ต่ออายุกรมธรรม์ ขยายความคุ้มครองให้นานยิ่งขึ้น
หลักประกันที่มั่นคงสำหรับครอบครัวที่ใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันที่ทางเราจะขอแนะนำก็คือ การทำสัญญาประกันชีวิตที่บริษัทประกันภัยตกลงที่จะชดใช้เงินให้จำนวนหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีการระบุไว้ในเงื่อนไขไว้ใน “กรมธรรม์ประกันชีวิต” (Life Insurance) ยกตัวอย่างเช่น ตาย, ชราภาพ หรือ ทุพพลภาพ เป็นต้น ทำให้คนในครอบครัวที่ยังอยู่จะได้เงินก้อนเพื่อนำไปใช้ดำรงชีวิตต่อ
สัญญาประกันชีวิตที่บริษัทประกันภัยทั้งหลายได้พยายามแข่งขันกันพยายามนำเสนอให้ประกันภัยของบริษัทตนสามารถตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด และตรงใจที่สุด ซึ่งรูปแบบของประกันที่นำเสนอนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น ประกันชีวิต, ประกันอุบัติเหตุ, ประกันสะสมทรัพย์, ประกันเพื่อการลงทุน ฯลฯ
รูปแบบที่กล่าวมานี้ได้รับการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยมีความมั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองตามที่ควรจะเป็น
ดังนั้นถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ประกันหมดอายุไม่ว่าจากเหตุผลใด ๆ ก็ตามเช่น ไม่มีปัญญาจ่ายเบี้ยประกัน, ความคุ้มครองของกรมธรรม์ฉบับเดิมไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป, มีกรมธรรม์แบบใหม่ที่ให้ผลประโยชน์มากกว่าเดิม ฯลฯ เป็นต้น เราสมควรที่จะต้องศึกษาเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ดีก่อนว่าควรต่ออายุกรมธรรม์ หรือ ควรยกเลิกกรมธรรม์
กรมธรรม์หมดอายุ มีผลอะไรบ้าง
การยกเลิกกรมธรรม์ หรือการเวนคืนกรมธรรม์ คือ การทำให้กรมธรรม์หมดอายุ นั่นหมายความว่าผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกรมธรรม์อีกต่อไป ทั้งสัญญาหลักและสัญญาเพิ่มเติมทั้งหลายที่ได้ทำไว้จะสิ้นสุดลง และผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนตามมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ที่ได้กำหนดไว้ในตารางมูลค่ากรมธรรม์ แต่มีข้อแม้ว่ากรมธรรม์นั้น ๆ ต้องมีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นแล้ว
มูลค่าเงินสดจะเกิดขึ้นในปีที่ 2 หรือได้มีการชำระเบี้ยประกันไปแล้วอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ากรมธรรม์จะถูกยกเลิกเพราะผู้เอาประกันภัยไม่สามารถชำระเบี้ยประกันภัยได้อีกต่อไป แต่ถ้ายังต้องการที่จะได้รับความคุ้มครองต่อไป ผู้เอาประกันภัยก็ยังสามารถเลือกรับความคุ้มครองต่อได้อีกดังนี้คือ
- เปลี่ยนกรมธรรม์เป็นแบบขยายเวลา ด้วยการนำมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์มาคำนวณเป็นเบี้ยประกันภัยชำระครั้งเดียว ทำให้ผู้เอาประกันได้รับความคุ้มครองตามจำนวนเงินเอาประกันภัยเดิม แต่ระยะเวลาเอาประกันภัยจะลดลงและจะปิดตัวลงเมื่อครบกำหนดเวลา ส่วนมากมักใช้กับกรมธรรม์แบบสุขภาพ
- เปลี่ยนกรมธรรม์เป็นแบบใช้เงินสำเร็จ ด้วยการนำมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์มาคำนวณเป็นเบี้ยประกันภัยชำระครั้งเดียว แล้วทำให้ระยะเวลาเอาประกันภัยคงเดิม แต่จำนวนเงินเอาประกันภัยลดลง และเมื่อครบกำหนดอายุกรมธรรม์สำเร็จก็จะได้เงินคืนตามที่ได้ระบุไว้ ส่วนใหญ่จะนิยมใช้กับกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์
นอกจากสาเหตุดังกล่าวเบื้องต้นที่ทำให้กรมธรรม์หมดอายุ ก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ประกันหมดอายุได้เช่นกัน เช่น
- กรมธรรม์ที่ทำไว้ครบกำหนดสัญญาแล้ว ผู้เอาประกันภัยก็จะได้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขที่ทำไว้กับบริษัทประกันภัย
- ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตก่อนครบกำหนดสัญญาประกันภัย ดังนั้นผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เป็นจำนวนเงินที่ทำทุนประกันภัยไว้
การต่ออายุกรมธรรม์สามารถทำได้อย่างไร
สำหรับกรณีที่กรมธรรม์ขาดอายุและยังไม่ได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์จากบริษัทประกันภัย เรายังสามารถขอต่ออายุกรมธรรม์ได้ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกันหมดอายุ, ชำระเบี้ยประกันภัย หรือชำระคืนหนี้สินใด ๆ ที่มีอยู่ตามกรมธรรม์ เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง
วิธีการขอต่ออายุกรมธรรม์สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
- ต่ออายุสัญญาแบบชำระเบี้ยประกันภัยย้อนหลัง นั่นคือชำระเบี้ยประกันที่ค้างชำระให้ครบทุกงวดพร้อมทั้งดอกเบี้ยทบต้นในอัตราที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ ก็จะได้เงื่อนไขความคุ้มครองเดิม
- ต่ออายุสัญญาแบบเลื่อนวันเริ่มต้นมีผลบังคับของสัญญาประกันภัยออกไปเท่ากับระยะเวลาที่กรมธรรม์ขาดอายุ พร้อมชำระเบี้ยประกันงวดต่อไปใหม่ในอัตราใหม่ ณ วันเริ่มต้นใหม่ของสัญญา
ประกันภัย
เอกสารสำคัญในการยื่นต่ออายุกรมธรรม์
สำหรับประกันหมดอายุ หรือกรมธรรม์ขาดอายุนั้น หากต้องการยื่นขอต่ออายุกรมธรรม์ที่ขาดไป เอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องใช้มีดังต่อไปนี้
- แบบฟอร์มคำขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อกลับคืนสู่สถานะเดิม
- ฟอร์มหนังสือรับรองสุขภาพของบริษัทประกันภัยที่ต้องการต่ออายุกรมธรรม์
- ประวัติการรักษาสุขภาพ (ถ้ามี)
- สำเนาบัตรประชาชน / สำเนาทะเบียนบ้าน (รับรองสำเนาถูกต้อง)
- เบี้ยประกันภัย พร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี)
โดยปกติหากบริษัทประกันภัยได้รับเอกสารถูกต้องและครบถ้วน จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 5-15 วัน (สำหรับกรณีที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพเพิ่มเติม) และการต่ออายุกรมธรรม์จะมีผลบังคับทันทีเฉพาะตัวหลักเมื่อบริษัทได้อนุมัติแล้วเท่านั้น แต่สัญญาเพิ่มเติม (Riders) จะยังมีระยะเวลารอคอย (waiting period) เพื่อป้องกันโรคที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดก่อนทำประกันสุขภาพ ประมาณ 30 วันเป็นอย่างน้อย
สรุป
เมื่อไรก็ตามที่ประกันหมดอายุซึ่งเกิดจากการยกเลิก หรือเวนคืนกรมธรรม์ เราควรต้องพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียก่อนว่ามีอะไรบ้าง เพราะถ้าหากเกิดจากการที่ไม่สามารถชำระเบี้ยประกันได้ เพราะต้องการเงินสดมาหมุนเวียนใช้จ่าย เราสามารถใช้กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีมูลค่าเงินสดมากู้เงินได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ใด ๆ มาค้ำประกัน
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตมีประโยชน์มากกว่า ก็คือ ผู้เอาประกันมีอายุมากขึ้น การซื้อประกันชีวิตใหม่ในแบบเดียวกัน แน่นอนจะต้องจ่ายเบี้ยประกันแพงขึ้น หรืออาจไม่ได้รับการคุ้มครองในบางโรคเหมือนกับฉบับเดิม
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้