เป็นผู้เช่าอย่างไร ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ
เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564 21.12 น.
การอยู่บ้านเช่า ถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กับการใช้งานของพวกเรายุคปัจจุบันเป็นอย่างมากเลยนะครับ เนื่องมาจากว่า หลายคนต้องทำงานไกลบ้าน การหาที่อยู่ ที่พัก จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว โดยส่วนมากเราจะพบแต่กรณีของผู้ให้เช่าในการเตรียมตัว เดี๋ยวในวันนี้นะครับ เราจะมาลองมองดูกันว่าถ้าในมุมของผู้เช่าบ้านนั้น เราจะมีข้อกฎหมายอะไรบ้างที่เราควรจะต้องรู้ มาดูกันเลยครับ
- การเข้าไปในอาคารที่เราเช่า โดยปกติผู้ให้เช่ามักเข้าใจว่าการที่ตนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ให้เช่าย่อมทำให้มีสิทธิในตัวอสังหาริมทรัพย์นั้นมากกว่าผู้เช่า จึงสามารถเข้าไปในอสังหาฯ ที่ให้เช่าได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน คอนโด ห้องเช่า หรืออาคารพาณิชย์ก็ตาม โดยที่ไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้เช่าก่อนโดยเฉพาะเมื่อผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า เนื่องจากผิดนัดชำระค่าเช่า หรือค้างค่าเช่าก็ตาม ผู้ให้เช่าอีกส่วนหนึ่งจะเข้าใจว่าผู้เช่านั้นไม่มีสิทธิในอสังหาฯ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้เช่าไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปภายในอสังหาริมทรัพย์ของผู้เช่า ซึ่งผู้เช่าจะมีสิทธิในการครอบครองอยู่ในช่วงเวลาที่เช่า แม้ว่าจะขาดส่งค่าเช่าไปแล้วก็ตามกรณีที่ผู้ให้เช่าเข้ามาในสิ่งปลูกสร้าง ที่ผู้เช่าครอบครองอยู่โดยไม่ได้รับคำยินยอมจากผู้เช่านั้นจะเข้าข่ายการบุกรุก รบกวนการครอบครองอสังหาฯ ของผู้เช่า
- การปิดกั้น ใส่กุญแจไม่ให้ผู้เช่าเข้าไปในอสังหาฯ ที่เช่าอยู่ ในกรณีนี้แม้ว่าผู้ให้เช่าจะไม่ได้เข้าไปภายในอสังหาฯ ที่ผู้เช่าครอบครองอยู่ แต่ใช้วิธีการปิดกั้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การปิดคล้องกุญแจ การใช้บุคคลมาขัดขวาง เป็นต้น ไม่ให้ผู้เช่าสามารถเข้าไปภายในห้องเช่า บ้าน ที่ดิน อาคารพาณิชย์ซึ่งเช่าไว้ได้ ซึ่งผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิที่จะกระทำการเช่นนี้แม้ว่าผู้เช่าจะติดค้างไม่จ่ายค่าเช่าก็ตามยกเว้นนอกจากมีการระบุในสัญญาเช่าให้สิทธิผู้ให้เช่าสามารถกระทำได้
- การตัดสาธารณูปโภคของผู้เช่า ไม่สามารถทำได้เพราะการกระทำนี้ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้เช่า เป็นการรบกวนสิทธิของผู้เช่าในการครอบครองและใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าอยู่ ซึ่งจะมีความผิดทางแพ่งได้ ยกเว้นนอกจากในสัญญาระบุให้ผู้ให้เช่าสามารถทำได้ ผู้ให้เช่าจะตัดน้ำตัดไฟได้ก็ต่อเมื่อได้มีการแจ้งยกเลิกสัญญาเช่าแล้วและได้ให้เวลาผู้เช่าย้ายออกไปตามระยะเวลาพอสมควรแล้ว หรือฟ้องศาลเพื่อสั่งขับไล่ผู้เช่าแล้ว หรือสัญญาเช่าสิ้นสุดลงตามกำหนดเวลา
- ประเด็นร้อนแรงเป็นอยู่บ่อยครั้ง กรณีการไล่ผู้เช่าออกจาก อสังหาฯ ที่เช่าอยู่ทันที ถ้าเป็นการเช่ารายวันผู้ให้เช่าสามารถทำได้เลย แต่ถ้าเป็นรายเดือนนั้นไม่สามารถทำได้ กฎหมายแพ่งกำหนดว่าผู้ให้เช่าต้องมีการแจ้งล่วงหน้าแก่ผู้เช่าอย่างน้อย 15 วัน และให้เวลาผู้เช่าในการย้ายไปยังที่อื่น
- การเรียกเอาค่าเช่าจากเงินประกัน และทรัพย์สินของผู้เช่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเงินประกันนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อประกันค่าเช่า แต่เป็นการประกันไว้สำหรับความเสียหายจากการเช่าของผู้เช่าที่อาจเกิดแก่อสังหาริมทรัพย์
การเช่าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางฝ่ายผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า ไม่ใช่ว่าจะสามารถกระทำใดๆ ได้ตามอำเภอใจนะครับ ทุกอย่างจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ดังนั้นการเรียนรู้ไว้ให้ทราบ ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพื่อปกป้องตัวเอง และสิทธิ์ของตัวเองนั่นเอง
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้