ภัยเงียบ!!โรคมะเร็งกระเพาะอาหารอันตรายถึงชีวิต
หลายคนคงอาจจะคิดว่าอาการ ปวดท้อง ไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แน่นตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือเหนือสะดือ คืออาการของโรคกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบธรรมดา จึงมักซื้อยารักษาโรคกระเพาะมาทานเพื่อให้อาการทุเลาลง แต่เมื่อมีอาการบ่อยครั้งการทานยารักษาโรคกระเพาะก็ไม่ได้ผล โรคมะเร็งกระเพาะอาหารคือภัยเงียบที่หลายคนมองข้าม เนื่องจากระยะแรกของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มีอาการคล้ายกับโรคกระเพาะ แต่เมื่อมีอาการรุนแรงอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ (เป็นสีเลือดเก่าที่ตกค้าง) หรือการคลำพบก้อนแข็งในท้องบริเวณเหนือสะดือเมื่อกดแล้วไม่เจ็บ เริ่มเบื่ออาหาร น้ำหนักลด กลืนอาหารลำบาก เช่นนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยเร็ว เพื่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer) มีอุบัติการณ์เป็นอันดับที่ 5 ของโรคมะเร็ง ทั้งหมด และถือเป็น สาเหตุการตายอันดับที่ 3 จากการตายจากโรคมะเร็งทั้งหมดทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 6 ในผู้ชาย และอันดับที่ 9 ในผู้หญิง โดยมีอุบัติการณ์ที่ 5 รายในประชากร 100,000 คน ถึงแม้จะพบได้ไม่บ่อยในคนไทยแต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทย มักพบในระยะท้ายของโรค และมีการ พยากรณ์โรคที่ไม่ดี
มะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการแบ่งจำนวนมากขึ้น อย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของกระเพาะ เมื่อมะเร็งมีขนาด ใหญ่ขึ้น จะเกิดการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ลำไส้ ปอด และรังไข่ได้
ปัจจัยเสี่ยง
- อายุ
- เพศ เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- เชื้อชาติ พบในคนเอเชียโดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลี และ ญี่ปุ่น ) ได้มากกว่าชนชาติผิวขาวกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา
- อาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทหมักดอง ตากเค็ม รมควันเพิ่มความเสี่ยงของโรค ได้มากขึ้นในขณะที่ การรับประทานผักและผลไม้สดอาจช่วยลดความเสี่ยงลงได้
- การติดเชื้อ Helicobacter pylori เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบ และแผลในกระเพาะอาหารได้ การติดเชื้อชนิดนี้ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด โรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น
- เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ค่อยรับประทานผักและผลไม้
- ภาวะอ้วน ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหารและกระเพาะส่วนต้นทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น
อาการของมะเร็งกระเพาะอาหาร
ในระยะแรกของโรคอาจไม่มีอาการแสดงที่เฉพาะและอาจมีอาการคล้ายโรคอื่นๆเช่นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือกระเพาะอาหารอักเสบได้แก่รู้สึกอาหารไม่ย่อยหรือรู้สึกไม่สบายท้องท้องอืดหลังรับประทานอาหารคลื่นไส้เล็กน้อยไม่อยากรับประทานอาหารมีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกและในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการลุกลามขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้รู้สึกไม่สบายท้องโดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลางมีเลือดปนในอุจจาระอาเจียนโดยอาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำน้ำหนักตัวลดลงปวดท้องหรืออาเจียนเป็นอาหารที่กินเข้าไป เนื่องจากมีการอุดตันของกระเพาะอาหารกลืนติดหรือทานอาหารได้ลดลงอ่อนเพลีย
การวินิจฉัยโรค
-การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
-การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ถือเป็นการตรวจหลักในการวินิจฉัย ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีการย้อมสีที่เยื่อบุและการขยายภาพ ทำให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งในระยะแรกได้
-การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT scan ซึ่งจะแสดงภาพอวัยวะภายเพื่อให้เห็นตำแหน่งของโรคและการกระจายของโรคได้ละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา
ระยะของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและการรักษา
การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อร้ายการกระจายไปอวัยวะอื่นๆหรือไม่และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยคณะแพทย์ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ระบบทางเดินอาหารศัลยแพทย์แพทย์และแพทย์รังสีรักษา ทำการปรึกษาร่วมกันเพื่อวางแผนการรักษาที่ดีที่สุด
-มะเร็งระยะเริ่มแรก (early gastric cancer) หมายถึงมะเร็งที่อยู่เฉพาะชั้นเยื่อบุส่วนบนของกระเพาะอาหาร โดยทั่วไปมักจะไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการทำการตรวจส่องกล้องสำหรับการตรวจสุขภาพ
สามารถทำการรักษาด้วยการตัดผ่านกล้องส่องตรวจทางเดินอาหารเพียงอย่างเดียวได้ เนื่องจากมีโอกาสที่จะมีการกระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองน้อยมาก และได้ผลการรักษาที่ดีมาก โดยมีอัตราการอยู่รอดที่ 10 ปีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
-มะเร็งในระยะลุกลาม (advanced gastric cancer) หมายถึง มะเร็งที่มีการลุกลามเข้าสู่ชั้นเยื่อบุส่วนล่าง หรือกล้ามเนื้อของกระเพาะอาหาร สามารถมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองได้มากกว่ามะเร็งในระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นมะเร็งระยะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยคนไทย ผู้ป่วยมักจะมีอาการ เช่น อืดท้อง อาหารไม่ย่อย หรือ มีเลือดออกในกระเพาะ มาสักระยะหนึ่ง
การรักษาหลักของมะเร็งระยะนี้คือการผ่าตัดกระเพาะร่วมกับการผ่าตัดเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองโดยรอบออก และให้การรักษาเสริมหลังผ่าตัดด้วยยาเคมีบำบัด เพื่อลดการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง โดยในปัจจุบันในรายที่เหมาะสม การผ่าตัดสามารถทำได้ด้วยเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งได้ประโยชน์ในแง่ของการฟื้นตัวที่เร็วกว่า ความปวดจากแผลผ่าตัดที่น้อยกว่า โดยไม่มีความแตกต่างกันของผลการผ่าตัดเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิด
-มะเร็งระยะแพร่กระจาย หมายถึงมะเร็งระยะที่มีการกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ช่องท้อง ปอด หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป การรักษาหลักของระยะนี้คือการรักษา ด้วยยาเคมีบำบัด การผ่าตัดจะทำในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็ง เช่น ทางเดินอาหารอุดตัน หรือเลือดออกที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่น โดยทั่วไปผู้ป่วยที่อยู่ในระยะนี้จะมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี แต่ก็ยังมีผู้ป่วยบางรายที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด จนสามารถกลับมา ทำการผ่าตัดเพื่อเอามะเร็งออกได้
มะเร็งกระเพาะอาหาร ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว เป็นเรื่องใกล้ตัวเลยทีเดียว ดังนั้นหากใครมีอาการคล้ายของโรคกระเพาะอาหาร ไม่ควรนิ่งนอนใจควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และรับการรักษาได้ตั้งแต่ต้นเหตุและตรงจุดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดีกว่านะ เพราะมะเร็งกระเพาะอาหารร้ายแรงแถมอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากในระยะเริ่มแรกไม่มีอาการแสดงชัดเจน การตรวจพบเจอในระยะแรก สามารถรักษาได้
ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.วิศิษฏ์ เกษตรเสริมวิริยะ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งกระเพาะอาหาร, มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้ โรงพยาบาลนนทเวช โทร 0-2596-7888
https://www.nonthavej.co.th/Gastric-cancer-F.php
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้