มะเร็งตับ หรือมะเร็งชนิดอื่นที่กระจายมายังตับ รักษาได้ !
มะเร็งตับ (Liver Cancer) เกิดขึ้นเมื่อเซลล์บริเวณตับมีลักษณะหรือการทำงานผิดปกติแล้วพัฒนาเป็นมะเร็งในที่สุด หรืออาจเกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจากบริเวณอื่นมายังตับก็ได้ ซึ่งมะเร็งตับส่วนใหญ่ก็มักมีที่มาจากสาเหตุหลังนี้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับมักไม่แสดงอาการจนกว่าจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมากซึ่งเป็นระยะที่ยากต่อการรักษา
อาการโรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งตับมักไม่มีสัญญาณหรืออาการบ่งบอกในระยะแรกเริ่ม จนเมื่อมะเร็งพัฒนาถึงขั้นแสดงอาการจึงจะสังเกตได้ดังนี้
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ไม่อยากอาหาร รู้สึกอิ่มแม้รับประทานไปเพียงเล็กน้อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เจ็บช่องท้องส่วนบน โดยมักจะปวดบริเวณด้านขวา
- มีอาการบวมที่ช่องท้องหรือคลำพบก้อนใต้ชายโครงด้านขวา เนื่องจากตับโต
- อาจคลำพบก้อนที่ชายโครงด้านซ้ายเนื่องจากม้ามโต
- ผิวหนังและตาเหลือง (ดีซ่าน)
- อุจจาระอาจมีสีซีดลง
- อ่อนแรงและเหนื่อยล้า
- มีอาการคัน
- เป็นไข้
การจี้ทำลายก้อนเนื้อมะเร็งด้วยคลื่นความถี่วิทยุ
เป็นวิธีการรักษามะเร็งตับหรือมะเร็งชนิดอื่นที่กระจายมายังตับ ด้วยการใช้เข็มขนาดเล็กมีคุณสมบัติให้ความร้อนที่ปลายเข็ม เผาทำลายก้อนเนื้อ เหมาะสำหรับการรักษามะเร็งตับที่ก้อนมีขนาดเล็ก โดยการรักษาวิธีนี้ ปลอดภัย รุกล้ำร่างกายน้อย มีผลข้างเคียงน้อย ไม่มีแผลผ่าตัด พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 2-3 วัน และสามารถใช้วิธีนี้รักษาซ้ำได้เมื่อมีก้อนมะเร็งกลับเป็นซ้ำ
ภาพแสดงตัวอย่างเข็ม RFA*
หลักการและกลไกในการรักษา
เข็มความร้อน RFA ใช้หลักการของคลื่นวิทยุ ทำให้เกิดความร้อนที่ปลายเข็ม โดยใช้งานร่วมกับเครื่องผลิตพลังงานที่สามารถตั้งค่าให้พลังงานได้และแผ่นรองรับกระแสไฟฟ้าลงดิน พลังงานคลื่นวิทยุที่ถูกส่งออกไปจากขั้วไฟฟ้าจะชักนำให้เกิดไฟฟ้ากระแสสลับขึ้นภายในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบปลายเข็ม RFA พลังงานเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 90 องศาเซลเซียส เพื่อทำลาย ก้อนมะเร็งโดยรอบปลายเข็มในรัศมีประมาณ 3-5 ชั่วโมง และความร้อนจากเข็มจะทำลายเซลล์มะเร็งอย่างถาวร
ภาพแสดงตัวอย่างเครื่องผลิตพลังงาน*
ภาพแสดงการติดตั้งแผ่นรองรับกระแสไฟฟ้าลงดิน*
ตัวเข็มจะเป็นตัวนำพลังงานเข้ามาภายในตับ ส่งผ่านไปยังก้อนเนื้องอกที่ต้องการเผาทำลาย ก่อนการรักษาผู้ป่วยจะได้รับการดมยาสลบ แพทย์จะสอดเข็มผ่านทางผิวหนังเข้าไปในตับ เพื่อไปยังก้อนมะเร็งที่ต้องการรักษา โดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์และเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เป็นเครื่องมือระบุตำแหน่ง และยืนยันความถูกต้องของตำแหน่งเข็มระหว่างทำการรักษา รวมระยะเวลาในการทำการรักษาประมาณ 1 ชั่วโมง
ภาพแสดงการเผาทำลายก้อนเนื้องอก*
ภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ แสดงการใช้เข็ม RFA เพื่อเผาทำลายก้อนมะเร็งตับ ลูกศรแสดงเข็ม RFA*
ภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ แสดงการใช้เข็ม RFA เพื่อเผาทำลายก้อนมะเร็งตับ ลูกศรแสดงเข็ม RFA*
RFA เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มใด
เหมาะใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งตับหรือมะเร็งชนิดอื่นที่มากระจายมายังตับ ที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก โดยทั่วไปคือขนาดไม่เกินกว่า 5 ซม. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาโดยการผ่าตัดตับได้ เช่น มีภาวะตับแข็งมาก มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงในการทำผ่าตัด ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากก้อนมะเร็ง และยังสามารถใช้เพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งก่อนผ่าตัดเพื่อช่วยให้ทำผ่าตัดง่ายขึ้น
การเตรียมตัวก่อนการรักษา
1.รับผู้ป่วยเข้าไว้ในโรงพยาบาลก่อนการรักษา 1 วัน
2.เจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ค่าการแข็งตัวของเลือด การทำงานของตับและไต
3.ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
4.งดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการรักษา
5.หลังการรักษา พักฟื้นได้ที่ห้องพักและสังเกตอาการที่โรงพยาบาลอีก 1 คืน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถกลับบ้านในวันรุ่งขึ้นหลังการรักษาได้
การปฏิบัติตัวหลังการรักษา
1.หลังออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ งดเว้นกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก เช่น การออกกำลังกายหักโหม การยกของหนัก
2.หลังการรักษาอาจมีอาการปวดจุกท้อง บริเวณที่ทำการรักษาสามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ อาจพบมีอาการจุกแน่นได้อีก 2-3 วันหลังการรักษา
3.ผู้ป่วยจะได้รับการนัดหมายเพื่อตรวจติดตามผลการรักษาภายใน 4-6 สัปดาห์ โดยมีการเจาะเลือด และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
การป้องกันมะเร็งตับจึงควรลดปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่โรคตับแข็งไปด้วย ได้แก่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไปโดยรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปริมาณไขมันที่บริโภค รวมทั้งระมัดระวังการใช้สารเคมีที่อาจเป็นอันตรายและเสี่ยงต่อโรคตับแข็งตามมา
*หมายเหตุ ลักษณะของเข็มและเครื่องกำเนิดพลังงานอาจมีลักษณะแตกต่างกันตามบริษัทผู้ผลิต
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.nonthavej.co.th/Vascular-Center-1.php
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้