายหลัง หลานชายก็ตอบว่า

                “สีของพี่ชายคนนั้นเขาเป็นสีน้ำตาลขุ่นๆ ขุ่นเหมือนน้ำโคลนในท่อเลยครับ เขาโกหกน้าตำรวจจริงๆ ด้วย”

                “สี?” คนเป็นลุงยังไม่เข้าใจอยู่ดี

                “อื้อ... อย่างเวลามีความสุขมากๆ ก็จะเป็นสีที่สว่างไสว ตอนที่แม่เห็นผมกลับจากโรงเรียนก็จะเป็นสีอย่างนั้นเหมือนกัน สีเขียวที่เปล่งประกายออกมาจากเพื่อนๆ เวลาที่ได้กินขนมอร่อยๆ ผมไม่รู้เหมือนกันว่ามันแปลว่าอะไร แต่เพราะเป็นสีที่มองแล้วสบายใจ แม่บอกว่า อะไรที่มองแล้วสบายใจก็แปลว่าเป็นเรื่องดี ทุกคนคงจะมีความสุขแน่ๆ ที่ผมไม่ชอบก็คือเวลาต้องอยู่รวมกับผู้ใหญ่หลายๆ คน สีของพวกเขาจะทำให้รอบๆ ตัวหม่นหมองไปหมดจนบางทีก็กลัว” เด็กชายพูดด้วยเสียงเล็กแจ้ว อาจเพราะความไร้เดียงสาอย่างเด็กๆ เจ้าตัวจึงไม่รู้ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้เป็นเรื่องน่ากังวล นี่เองสินะ เรื่องที่อสิตา น้องสาวของเขากำลังเป็นกังวล

                “คีร์...” คนเป็นลุงคุกเข่า ตาต่อตา ใบหน้าอยู่ในระดับเดียวกัน น้ำเสียงเรียบทุ้ม จริงจังเกินกว่าน้ำเสียงที่ควรจะใช้กับเด็กหกขวบ “เราจะมองเห็นสีเมื่อไร”

                “เมื่อไร?” เด็กชายทวนคำ “ตลอดเวลาเลยฮะ ทุกคนจะมีสีอยู่ตลอดเวลา ทุกคนเลย... อย่างตอนปกติก็จะมีสีอ่อนๆ ล้อมอยู่รอบตัวเสมอ เหมือนเป็นสีของเปลือกไข่ บางคนก็สว่างกว่าปกตินิดหน่อย บางคนก็เข้มกว่าปกตินิดหน่อยแต่พอเวลาโกรธหรือตกใจสีก็จะเปลี่ยนไป กลายเป็นสีที่ยุ่งเหยิงน่ากลัว” คนเล่าตัวสั่นน้อยๆ “ผมไม่อยากอยู่ใกล้เลย คุณลุงมองไม่เห็นหรอกเหรอ?”

                โรจน์ฟังคำถามแล้วได้แต่นิ่งงัน

                เขาจะตอบอย่างไรดี? ถ้าเขาโกหก วันหนึ่งเมื่อเด็กชายได้ค้นพบคำตอบด้วยตัวเองว่าแกแตกต่างจากคนอื่น อคิราห์จะทำใจยอมรับได้หรือเปล่า? หรือถ้าบอกเรื่องจริงไปตอนนี้ก็อาจทำให้กังวลเกินกว่าเหตุ แต่ถึงอย่างนั้น...

                “ลุงมองไม่เห็นหรอก” เจ้าตัวส่ายหน้า “คนอื่นๆ ก็มองไม่เห็นด้วยเหมือนกัน”

                “ถ้างั้น” เด็กชายดูเป็นกังวลอย่างที่คิด “ผมก็แปลกน่ะสิ”

                “ก็... คงจะแปลกนิดหน่อยมั้ง” เป็นคนตัวโตเสียเองที่เรียบเรียงคำพูดไม่ถูก “แต่ไม่เป็นไรนะ มีคนแปลกๆ อยู่มากมายบนโลกใบนี้ ใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาแล้วก็ผ่านปัญหาทุกอย่างไปได้ด้วยความพยายาม ตราบใดที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน จะมองเห็นอะไรแปลกไปกว่าคนอื่นนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาหรอก แม่กับลุงจะช่วยกันหาคำตอบเอง ว่าทำไมเราถึงมองเห็นสีที่คนอื่นมองไม่เห็น เอางี้ไหมล่ะ... แทนที่จะคิดว่าตัวเองแปลก ให้ลองคิดว่าเราเป็นคนที่ ‘พิเศษ’ ดูสิ”

                “พิเศษ?” อคิราห์เป็นเด็กฉลาด แต่ก็ยังเด็ก มีบางเรื่องเหมือนกันที่ไม่เข้าใจ

                “พิเศษก็คือ มีเรื่องที่สามารถทำได้มากกว่าคนอื่นๆ ยังไงล่ะ”

                “หมายความว่าช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้สินะฮะ ถ้าอย่างนั้นก็ดีเลย”

                “อื้อม์... ถ้าเราช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้มากกว่าใครๆ แล้วมีความสุขดี ลุงก็ว่าดี”

                หลังจากนั้น ทั้งเขาและอสิตาพยายามหาคำตอบให้กับคำถามมากมายในหัว เรื่องความ ‘พิเศษ’ ของอคิราห์ เริ่มจากหมอเด็กที่แนะนำให้ไปหาหมอตา หาก... ไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าทำไมเด็กชายจึง ‘เห็น’ ในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น ที่พอรู้คือ

                “ซินเนสทีเซีย?” โรจน์และน้องสาวได้คำตอบครั้งแรกจากหมอตา เป็นโรคที่ไม่คุ้นหู

                “ค่ะ ไม่ใช่ความผิดปกติของดวงตา แต่เป็นประสาทสัมผัส โดยทั่วไปเราไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าสาเหตุมาจากอะไร แต่ถ้าคุณแม่อยากทราบรายระเอียด เราสามารถร้องขอการตรวจร่วมกับแผนกจิตเวชได้”

                “หมายความว่า... คีร์อาจเป็น... เด็ก” อสิตาปากคอสั่น พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเลือกใช้คำให้กระทบต่อจิตใจน้อยที่สุด “...พิเศษ?”

                “โดยทั่วไปซินเนสทีเซียไม่ถูระบุเป็นโรคค่ะ แค่เป็นกลุ่มอาการที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้และบางกลุ่มอาการจะไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ได้ยินมาว่าคนที่ฟังเสียงแล้วรับรู้รสชาติ หรือมองเห็นตัวเลขเป็นสีก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติขึ้นอยู่กับไลฟ์ไสตล์ ที่บอกว่าควรตรวจสอบร่วมกับแผนกจิตเวชคือ เราอาจต้องทดสอบว่าอาการของน้องจัดอยู่ในกลุ่มไหนและจะกระทบต่อการใช้ชีวิตมากน้อยแค่ไหน”

                เขาและน้องสาวจำเป็นต้องพยักหน้ารับทั้งที่ยังกังวล เอกสารมากมายบอกข้อมูลของกลุ่มอาการซินเนสทีเซีย แต่ไม่มีแม้แต่สักข้อมูลเดียวที่จะบอกได้อย่างแน่ชัด มีเพียงอาการที่ถูกบันทึกไว้จากการทดสอบ แต่ละอาการในรายที่มีความผิดปกติมีลักษณะเป็นเอกเทศ นั่นหมายความว่า อคิราห์อาจไม่ถูกจัดเข้าพวกจากในกลุ่มที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ หรือต่อให้พบคนที่มีอาการใกล้เคียง รายละเอียดจากสีที่มองเห็นก็อาจไม่เหมือนกัน

                อคิราห์ถูกตั้งคำถาม ทดสอบ วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่ากระทั่งอสิตาเองก็ยังถูกตั้งคำถาม

                “หลายๆ ครั้งซินเนสทีเซียถูกระบุว่าถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมจากแม่ ถ้าคุณแม่เคยมีอาการ หมายความว่าน้องอาจได้รับถ่ายทอดอาการนั้นมา” น้องสาวของเขาก็ถูกตั้งคำถามและทดสอบมากมายเพื่อหาความน่าจะเป็น ทั้งอาการที่ใกล้เคียงกันและในรูปแบบที่แตกต่างจากหลานชายกลับไม่พบความผิดปกติและไม่มีคำตอบที่แน่ชัด อสิตาพยายามยามทน แต่เมื่อมองดูลูกชายแล้ว นั่นกลับเป็นสิ่งเดียวที่เธอทนไม่ไหว

                ร่างกายเล็กๆ นั้นเหนื่อยล้า ความกดดัน หวาดกลัวเริ่มเกาะกุมจิตใจ อสิตาทนไม่ไหวในที่สุด

                “น้องจะพอแล้วละค่ะ แค่รู้ว่าคีร์ไม่ได้เจ็บป่วยก็สบายใจ ต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นน้องจะอยู่กับลูก ขอแค่เขาใช้ชีวิตได้อย่างร่าเริงก็ไม่จำเป็นหรอกว่าเขาจะมองเห็นอะไร คีร์แค่ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับมันเท่านั้นเอง”

                ถึงกระนั้น อคิราห์ที่เริ่มเติบโตขึ้น รับรู้ว่าตัวเองต่างจากคนอื่น และได้พบผู้คนหลากหลายแบบ ชีวิตที่เคยสงบสุข โลกแห่งสีสันที่แตกต่างออกไปทำให้เด็กชายที่เคยร่าเริงกลับกลายเป็นเด็กคิดมาก เก็บตัว ยิ่งหลังจากการจากไปของอสิตา คุณแม่ที่ร่าเริงและเข้มแข็งราวกับแสงสว่าง อคิราห์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งพูดน้อยลงและแข็งกระด้างมากขึ้น โรจน์กลายเป็นญาติที่เหลือเพียงคนเดียวหากไม่นับน้องเขย พ่อของอคิราห์ที่กลับไปทำงานต่างประเทศทันทีหลังพิธีศพของภรรยา การแต่งงานสร้างครอบครัวของโรจน์ยิ่งเป็นตัวกันให้เขากับหลานชายยิ่งห่างเหิน ภรรยาของเขาหวาดกลัวความพิเศษของหลานชายเพียงคนเดียว

                ‘ขอโทษค่ะ’ เธอเคยขอโทษเขาทั้งน้ำตา ถึงจะพยายามกลั้นสะอื้นไว้อย่างไร แต่ไหล่ที่สั่นเทากลับเห็นชัด ‘ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นที่พึ่งของคีร์ แต่ฉันกลับกลัวแก ขอโทษจริงๆ แต่ฉันกลัวเหลือเกินตอนที่แกมองฉัน พอคิดว่าแกคงเห็นความรู้สึกนึกคิดของฉันทั้งหมดฉันก็กลัวขึ้นมา ฉันกลัว... เวลาที่แกเดินเข้ามาพูดกับฉัน วันหนึ่งแกอาจพูดว่า สีของฉันหม่นหมอง... เหมือนกำลังจะตาย’

                โรจน์ทราบว่า อคิราห์คงรู้เรื่องนี้ดีกว่าเขา แกคงเห็นสีสันแห่งความหวาดกลัวจากภรรยาของเขาทุกครั้งที่เธอเข้าใกล้ อคิราห์เห็นมาตลอดแต่เลือกจะปกปิดไว้และไม่พูด เด็กชายเล็กๆ คนนั้นยอมทนทุกข์อยู่กับพรสวรรค์ที่ตนเองไม่ได้เลือก เขาที่หน้าที่การงานกำลังรุ่งเรืองอยู่ในขณะนั้นต้องแยกบ้านอยู่กับภรรยาโดยเธอขอร้องให้เขาอยู่ดูแลหลานชายและพาเด็กชายไปเยี่ยมเธอในบางครั้ง วิฬาพยายามทำหน้าที่ของป้าอย่างดีที่สุดในแบบของเธอ ถึงแม้ไม่ราบรื่นนัก แต่อคิราห์คงรู้ว่าวิฬาเองก็รักเขาเหมือนกัน

 

                เมื่อเด็กชายอายุสิบสองปี มีเหตุการณ์สองอย่างที่ทำให้เขาออกจากบ้านหลานชายไปอยู่กับภรรยา

                เขาพบเพื่อนเก่าที่กลับจากอังกฤษหลังจากที่ไม่ได้พบกันนานนับสิบปี เพื่อนเก่าคนนี้เองที่ได้ไขข้อกระจ่างเกี่ยวกับพรสวรรค์ของอคิราห์ในบางส่วน ดร.วสุ ภักดิ์ภิรมย์ ผู้ค้นคว้าเกี่ยวกับกลุ่มอาการซินเนสทีเซีย เขาเป็นคนเดียวที่พอจะระบุรูปแบบการรับรู้ที่อคิราห์เป็นได้

                “ในไทยอาจจะยังมีข้อมูลน้อย แต่กลุ่มอาการซินเนสทีเซียไม่มีรูปแบบตายตัว ที่อังกฤษเราพบรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งคนที่รับรู้อุณหภูมิแล้วได้ยินเสียงร่วมด้วย หรือคนที่รับกลิ่นแล้วรู้สึกถึงอุณหภูมิ เป็นการรับรู้สองอย่างในขณะเดียวกัน แต่ก็มีบ้างที่คล้ายกับเธอ คือรับรู้ได้สามช่องทางในขณะเดียวกัน คือเวลาที่มอง เธอจะเห็นอารมณ์เป็นสีต่างๆ กันถูกไหม?”

                “ครับ ถึงในเวลาที่ไม่แสดงอารมณ์ พื้นฐานของสีที่เห็นจะเป็นสีใกล้เคียงกันคือเป็นสีของเปลือกไข่ บางคนสีอ่อน บางคนสีเข้ม แต่ผมจะรู้ได้ถ้าจู่ๆ ความคิดของพวกเขาเปลี่ยนไปถึงแม้จะยังไม่เปลี่ยนอิริยาบถ คนคนหนึ่งที่นั่งอยู่ตรงข้ามกัน ผมมองเห็นสีเปลือกไข่จางๆ รอบตัวเขา แต่ถ้าจู่ๆ มีสีแดงแทรกขึ้นมา ผมจะรู้ทันทีว่าจู่ๆ เขาก็นึกถึงเรื่องที่ทำให้โกรธขึ้นมาได้” เด็กชายพยายามอธิบายอย่างเป็นลำดับ

                “ความคิดกับอารมณ์น่ะเชื่อมถึงกันเสมอ ซินเนสทีเซียไม่อาจระบุลักษณะอาการได้อย่างจำเพาะเจาะจง บางเรื่องจึงเป็นเรื่องที่เธอต้องทำความเข้าใจเอง... เธอเคยบอกว่าเธอมองเห็นสีของผู้คนแม้แต่ในตอนที่คนคนนั้นหลับอยู่ใช่ไหม? นั่นเป็นเรื่องที่ฉันเองก็ไม่เคยพบมาก่อนเหมือนกัน ถึงจะเป็นแค่สีจางๆ เหมือนสีเปลือกไข่แต่ก็ยังถือว่าเป็นสี ถ้าแต่ละคนที่พบมีสีอ่อน-เข้ม ต่างกันละก็ นั่นอาจหมายถึงการรับรู้ของเธอจะแยกพื้นฐานความคิดและจิตใจของแต่ละคนได้ในทันทีที่เห็น เหมือนกับแต่ละคนมองโลกในแง่ดี-ร้ายต่างกัน สีเปลือกไข่ก็จะเข้มและอ่อนเหมือนเป็นการระบุ ส่วนจะมองเห็นในรูปแบบไหน นั่นเป็นลักษณะจำเพาะที่มีแต่เธอเท่านั้นที่จะเข้าใจ”

                “ไม่เห็นจะเข้าใจเลย” คนเป็นลุงบ่นงึมงำ ผิดกับหลานชายที่นั่งฟังด้วยแววตาเฉียบคม ริมฝีปากเล็กๆ ขยับอธิบายเสียเอง

                “เวลาที่มอง สีที่ผมเห็นจะมีลักษณะเป็นเส้นของคลื่นมากมายทับซ้อนกันครับ ยิ่งเส้นของคลื่นนั้นทับซ้อนกันมาก ยิ่งบอกว่าอารมณ์ของคนคนนั้นรุนแรงแค่ไหน แต่กรณีของคนที่อยู่ในภวังค์ หรือมีอารมณ์ความคิดที่ปกติ คิดง่ายๆ อย่างพนักงานคีย์ข้อมูลที่ทำงานมาเป็นเวลานาน เช้าขึ้นมาก็คีย์ข้อมูลไปตามปกติ สีที่เปล่งออกมาจะเป็นสีเปลือกไข่ไม่ว่าจะอ่อนหรือเข้ม เป็นอย่างนั้นไปจนกว่าเขาจะพบปัญหาและมีความวุ่นวายใจ สีถึงจะเปลี่ยน แต่ถ้าเจาะลึกลงไปกว่านั้น ทำไมสีที่ผมมองเห็นถึงไม่ใช่แค่อารมณ์และความคิดซับซ้อน แต่กลับมองเห็นสีเปลือกไข่จากคนที่นอนหลับ หรือคนที่ไม่มีความคิดและอารมณ์ผิดปกติ นั่นหมายความว่า ระบบรับรู้ของผมอาจแยกลึกลงไปกว่านั้น ดอกเตอร์แค่ยกตัวอย่างให้ฟังว่าการรับรู้ของผมอาจไวถึงขนาดแยกคนที่มองโลกในแง่ดี แง่ร้ายได้ทันทีที่พบเห็นโดยแยกเป็นสีเปลือกไข่สีอ่อนและสีเข้ม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าดอกเตอร์พูดถูกนะครับ

                “อ้าว!” คนเป็นลุงงงเสียยิ่งกว่าเก่า

                “ซินเนสทีเซียไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าอีกฝ่ายเป็นอะไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าเรารับรู้อะไร ทั้งนี้และทั้งนั้น คนที่มีอาการจะจำแนกสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยสัญชาติญาณ” ดอกเตอร์อธิบายอย่างอดทน

                สมัยเรียนโรจน์เป็นพวกขยันแต่หัวทึบ พอแก่ลงแล้ว ใครจะรู้ว่าหัวยิ่งทึบไปกว่าเก่า

                “นี่ช่วยพูดภาษาคนจะได้ไหม”

                “หมายความว่าเวลาที่ผมมองคนที่มีสีเปลือกไข่เป็นสีเข้มและทึบ ผมมักพบว่าคนพวกนั้นมีพื้นฐานความคิดเป็นพวกคงแก่เรียนและจริงจังครับ เวลาที่มองเห็นพวกที่มีสีเปลือกไข่ส่องสว่างและเป็นประกาย คนคนนั้นมักเป็นคนโลดโผน และพวกที่มีสีเปลือกไข่จางๆ มักเป็นพวกเหม่อลอย ไม่จริงจัง นั่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความคิด แต่ขึ้นอยู่กับความเป็นตัวตนของแต่ละคนอย่างที่เรียกว่าอัตลักษณ์ เหมือนเสียงหรือลายนิ้วมือ ประสาทของผมรับรู้ได้ในทีแรกและแยกได้ทันทีด้วยสีเปลือกไข่ที่อ่อน-เข้มต่างกัน แต่การรับรู้กับความคิดนั้นแยกกันครับ การรับรู้คือสัญชาติญาณ แต่ผมต้องยืนยันสัญชาติญาณด้วยการศึกษาเป็นรายบุคคลและแยกแยะว่าสีไหนหมายถึงอะไรเวลาที่พบสีใกล้เคียงกันในครั้งต่อไปก็จะคาดเดาได้ทันทีว่า คนคนนี้มีลักษณะนิสัยและความชอบเป็นยังไง ลุงเคยมองใครแล้วคิดว่า ‘หมอนี่ดูท่าทางอย่างกับเป็นพวกเจ้าเล่ห์’ ไหมล่ะครับ แล้วพอได้ศึกษาคนคนนั้นแล้วก็พบว่าเขาเป็นคนเจ้าเล่ห์จริงๆ อย่างที่คิดเอาไว้ นั่นแหละครับที่คล้ายกันมาก เพียงแต่ลุงมองไม่เห็นเป็นสีเท่านั้นเอง”

                “อ้อ!” มาถึงตรงนี้ คนเป็นตำรวจเพิ่งจะถึงบางอ้อ 

                “ต่างกันกับสีเวลาที่เกิดอารมณ์และความคิดที่ซับซ้อน อย่างเวลาที่เห็นความโกรธ ผมจะมองเห็นเป็นเส้นสีแดงยุ่งเหยิง เวลาที่ตกใจมักจะเป็นสีแดงที่สว่างวาบขึ้นมา แต่เวลาที่ความโกรธเปลี่ยนเป็นความเกลียด เคียดแค้นรุนแรง มันมักจะกลายเป็นสีแดงตุ่นๆ ใกล้เคียงกับสีดำจนแทบแยกไม่ออกและแทบจะมองไม่เห็นเส้นคลื่นเลย สามอย่างที่ว่ามาใกล้เคียงกันมากใช่ไหมครับ แต่ถ้าผมจำแนกมันออกมา ผมก็จะเข้าใจอารมณ์ของคนที่มองได้ชัดเจนขึ้น ในหนึ่งนาที อารมณ์ของคนเราเปลี่ยนไปได้หลากหลาย ไม่มีทางหรอกครับที่จะมีเพียงอารมณ์เดียว สีที่ปะปนกัน มีแต่ผมที่แยกออกและเข้าใจ ผมเรียกเส้นคลื่นของสีที่ทับซ้อนกันเหล่านั้นว่าออร่า นั่นก็เป็นแค่คำจำกัดความของผมเพียงคนเดียว”

                “ไอ้หนู” ดอกเตอร์หัวเราะชอบอกชอบใจ “นายนี่ฉลาดกว่าลุงของนายซะอีก”

                “ไอ้นี่ แกว่าฉันโง่กว่าหลานเรอะ!” นายตำรวจคำราม

                “ฉันว่าหลานฉลาดกว่าแกต่างหาก” อีกฝ่ายลอยหน้าพูด

                “แล้วยังไงต่อครับ” เด็กชายทะลุกลางปล้อง วิธีพูดจาแข็งกร้าวแบบนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กชายเหมือนกัน

                ทั้งๆ ที่เคยเรียกคุณลุงครับๆ แท้ๆ

                โรจน์รู้สึกว่านับวันจะยิ่งเข้าใจหัวอกของพ่อที่มีลูกชายวัยต่อต้านขึ้นมาตะหงิดๆ

                “อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น อาการซินเนสทีเซียไม่มีรูปแบบตายตัว ที่ฉันพูดมาอาจไม่ตรงกับอาการของเธอทั้งหมด มากกว่านี้ หรือน้อยกว่านี้ นายต้องสังเกตตัวเอง มีคนจำนวนหนึ่งเหมือนกันที่สังเกตเห็นว่าตัวเองมองเห็นเลขหนึ่งโดยเข้าใจว่ามันเป็นเด็กหนุ่มท่าทางสุภาพ เลขสองเป็นผู้หญิงทรงเสน่ห์” ดอกเตอร์วสุอธิบาย

                “อย่างกับเป็นเรื่องแหกตา!” คนเป็นตำรวจออกอุทานอย่างไม่เชื่อถือ

                “ก็อธิบายยาก... บางทีเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอาการที่ว่านั้นเป็นซินเนสทีเซียหรือเปล่า แต่คนที่บอกตรงกันว่าตัวเองเคยเจอประสบการณ์แบบนี้มาก็มีไม่น้องเชียวล่ะ”

                “ไม่ใช่ตาของผม... แต่เป็นการรับรู้” เด็กชายก้มหน้า ยกปลายนิ้วมือขึ้นลูบเปลือกตาเบาๆ มองไม่ออกว่ากำลังคิดอะไรอยู่

                “ถูกต้อง... นายเคยเห็นคุณลุงบ้านตรงข้ามใช่ไหมล่ะ ลุงของนายเล่าว่า นายรู้ว่าเขากำลังจะตายน่ะ”

                “ฮื่อ...” เจ้าตัวพยักหน้า “เพราะสีของเขาขุ่นเหมือนกันคุณยายตอนที่ป่วย ตอนที่เห็นก็คิดว่า คงกำลังอดทนกับความเจ็บปวดทรมานเหมือนกับคุณยายเลยสินะ”

                หางเสียงแผ่วเบานั้นปนทอดถอนใจ เด็กชายต้องอดทนมาตลอดกับความผิดปกติของร่างกาย สิ่งที่เห็นไม่ใช่จะมีแต่เรื่องดีๆ เรื่องน่าเจ็บปวดที่ต้องเห็นอย่างช่วยไม่ได้ก็ชวนให้รู้สึกทรมานไม่แพ้กัน โรจน์มองหลานชายอย่างรู้สึกผิด เขาไม่สามารถช่วยเหลือแกได้เลย

                “งั้นก็แปลว่านายมองเห็นสีของคนแล้วก็จำแนกออกเป็นเป็นรูปแบบ จากนั้นใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบ ในกรณีนี้ นายสังเกตเห็นว่าเขาเหมือนกับคุณยาย ก็เลยคิดว่าเขาต้องเป็นโรคร้ายและใกล้ตาย นี่แน่ะเจ้าหนู” วสุขยับตัวเล็กน้อย มองหลานชายของเพื่อนอย่างปราณี “การจะทำอย่างนาย ไม่ใช่ว่าทุกคนก็จะทำได้หรอกนะ ต่อให้เห็นสีที่บ่งบอกอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ได้อย่างนาย แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้จักเผชิญหน้ากับมัน ศึกษามันและจำแนกผ่านการสังเกตอย่างละเอียด นำมาวิเคราะห์สถานการณ์ได้แม่นยำอย่างที่นายเป็น สิ่งที่นายมี มันคือพรสวรรค์ ถ้ามีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อยๆ อย่างเข้มแข็ง ซักวันนายคงพบคำตอบว่าเพราะอะไร พระเจ้าถึงได้ให้พรสวรรค์นี้แค่กับนาย”

 

คำยืนยันของเจ้าของนิยาย

✓ เรื่องนี้เป็นบทความเก่า ยังไม่ได้ทำการยืนยัน

คำวิจารณ์

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเขียนวิจารณ์ได้


รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
คำวิจารณ์เพิ่มเติม...

โหวต

เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ
0 /10
ความถูกต้องในการใช้ภาษา
0 /10
ภาษาที่ใช้น่าอ่าน
0 /10

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถโหวดได้


แบบสำรวจ

 

ไม่มีแบบสำรวจ

 

อ่านนิยายเรื่องอื่น

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา