มนตราดอกกุหลาบ
เขียนโดย 2305
วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559 เวลา 13.07 น.
แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน พ.ศ. 2559 14.21 น. โดย เจ้าของนิยาย
19) บทที่ 18
อ่านบทความตามต้นฉบับ อ่านบทความเฉพาะข้อความบทที่ 18
ภายหลังจากที่ศักดาและนงนุชได้อ่านบันทึกเล่มนั้นจบลง ทั้งสองก็มีความเห็นตรงกันว่า เรื่องนี้ควรจะต้องปรึกษากับพระสงฆ์ที่มีความรู้ทางด้านนี้ อองรีจึงตัดสินใจเดินทางไปยังวัดท้ายบ้าน เพื่อขอคำปรึกษากับหลวงตาเจ้าอาวาสที่เขาให้ความเคารพในทันที หลังจากที่หลวงตาใช้เวลาอ่านบันทึกเล่มนี้จบลงแล้ว จึงเรียกให้อองรีมาพบแล้วกล่าวกับเขาว่า
“แม่ชีแม้น ได้มาบวชเป็นแม่ชีที่วัดนี้ก่อนที่อาตมาจะมาบวชเณรเสียอีก แกเป็นแม่ชีที่เคร่งครัดมาก อาตมาจึงเชื่อว่าบันทึกที่แกเขียนเล่มนี้ คงจะเป็นเรื่องจริง และยิ่งมีภาพถ่ายที่มีรูปคนที่มีใบหน้าละม้ายคล้ายกับโยมและโยมรจนาด้วยแล้ว ก็ยิ่งน่าเชื่อถือเข้าไปอีก อีกทั้งทางศาสนาพุทธก็ไม่ปฏิเสธเรื่องของภพนี้ ภพหน้า แม้แต่พระพุทธองค์เองก็ยังทรงเวียนว่ายตายเกิดอยู่หลายภพหลายชาติกว่าจะได้มาเป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้นเรื่องในชาติก่อนของโยมทั้งสอง อาตมาคิดว่าเป็นจริงได้ทีเดียว”
อองรีรับฟังด้วยความรู้สึกผิดหวัง จึงกล่าวกับหลวงตาว่า
“ถ้าเช่นนั้น การที่คุณน้าราตรีคิดว่าผมกับรจนาเกิดมาในชาตินี้ก็เพื่อมาล้างแค้นซึ่งกันละกัน ก็เป็นความจริงสิครับ”
“ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะจากบันทึกแล้ว ดูเหมือนว่าทั้งโยมอังเดรและโยมรส จะมีความโกรธแค้นกันจนยากที่จะให้อภัยซึ่งกันและกัน”
“ถ้าเช่นนั้นผมกับรจนาควรจะต้องอยู่ห่างๆกันหรือไม่พบกันจะเป็นการดีที่สุดใช่ไหมครับ”
“โยม ไม่มีใครหนีกรรมพ้นหรอก ดูอย่างกรณีของโยมทั้งสองสิ ขนาดตายจากกันมาร้อยปีแล้ว ยังกลับมาพบกันจนได้ ขนาดอยู่คนละซีกโลกแท้ๆ ก็ยังต้องมาพบกันในที่สุด”
“แสดงว่าผมกับรจนาคงต้องทำร้ายกันและกันไปเช่นนี้ตลอดไปใช่ไหมครับ”
“โยม การหยุดกรรมไม่ใช่การหนีกรรมหรือยอมรับชะตากรรม เราสามารถหยุดกรรมได้ด้วยตัวของเราเอง”
“เราสามารถทำได้เช่นไรครับหลวงตา” อองรีกล่าวด้วยความยินดี
“อโหสิกรรมอย่างไรเล่าโยม เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร คำสอนง่ายๆที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนเอาไว้”
“ผมไม่เคยถือโทษโกรธเคืองเธอเลยนะครับ จริงอยู่ แม้ว่าบางครั้งผมอาจจะโกรธ โมโห แต่ความคิดที่จะทำร้ายเธอหรืออยากเห็นเธอเจ็บปวดทรมานนั้น ไม่เคยมีอยู่ในความคิดของผมเลยครับ”
“จากบันทึกเล่มนี้แสดงให้เห็นว่า โยมรสเธอมีกรรมที่ได้ก่อไว้อย่างมากมายในชาติก่อน กรรมจึงได้ติดตามมาทำร้ายเธอในชาตินี้”
“แล้วผมเล่าครับ ในชาติก่อนผมก็ทำร้ายเธอหนักหนาเช่นกัน ทำไมผมจึงไม่ต้องประสบชะตากรรมเช่นเธอเล่าครับ”
“กรรมที่หนักที่สุดของโยมรสคือการทำให้ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ต้องเสียใจ โยมรสปฏิเสธการสมรสที่พ่อแม่จะจัดการให้ แต่กลับไปสมรสกับชายชาวต่างชาติ ทำให้ท่านเจ้าคุณโกรธถึงกับประกาศตัดขาดความเป็นพ่อลูกกันนั้น เป็นกรรมที่หนักหนามาก”
“เรื่องแค่นี้ทำไมหลวงตาจึงว่าเป็นกรรมหนักได้ครับ”อองรีถามอย่างนึกไม่ถึง
“บิดามารดาเปรียบดังพระอรหันต์ของบุตร การทำร้ายท่านไม่ว่าด้วยกายก็ดี วาจาก็ดี หรือแม้แต่เพียงแค่คิดในใจก็ดี ล้วนเป็นบาปมหันต์ดังการทำร้ายพระอรหันต์”
“ถ้าเช่นนั้น ผมจะช่วยเธอได้อย่างไรบ้างครับ”
“กรรมใดใครก่อ คนนั้นต้องเป็นผู้รับกรรมของตนเอง คนอื่นจะมาช่วยไม่ได้หรอก เวลานี้โยมรจนาก็กำลังรับกรรมของเธออยู่ตั้งแต่เกิดแล้ว แทนที่จะได้เกิดมาเป็นลูกของเศรษฐี หรือขุนน้ำขุนนาง ดังเช่นในอดีต เธอกลับต้องมาเกิดเป็นลูกชาวนาจนๆครอบครัวหนึ่ง ดีแต่ว่าชาตินี้เธอเป็นคนจิตใจดี ที่หมั่นทำบุญทำกุศลมิได้ขาด ผลแห่งกรรมดีคงช่วยให้เธอได้หลุดพ้นจากกรรมเก่าได้ในที่สุด”
อองรีรับฟังถึงตอนนี้จึงเริ่มเข้าใจว่าเหตุใดรจนาจึงยอมเชื่อฟังมารดาของเธอและเลือกที่จะแต่งงานกับวัชรินทร์แทนที่จะเป็นเขา
“ส่วนกรรมถัดมาของโยมรสก็คือการฆ่าตัวตายเพื่อเจตนาทำร้ายจิตใจของผู้เป็นสามีนั้น นับเป็นกรรมที่หนักเช่นกัน การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แม้จะเป็นชีวิตของตนเองก็ตามล้วนเป็นบาปมหันต์ และยิ่งเป็นการฆ่าเพื่อหวังทำร้ายผู้อื่นอีกต่อหนึ่งแล้ว ก็ยิ่งผิดซ้ำเข้าไปอีก”
อองรีคิดถึงเหตุการณ์ที่เขานอนหลับอยู่ที่ห้องพักรับรองของสายการบินแล้วฝันเห็นรจนามาหาเขาและขอให้เขาอโหสิกรรมให้แก่เธอ จึงกล่าวกับหลวงตาในทันทีว่า
“ถ้าผมคือสามีของเธอในชาติก่อนจริง ผมยินดีที่จะให้อภัยเธอครับ”
“โยมแน่ใจหรือ” หลวงตาถามย้ำ
“ผมแน่ใจครับ”
“ถ้าเช่นนั้นโยมจะบวชให้เธอได้ไหม”
อองรีตัดสินใจออกบวชโดยไม่มีความลังเลใจแม้แต่น้อย เขาได้กลับมาแจ้งข่าวให้แก่ศักดาและนงนุชทราบ ก่อนที่จะแวะไปเยี่ยมรจนาอีกครั้ง เขาเกาะกุมมือของเธอแล้วกระซิบที่ข้างหูของเธอเบาๆว่า
“ผมจะทำทุกวิถีทางให้คุณกลับมาดีดังเดิมให้ได้ แม้ว่าผมจะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม” กล่าวจบเขาก็ก้มลงจูบที่มือของเธอเบาๆ ก่อนที่จะเดินจากมา
อองรีได้ออกบวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดท้ายบ้าน เขาได้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของหลวงตาเจ้าอาวาสอย่างเคร่งครัดด้วยการสวดมนต์แผ่ส่วนกุศลให้กับหญิงอันเป็นที่รักของเขาด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์และปราถนาจะให้เธอได้พ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง หลังจากออกบวชได้สิบห้าวัน คืนหนึ่งขณะที่ท่านกำลังนั่งกรรมฐานอยู่นั้น ก็ได้กลิ่นดอกกุหลาบที่ท่านคุ้นเคยโชยมากระทบจมูกอีกครั้งหนึ่ง พระอองรีพยายามรวบรวมสมาธิไม่ให้จิตใจต้องไขว้เขวไปกับสิ่งเย้ายวนรอบกาย ท่านเพ่งสมาธิอยู่กับการนั่งกรรมฐานจนกระทั่งบังเกิดนิมิตขึ้นในมโนภาพ เป็นภาพของรจนาที่ปรากฏกายในชุดนุ่งห่มแบบไทย ที่ท่านได้เคยพบเห็นเสมอๆในความฝัน ได้ค่อยๆเดินเข้ามายังที่ๆท่านนั่งสมาธิอยู่ แล้วก้มกราบที่เบื้องหน้าของท่านก่อนที่จะเลือนกายหายไป
อาการของรจนาดีขึ้นตามลำดับ จนแม้แต่คณะแพทย์ยังพากันแปลกใจ เธอสามารถกลับมาหายใจได้ด้วยตนเองแม้ว่าจะยังไม่รู้สึกตัวก็ตาม กุลวดีตั้งใจที่จะนำข่าวดีนี้มาแจ้งให้แก่พระอองรีได้รับทราบ แต่ได้ถูกหลวงตาเจ้าอาวาสห้ามเอาไว้เสียก่อนว่า
“อย่าเอาเรื่องนี้ไปกวนให้ผ้าเหลืองของท่านต้องร้อนเลย ให้ท่านอยู่ในเพศบรรพชิตอีกสักพักเถิด จะเป็นผลดีต่อโยมรจนาด้วย”
เมื่อได้ฟังหลวงตาห้ามเช่นนั้น กุลวดีและสิงห์จึงต้องเลิกล้มความตั้งใจที่จะไปพบกับพระอองรี สิงห์จึงพากุลวดีไปดูฟาร์มไก่ไข่ของเขา ซึ่งมีแม่ไก่อยู่ประมาณยี่สิบตัว สิงห์เก็บไข่ใส่ถุงจำนวนหนึ่งให้แก่เธอแล้วบอกว่า
“เอ้า พี่ให้ไปลองทาน ถ้าติดใจครั้งหน้าต้องมาซื้อกับพี่นะ”
“ดีจริงพี่สิงห์ พี่สามารถมีอาชีพที่พี่ใฝ่ฝันมานานได้แล้วใช่ไหม”
“อืม ที่ทำได้เช่นนี้ก็เพราะหลวงพี่ท่านเมตตาให้เงินมา”
“หลวงพี่หรือ?”กุลวดีถามด้วยความสงสัย
“ก็หลวงพี่อองรีไง ท่านให้เงินพี่มาตั้งแต่ที่ท่านจะกลับไปฝรั่งเศสคราวก่อนโน้นแล้ว วันเดียวกับที่ยายรจ ได้รับอุบัติเหตุนั่นแหละ”
“จริงหรือพี่สิงห์”
“จริง” สิงห์ยืนยันอย่างหนักแน่น “ตอนนั้นท่านมาลาหลวงตากับพี่ และบอกว่าจะไม่มาเมืองไทยอีกแล้ว แกดูเศร้ามากนะที่จะต้องจากไป พี่ก็ไม่รู้ว่าแกทะเลาะกับยายรจเรื่องอะไร แต่พอแกรู้ว่ายายรจป่วยหนัก แกก็รีบกลับมาในทันที พี่เห็นแกบวช ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง กลางค่ำกลางคืนดึกดื่นก็ยังนั่งสมาธิสวดมนต์ ยอมทำทุกอย่างเพื่อหวังที่จะให้ยายรจหายดีดังเดิม”
กุลวดีรับฟังและยิ่งมองเห็นความดีและความรักที่อองรีมีให้แก่เพื่อนของเธอชัดเจนยิ่งขึ้น ในอดีตนั้นเธอเป็นฝ่ายสนับสนุนวัชรินทร์ แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ทำให้เธอได้เห็นถึงความจริงใจที่อองรีมีให้แก่รจนา และเธอก็รู้ว่าผู้ชายที่รักรจนาอย่างจริงใจนั้นคืออองรี และที่สำคัญเขาเป็นผู้ชายคนเดียวที่รจนามอบความรักของเธอให้แก่เขาด้วย
“ไม่รู้ว่าน้าราตรีแกคิดอย่างไร ถึงได้รังเกียจพระอองรีนักหนา”สิงห์ยังคงคุยต่อไป “ขนาดท่านมาบวชเป็นพระก็เพื่อยายรจแล้ว น้าแกก็ยังไม่พอใจ ขนาดไปบิณฑบาตรถึงหน้าบ้าน แกยังไม่เคยใส่บาตรให้แก่พระอองรีเลย”
“จริงหรือพี่สิงห์” กุลวดีร้องอย่างตกใจ
“จริงสิ วันแรกพี่ก็คิดว่า แกคงไม่รู้ว่ามีพระบวชใหม่ จึงเตรียมอาหารไม่พอ พระอองรีที่เดินเป็นลำดับสุดท้ายจึงไม่ได้รับบิณฑบาตร แต่วันต่อๆมาก็ยังคงเป็นเช่นนี้”
“โถ น่าสงสารพระอองรีนะ”กุลวดีกล่าวด้วยความเห็นใจและหนักใจในการกระทำของราตรี
สี่เดือนผ่านไป รจนาเริ่มฟื้นคืนสติขึ้นมาและได้พบกับบรรยากาศรอบกายที่มืดมิด เธอเอื้อมมือออกไขว่คว้าหาความว่างเปล่าในอากาศ กุลวดีซึ่งอ่านหนังสือเฝ้าไข้อยู่ข้างๆ รีบถลันเข้ามาคว้าแขนของเธอด้วยความยินดี
“รจ เธอฟื้นแล้วหรือ เธอฟื้นแล้ว ฉันดีใจจริงๆ”
“กุล ทำไมจึงได้มืดอย่างนี้ล่ะ นี่กี่โมงกี่ยามกันแล้ว”
กุลวดีไม่รู้ว่าจะตอบคำถามของเพื่อนได้อย่างไร ด้วยความรู้สึกสงสารขึ้นมาจับใจว่า รจนาจะรู้สึกเช่นไรหากทราบว่าดวงตาทั้งสองข้างของเธอนั้น บัดนี้ไม่อาจใช้การได้ดังเดิมอีกแล้ว
“ใจเย็นๆนะ เธอสลบไปตั้งหลายเดือน ให้ฉันตามหมอมาก่อนนะ”เธอกล่าวพร้อมกับกดสัญญาณที่ติดตั้งอยู่ที่หัวเตียง เพียงชั่วอึดใจแพทย์และพยาบาลก็เดินเข้ามาในห้อง
“คนไข้ฟื้นแล้วค่ะ คุณหมอ”กุลวดีร้องบอกด้วยความดีใจ
พยาบาลช่วยประคองให้รจนานอนลงบนเตียงตามเดิมเพื่อให้หมอได้ทำการตรวจอย่างละเอียด ระหว่างที่หมอกำลังตรวจอยู่นั้น รจนาก็ทราบได้ในทันทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับดวงตาทั้งสองข้างของเธอ จึงสะอึกสะอื้นร่ำไห้ออกมาในทันที
“ตาของฉัน ตาของฉัน บอดสนิททั้งสองข้างแล้วใช่ไหมคะคุณหมอ”
“ต้องนับว่าคุณยังโชคดีอย่างมากนะครับที่สามารถรักษาชีวิตเอาไว้ได้ ส่วนเรื่องดวงตานั้น หมอต้องขอแสดงความเสียใจด้วย แต่ก็อย่าเพิ่งสิ้นหวังนะครับ ถ้าเราสามารถหาผู้บริจาคกระจกตาได้ คุณก็จะสามารถกลับมามองเห็นได้ดังเดิม”
แม้จะรู้ว่าเป็นเพียงคำพูดปลอบใจเพื่อให้ความหวัง แต่รจนาก็สังหรณ์ใจในทันทีว่าโอกาสที่เธอจะกลับมาเห็นดังเดิมนั้น ไม่มีอีกแล้ว เธอทราบดีว่ามีคนพิการทางตามากมายเพียงใดที่รอคิวที่จะได้รับการบริจาคดวงตา เธอเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้ยินยอมที่จะบริจาคดวงตาให้แก่ผู้พิการเหล่านั้นในยามที่เธอเสียชีวิตโดยที่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า ตนเองจะต้องกลายมาเป็นผู้ขอรับบริจาคดวงตาเสียเอง รจนาได้แต่นอนร้องไห้อยู่บนเตียงเช่นนั้น โดยมีกุลวดีคอยปลอบโยนเพื่อนรักให้คลายความเศร้าโศกลง
เมื่อราตรีทราบข่าวว่ารจนาฟื้นแล้วก็ได้รีบเดินทางมายังโรงพยาบาลในทันที กุลวดีจึงถือโอกาสนั้นเดินทางกลับมาที่วัดท้ายบ้าน และนำเรื่องนี้เข้าเรียนให้หลวงตาทราบ
“เวลานี้พระอองรีก็บวชมาได้หลายเดือนแล้ว สมาธิและจิตใจเริ่มหนักแน่นมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ให้ท่านได้ทราบข่าวของโยมรจนาบ้างก็คงไม่เป็นไร อาจจะดีเสียอีกจะได้มีกำลังใจว่าสิ่งที่ท่านทำไปนั้น ไม่ได้สูญเปล่า บุญกุศลที่แผ่ไปถึงโยมรจนานั้น สามารถทำให้เธอฟื้นคืนสติขึ้นมาได้แล้ว”
เมื่อได้รับอนุญาตจากหลวงตาเช่นนี้แล้ว กุลวดีและสิงห์จึงชวนกันไปพบพระอองรีที่กุฎิของท่านในทันที พระอองรีกำลังนั่งสมาธิด้วยความสงบและสง่างามน่าเลื่อมใส กุลวดีได้ก้มลงกราบท่านด้วยความศรัทธา ก่อนที่พระอองรีจะลืมตาขึ้นมา
“ดิฉันคงไม่ได้มารบกวนเวลาปฏิบัติธรรมของท่านนะคะ”กุลวดีกล่าวด้วยความนอบน้อม
“ไม่เลยโยม ตามสบายเถิด” พระอองรีกล่าวด้วยความสงบราบเรียบ
“ดิฉันมีเรื่องมาเรียนท่านว่า รจนาฟื้นแล้วนะคะ เธอรู้สึกตัวแล้วค่ะ”
พระอองรีมีสีหน้าปีติยินดีขึ้นมาในทันที ก่อนที่จะฟังกุลวดีเล่าต่อด้วยความตั้งใจ
“คณะแพทย์พากันแปลกใจมาก เดิมไม่คิดว่าเธอจะรอด แต่ก็กลับฟื้นขึ้นมาได้ราวปาฏิหาริย์ ตอนนี้เธอคงต้องอยู่พักฟื้นและทำกายภาพบำบัดอยู่ที่โรงพยาบาลอีกสักพัก เพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆให้กลับมาดีดังเดิม”
“แล้วดวงตาของเธอเล่าโยม” พระอองรีถามทำให้กุลวดีมีสีหน้าสลดลงในทันที
“เธอมองไม่เห็นอะไรเลยค่ะ ตอนนี้ได้แต่ภาวนาให้สามารถหาผู้บริจาคดวงตาได้โดยเร็วเท่าใด เธอก็จะกลับมามองเห็นดังเดิมได้เร็วเท่านั้น”
พระอองรีรับฟังแล้วก็นิ่งขรึมลงไปในทันที ก่อนที่จะกล่าวในเวลาต่อมาว่า
“โยม อาตมามีเรื่องที่จะขอร้องโยมทั้งสอง อย่าบอกโยมรจนาเด็ดขาดนะว่าอาตมาอยู่ที่นี่”
“ทำไมเล่าคะ ยายรจต้องดีใจมากถ้ารู้ว่าท่านอยู่ที่นี่เพื่อบำเพ็ญธรรมช่วยเหลือให้เธอพ้นทุกข์หมดเวรหมดกรรม ถ้าเธอรู้เธอต้องดีใจ และมีกำลังใจที่จะบำรุงรักษาตัวให้หายดีดังเดิมได้เร็วขึ้น”
“นั่นนะสิครับ”สิงห์กล่าวสนับสนุนอีกคน “กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญนะครับ ถ้าเธอรู้ว่าท่านอยู่ที่นี่ เธอจะมีกำลังใจที่จะบำรุงรักษาตัวให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม อย่างที่น้องกุลว่า เพื่อที่จะได้มาพบกับท่าน”
“ขอบใจโยมทั้งสองมาก แต่ว่าเรื่องระหว่างอาตมากับโยมรจนานั้น ขอให้จบเพียงแค่นี้เถิด ที่โยมรจนาต้องชดใช้กรรมในชาตินี้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำร้ายจิตใจของผู้เป็นบิดามารดาในอดีต อาตมาไม่ประสงค์ให้เธอทำให้น้าราตรีต้องเสียใจ เพราะนั่นจะเป็นการสร้างกรรมใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก”
กุลวดีและสิงห์รับฟังด้วยความตกตะลึงและคาดไม่ถึง
คำยืนยันของเจ้าของนิยาย
✓ เรื่องนี้เป็นบทความเก่า ยังไม่ได้ทำการยืนยัน
คำวิจารณ์
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเขียนวิจารณ์ได้
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
โหวต
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถโหวดได้
แบบสำรวจ