SEA and DREAM ทะเล ความฝัน และความจริง
เขียนโดย ทรายละเอียด
วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 เวลา 17.55 น.
แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 22.21 น. โดย เจ้าของนิยาย
2) ปฐมบทชีวิต
อ่านบทความตามต้นฉบับ อ่านบทความเฉพาะข้อความอาภาคย์กระดกแก้วน้ำอมฤตสีขาวทีเดียวครึ่งแก้ว แกหลับตาลงเสมือนกำลังเปิดลิ้นชักแห่งความทรงจำ ผมรู้สึกได้ว่าอาภาคย์เป็นผู้ชายที่ดูอบอุ่นและลึกลับ มีความทรงจำมากมายในใจ เมื่อแกลืมตาดวงตาคู่โตขึ้นมา ปากเริ่มขยับพร้อมใบหน้าที่มีความสุข แล้วอาภาคย์ก็เริ่มเล่าชีวิตของตัวเองให้ทุกคนฟัง
“ตั้งแต่ผมลืมตามาดูโลกก็อาศัยที่บ้านคุณยายในตัวอำเภอเมืองเพชรบุรี ถูกเลี้ยงดูโดยตากับยายและบรรดาน้าๆมาโดยตลอด ด้วยความที่พ่อแม่ของผมตอนนั้นรับราชการครูอยู่ที่อำเภอท่ายาง อยู่ในช่วงเวลาสร้างฐานะ อีกทั้งการเดินทางในสมัยนั้นไม่สะดวก พ่อกับแม่จะขึ้นมาเยี่ยมผมในวันหยุด ตากับยายมีลูกหกคน แม่ของผมเป็นลูกคนโต ส่วนน้องๆของแม่ จะเป็นผู้หญิง 4 คนและคนสุดท้องเป็นผู้ชาย ตอนนั้นมีแม่คนเดียวที่เรียนจบและรับราชการ ส่วนลูกของยายที่เหลือยังเรียนไม่จบ แต่ก็ใกล้แล้วล่ะ ไม่น่าเชื่อนะตากับยายเป็นแค่ชาวบ้านจนๆ ตาเป็นช่างไม้ ยายเป็นคนงานในโรงงานใกล้บ้าน แต่สามารถอบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดีและส่งเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาทุกคน ผมนั้นยกย่องตากับยายในจุดนี้มาก
บ้านยายอยู่ในซอยโพธิ์การ้องอยู่ใกล้กับวัดไตรโลก เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วในซอยจะมีโรงงานแปรรูปสับปะรด มีคนงานขวักไขว่เลยล่ะ ยายก็ทำงานอยู่โรงงานนี้เพราะอยู่ติดหลังบ้านยายเลย มีประตูเล็กๆให้เข้าออกไปโรงงานได้ ยายเล่าให้ฟังว่าตอนเด็กๆผมเลี้ยงง่าย วางไว้ตรงไหนก็จะอยู่ตรงนั้น ยายแค่ป้อนนมแล้ววางผมไว้ในเปลจากนั้นแกก็ไปทำงาน ก่อนเที่ยงก็กลับมาผมก็ยังอยู่ที่เดิม ยายจะมาป้อนข้าวป้อนนมแล้วไปทำงานต่อ ตกเย็นน้าๆผมกลับมาจากมหาวิทยาลัย(สมัยนั้นยังเป็นวิทยาลัยครูเพชรบุรี)ก็จะมาช่วยเลี้ยงผมต่อ เย็นวันศุกร์แม่จะมาเยี่ยมและกลับไปตอนเย็นวันอาทิตย์ แต่ผมก็เติบโตมาโดยที่ไม่รู้สึกขาดความอบอุ่นนะ เพราะทุกคนให้ความรักกับผมซึ่งเป็นหลานคนแรกมาก วันเวลาผ่านไปเช่นนี้ จนถึงวันที่ผมต้องได้รับการศึกษาแล้วล่ะ ตอนนั้นเท่าที่จำได้น่าจะประมาณ พ.ศ.2526 โรงเรียนแรกในชีวิตของผมคือ โรงเรียนอนุบาลแสงมิตร ตอนเช้าก่อนไปทำงานยายก็จะขี่จักรยานไปส่งที่โรงเรียน ตอนเย็นก็จะมารับกลับ ตอนนั้นอนุบาลแสงมิตรยังเป็นอาคารปูนชั้นเดียว มีอาคารเรียนอยู่สองอาคาร แล้วก็มีอาคารโรงนอนสำหรับให้เด็กวัยเบบี๋ไว้นอนกลางวัน และอาคารเอนกประสงค์สำหรับเป็นโรงอาหารและจัดกิจกรรม ด้านหลังโรงเรียนจะเป็นลานกว้างมีสนามบาสเกตบอล กำแพงด้านติดกับมูลนิธิโรจธรรมสถานจะมีต้นสนเป็นทิวยาว จำได้ว่ายายให้เงินไว้ซื้อขนมร้านหน้าโรงเรียนวันละ 1 บาท ซื้ออะไรได้ไม่มากหรอก มีไว้แค่ซื้อขนมนมเนยได้นิดหน่อยเอาไว้กินรอยายมารับเท่านั้น ซึ่งเส้นทางนักปั่นของสองยายหลานก็จะเป็นเส้นทางถนนกำแพงเมือง ผ่านวัดไผ่ล้อมวัดนี้สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันเป็นวัดร้างติดกับเรือนจำจังหวัดเพชรบุรี เป็นโบสถ์สองตอน สร้างด้วยอิฐและปูน มีลักษณะพิเศษ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนหลังเป็นห้องว่าง มีผนังกั้นกลาง และเจาะช่องประตูตรงกลาง 1 ช่อง ด้านหน้า เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระประธานขนาดใหญ่ที่แวดล้อมไปด้วยพระพุทธรูปหินทรายแดงมากมาย ปัจจุบันโบสถ์วัดไผ่ล้อมกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ซึ่งวัดนี้ผมชอบมาเดินดูเพลินๆนะ ถึงวัดจะเล็กนิดเดียว แต่ผมว่ามีเสน่ห์มนต์ขลังดีขี่จักรยานมาอีกสักพักก็จะเจอกับแนวกำแพงยาวที่ก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งเป็นแนวกำแพงของ วัดกำแพงแลง ชื่อดั้งเดิมไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด สำหรับชื่อที่เรียกกันว่า “กำแพงแลง” นั้นคงเป็นชื่อที่ผู้คนในสมัยหลังเรียกกันตามลักษณะที่พบเห็น เนื่องจากภายในวัดมีปราสาทเขมรก่อด้วยศิลาแลงและมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ จากลักษณะดังกล่าวจึงเป็นที่มาของชื่อวัดนี้ว่า "กำแพงแลง" หมายถึงกำแพงวัดที่ก่อด้วยศิลาแลงนั่นเอง ส่วนช่วงเวลาในการสร้างคาดว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ระหว่างปี พ.ศ. 1724-1773 ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครองราชย์ เป็นศิลปะแบบบายน เลยวัดกำแพงแลงมาประมาณสองร้อยเมตรก็ถึงหน้าปากซอยเข้าบ้านแล้วล่ะ ในซอยจะเป็นถนนดินสมัยนั้นบ้านเรือนยังไม่ค่อยมาก จากหน้าปากซอยเราจะผ่านบ้านประมาณสี่ห้าหลัง จากนั้นจะเป็นโรงงานสับปะรด แล้วก็ผ่านป่าละเมาะที่อยู่ติดกับ กุโบ หรือสุสานของชาวมุสลิม น่าแปลกที่ผมไม่เคยกลัวเลยสักนิดเดียวแถมยังพาเพื่อนๆไปวิ่งเล่นบนกำแพงหรือเข้าไปวิ่งเล่นในกุโบอยู่บ่อยๆ ข้างในมีหลุมศพที่มีปูนโบกทับเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ประมาณสี่ถึงห้าหลุม ชีวิตช่วงอนุบาลผมจำไม่ค่อยได้มากเพราะยังเด็กมาก จนถึงวันที่จบอนุบาล 2 ถึงเวลาที่จะต้องเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา แม่พาผมไปสถานที่แห่งหนึ่งก็น่าจะเป็นโรงเรียนนี่แหล่ะ เป็นอาคารไม้สองชั้นเก่าๆ ด้านหน้าเป็นเสาธง “ภาคย์ โตจนเป็นเด็กประถมแล้วนะลูก” แม่บอกพร้อมกับลูบหัวผม ชั้นประถมศึกษาคืออะไร ไม่รู้จัก รู้แต่ว่าที่ป้ายของโรงเรียนนี้นอกจากจะมีภาษาไทยแล้ว ยังมีตัวหนังสืออะไรก็ไม่รู้ขยึกขยืออยู่ด้วย อึ๋ย!!!!!! กลับมาถึงบ้านยาย น้าผมถามแม่ว่า “นี่เธอ นึกยังไงพาลูกไปเรียนโรงเรียนจีน บ้านเราก็ไม่ได้เป็นเจ๊กสักหน่อย” แม่ผมยิ้มแล้วตอบ “โรงเรียนนี้เป็นเครือเดียวกับอนุบาลแสงมิตร แล้วชั้นคิดว่าสมัยนี้ถ้าปลูกฝังเรื่องภาษาที่สองที่สามให้กับเด็ก โตขึ้นเค้าจะมีต้นทุนติดตัวในการทำงานนะ” โอเคครับความคิดของแม่ดีมากที่คิดถึงอนาคตของลูกเต้า แต่สรุปแล้วหลังจากหกปีในโรงเรียนจีน ผมเหลือต้นทุนภาษาจีนสำหรับโลกภายนอกเพียงสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ฮ่าฮ่าฮ่า
วันแรกที่ไปโรงเรียนยายแต่งตัวให้หลานชายสุดสวาท แกตื่นเต้นที่หลานจะเรียนประถมแล้วผิดกับสีหน้าของผมที่ไม่อยากไปโรงเรียน ชุดนักเรียนของโรงเรียนนี้เป็นเสื้อนักเรียนสีขาว ชื่อย่อโรงเรียนและชื่อนามสกุลนักเรียนปักด้วยตัวอักษรสีแดง กางเกงนักเรียน ถุงเท้าและรองเท้าสีกากี ส่วนทรงผมไม่ต้องพูดถึงครับ เป็นการไว้ผมทรงนักเรียนหรือผมเกรียนครั้งแรกในชีวิต การเดินทางไปโรงเรียนก็เปลี่ยนไปจากที่ยายเคยไปรับไปส่ง ตอนนี้แม่เปลี่ยนให้นั่งรถประจำเพราะโรงเรียนอยู่ไกลพอสมควร แม่สงสารยาย เอี๊ยด!!!!! เสียงเหมือนรถเบรกอยู่หน้าบ้าน ยายจูงมือผมมาขึ้นรถ เฮ้ย! รถอะไรวะเนี่ย รถยนต์ก็ไม่ใช่ รถจักรยานก็ไม่เชิง ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต “ภาคย์ หนูขึ้นรถสามล้อ ตาคิด ไปโรงเรียนนะ ตอนเย็นก็นัดสถานที่รอกับตาเค้านะ” อ๋อ ไอ้รถแบบนี้เค้าเรียก รถสามล้อ ตาคิดคนขับรถประจำของผม เป็นชายหนุ่ม(เหลือน้อย) อายุน่าจะห้าสิบแล้วล่ะแต่ดูเป็นคนใจดี แกถีบสามล้อพาผมไปโรงเรียน เส้นทางก็คนละเส้นทางกับสมัยเรียนอนุบาล แกพาผมออกจากซอยไปตามถนนพงษ์สุริยา ผ่านวัดไตรโลก วัดนี้เรียกได้ว่าเป็นวัดประจำตัวของยายผมเลยล่ะ ตั้งแต่ผมจำความได้เวลาที่ยายว่างก็จะไปช่วยเหลืองานที่วัดนี้ตลอด สี่สิบกว่าปีได้กระมัง จนวาระสุดท้ายของชีวิตร่างของยายก็ถูกเผาและเก็บอัฐิบางส่วนไว้ที่นี่ ติดกับวัดไตรโลกและใช้รั้วเดียวกันคือ วัดพรหมวิหาร ที่ซุ้มประตูวัดจะมีรูปปั้นทหารบกใส่เครื่องแบบสีเขียวสองตัว ยืนตรงถือปืนอยู่หน้าวัด เลยมาอีกนิดเป็นวัดใหญ่สุวรรณารามอยู่ทางซ้ายมือวัดใหญ่สุวรรณาราม จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหารมีการปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 4 มีอาคารสำคัญได้แก่ 1.พระอุโบสถเป็นศิลปะอยุธยา มีภาพทวารบาล จิตรกรรมภาพเทพชุมนุมเรียงรายกัน 5 ชั้น พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยรู รูปหล่อพระสังฆราชแตงโม หน้าบันเป็นงานรูปปั้นสมัยอยุธยาตอนปลายที่งามพลิ้วราวมีชีวิต 2.ศาลาการเปรียญ เป็นสถาปัตยกรรม-ศิลปกรรมยุคอยุธยาตอนปลาย สร้างด้วยไม้ผนังเป็นฝาปะกน เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ รื้อมาถวายพระสังฆราชแตงโมโดยมีบานประตูแกะสลักที่งดงามและมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และศิลปกรรมนั่นคือเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย และที่บานประตูมีรอยทหารพม่าใช้ขวานจามบานประตูเพื่อจับคนที่อยู่ข้างใน3.หอเก็บพระไตรปิฏก เป็นอาคารไม้ผนังฝาปะกน รองรับด้วยเสาไม้ 3เสา จากแนวคิดที่ว่า พระไตรปิฎก ประกอบด้วย 3 ปิฎกคือ พระธรรมปิฏก พระไตรปิฏก และพระสุตันตปิฎก แหม..เพชรบุรีนี่วัดเยอะจริง ออกจากบ้านมานิดเดียวก็ผ่านสามวัดแล้ว หลังจากผ่านวัดต่างๆ ก็จะเข้าตลาดซึ่งยังคงสภาพเดิมมาจนทุกวันนี้ ตลาดเพชรบุรีเป็นตลาดเล็กๆแต่มีมนต์ขลังอย่างน่าประหลาด ผ่านตลาดแล้วตาคิดลงจากสามล้อ แล้วก็เข็นรถขึ้น สะพานจอมเกล้า ที่เป็นอีกหนึ่งในสะพานที่ชาวเพชรใช้สัญจรไปมาในใจกลางเทศบาลเมืองเพชรบุรี โดยเชื่อมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ระหว่างตำบลท่าราบกับตำบลคลองกระแชงเข้าด้วยกัน สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มแรกเรียกว่าสะพานช้าง เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2528 สะพานจอมเกล้ายังไม่ได้รับการปรับปรุงดังที่เห็นในปัจจุบัน สะพานจะโค้งและสูงมาก เรียกว่าตาคิดแกเข็นสามล้อขึ้นสะพานเหนื่อยเลยละกัน จากนั้นเป็นขาลงสะพาน ด้วยความสูงชันแบบนั้นความเร็วของรถสามล้อเหมือนรถไฟเหาะเลยล่ะ ลงสะพานอีกนิดเดียวก็ถึงโรงเรียนแล้วล่ะ
โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาของผมคือ โรงเรียนราษฎร์วิทยา เปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษามีการสอนทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาจีน โรงเรียนนี้มีระบบนักเรียนประจำด้วยสำหรับลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนที่ต้องการให้ลูกหลานมาเรียนที่นี่แต่บ้านอยู่ไกล โรงเรียนของผมยังมีชื่อภาษาจีนว่า “กวงจงเสียเสี้ยว” แต่ชาวเพชรบุรีสมัยนั้นจะเรียก โรงเรียนกวงตงเป็นอันรู้กัน สมัยนั้นโรงเรียนเป็นอาคารไม้สองหลัง ระหว่างอาคารทั้งสองจะเป็นลานอเนกประสงค์มีหลังคาคลุม สำหรับประชุมนักเรียนและใช้เป็นสนามแบดมินตัน รวมถึงลานตั้งโต๊ะปิงปอง ด้านตรงข้ามโรงเรียนเป็นโบสถ์ของชาวคริสต์ที่อยู่ติดกับสถานี บขส.(เก่า) ด้านข้างโรงเรียนฝั่งทิศตะวันตกติดกับวัดชีสระอินทร์ อย่างที่บอกครับเพชรบุรีวัดเยอะจริงๆ วินาทีแรกที่ผมไปถึงโรงเรียนก็ตื่นเต้นดีครับ เด็กใหม่ในโรงเรียนแห่งใหม่ คุณครูพาผมไปเข้าห้องเรียนจากที่จำได้น่าจะเป็นห้อง ป.1 ข. ซึ่งสมัยนี้ไม่น่าจะมีการแบ่งห้องโดยใช้พยัญชนะไทยแล้วกระมัง ที่นี่ทุกระดับชั้นตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 แบ่งเป็นสองห้อง นั่นคือ ห้อง ก. และห้อง ข. นักเรียนห้องหนึ่งมีประมาณสามสิบคน เพื่อนใหม่ของผมทุกคนนั้นหน้าตาขาว ตาตี่แทบจะทุกคน มีแต่ผมคนเดียวที่มีหน้าตากระเดียดหล่อเหลาไปทางฝรั่ง (คริคริ) สักพักครูก็เรียกชื่อนักเรียนแต่ละคน เฮ้ย..นอกจากชื่อไทยแล้วทุกคนยังมีชื่อและแซ่เป็นภาษาจีนอีกด้วย เท่าที่จำชื่อเพื่อนได้ก็เช่น “เฉินเสี่ยวหลง (มังกรน้อยแซ่เฉิน)” “หลินหยูอี้(คนโชคดีแซ่หลิน)” “ถูต้า(คนตัวใหญ่แซ่ถู)” ถึงลำดับของผมแล้วล่ะ “เด็กชายภาคย์ อืม อาภาคย์ ลื้อไม่มีชื่อจีนเลย เดี๋ยว เหล่าซือ ตั้งชื่อจีนให้ลื้อแล้วกัน เอ่อ..ลื้อชื่อ อี้ไฮ่ (ทะเล) ..อืม อี้ไฮ่ ชื่อนี้ล่ะดีที่สุด” ครูหน้าตี๋ทักทายผมแบบนี้ และไม่น่าเชื่อทุกวันนี้เวลาที่แกเจอผมถึงแม้เวลาจะผ่านมาสามสิบสี่สิบปีแล้ว หวงเหล่าซือ (คุณครูแซ่หวง) ก็ยังจำผมได้และยังเรียกผมว่าอี้ไฮ่มาโดยตลอด การเรียนในช่วงปีแรกก็ไม่มีอะไรมากครับ ผมปรับตัวให้เข้ากับการเรียนสองภาษาได้เป็นอย่างดี ตอนเช้าเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ หลังจากร้องเพลงชาติและสวดมนต์ตามแบบฉบับชาวพุทธแล้ว จะมีครูไทยและครูจีนมาพูดหน้าแถวโดยใช้ภาษาของตน แรกๆ ผมฟังภาษาจีนไม่ค่อยรู้เรื่องหรอกครับ ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ แต่พอได้ฟังทุกวันก็กลายเป็นความเคยชิน สามารถฟังและพูดโต้ตอบได้ในระดับหนึ่ง แต่ในส่วนที่ยากของภาษาจีนผมว่าเป็นการเขียนมากกว่า การเขียนตัวอักษรจีนยากมาก ตัวๆหนึ่งก็จะมีความหมายหนึ่งในตัวมันเองไม่ต้องผสมกับตัวอักษรใดแบบภาษาอื่นและภายในตัวอักษรจะมีขีดเยอะต้องใช้ความจำพอสมควร สุดท้ายการเรียน ป.1 ในโรงเรียนจีนก็ผ่านไปโดยที่ผมสอบในภาคภาษาไทยได้ที่ 2 และสอบภาคภาษาจีนได้ที่ 4 เรียกว่าชนะอาตี๋อาหมวยลูกคนจีนในห้องไปอย่างไม่น่าเชื่อ
พอขึ้น ป.2 โรงเรียนของผมมีการเปลี่ยนแปลง โดยทางโรงเรียนมีโครงการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่แทนอาคารไม้หลังเดิม ดังนั้นระหว่างที่ใช้เวลาก่อสร้างประมาณสองปีนั้น นักเรียนทั้งหมดต้องย้ายสถานที่เรียนไป สมาคมฮากกา ที่เป็นสมาคมชาวจีนแคระในจังหวัดเพชรบุรีซึ่งอยู่เลยโรงเรียนเราไปประมาณสามร้อยเมตรอยู่ติดกับ โรงเรียนอรุณประดิษฐ ด้วยความที่สมาคมฮากกาเป็นสนามแบดมินตัน ดังนั้นห้องเรียนของนักเรียนกวงตงจึงใช้บริเวณชั้นลอยรอบสนามแล้วนำกระดานดำมากั้นเป็นแต่ละห้อง ง่ายดีครับ เราอาศัยสมาคมฮากกาเป็นสถานศึกษาได้สองปี จนผมขึ้นชั้น ป.4 ชาวกวงตงทั้งหลายก็ได้ย้ายกลับไปสถานที่เดิมพร้อมกับอาคารเรียนหลังใหม่ เป็นอาคารสูงสี่ชั้นดูทันสมัย เท่ห์สุดๆ ผมเรียนชั้น ป.4 โดยยังคงมีตาคิดถีบสามล้อรับส่งเช่นเดิม ปีการศึกษานั้นเปิดเทอมได้ประมาณสามเดือนก็ได้รับข่าวร้าย เย็นวันนั้นผมรอตาคิดอยู่ตรงสนามเด็กเล่นสถานที่นัดของผมกับแกจนถึงห้าโมงเย็นกว่าๆ แปลกใจว่าทำไมตาคิดยังไม่มา ปกติแล้วไม่เกินสี่โมงครึ่งแกจะมาถึงแล้ว อีกสักพักน้าสาวผมจึงขี่มอเตอร์ไซต์มาดู “ภาคย์ น้ามารับแล้วลูก รอที่บ้านตั้งนานไม่กลับสักทีเลยขี่มาดู” “น้า ตาคิดแกทำไมยังไม่มาอีกล่ะครับ” น้าผมแกสั่นหน้าไม่รู้เหมือนกัน ผมเลยซ้อนท้ายน้าไปดูที่บ้านตาคิดที่อยู่ซอยโรงฝ้ายตรงข้ามกับซอยบ้านยาย ไปถึงบ้านหลังเล็กของตาคิดปรากฏว่ามีคนยืนอยู่หน้าบ้านหลายคน “ลุง มีอะไรกันเหรอ” น้าผมถามลุงคนหนึ่ง “ตาคิดสิ แกตายแล้ว ตายตั้งแต่บ่าย แกนอนกลางวัน พอตกเย็นเมียแกมาเรียกให้ไปรับนักเรียนแต่เรียกเท่าไหร่ก็ไม่ตื่น สงสัยจะหัวใจวายตาย” พระเจ้าช่วย!!! คนขี่รถประจำผมตายแล้วหรือนี่ ผมเสียใจเหมือนกันนะเพราะนั่งรถพูดคุยสนิทสนมกับตาคิดมาตั้งสี่ปี
หลังจากนั้นการไปโรงเรียนของผมก็เปลี่ยนไป ผมต้องขี่จักรยานไปโรงเรียนเอง แต่ก็ไม่ไกลมากสามกิโลเมตรเท่านั้นเอง อีกอย่างสมัยนั้นรถราก็ไม่มากเหมือนตอนนี้ ทุกวันผมจะออกจากบ้านยายประมาณเจ็ดโมงเช้านิดๆ ขี่รถเอ้อระเหยลอยชายไปเรื่อย เปลี่ยนเส้นทางทั้งไปและกลับทุกวันเพื่อความไม่น่าเบื่อจำเจ สมัยนั้นจักรยานที่เป็นที่ท๊อปฮิตในหมู่เด็กก็คือ BMX ใครมีขี่ถือได้ว่าไฮโซและเท่ห์มาก แต่อย่างว่าแหล่ะครับ บ้านผมไม่ได้มีฐานะร่ำรวยจึงได้แต่ขี่จักรยานคันเก่าของตา แต่ถึงจะเก่าและเชย ผมก็รักมันมากเพราะใช้งานมันทุกวันไม่มีวันหยุดราชการ ก็ได้แต่ฝันว่าสักวันจะได้มี BMX กับเค้าบ้าง แต่จนแล้วจนรอดก้นผมก็ไม่มีวาสนาได้สัมผัสอานของมันจนถึงทุกวันนี้
ผมใช้ชีวิตกับจักรยานคันโปรดจนถึง ป.6 ก็เป็นอันต้องเลิกใช้ชั่วคราว เพราะน้าสาวของผมแกได้รับการบรรจุเป็นศึกษานิเทศน์ที่อำเภอท่ายาง ด้วยความที่ผมเป็นหลานคนโปรดก็เลยต้องมาอยู่เป็นเพื่อน ตอนนั้นนอกจากรับราชการแล้วน้าผมทำธุรกิจด้านอหังสาริมทรัพย์ด้วย คือการซื้อตึกแล้วมาทำกำไรนั่นแหล่ะ ตึกแรกที่แกซื้อและเป็นที่อยู่แห่งแรกของผมในอำเภอนี้อยู่ใน ซอยเทศบาล 1 หรือคนท่ายางจะเรียกกว่า ซอย 1 จากการที่ย้ายมาอยู่ต่างอำเภอ ดังนั้นการไปโรงเรียนก็เลยพลอยเปลี่ยนไปด้วย ตอนเช้าประมาณหกโมงผมต้องตื่นมาอาบน้ำแต่งตัวแล้วต้องเดินออกไปรอขึ้นรถประจำทางที่หน้าปากซอยเทศบาล 8 จะมีรถบัสแดงคอยให้บริการเด็กนักเรียน แต่มีเที่ยวเดียวนะครับคือเจ็ดโมงเช้า ดังนั้นผมจะต้องแย่งและเบียดเสียดกับบรรดาเด็กเล็กเด็กโตขึ้นรถแต่ให้ตายเถอะไม่เคยได้นั่งเลยสักครั้ง ค่ารถสมัยนั้นก็ 3 บาท รถจะวิ่งไปจอดนักเรียนที่โรงเรียนพรหมานุสรณ์ฯ จากนั้นมาจอดที่โรงเรียนคงคารามแล้วก็โรงเรียนอรุณประดิษฐ จากนั้นจะมาจอดรอคิวที่ท่ารถ บขส. ที่อยู่ตรงข้ามโรงเรียนผมเลย ส่วนขากลับผมก็รอขึ้นรถที่หน้าโรงเรียนนั่นแหล่ะสะดวกดี การใช้ชีวิตที่ท่ายางไม่มีอะไรผิดแปลกแหวกแนวจากเด็กอื่น ตกเย็นไปเล่นฟุตบอลในโรงเรียนบ้านท่ายางบ้าง ไปตีแบดมินตันบ้าง หรือไม่ก็ไปเล่นน้ำตรงท่าน้ำข้ามภพในปัจจุบัน แม่น้ำเพชรบุรีในบริเวณนี้ เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วน้ำในแม่น้ำยังมีเยอะ มีคุ้งมีวังมากมายและน่ากลัว แต่พวกเราก็ชอบมาเล่นน้ำที่นี่บ่อยๆ เพราะหลังจากเล่นน้ำแล้วเรามักจะไปฝั่งตรงข้ามที่เป็นพื้นที่ตำบลยางหย่อง ที่ฝั่งนั้นมีสวนกล้วยและสวนมะม่วงเยอะ ตามวิถีของอำเภอท่ายางที่ประชากรร้อยละ 80 เป็นเกษตรกร ผลผลิตหลักได้แก่ ข้าว กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า มะนาว ชมพู่ อ้อย มะม่วง ถั่วและมะพร้าวผมกับเพื่อนเลยมีผลหมากรากไม้หลากหลายชนิดให้ขโมยกินอยู่เรื่อย
อยู่ที่ตึกได้ประมาณสองเดือน น้าผมคงกลัวว่างและความที่ตัวแกชอบอ่านหนังสือ แกเลยขนหนังสือนิยายที่แกมีอยู่หลายร้อยเล่มมาให้ชาวบ้านเช่าไปอ่าน เล่มละสามบาท ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีมาก ร้านหนังสือเช่าของน้าผมจะเปิดในตอนเย็น ดังนั้นหน้าที่ของผมอีกอย่างหนึ่งคือเฝ้าร้าน คอยจดหนังสือเข้าออกและจัดเรียงหนังสือบนชั้นให้เป็นหมวดหมู่ ช่วงนี้ทำให้ผมซึ่งปกติก็เป็นคนอ่านหนังสือทุกประเภทและตลอดเวลาอยู่แล้ว เมื่อมาทำร้านหนังสือก็ยิ่งเป็นหนอนดักแด้กระดาษไปเลย รักการอ่านหนังสือไปเลย นิยายที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้นจะเป็นของ ทมยันตี,กฤษณา อโศกสิน,ก.สุรางคนางค์,ชูวงศ์ ฉายะจินดา และนิยายแนวผจญภัยแฟนตาซีในตำนานอย่าง เพชรพระอุมา ของพนมเทียน ส่วนนิยายจีนสมัยนั้นนักแปลที่โด่งดังก็จะมีของ น.นพรัตน์, ว.ณ เมืองลุง และ ป.พิศนาคะ แห่งมังกรหยก แต่นิยายจีนนี่ผมอ่านไม่รู้เรื่องหรอกครับ ถึงผมจะเรียนโรงเรียนจีน แต่จำชื่อตัวละครไม่ไหว เยอะเหลือเกิน (แต่ในปัจจุบันผมกลับติดนิยายจีนเรื่องหนึ่ง ติดงอมแงม อ่านทุกเวลาเป็นหนังสือเจ็ดเล่มจบ แต่ผมอ่านมาได้สิบรอบแล้วเป็นอย่างต่ำ “เจาะเวลาหาจิ๋นซี”ของ หวงอี้) ทุกๆสามเดือนน้าจะชวนผมขึ้นรถบัสไปกรุงเทพฯ ไปหาซื้อหนังสือเล่มใหม่มาเพิ่มเพราะลูกค้าใกล้จะอ่านหมดร้านแล้ว การซื้อหนังสือสมัยนั้นต้องไปซื้อที่ ตลาดนัดสนามหลวง (ปัจจุบันย้ายไปที่ตลาดจตุจักร) มีหนังสือหนังหามากมาย เป็นที่ถูกใจกับหนอนหนังสืออย่างผมมาก และที่นั้นเองทำให้ผมได้รู้จักกับบทประพันธ์หนึ่ง ที่ทุกวันนี้ผมยังมีติดบ้านอยู่ตลอดและหวงแหนมาก สหัสนิยายนั่นคือ พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทปาลิต ที่จัดพิมพ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482-2511 มีมากมายเกินกว่าพันตอน วันนั้นน้าซื้อฉบับปกแข็งให้ผมมาสามเล่มนอนอ่านเพลินไปเป็นเดือน
วันเวลาผ่านไปเช่นนี้จนใกล้ถึงวันสอบปลายภาคเทอมสอง เพื่อนๆ ป.6ที่โรงเรียนเริ่มคุยกันเรื่องสถานที่เรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา สมัยนั้นก็ไม่มีที่ไหนหรอกครับเด็กผู้ชายก็ โรงเรียนพรหมานุสรณ์ฯ เด็กผู้หญิงก็ โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ แต่ที่พูดนี่ไม่ใช่โรงเรียนอื่นจะไม่ดีนะ เพียงแต่เมืองไทยเรามีค่านิยมในเรื่องสถาบันพอสมควร จากประสบการณ์เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว คนที่จบสถาบันที่ไม่ได้รับความนิยมกลับได้ดิบได้ดี ประสบความสำเร็จในชีวิตถมเถไป กลับกันนั้นคนจบสถาบันดังที่ยังย่ำต๊อกต๋อยก็ยังมีอีกมาก ดังนั้นอย่าไปใส่ใจกับสถาบันมากนัก ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนดีกว่า คนเราจะดีจะดังได้อยู่ที่ตัวเราหาใช่สิ่งอื่น ผมผ่านการสอบ ป.6 พร้อมกับรับในสุทธิด้วยคะแนนดีเยี่ยม จากนี้ก็เตรียมนำตัวเองเข้าสู่สนามสอบครั้งแรกในชีวิตตอนเดือนมีนาคมปีนั้น ถึงวันสอบตรงกับวันเสาร์ พ่อผมขี่มอเตอร์ไซต์มาจากบ้านที่อำเภอท่ายางเพื่อรับผมไปสอบที่โรงเรียนพรหมาฯ ห้องสอบของผมอยู่ที่ตึกด้านหลังติดกับเขาวัง เท่าที่จำได้วันนั้นมีเด็กผู้ชายมากมาย แต่ละคนก็มาจากหลายโรงเรียนทั้งจากจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ด้วยความที่โรงเรียนพรหมาฯเป็นโรงเรียนดังระดับประเทศ ผมจรดปากกาลงบนกระดาษคำตอบด้วยความมั่นใจ จนเสร็จการสอบวิชาสุดท้ายก็วิ่งมาหาพ่อที่นั่งรอผมอยู่ตรงสนามตะกร้อหน้าโรงเรียน “เป็นไงภาคย์ ทำได้ไหมลูก” พ่อผมถามยิ้มๆ “ได้สิพ่อ ผมว่าก็ไม่ยากมากนะ คงจะไม่พลาดหรอก” พ่อลูบหัวผมด้วยความรัก “พ่อมั่นในตัวเรา ขอให้โชคดีนะลูก” พอถึงวันประกาศผลสอบ บ้านผมยกพลกันมาเกือบทั้งบ้านมาร่วมลุ้นกับผม กระดานติดผลสอบตั้งอยู่หน้าหอประชุม ผมปล่อยญาตินั่งรอแล้วเดินเข้าไปดูคนเดียว ตามคาดหมายครับ ชื่อ ด.ช.ภาคย์ เพชรพันธ์ โชว์หราอยู่บนแผ่นกระดาษ ผมหันหน้ามาชูมือแสดงความสำเร็จกับญาติผมที่ปรบมืออยู่ไกลๆ เอาล่ะการก้าวขึ้นบันไดชีวิตของผมผ่านไปอีกขั้นแล้ว และในปีนั้นเองน้าผมได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเป็นศึกษานิเทศน์ที่อำเภอเมือง ผมก็เลยได้มาอยู่กับยายอีกครั้ง..............
”เฮ้ย ภาคย์..นี่ขนาดชีวิตวัยเด็กของเอ็งนะเนี่ย พี่ฟังเพลินเลยว่ะ เจ๋งๆ” พ่อผมบอกอาภาคย์ พร้อมกับเสียงปรบมือทั้งโต๊ะ อาภาคย์ยิ้มกริ่ม ใบหน้าเริ่มแดงด้วยฤทธิ์ของน้ำวิเศษสีใส “นี่ขนาดผมเล่าไม่ละเอียดนะครับ ไงบีม เบื่อรึยัง” “ไม่เบื่อเลยครับอา สนุกมาก ชีวิตคุณอาสนุกดี เล่าต่อเลยครับ”ผมตอบกลับด้วยความจริงใจ ตอนนี้ท้องฟ้ามืดครึ้ม แสงจันทร์สว่างไสวสมกับเป็นวันข้างขึ้น นี่แค่ชีวิตวัยเด็กของอาภาคย์ แต่ทำไมผมรู้สึกว่าช่างน่าติดตามเหลือเกิน
คำยืนยันของเจ้าของนิยาย
✓ เรื่องนี้เป็นบทความเก่า ยังไม่ได้ทำการยืนยัน
คำวิจารณ์
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเขียนวิจารณ์ได้
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
โหวต
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถโหวดได้
แบบสำรวจ