6 สัญญาณเตือน! อันตราย ! ของเบรก
เบรกรถยนต์อุปกรณ์ความปลอดภัยที่มีความสำคัญ ต้องหมั่นดูแลและสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะหากเบรกมีปัญหาอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุในการขับขี่ได้ เราจะมีวิธีการสังเกตสัญญาณผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเบรกได้อย่างไร ? วันนี้มีเทคนิคการสังเกตมาบอกกันดังนี้
1. สัญญาณเตือนไฟเบรกหรือไฟเบรกมือขึ้นค้าง
ปกติเวลาที่เรายกเบรกมือในรถยนต์ขึ้น จะมีสัญญาณไฟสีแดงสัญลักษณ์รูปตัว P ติดขึ้นมา และจะหายไปเมื่อเราลดเบรกมือลง แต่ถ้าเมื่อไหร่สัญญาณตัวนี้ไม่ดับ ถึงแม้เราจะลดเบรกมือแล้วก็ตาม ให้สันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่า น้ำมันเบรกน่าจะขาด ให้เปิดฝากระโปรงรถยนต์เพื่อตรวจเช็คทันที ถ้าพร่องลงไป ก็ให้หาน้ำมันเบรกตามที่คู่มือประจำรถยนต์ของเราแนะนำมาเติมให้เต็ม แต่ถ้าดูแล้วยังอยู่ในระดับปกติ ให้เอาเข้าอู่เพื่อเช็คระบบเบรกทันที
2. เบรกแล้วพวงมาลัยสั่น
หากเราขับรถยนต์ที่ความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เมื่อเราแตะเบรกแล้วดันมีอาการสั่นที่พวงมาลัย เป็นไปได้ว่าจานเบรกอาจจะคดที่ข้างใดก็ข้างหนึ่ง ให้นำรถเข้าที่ร้านเบรก แล้วทำการเจียรจานเบรกใหม่ อาการก็จะหายไป แต่ถ้ายังเบรกแล้วสั่นอยู่ อาจจะต้องเช็คทั้งระบบเบรกรถยนต์และช่วงล่าง
3. เบรกเสียงดัง
อาการที่มักพบกันบ่อยที่สุด อาการเสียงดังจากเบรกรถยนต์ แบ่งเป็นอาการดัง แบบหลักๆ ได้ 2 แบบ คือ
- เสียงดังอี๊ดๆ เหมือนเหล็กสีกันเบาๆ ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากเบรกใกล้จะหมด ใช้เบรกไปจนถึงจุดเตือนของผ้าเบรกแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนผ้าเบรกชุดใหม่ แต่จริงๆ แล้วก็ยังสามารถใช้ไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่ควรเปลี่ยนให้เร็วที่สุด
- เสียงดังครืดๆ เหมือนมีแท่งเหล็กขูดกัน อาการนี้คือถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนผ้าเบรก เพราะผ้าเบรกหมดแล้ว จึงมีอาการเหล็กสีกัน ให้รีบนำรถยนต์ของเราไปเปลี่ยนผ้าเบรกทันที
4. มีรอยน้ำมันเบรกรั่ว
ถ้าเราเจอคราบน้ำมันอยู่ใต้ท้องรถยนต์ ให้ลองดูน้ำมันต่างๆแต่ละอย่างว่า มีตัวไหนที่น้ำมันพร่องหายไปบ้าง ถ้าน้ำมันเบรกพร่องหายไป ให้รีบนำรถเข้าไปที่อู่เพื่อจัดการซ่อมทันที
5. เบรกรถแข็งหรือจมมากผิดปกติ
ถ้าวันไหนเราเบรกแล้วแข็งกว่าปกติ ต้องออกแรงมากกว่าเดิมถึงจะเบรกได้ หรือเบรกแล้วแป้นเบรกจมลึกมากกว่าเดิม อาการแบบนี้เรียกกันว่า “เบรกตื้อ”อาจเกิด จากหลายสาเหตุ เช่น แรงดูดสุญญากาศของหม้อลมน้อย เนื่องจากปั๊มดูดไดชาร์จเสียหรือผ้าในหม้อลมรั่ว วาล์ว PVC หรือ Combo Vale เสีย หรือสายลมรั่ว ถ้าเกิดอาการนี้เมื่อไหร่ ต้องรีบนำรถยนต์เข้าอู่เพื่อตรวจสอบทันที
แต่หากเวลาที่เหยียบเบรก แป้นเบรกจะจมลงต่ำกว่าปกติ เมื่อเหยียบค้างไว้เบรกค่อยๆ จมลงเรียกอาการแบบนี้ว่า “เบรกต่ำ” สาเหตุเกิดจากลูกยางแม่ปั๊มเบรกบนสึกหรอหรือบวม จึงทำให้แรงดันเบรกลดลง จนต้องออกแรงเบรกมากขึ้น บางครั้งต้องเหยียบเบรกซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง ต้องรีบนำรถยนต์เข้าตรวจสอบทันที
6. เบรกแล้วเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
หากเหยียบเบรกอยู่แล้วพบว่า รถยนต์เหวี่ยงไปทางซ้าย หรือเอียงขวาบ้าง อาการปัดเอียงนั้นบอกว่าเบรกรถยนต์กำลังมีปัญหา หากเอียงไปทางซ้าย หมายความว่า ระบบเบรกผิดปกติ ให้ตรวจสอบระบบเบรกทางด้านขวา โดยอาจเกิดจากคราบน้ำมันหรือสารหล่อลื่นของเครื่องยนต์ช่วงล่างกระเด็นมาโดนจานเบรก จนทำให้ผิวลื่นมันและความฝืดลดลง หรือเกิดจากประสิทธิภาพการสึกหรอของชุดคาลิปเปอร์เบรกที่มีแรงกดในแต่ละฝั่งแตกต่างกัน ให้รีบนำรถยนต์เข้าไปที่อู่เพื่อจัดการซ่อมทันที
อาการต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้สังเกตความผิดปกติของระบบเบรกได้ง่ายขึ้น หากตรวจพบต้องแก้ไขทันทีอย่าละเลย เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ เพราะอุบัติเหตุ เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด ระวังดีแค่ไหนก็เกิดขึ้นได้ เพิ่มความคุ้มครองให้รถยนต์และตัวคุณได้ตั้งเเต่วันนี้ด้วยประกันภัยรถยนต์
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้