ข้อควรรู้ก่อนผ่าตัดต้อกระจก ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด!
เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ก็เริ่มเสื่อมสภาพลงไม่เว้นแต่ดวงตา เมื่อถูกใช้งานเป็นเวลานาน ย่อมมีโอกาสเกิดความผิดปกติอย่างโรคต้อกระจก ซึ่งเมื่อปล่อยทิ้งไว้ตาอาจบอดได้ ในยุคปัจจุบันเราสามารถรักษาโรคต้อด้วยการผ่าตัดต้อกระจก ทำให้ดวงตากลับมามองเห็นได้ปกติ ในบทความนี้จะมาแนะนำเกี่ยวกับต้อกระจก การผ่าตัดต้อกระจก การดูแลตนเองก่อน-หลังผ่าตัด รวมไปถึงคำถามที่พบบ่อย
โรคต้อกระจก คืออะไร
โรค้อกระจกเกิดจากภาวะเลนส์ตาขุ่น ทำให้แสงที่ผ่านตาทำได้น้อยลง ผู้ป่วยจะมองเห็นได้น้อยลง ภาพพร่ามัว เห็นภาพซ้อน หรือเกิดการแพ้แสงจ้า ไม่สามารถมองเห็นในที่แสงมาก ๆ ได้ มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเลนส์ตาได้ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน จึงเกิดการเสื่อมสภาพ หรือ เลนส์ขุ่นมัวนั่นเอง ปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้โรคต้อกระจกอาการมากขึ้นคือการใช้ยาสเตียรอย มีโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน อยู่ในที่แสงจัดบ่อย ๆ โดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันตา หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาจะทำให้การมองเห็นแย่ลง จนในที่สุดตาอาจบอดได้ ดังนั้นควรเข้ารับการรักษา ซึ่งการรักษาโรคต้อกระจกที่ได้ผลคือการผ่าตัดต้อกระจก
การผ่าตัดต้อกระจก (Cataract Surgery)
การผ่าตัดต้อกระจก เป็นการนำเลนส์ตาที่ขุ่นออก และใส่เลนส์ตาเทียมแทนที่ เพื่อให้สามารถรับแสงและแสงสามารถตกกระทบเข้าที่จอประสาทตาได้ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นได้ชัดขึ้น
ทำไมต้องผ่าตัดต้อกระจก
การรักษาโรคต้อกระจกให้หาย มีเพียงวิธีผ่าตัดต้อกระจกเท่านั้น เพราะการผ่าตัดต้อกระจกจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาอาการมองไม่ชัด หรือเห็นภาพซ้อน ที่ไปส่งผลให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น หากอาการของโรคต้อกระจกรุนแรงขึ้นจนทำให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบากขึ้น รบกวนการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจจำเป็นพิจารณาผ่าตัดต้อกระจก
เลนส์แก้วตาเทียมมีกี่ชนิด
ถ้าหากคุณต้องการเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกควรจะทราบก่อนว่าเลนส์แก้วตาเทียมมีกี่ชนิด เพื่อรู้ข้อควรระวังหรือเหตุผลของการใช้แก้วตาเทียมแต่ละชนิดจะได้ใช้แก้ปัญหาดวงตาของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยปกติเลนส์แก้วตาของเราจะเป็นอวัยวะที่สามารถยืดหยุ่นได้เพื่อปรับกำลังไว้ใช้ขยายการมองเห็นให้เหมาะสมกับแสงที่เข้ามาทุกระยะ ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ชัดเจนแบบอัตโนมัติไม่ว่าจะมองมุมไหนหรืออยู่ในระยะใกล้และไกลก็ตาม
แต่ถ้าเกิดว่าผ่าตัดต้อกระจกแล้วใส่เลนส์เทียมแพทย์จะต้องนำเลนส์แก้วตาของผู้ป่วยออก เพื่อให้ผู้ป่วยไม่มีอวัยวะที่ไว้ใช้ปรับระยะการมองเห็นได้แบบเลนส์ เมื่อใส่เลนส์เทียมเข้าไปแล้วผู้ป่วยจะต้องเลือกระยะของการมองเห็นหนึ่งระยะ เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนกว่าระยะอื่น เพราะเลนส์เทียมไม่สามารถปรับการมองเห็นได้แบบเลนส์ตาของจริงทำให้ผู้ป่วยต้องเลือกชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมซึ่งหลายชนิดดังนี้
- Monofocal IOLs เลนส์ตาเทียมโฟกัสระยะเดียว
เลนส์ตาเทียมชนิดนี้จะเป็นเลนส์ที่โฟกัสแสงจากระยะหนึ่งได้เพียงระยะเดียว ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกแล้วใส่เลนส์ชนิดนี้ จะมองเห็นชัดแค่ระยะหนึ่งเท่านั้น ระยะอื่น ๆ จะมองเห็นไม่ชัดเจน ทำให้ต้องใส่แว่นหลังการผ่าตัดเพื่อช่วยปรับระยะการมองเห็นชั่วคราวโดยส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้เลือกแบบโฟกัสระยะไกล เพื่อเวลาใส่แว่นจะได้ปรับการมองเห็นเป็นระยะใกล้ขึ้นไว้ใช้อ่านหนังสือ เล่นโทรศัพท์ ทำงานที่ต้องใช้สายตาได้แบบมีประสิทธิภาพเลนส์ชนิดนี้มีข้อดีตรงที่ราคาจะถูกกว่าเลนส์ตาเทียมชนิดอื่น ๆ แต่ข้อเสียคือยังต้องใส่แว่นตาอยู่เพื่อเปลี่ยนระยะการมองเห็นเวลาต้องทำกิจกรรมบางอย่างนั้นเอง
- Multifocal IOLs เลนส์ตาเทียมโฟกัสหลายระยะ
เลนส์ตาเทียมชนิดนี้จะเป็นเลนส์ที่สามารถรับแสงมาจากหลายระยะได้ ทำให้การมองเห็นไม่ได้คมชัดมากสักระยะหนึ่ง แต่จะสามารถมองเห็นได้หลายองค์ประกอบเป็นภาพรวมหลายระยะมากกว่าเลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว ซึ่งเลนส์โฟกัสหลายระยะก็จะแบ่งออกแบบ 3 ประเภทดังนี้
- Bifocal IOL ไว้ใช้โฟกัสสองระยะทำให้เมื่อเลนส์แบ่งแสงออกเป็น 2 ระยะใกล้กับไกลหรือกลางกับไกล ผู้ป่วยก็จะสามารถเลือกเลนส์แก้วตาเทียมชนิดนี้เพื่อใช้ทำกิจวัตรประจำวันหรือทำงานได้หลายรูปแบบมากขึ้น
- Trifocal IOL ไว้ใช้โฟกัสสามระยะทำให้เมื่อเลนส์แบ่งแสงออกเป็น 3 ระยะทั้งใกล้ กลางและไกล การมองเห็นด้วยเลนส์ชนิดนี้จะไม่มีระยะไหนที่คมชัดเลยแต่สามารถมองเห็นได้ทั้งสามระยะทำให้ผู้ป่วยหลังจากทำการผ่าตัดต้อกระจกไม่ต้องใส่แว่นสายตาอีกหลังผ่าตัดเสร็จ
- Extended depth of focus ไว้ใช้โฟกัสระยะยืดยาวเป็นเลนส์ที่สามารถโฟกัสได้ระยะเดียวแต่ระยะที่มองเห็นถูกยืดออกไปทำให้มองเห็นได้กว้างขึ้นและไม่ต้องแบ่งแสงออกจากกัน
- Toric IOLs เลนส์ตามเทียมสำหรับแก้ไขสายตาเอียง
เลนส์ชนิดนี้จะหักเหแสงออกจากกระจกตาเพื่อแก้ไขสายตาเอียงทำให้สามารถแก้ไขค่าสายตาได้หลายระยะและแก้สายตาเอียงพร้อมกันได้ด้วย
การผ่าตัดต้อกระจกอาจไม่เหมาะกับใคร
การผ่าตัดต้อกระจกไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางรายที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าไม่สามารถผ่าตัดต้อกระจกได้เพราะเป็นการรักษาที่ละเอียดอ่อนเมื่อทำการผ่าตัดไปแล้วอาจไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปหรือทำให้เกิดอันตรายอื่น ๆ จนมีผลข้างเคียงได้โดยผู้ที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดมีดังนี้
- เนื้อเยื่อบริเวณแก้วตาของผู้ป่วยไม่แข็งแรงเนื่องจากเสื่อมสภาพหรืออ่อนแอเกินกว่าจะรับการผ่าตัดต้อกระจกได้
- มีประวัติประสบอุบัติเหตุขั้นรุนแรงเกี่ยวกับดวงตาเมื่อทำการผ่าตัดไปแล้วอาจมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา
- จอประสาทตาเสื่อม มองเห็นไม่ชัดหรือแก้วตาผิดปกติ
การผ่าตัดต้อกระจกมีกี่วิธี
วิธีการผ่าตัดต้อกระจกในตอนนี้ที่นิยมมี 2 วิธี
1. การผ่าตัดต้อกระจกแบบเดิม
หรือวิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens) วิธีนี้เป็นวิธีแบบเดิมที่ต้องเปิดแผลกว้างประมาณ 10 มม. เพื่อเอาเลนส์ตาที่ขุ่นมัวออก และใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ จากนั้นจึงเย็บแผล ใช้เวลาพักฟื้น 4-6 สัปดาห์จึงจะสามารถมองเห็นชัดได้
วิธีนี้จะเหมาะสมกับผู้ที่ต้อกระจกสุก และแข็งมากจนใช้วิธีสลายต้อไม่ได้
2. การผ่าตัดต้อกระจกสมัยใหม่
หรือวิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification with Intraocular Lens) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมาก เพราะแผลผ่าตัดเล็กมาก เพียงแค่ประมาณ 3 มม. ทำให้ไม่ต้องเย็บแผล โดยจะสอดเครื่องมือสลายต้อผ่านทางแผลที่เปิดไว้ ก่อนจะใช้คลื่นอัลตราซาวน์สลายต้อกระจกออกจนหมดแล้วดูดออกมา และนำเลนส์ตาเทียมใส่เข้าไปแทนที่ ใช้เวลาพักฟื้นเพียงแค่ 2-3 วันก็สามารถมองเห็นชัดได้
ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อกระจก
- ระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก จะมีผ้าคลุมที่บริเวณใบหน้า ดังนั้นอาจต้องฝึกนอนหงายและใช้ผ้าคลุมบริเวณใบหน้าประมาณ 20-30 นาที เพื่อฝึกการหายใจใต้ผ้า และฝึกความคุ้นชินกับความอึดอัดระหว่างที่มีผ้าคลุมบนใบหน้าได้
- หากมียาที่รับประทานประจำหรือทานในช่วงนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่ออาจพิจารณาหยุดยาก่อนเข้ารับผ่าตัด เพราะยาบางชนิดส่งผลต่อการผ่าตัด
- ทำความสะอาดร่างกายให้พร้อม อาบน้ำ สระผม ล้างหน้าก่อนไปโรงพยาบาล เมื่อผ่าตัดเสร็จอาจต้องหลีกเลี่ยงการล้างหน้า สระผมเอง เพราะน้ำอาจเข้าตาเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ไม่แต่งหน้า ทาแป้งก่อนไปผ่าตัด
- ในวันผ่าตัดควรมีญาติมาด้วยอย่างน้อยหนึ่งคน เพราะผู้ป่วยจะต้องปิดตาข้างที่ผ่าตัดหลังผ่าตัดเสร็จ
การตรวจประเมินสภาพสายตาก่อนผ่าตัดต้อกระจก
เพราะเลนส์ตาเทียมที่จะใส่ทนแทนเลนส์ตาเดิมมีหลายประเภท สามารถแก้ปัญหาสายตาที่มีอยู่เดิมได้ เช่นสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ดังนั้นการตรวจประเมินสภาพสายตาก่อนผ่าตัดต้อกระจกจึงทำให้สามารถเลือกเลนส์ตาเทียมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้
ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจก
การผ่าตัดต้อกระจกโดยส่วนใหญ่นั้นเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ได้มีการใช้ยาสลบ ในขั้นตอนก่อนผ่าตัดแพทย์จะหยอดยาชา หรือฉีดยาชาเพื่อไประงับความเจ็บปวดบริเวณรอบดวงตาเพื่อไม่ให้เจ็บขณะผ่าตัด แต่ผู้ป่วยจะยังมีสติ รู้ตัวตลอดเวลา
จากนั้นแพทย์จะทำการกรีดกระจกตาขนาดเล็ก ๆ พอที่จะให้เกิดช่องให้สามารถสอดเครื่องมือสลายต้อกระจกเข้าไปได้ หรืออาจกรีดแผลที่ใหญ่ขึ้นสำหรับกรณีเข้ารับผ่าตัดแบบเดิม ก่อนจะนำเลนส์ตาที่เสื่อมสภาพออกมา และนำเลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ แล้วปิดแผลโดยการเย็นแผลสำกรับกรณีผ่าตัดแบบเดิม
เมื่อผ่าตัดต้อกระจกเสร็จเรียบร้อยแพทย์จะใส่ที่ครอบตาให้กับผู้ป่วย และพักฟื้นประมาณ 30 นาทีก่อนให้กลับบ้านได้ กรณีที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกทั้งสองข้าง แพทย์จะทำการผ่าตัดให้ทีละข้าง ใช้เวลาผ่าตัดและพักฟื้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ต่อข้าง
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดต้อกระจก
ไม่ใช่ว่าผ่าตัดต้อกระจกเรียบร้อยแล้วจะสามารถกลับมามองเห็นได้ชัดเจนทันที และเพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงหลังจากผ่าตัดควรดูแลตนเอง และปฏิบัติามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ไม่ถอดที่ครอบดวงตาออกในช่วงหลังผ่าตัดจนกว่าจะถึงเวลาที่แพทย์แนะนำให้เอาออก
- หากถอดที่ครอบดวงตาออกแล้ว อาจใส่แว่นกัดแดด แว่นกันลมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบที่ดวงตา
- งดการสระผมด้วตนเอง เพื่อไม่ให้น้ำเข้าตา เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- รับประทานยา และหยอดตาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทบของดวงตา
- สามารถใช้สายตาได้ปกติ แต่ควรพักสายตาเป็นระยะ
- หากพบความผิดปกติ เช่น ตาแดง ปวดตามาก เห็นแสงวาบ หรือเห็นจุดดำ ต้องรีบกลับมาพบแพทย์ทันที
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด
ผ่าตัดต้อกระจก อันตรายไหม เป็นคำถามที่ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดมักสงสัย ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ความชำนาญและประสบการณ์ของจักษุแพทย์ ทำให้การผ่าตัดต้อกระจกมีความปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อย แต่อย่างไรก็ตามอาจเกิดผลข้างเคียงในบางรายได้ เช่น อาการติดเชื้อหลังผ่าตัดต้อกระจก อาการปวดตา น้ำตาไหลมาก เคืองตา บวมแดง หรือเลือดออกในตา การหยอดยาฆ่าเชื้อหลังผ่าตัดจะช่วยให้โอกาสติดเชื้อลดลง และการดูแลตนเองหลังผ่าตัดอาจช่วยให้เกิดผลข้างเคืองอื่น ๆ ลดลงได้ หากผลข้างเคียงที่ไม่เป็นอันตราย อาการจากผลข้างเคียงนั้นจะหายเองได้หลังผ่าตัดไปได้สักระยะ
แต่อย่างไรก็ตามหากเคยเข้ารับการผ่าตัดโรคทางตามาก่อน เช่น จอประสาทตาเสื่อม โรคต้อหิน จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่าคนที่ไม่เคยเข้ารับผ่าตัดโรคตา ดังนั้นก่อนเข้ารับการรักษาแพทย์จะประเมินความเสี่ยงก่อน เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการผ่าตัดต้อกระจก
ค่าใช้จ่ายการผ่าตัดต้อกระจก
ค่าใช้จ่ายสำหรับการผ่าตัดต้อกระจกขึ้นอยู่กับวิธีผ่าตัด และชนิดของเลนส์เทียมที่เปลี่ยน ราคาจะเริ่มต้นประมาณ 25,000 จนไปถึงราคา 100,000 บาทขึ้นไป โดยราคาของการผ่าตัดต้อกระจกแบบเดิมจะราคาถูกกว่าการผ่าตัดต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ
ผ่าตัดต้อกระจก ที่ไหนดี
เพราะดวงตามีเพียงคู่เดียว หากเสียไปแล้วจะแก้กลับมาเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้นก่อนจะผ่าตัดต้อกระจกควรจะศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และเลือกสถานพยาบาลที่เหมาะสม เช่น
- ต้องมีความสะอาด ปลอดภัยตามมาตรฐาน
- จักษุแพทย์จะต้องมีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยมาก
- เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรมีความรู้และความเข้าใจการผ่าตัดต้อกระจกเป็นอย่างดี เพื่อให้คำแนะนำกับผู้ป่วยได้
- ราคาของการผ่าตัดต้อกระจกควรอยู่ในระดับที่ตนเองรับไหว และราคาควรจะเหมาะสมกับบริการที่จะได้รับ แต่อย่างไรก็ตาม หากเลือกสถานพยาบาลโดยพิจารณาแค่ราคา แต่ไม่ดูเงื่อนไขปัจจัยอื่น ๆ อาจส่งผลเสียในภายหลังได้
คำถามที่พบบ่อย
1. ผ่าตัดต้อกระจก ต้องพักฟื้นกี่วัน
ตอบ ขึ้นกับแต่ละบุคคล ในบางรายสามารถมองเห็นได้ชัดภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังผ่าตัด แต่ในบางรายอาจต้องใช้เวลามากกว่าสัปดาห์กว่าจะสามารถมองเห็นได้ชัดขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดต้อกระจกจะมีข้อปฏิบัติและข้อควรระวังต่าง ๆ โดยจะต้องปฏิบัติตามในช่วง 3-4 สัปดาห์หลังผ่าตัดเพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเตียงและภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดต้อกระจกได้
2. ผ่าตัดต้อกระจก สามารถเบิกได้ไหม
ตอบ การรักษาผ่าตัดต้อกระจก สำหรับผู้ที่เป็นข้าราชการและรักษาในสถานพยาบาลราชการ จะสามารถเบิกได้เต็มจำนวน ผู้ที่มีบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองและสำหรับประกันสังคม ผู้ประกันตนสามารถรับการรักษาผ่าตัดต้อกระจกได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลที่ตนเลือกไว้ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
3. ผ่าตัดต้อกระจกแล้วจะหายถาวรไหม
ตอบ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ผ่าตัดต้อกระจกไปแล้วจะไม่กลับมาเป็นต้อกระจกอีกในสายตาข้างที่ได้รับการผ่าตัด เมื่อพักฟื้นเสร็จสมบูรณ์สายตาก็จะกลับมามองเห็นได้ชัดเหมือนคนปกติเพราะฉะนั้นสบายใจได้เลย
ข้อสรุป
การผ่าตัดต้อกระจกเป็นวิธีรักษาโรคต้อกระจกที่มีอาการรุนแรงและส่งผลกระทบไปถึงชีวิตประจำวัน เช่นการมองเห็นลดลง ภาพที่เห็นพร่ามัว หรือไม่สามารถมองเห็นในที่แสงจ้าได้ ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกจะสามารถกลับมามองเห็นได้ชัดขึ้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการดูแลรักษาดวงตาและหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคต้อกระจก
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้