แนะนำคู่มือการกักตัว 14 วัน ป้องกันโควิดเพื่อส่วนรวม

GUEST1649747579

สุดยอดขีดเีขียน (467)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:843
เมื่อ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 00.13 น.

กักตัว 14 วัน

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปัญหาที่ทุกคนในสังคมควรให้ความร่วมมือกันเพื่อปกป้องชีวิตของตนเอง คนในครอบครัว คนในสังคมเพราะโรคนี้สามารถแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนได้ โดยที่อาจจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ได้ 

ดังนั้นการกักตัว 14 วันจึงจำเป็นสำหรับผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด 19 หรือผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะช่วงเวลา 2-14 วันจัดเป็นช่วงระยะฟักตัวของเชื้อโรคและการแพร่กระจายเชื้อโรค


 

ทำไมถึงต้องกักตัว 14 วัน

 

ในกรณีที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 เชื้อที่อยู่ภายในร่างกายจะมีระยะฟักตัวมากถึง 14 วัน ซึ่งในระยะ 14 วันจะถือว่าเป็นเชื้อเป็นที่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ โดยเชื้อโควิด-19 จะสามารถแพร่ตามอากาศที่มีสารคัดหลั่งเป็นโฮสต์ได้ ดังนั้นเมื่อเวลาที่ผู้ป่วยโควิดไอหรือจาม เชื้อไวรัสก็จะแพร่กระจายออกไปตามอากาศ ทำให้สามารถแพร่เชื้อเป็นให้ผู้อื่นต่อไปได้ง่ายมาก

สำหรับผู้มีความเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด แม้ว่าในช่วงแรกจะตรวจแล้วได้ผลเป็นขีดลบ(ไม่พบเชื้อ) ไม่มีอาการที่บ่งบอกว่าเป็นโควิด แต่ไม่ได้หมายความว่าภายในร่างกายจะไม่ได้มีเชื้อโควิด-19 อยู่เลย เพราะมีความเป็นไปได้ว่า ณ ขณะนั้นเชื้อโควิดกำลังฟักตัวและรอให้อาการแสดงออกมา อีกทั้งแม้ว่าจะไม่ได้เป็นโรคโควิด-19 แต่ถือว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงที่ยังคงสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้ใกล้ชิดคนอื่นได้อยู่

เพราะฉะนั้นแล้วผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 จึงควรกักตัวให้ครบระยะเวลา 14 วัน ไม่ออกไปตามที่สาธารณะเพื่อให้มั่นใจว่าเลยระยะที่เชื้อโควิด-19 ฟักตัวและสามารถแพร่เชื้อออกไปได้แล้ว หรือถ้ามีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านในขณะที่กักตัว ก็ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายออกไปตามอากาศ ซึ่งทำให้คนใกล้ตัวหรือผู้อื่นเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19


 

การกักตัว 14 วัน อยู่บ้าน ต้านเชื้อ

 

จากสถิติและการศึกษาของ CDC ประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยชั้นนำจากหลากหลายประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงตัวเลขในการกักตัว 14 วันว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่ร่างกายของคนที่ได้รับเชื้อไวรัส จะแสดงอาการป่วยออกมาให้เห็น ดังนั้นหากเราไปสัมผัสคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จึงควรกักตัวอย่างน้อย 14 วัน


 

ระยะฟักตัวของเชื้อโควิด-19

 

กักตัว 14 วัน ระยะฟักตัว

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค โดยทั่วไประยะฟักตัวของเชื้อไวรัสโควิด 19 จะอยู่ที่ 2-14 วันหลังรับเชื้อและแสดงอาการหลังจาก 11-12 วัน

ช่วง 1-2 วันก่อนมีอาการและช่วง 2-3 วันหลังเริ่มมีอาการ คือ ช่วงที่สามารถกระจายเชื้อได้มากที่สุด ผู้ป่วย 1 คน สามารถแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้ 2-4 คน จึงควรกักตัว 14 วันเพื่อลดการแพร่ของเชื้อ

ปัจจุบันมีการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด 19 ออกเป็นหลายสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีระยะฟักตัวที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  1. สายพันธุ์ดั้งเดิม : ระยะฟักตัวโดยเฉลี่ยของเชื้ออยู่ที่ 5-6 วัน
  2. สายพันธุ์เดลต้า : ระยะฟักตัวโดยเฉลี่ยของเชื้ออยู่ที 4 วัน
  3. สายพันธุ์โอมิครอน : ระยะฟักตัวโดยเฉลี่ยของเชื้ออยู่ที่ 3 วัน


 

กลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการกักตัว 14 วัน

 

กรมควบคุมโรคได้มีการออกมาตรการการประเมินเบื้องต้นเอาไว้เป็น 3 กลุ่มเสี่ยง ดังนี้

1. ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

 

ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ ผู้ที่เจอกับผู้ติดเชื้อโดยตรง มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น คนที่เรียน อาศัย หรือ ทำงานในห้องเดียวกัน มีการพูดคุยกันในระยะ 1 เมตร นานกว่า 5 นาที มีแนวโน้มถูกไอจามจากผู้ติดเชื้อโดยไม่มีการป้องกัน รวมถึงอยู่ในพื้นที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทร่วมกับผู้ป่วย

2. ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ

 

ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ คือ ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เบื้องต้นถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ

3. ผู้ไม่มีความเสี่ยง

 

ผู้ไม่มีความเสี่ยง คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ หรืออยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ได้มีกิจกรรมใด ๆ ร่วมกันและไม่ได้มีการพบปะหรือสัมผัสกัน จึงจัดเป็นผู้ไม่มีความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเชื้อทันที หากไม่พบเชื้อ ก็ให้กักตัว 14 วัน และคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หรือหากพบว่าติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ก็จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกันคือไปตรวจหาเชื้อ และหากไม่พบเชื้อก็จะต้องกักตัวเอง 14 วันเช่นเดียวกัน 


 

คำแนะนำสำหรับวิธีกักตัว 14 วัน

 

หลังจากผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้สัมผัสกับผู้ป่วยโควิด 19 และต้องเข้าสู่ระบบการกักตัวแบบ Home Quarantine,

ข้อควรปฏิบัติระหว่างแยกกักตัว 14 วันที่บ้าน / ที่พัก มีดังนี้

  • อยู่บ้าน / ที่พัก งดการเดินทางออกข้างนอก หรือไปสถานที่แออัดที่มีคนจำนวนมาก
  • สวมหน้ากากอนามัย อยู่ห่างจากผู้อื่น อย่างน้อย 2 เมตร
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
  • กินอาหารแยกจากผู้อื่น
  • ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ฯลฯ ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดา
  • ควรนอนแยกห้องเดี่ยว
  • ทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและขยะปนเปื้อนสารคัดหลั่งลงในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้มิดชิด
  • ทำความสะอาดบริเวณที่พัก เช่น เตียง โต๊ะ ของใช้รอบตัว รวมถึงห้องน้ำ
  • ควรใช้ห้องน้ำแยกกัน หากต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดน้ำทิ้ง

ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้อาศัยร่วมบ้านกับผู้แยกกักตัว 14 วันนั้น จะต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกคนล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน ก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ระหว่างนี้ต้องคอยเผ้าระวังอาการเจ็บป่วยของสมาชิกในบ้าน ภายใน 14 วันหลังสัมผัสผู้ป่วย ควรนอนแยกห้องหรือห่างกันอย่างน้อย 2 เมตรและเปิดหน้าต่าง ไม่ควรกินอาหารหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกัน


 

วิธีสังเกตอาการในช่วงกักตัว 14 วัน

 

สังเกตอาการช่วงกักตัว 14 วัน

ในช่วงกักตัว 14 วัน เราควรหมั่นสังเกตว่ามีอาการใดบ้างที่ตรงกับที่ระบุต่อไปนี้

1. อาการไข้สูง

 

ให้สังเกตอาการไข้ทุกวันโดยการวัดอุณหภูมิร่างกาย ถ้าได้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป มีอาการตัวร้อน หนาวสั่น ปวดเมื่อยตัว

2. อาการทางระบบทางเดินหายใจ

 

ให้สังเกตอาการระบบทางเดินหายใจ เช่นว่ามีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น การรับรสเปลี่ยนไป หายใจหอบเหนื่อยหรือเปล่า

3. อาการทางร่างกาย

 

ผู้ที่มีโรคประจำตัว จะเกิดอาการกำเริบ หรือแปรปรวน เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจ บ้างก็มีอาการปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น มีอาการโรคกระเพาะ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

หากพบว่ามีอาการตามข้อใดข้อหนึ่ง หรือมากกว่า ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม


 

แนวทางกักตัว 14 วันอย่างไรให้ไม่เครียด

 

กักตัว 14 วัน ให้ไม่เครียด

เนื่องจากต้องอยู่กับโรคระบาดโควิด 19 มาเป็นปี ๆ ทำให้นอกจากส่งผลกับสุขภาพร่างกาย ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก ซึ่งมากจากความวิตกกังวลจากอาการติดเชื้อ การเข้าถึงระบบรักษา การต้องทำงานที่บ้านการขาดรายได้หรือมีรายได้ลดลง และยังต้องถูกกักตัวออกไปนอกบ้านไม่ได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตประวันได้ตามปกติ 

สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเครียดสะสมและสามารถกระทบสุขภาพจิตได้อย่างแรงในที่สุด เราจึงขอแนะวิธีการกักตัว 14 วัน อยู่บ้านแบบไม่เครียด ดังต่อไปนี้

1. การพักผ่อนเป็นหัวใจสำคัญ

 

พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้เป็นเวลา ตั้งเวลาเริ่มงาน และเลิกงานให้ชัดเจน (อย่าเอาเวลาพักผ่อนไปทำงาน)

2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

 

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และไม่ควรคลายเครียดด้วยการกินอาหารที่มีไขมันสูง หรือวิตกกังวลจนหมกมุ่นกับการกินอาหารเสริมที่ไม่ได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญ

3. ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรง

 

ให้ออกกำลังกายประมาณ 15-30 นาทีต่อวัน เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคด้วย

4. จัดการกับความเครียด

 

ให้ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ ไม่ตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์หรือหมกมุ่นจนเกินไป เสพข่าวต่อพอดีจากข้อมูลที่เชื่อถือได้เท่านั้น และให้ติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ กับบุคคลภายนอก ผู้ร่วมงานครอบครัว คนรัก รวมถึงแพทย์/พยาบาลที่คอยดูแลกรณีมีโรคประจำตัว เพื่อลดความคิดถึง ความเครียด

5. หมั่นดูแลสุขอนามัยพื้นฐาน

 

ตรวจสอบอาการทางร่างกายและจิตใจสม่ำเสมอ ปรึกษาแพทย์ในกรณีที่เกิดความวิตกกัลวลมากจนนอนไม่หลับ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ หาเวลาพักผ่อนกับกิจกรรมที่ชอบโดยไม่ต้องออกนอกบ้าน เช่น ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง หรือ เล่นกับสัตว์เลี้ยง


 

เมื่อกักตัวครบ 14 วัน ทำอย่างไรต่อ

 

กักตัวครบ 14 วัน

โดยปกติหากกักตัว 14 วัน ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เพราะจัดว่าเป็นผู้ที่พ้นระยะการแพร่เชื้อ และอยู่ในระยะที่ร่างกายฟื้นตัว ไม่จำเป็นต้องแยกกักตัวหรือแยกจากคนอื่นแล้ว สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ 

แต่ทุกคนยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิถีใหม่ คือ สวมแมสก์ ล้างมือ และเว้นระยะห่างกับคนอื่นในสังคม เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ติดต่อใส่ผู้อื่นอีกด้วย

หากกักตัว 14 วันแล้วพบว่ามีอาการ

 

หลังกักตัว 14 วันแล้วแต่ยังพบว่ามีไข้สูง ไอมาก มีอาการเหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกเบื่ออาหาร เป็นต้น ก็ให้รีบติดต่อที่สถานพยาบาลเดิมที่เคยรักษา หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และหากต้องไปสถานพยาบาล ให้สวมหน้ากากอนามัยระหว่างเดินทางตลอดเวลา

กักตัวครบ 14 วันแล้วไม่มีอาการ

 

แต่หากกักตัว 14 วันแล้วยังไม่มีอาการใด ๆ เลย ก็ไม่จำเป็นต้องแยกตัวจากผู้อื่น และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ก็ยังคงต้องปฏิบัติดูแลสุขอนามัยตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะยุติ ดังนี้

  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่างทางสังคม
  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ หรือใช้แอลกอฮอล์ถูมือให้สะอาด ก่อนกินข้าว หรือจับสิ่งของต่างๆ
  • ไม่ใช้อุปกรณ์กินอาหาร และแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆ กินอาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด ให้ครบ 5 หมู่
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


 

คำถามที่พบบ่อย

 

กักตัว 14 วันแล้วยังมีอาการอันตรายไหม

 

แม้ว่าเป็นโควิด-19 และกักตัว 14 วันแล้ว ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการอื่น ๆ ที่เป็นผลกระทบจากโควิด-19 หลงเหลืออยู่ ซึ่งหลาย ๆ คนจะรู้จักในชื่อ Long Covid ที่เกิดจากการที่ร่างกายยังฟื้นตัวจากอาการป่วยโควิดได้ไม่เต็มร้อย โดยผู้ป่วยแต่ละคนมักจะมีอาการแตกต่างกันไป ซึ่งอาการ Long Covid ที่มักพบหลังหายจากโควิด-19 มีดังนี้

  • จมูกดมไม่ได้กลิ่น
  • ลิ้นสัมผัสรสชาติได้ไม่ดี
  • ไอมาก
  • หายใจถี่ หอบเหนื่อย เหนื่อยง่ายมากขึ้น
  • ระคายเคืองบริเวณตา น้ำตาไหล
  • ปวดท้อง ท้องร่วง อาหารไม่ย่อย
  • สมาธิและความจำสั้นลง
  • รู้สึกวิตกกังวล หรือซึมเศร้า
  • ใจสั่น หัวใจเต้นแรง เต้นเร็วกว่าปกติ
  • เจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อและข้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลังป่วยโควิด-19 แล้วจะไม่พบอาการที่เป็นอันตรายใด ๆ กับร่างกาย แต่ผู้ป่วยก็ควรหมั่นสังเกตสุขภาพและร่างกายของตนเองในช่วง 1-2 เดือนแรกอยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายไม่ได้รับผลกระทบจากการเป็นโควิด-19 และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง 100 เปอร์เซ็นต์

กักตัวครบ 14 วันแล้วแต่ยังมีอาการ หายเองได้รึเปล่า

 

สำหรับผู้ที่กำลังกังวลว่าร่างกายยังคงหลงเหลืออาการอยู่แม้ว่าจะกักตัว 14 วันแล้วก็ตาม อาการ Long Covid ที่พบนั้นมักจะค่อย ๆ หายไปและจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้งได้เอง ซึ่งระยะเวลาที่ใช้นั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน บางคนอาจจะใช้เวลาไม่กี่วัน แต่บางคนอาจจะใช้เวลาเป็นสัปดาห์จนถึงหลายเดือนถึงจะหายอย่างเต็มที่

ดังนั้นหากร่างกายยังหลงเหลืออาการหลังกักตัว 14 วันก็ควรบำรุงร่างกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่ และช่วยทำให้อาการข้างเคียงหาย และร่างกายฟื้นฟูได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

แต่ในกรณีผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงอย่างเช่น อาการเจ็บหน้าอก อย่าได้เพิกเฉยกับอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์ตรวจร่างกายหาสาเหตุให้แน่ชัด เนื่องจากมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ลิ่มเลือดในปอดอุดตัน หรือเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ ซึ่งเมื่อตรวจจนทราบสาเหตุแล้วจะได้รักษาตามอาการที่พบต่อไป

กักตัวไม่ครบ 14 วันได้ไหม

 

ไม่ควร เพราะเป็นช่วงระยะฟักตัวของโรคโควิด 19 สามารถแพร่เชื้อได้ในกลุ่มเสี่ยงที่มาจากแหล่งระบาดของโรค จึงต้องกักตัว 14 วัน หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน และรักษาระยะห่างจากผู้อื่น 2 เมตร

กักตัว 14 วัน ออกไปข้างนอกได้ไหม

 

ไม่สมควร เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะแพร่เชื้อโควิด 19 สู่ผู้อื่นได้

กักตัวครบ 14 วันแล้วแพร่เชื้อได้ไหม

 

ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค ถือว่าพ้นระยะการแพร่เชื้อแล้ว

กักตัวครบ 14 วันแล้วต้องไปตรวจไหม

 

ไม่จำเป็น แต่ยังสามารถตรวจเองด้วย ATK ได้เพื่อความสบายใจ แต่ก็ยังควรต้องสังเกตอาการตนเองอยู่ว่ามีแนวโน้มเป็นลองโควิดหรือไม่


 

ข้อสรุป

 

เนื่องจากโควิด 19 ซึ่งแต่เดิมจัดเป็นโรคระบาดที่ทั่วโลกหวาดกลัว จนถึงวันนี้ที่มีหลาย ๆ ประเทศได้มีการจัดให้เป็นโรคประจำถิ่นก็ตาม แต่วัคซีนที่ใช้ป้องกัน หรือรักษาโรคโควิด 19 โดยตรงก็ยังไม่มี มีแต่การรักษาตามสภาพอาการที่เป็น และก็มีแต่วัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันการเกิดอาการหนักมากจนถึงตายเท่านั้น

ดังนั้นเราจึงควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด 19 ให้ได้ นั่นคือ สวมแมสก์โดยเฉพาะที่อยู่ในที่แออัด หรือสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เว้นระยะห่างทางสังคมถ้าทำได้ และควรหมั่นล้างมือให้สะอาด หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน อีกทั้งการกักตัว 14 วันก็เป็นมาตรการอย่างนึงที่กรมควบคุมโรคใช้ในการควบคุมไม่ให้ไวรัสโควิด 19 แพร่ระบาดเป็นวงกว้างในสังคม

 

แก้ไขครั้งที่ 2 โดย GUEST1649747579 เมื่อ9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 22.10 น.

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา