สถานการณ์โควิดในประเทศกับความหวังครั้งใหม่ “วัคซีนโควิด-19”
เริ่มกลับมาเป็นสถานการณ์ที่น่าหวาดกลัวสำหรับประชาชนอีกครั้ง เมื่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า พบผู้ติดเชื้อในประเทศ อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร แม้จะมีประวัติการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันแล้วจนทำให้สามารถย้อนเส้นทางของการติดเชื้อได้ แต่ก็ยังสร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้คนจำนวนมาก นำมาสู่การประกาศข่าวดีล่าสุดในช่วงต้นสัปดาห์ ที่มีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพได้มากถึง 90 % จนหลายคนอาจสงสัย ว่าทำไมวัคซีนถึงได้สามารถป้องกันโรคได้ และมีกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง สินมั่นคง ประกันสุขภาพ จะมาอธิบายให้ฟังกันค่ะ
ทำความเข้าใจการทำงานของวัคซีน
“วัคซีน” คือ เชื้อโรคที่ถูกทำให้ตายหรืออ่อนแอลงโดยวิธีต่าง ๆ แล้วนำเข้าสู่ร่างกายทางใดทางหนึ่ง เช่น ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดเข้ากระแสเลือด หรือกิน เพื่อให้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ เข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เรียกรวมกันได้ว่าแอนติเจน (Antigen) โดยวัคซีนมีขั้นตอนและกระบวนการทำงาน ดังนี้
1. เมื่อวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะหลั่งโปรตีนชนิดหนึ่งออกมาเพื่อยับยั้งไม่ให้เชื้อกระจายไปยังเซลล์ข้างเคียง
2. เซลล์เม็ดเลือดขาวจะเริ่มต้นทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคที่แฝงมาพร้อมกับวัคซีน และจดจำลักษณะของแอนติเจนชนิดนี้ไว้
3. วัคซีนจะสร้างแอนติบอดีให้เข้ากำจัดเชื้อโรคอย่างรวดเร็วในครั้งต่อไปที่มีแอนติเจนชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย
การฉีดวัคซีนจึงเป็นเหมือนการเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายรู้จักเชื้อโรคและสร้างแอนติบอดีที่สามารถรับมือกับเชื้อโรคนั้น ๆ ได้ทันท่วงทีนั่นเอง
แล้ววัคซีนมีกี่ประเภท ?
1. วัคซีนเชื้อเป็น เป็นวัคซีนชนิดที่เชื้อจุลินทรีย์ยังมีชีวิตอยู่แต่ถูกทำให้อ่อนแอลง จึงไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ วัคซีนชนิดนี้จะเข้าไปกระตุ้นให้แอนติบอดีมีการตอบสนอง และสร้างภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตแค่เพียงฉีดวัคซีนนี้ 1-2 ครั้งเท่านั้น เช่น
• วัคซีนไข้ทรพิษ (smallpox)
• วัคซีนโรคหัด (Measles)/หัดเยอรมัน (rubella)
• วัคซีนโรคคางทูม (mumps)
• วัคซีนโรคอีสุกอีใส (chickenpox)
• วัคซีนโรคงูสวัด (Zoster, shingles)
2. วัคซีนเชื้อตาย เป็นวัคซีนที่เชื้อจุลินทรีย์ถูกทำให้ตายหรือไม่มีปฏิกิริยาโดยวิธีต่าง ๆ เช่น ให้ความร้อนสูง ผ่านรังสี หรือใช้วิธีทางเคมี แต่เนื่องจากเป็นเชื้อที่ตายแล้ว การออกฤทธิ์ของวัคซีนประเภทนี้จึงมีระยะเวลาที่สั้น แต่ก็สามารถฉีดกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาวได้ เช่น
• วัคซีนโปลิโอ (Polio)
• วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A)
• วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
3. วัคซีนประเภททอกซอยด์ (Toxoid)เป็นวัคซีนที่ผลิตจากพิษของจุลินทรีย์ โดยการนำมาทำให้ความเป็นพิษหมดไปแต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคได้ เช่น
• วัคซีนคอตีบ (Diphtheria)
• วัคซีนบาดทะยัก (tetanus).
4.วัคซีนประเภทหน่วยย่อย/เชื่อมผนึก (Subunit/conjugate vaccine) เป็นวัคซีนที่ผลิตจากส่วนหนึ่งของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เช่น
• วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B)
• วัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยการฉีด (Influenza)
• วัคซีนไอกรน (Pertussis)
• วัคซีนปอดอักเสบ (Pneumococcal)
• วัคซีนโรคติดเชื้อเอชพีวี (Human papillomavirus (HPV))
“วัคซีน” กับ “เซรุ่ม “ เหมือนหรือต่าง?
“วัคซีน” เป็นการฉีดเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเพื่อไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาป้องกันตนเอง ในขณะที่ “เซรุ่ม” เป็นการเสริมภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ซึ่งร่างกายจะนำภูมินี้ไปกำจัดเชื้อโรคได้ทันที โดยภูมิต้านทานดังกล่าว อาจสกัดมาจากเลือดสัตว์บางชนิด เช่น เซรุ่มแก้พิษงูที่สกัดจากเลือดของม้า
วัคซีนโควิด-19 ความหวังใหม่ของคนทั้งโลก
บริษัท ไฟเซอร์ (Pfizer) บริษัทยารายใหญ่ในต่างประเทศ ออกมาเปิดเผยข้อมูลภายหลังจากมีการนำวัคซีนโควิด-19 ทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง 43,500 คน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกี ซึ่งจากการฉีดวัคซีนจำนวน 2 โดส ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการทดลองในระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองกว่า 90% มีภูมิคุ้มกันจากโรคโควิด-19ซึ่งไม่พบว่ามีปัญหาในเรื่องความปลอดภัยกับผู้เข้าร่วมการทดลองแต่อย่างใด
วัคซีนชนิดนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัคซีนอาร์เอ็นเอ ผลิตขึ้นจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เมื่อถูกฉีดเข้าสู่ร่างกาย จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซีนสร้างแอนติบอดีที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ โดยบริษัทไฟเซอร์และไอโอเอ็นเท็คเป็นผู้ออกแบบ พัฒนาและเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีนชนิดนี้ ซึ่งสามารถผลิตได้มากถึง 1.3 พันล้านโดสภายในสิ้นปีหน้า
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้