บุญคืออะไร ทำบุญทำไมได้บาป
บุญคืออะไร
เวลาที่ผู้เขียนไปทำบุญตักบาตร โดยเฉพาะถ้าเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา จะเห็นว่าวัดวาอารมต่างๆ มีผู้คนหลั่งไหลไปทำบุญกันจำนวนมาก ข้าวปลาอาหารทั้งคาวหวานที่นำไปใส่บาตรมีมากมายจนล้นบาตร ต้องนำไปใส่ภาชนะใหญ่ๆ จำนวนหลายใบ ซึงก็ยังล้นเหลืออยู่ดี
ยิ่งถ้าวัดไหนจัดสถานที่เอาไว้สำหรับการเสี่ยงเซียมซี ตีระฆังสะเดาะเคราะห์แก้กรรม ปล่อยนกปล่อยปลา ทำพิธีต่างๆ ที่สนองความต้องการของผู้คนที่อยากจะมีความสุขทางลัดด้วยการอ้อนวอนจอให้ร่ำรวย ประสบความสำเร็จ รับรองว่าวัดน้ำผู้คนล้นหลาม กลิ่นควันธูปลอยหนาทึบอบอวลไปทั้งบริเวณ ผู้คนที่ออกจากวัดก็จะอิ่มเอิบสบายใจ คิดว่าได้บุญจากการเข้าวัดทำบุญแล้ว
‘บุญ’ จึงเป็นที่เข้าใจของคนทั่วไปว่าเมื่อทำแล้วรู้สึกอิ่มเอิบใจ สบายใจ สุขใจ นั่นคือความหมายที่ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว
คราวนี้มารู้จักบุญในแบบวิชาการทางพุทธศาสนากันบ้าง บุญมาจากคำว่า ‘ปุญญะ’ เป็นภาษาบาลี หมายถึง เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ บุญเป็นเครื่องกำจัดสิ่งเศร้าหมอง
คำว่า ‘สิ่งเศร้าหมอง’ ก็คือกิเลสนั่นเอง (กิเลสได้แก่ ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง)
การทำบุญในความหมายของทางศาสนาจึงเป็นไปเพื่อช่วยลด ละ เลิก ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีใจคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว ความหวงแหนยึดติดลุ่มหลงในวัตถุสิ่งของ ทำให้ใจเป็นอิสระจากสิ่งเศร้าหมอง (กิเลส)
บุญจึงได้แก่ การทำความดีทุกชนิด ทำแล้วสุขใจทั้งชาตินี้และชาติต่อไป ทำแล้วจิตผ่องใสบริสุทธิ์ คำว่า ‘ผ่องใสบริสุทธิ์’ ก็หมายถึงปราศจากกิเลสนั่นเอง
เมื่อรู้ความหมายที่แท้จริงของบุญอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมที่จะพิจารณาได้ทันทีว่า การทำบุญที่จะให้ได้บุญนั้น จะต้องเป็นการทำบุญเพื่อลด-ละกิเลส เป็นการสละออกไป ให้ไปโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เป็นลักษณะ ‘ให้แล้วให้เลย’
แต่ที่ผ่านมา...เวลาที่ผู้เขียนไปทำบุญ มักจะทำบุญในลักษณะ ‘ทวงบุญคุณ’ คือไม่ได้เป็นไปในลักษณะให้แล้วให้เลย เรียกได้ว่าทำบุญแบบไม่ละกิเลส แต่ (ดัน) เพิ่มกิเลสเข้ามาเพียบ ยกตัวอย่าง
- ขอให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย ให้มีร่างกายแข็งแรง (อุตส่าห์ปล่อยปลาตั้งหลายตัวตามจำนวนอายุแล้วนะ)
- บางคนปล่อยกบปล่อยเขียด เพื่อขอให้ชีวิตการงานเจริญก้าวหน้าก้าวกระโดดไกลไปเหมือนกบเขียด
- บางคนปล่อยเต่า เพื่อขอให้ตัวเองอายุยืนยาวเหมือนเต่า
- บางคนปล่อยปลาไหล ก็ขอให้ชีวิตราบรื่นลื่นไหลเหมือนปลาไหล ไม่มีอุปสรรคใดๆ
- บางคนปล่อยนกเพื่อหวังว่าชีวิตจะได้มีอิสรเสรี ไม่มีสิ่งใดมาทำให้ขุ่นเคืองใจ พ้นจากปัญหาความทุกข์ต่างๆ
- บางคนปล่อยหอยขม เพื่อให้ความขมขื่นหมดไปจากชีวิต
เรียกได้ว่า ปัญญัติความหมายของการปล่อยสัตว์ประเภทต่างๆ เพื่อให้ตัวเองสบายใจ ไม่ได้ปล่อยสัตว์เพราะมีจิตคิดสงสารเมตตาเลย คิดแต่เพียงว่าเป็นการปล่อยเพื่อการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เท่านั้น
• เวลาหยอดเงินใส่ตู้บริจาคค่าน้ำค่าไฟที่วัด ก็ยกมือขอพรให้ชีวิตสว่างสดใสเหมือนแสงไฟ ขอให้ไร้อุปสรรค
• เวลาไปไหว้พระในโบสถ์ ก็จะหลับตานิ่งเหมือนคนที่กำลังทำสมาธิ แต่หารู้ไม่ว่าภายในใจนั้นเต็มไปด้วยถ้อยคำที่คิดไว้ในหัวว่าจะอ้อนวอนขอพรอะไรบ้าง เช่น ขอให้ร่ำรวย ให้ถูกหวยรางวัลใหญ่ ให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำอยู่
สรุปก็คือ ไม่ได้ไหว้พระเพราะจิตใจระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยแต่ใจคิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตนล้วนๆ
จากตัวอย่างที่ยกมาคือพฤติกรรมการทำบุญของผู้เขียน จึงสามารถกล่าวได้ว่าทำบุญครั้งใด จิตใจก็หวังสิ่งตอบแทนอยู่เสมอซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากคนรอบข้างมากมายที่ต่างก็ทำบุญแล้วก็ยกมืออ้อนวอนขอให้ได้นั่นได้นี่ จนคนที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนาแอบค่อนขอดให้ได้ยินว่า
“นี่หรือชาวพุทธ ช่างขอจริงๆ”
ถ้าได้ยินใครพูดแบบนี้ก็อย่าเพิ่งไปโกรธเขาเลย เพราะถ้าลองมาสังเกตดูตัวเองแล้วก็เป็นแบบที่เขาว่าจริงๆ นั่นแหละ เพียงแต่ขอติติงคนที่ว่านิดหนึ่งว่า ขอให้ตัดคำว่า ‘ชาวพุทธ’ ออกไปเท่านั้น แล้วเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘คนที่อยากจะเป็นชาวพุทธ’
เนื่องจากว่า ‘คนที่อยากจะเป็น’ แสดงว่ายังไม่ได้เป็น หากเป็นชาวพุทธที่แท้จริงแล้วย่อมไม่นิยมการอ้อนวอนขอ เราะการอ้อนวอนขอให้ได้นั่นได้นี่ ให้เป็นนั่นเป็นนี่ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าจะมีก็มีเพียงคำอธิษฐานที่จะต้องใช้ผลบุญที่เกิดจากการกระทำของตัวเองมาเป็นฐาน (พลวปัจจัย) ไม่ใช่ไปขอเอาจากสิ่งศักดิ์สิทธิที่ไหน
ลัทธิการอ้อนวอนขอจึงไม่ใช่คำสอนของพุทธศาสนา แต่เป็นของศาสนาอื่นที่เรามักจะนำมาปะปนกันพุทธศาสนา จนทำให้คนเข้าใจผิดในหลักธรรมคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์สอนให้เพิ่งพาตัวเอง (อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ)
ดังนั้น การที่ผู้เขียนทำบุญทุกครั้งด้วยใจที่หวังอยากจะได้ (ให้ตัวเองสมหวัง) โดยไม่ได้ทำบุญเพื่อคิดจะสละ (กิเลส) ออก การทำบุญเช่นนี้ ก็ลองพิจารณาว่าจะได้บุญหรือไม่
“ได้สิ! ทำบุญก็ต้องได้บุญ แต่...อานิสงส์ผลบุญมีน้อย”
นั่นคือคำตอบจากท่านผู้รู้ทางธรรมบอกกับผู้เขียนไว้
ข้อมูลจากหนังสือ ทำบุญทำไมได้บาป จากสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ http://www.satapornbooks.co.th/Book/BookDetail.aspx?id=2216
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้