ประเมินที่ดินภูเก็ตราคาพุ่งกระฉูด
ราคาที่ดินภูเก็ตตั้งแต่ปี 2547-2557 เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วปีละ 14% โดยเฉพาะ 2 ปีล่าสุด เพิ่มขึ้นปีละ 32% ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์เรียลเอสเตทแอฟแฟร์ส แถลงว่าจากการสำรวจต่อเนื่องราคาที่ดินตามหาดต่าง ๆบนเกาะภูเก็ตในระหว่างปี 2547-2557 พบว่าราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจึงขอนำเสนอผลสำรวจโดยสังเขปดังนี้
1. ราคาที่ดินบนเกาะภูเก็ตโดยรวมเพิ่มจากฐาน 100% เป็น 384% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2547-2557) หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 14% ซึ่งถือว่าสูงมาก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีล่าสุด (ปี 2555-2557) เพิ่มขึ้นปีละ 32% ทั้งนี้คงเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวที่เติบโตเป็นอย่างมากในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา
2. สำหรับพื้นที่ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดคือพื้นที่บริเวณอ่าวมะพร้าวและอ่าวปอโดยเพิ่มขึ้น 500% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 100% เป็น 500% หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าอย่างเช่นกรณีอ่าวมะพร้าวราคาเริ่มต้นจากไร่ละ 2 ล้านบาทในปี 2547 เป็นไร่ละ 10 ล้านบาทในปี 2557 ทั้งนี้ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 17% โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีล่าสุดเพิ่มขึ้นปีละ 41% อย่างไรก็ตามที่ดินทั้ง 4 บริเวณนี้มีราคาค่อนข้างถูกมาตั้งแต่แรกจึงทำให้ดูมีราคาเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ
3. สำหรับพื้นที่ที่มีราคาสูงที่สุดคือที่ดินบริเวณหาดป่าตองโดยปัจจุบันนี้มีราคาไร่ละ 180 ล้านบาทหรือตารางวาละ 450,000 บาท ทั้งนี้เมื่อปี 2547 ยังมีราคาไร่ละ 40 ล้านบาทเท่านั้นทั้งนี้ราคาที่ดินริมหาดป่าตองเพิ่มขึ้นจาก 100% เป็น 450% หรือเพิ่มขึ้น 3.5 เท่าซึ่งเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 16% และโดยเฉพาะ 2 ปีล่าสุด (2555-2557) ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 22%
4. จะสังเกตได้ว่าราคาที่ดินริมหาดด้านตะวันตกจะมีราคาแพงกว่ามากเมื่อเทียบกับบริเวณด้านตะวันออก เพราะทะเลทางด้านตะวันตกสวยกว่ามีชายหาดสวยงามอีกด้วย ส่วนทะเลกระบี่ด้านตะวันออกสภาพแวดล้อมไม่สวยงามนักและไม่มีหาดเป็นหมู่บ้านประมงบ้าง ราคาจึงต่างกันอย่างมหาศาล
5. กรณีพิบัติภัยสึนามิราคาที่ดินไม่ได้ตกต่ำลงแต่อย่างใดจากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยบจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่าราคาที่ดินทางด้านทิศตะวันตกของเกาะซึ่งได้รับผลกระทบจากสึนามิโดยตรงมีราคาหยุดนิ่งหลังเกิดสึนามิ ทั้งนี้จากการเปรียบเทียบราคาในเดือนกรกฎาคม 2547 และราคาในเดือนเมษายน 2548 หรือประมาณ 5 เดือนหลังเกิดสึนามิ อย่างไรก็ตามหากในช่วงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์หลังเกิดสึนามิอาจเกิดภาวะตกใจ (panic) ทำให้ไม่มีการซื้อขายแต่หลังจากนั้นราคาก็เกิดขึ้นใหม่ และหลังจากปี 2548 เป็นต้นมาราคาก็ขยับตัวอย่างรวดเร็วมาก
6. เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาที่ดินบริเวณหาดและอ่าวฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ตกลับมีราคาเพิ่มขึ้นแทบทุกหาดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2547 - เมษายน 2548 โดยไม่มีความวิตกใด ๆ ต่อพิบัติภัยสึนามิเลยทั้งนี้เป็นความเข้าใจของท้องถิ่นที่เชื่อว่าไม่น่าจะมีสึนามิเกิดขึ้นในบริเวณทะเลกระบี่ได้ ราคาจึงขยับตัวขึ้น โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 9.5% ในขณะที่ที่ดินฝั่งตะวันตกของเกาะ ราคาเพิ่มขึ้นเพียง 4.4% เท่านั้น
ดร.โสภณ พรโชคชัย คาดการณ์ว่าในปี 2558 ราคาที่ดินบนเกาะภูเก็ต ก็ยังจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่อาจชลอตัวลงบ้างตามความผันผวนทางการเมืองและการลดลงของนักท่องเที่ยว หากเกาะภูเก็ตมีการปกครองตนเองมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเองมีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตรา 1-3% เช่นเดียวกับในประเทศยุโรปและอเมริกาก็จะทำให้ภูเก็ตมีรายได้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้นสามารถนำมาสร้างระบบสาธารณูปโภคได้มากมายและยิ่งส่งผลให้ราคาที่ดินบนเกาะภูเก็ตเพิ่มสูงขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement788.htm
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้