รวมพื้นฐานอาการโรคหัวใจแต่ละประเภทที่ควรต้องทำความรู้จัก
โรคหัวใจ เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกมาได้หลายกลุ่ม เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ,โรคกล้ามเนื้อหัวใจ, โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคลิ้นหัวใจ, โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น โดยปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดมีอัตราการเสียชีวิตสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นควรรู้จักโรคหัวใจแต่ละประเภทให้ดี ๆ เพื่อให้พร้อมรับมือได้อย่างถูกวิธีและดีที่สุด
รวมอาการโรคหัวใจแต่ละประเภท
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
สาเหตุ เกิดจากผนังหลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพ หรือหนาตัวขึ้นจากการอุดตันของไขมันและเนื้อเยื่อ เป็นเหตุให้หลอดเลือดตีบ การไหลเวียนเลือดไปสู่หัวใจลดน้อยลงและหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ผู้ที่มีอายุมาก สูบบุหรี่จัด มีภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และไม่ออกกำลังกาย มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้สูง
อาการ เหนื่อยง่าย จุก แน่น เจ็บแน่นหน้าอก โดยมักเป็นขณะออกแรง เสียดหรือแสบร้อนในบริเวณทรวงอก เหงื่อออก ใจสั่น เป็นลม อาจเป็นแบบฉับพลันและรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจวายได้
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สาเหตุ เกิดจากการกำเนิดกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในบางตำแหน่งในหัวใจ หรือมีจุดวงจรลัดไฟฟ้าเล็กๆ โดยสาเหตุมีทั้งจากความเสื่อมสภาพของร่างกายในผู้สูงอายุ ที่ทำให้หัวใจเต้นช้าลง กรรมพันธุ์ โรคบางชนิด เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง เบาหวาน และต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหวัด ยาขยายหลอดลม ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ
อาการ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที จะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มึนงง ใจหวิว วูบ ความดันโลหิตต่ำและอาจเป็นลมหมดสติ และขณะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จะมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้ง/นาที หากเป็นเพียงเล็กน้อยจะเหนื่อยง่ายและหัวใจเต้นเร็วเท่านั้น แต่หากมีอาการวูบ เป็นลม หมดสติ มีอาการใจสั่นอย่างรุนแรงหรือเหนื่อยมากควรพบแพทย์โดยเร็ว
- โรคลิ้นหัวใจตีบและโรคลิ้นหัวใจรั่ว
มีสาเหตุมาจาก ลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด จากโรคลิ้นหัวใจอักเสบรูห์มาติค ติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ หรือเป็นหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจจนลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว โดยจะมีอาการ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ บางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอกเวลาออกแรง คล้ายกับ ผู้ที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ มีขาบวมทั้ง 2 ข้าง นอนราบไม่ได้ ต้องนอนศีรษะสูง มีท้องอืดบวม หรือมีวูบหน้ามืด จากลิ้นหัวใจตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
- โรคหัวใจล้มเหลว
สาเหตุ มีทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง โดยสาเหตุเฉียบพลัน มักเกิดจาก เส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน มีหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง หรือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรง ส่วนกรณีแบบเรื้อรังนั้น เป็นได้จากเส้นเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ที่ไม่ได้รับการรักษา การได้รับยาหรือสารเสพย์ติดบางชนิด เช่น ดื่มสุราต่อเนื่องในปริมาณมาก หรือ ยาเคมีบำบัดบางชนิด เป็นต้น
อาการ เหนื่อยง่ายตอนออกแรง ขาบวม นอนราบไม่ได้ มีตื่นมาหอบเหนื่อยตอนกลางคืน อาจตรวจพบหัวใจโตและน้ำท่วมปอดร่วมด้วย
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
สาเหตุ อาจมีสาเหตุมาจากทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันสามารถวิเคราะห์ความผิดปกติได้ตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์มารดา ด้วยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) โดยสูติแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารก ซึ่งความผิดปกตินี้เกิดจากการเจริญเติบโตของหัวใจขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดจากการมีรูรั่ว ที่ผนังกั้นภายในห้องหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่ว เป็นต้น
อาการ ในเด็กเล็ก อาการที่สำคัญ คือ เหงื่อออกมากบริเวณศีรษะโดยอากาศไม่ร้อน ดูดนมนานกว่าปกติ ตัวเล็ก เลี้ยงไม่โต น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น เด็กโตมักมีอาการเหมือนผู้ใหญ่ เช่น หายใจหอบ เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย หรือต้องนอนศีรษะสูง เขียวบริเวณเยื่อบุบริเวณริมฝีปาก ลิ้น เยื่อบุตา หรือใต้เล็บ ใจสั่น เจ็บหน้าอก จะเป็นลม
อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจ บางประเภทก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ บางประเภทก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างโรคหัวใจขาดเลือด เราสามารถเลี่ยงได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา อย่างเช่น หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หรืออย่างน้อย 5 ครั้ง/สัปดาห์ รับประทานอาหารที่มีไขมัน และคอเลสเตอรอลอย่างเหมาะสม ระวังควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน ลดหรือเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมทั้งทำอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียด และหมั่นไปตรวจสุขภาพหัวใจประจำปีเพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยให้เราห่างไกลจากการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้แล้วค่ะ ที่สำคัญอย่าลืมไปตรวจสุขภาพหัวใจประจำปีกันด้วยนะคะ
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคหัวใจได้ที่ : https://www.nonthavej.co.th/heart-attack-early-diagnosis.php
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้