จุฬาฯ ชูโมเดลพัฒนาทุนวัฒนธรรมผ้าทอครบวงจร ยกระดับแบรนด์ท้องถิ่นสู่สากล
จุฬาฯ ชูโมเดลพัฒนาทุนวัฒนธรรมผ้าทอครบวงจร ยกระดับแบรนด์ท้องถิ่นสู่สากล เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หนุนชุมชนยั่งยืน
แฟชั่นและสิ่งทอ จุฬาฯ พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ชูโมเดลการพัฒนาทุนวัฒนธรรมสิ่งทออย่างเป็นระบบและครบวงจร ตั้งแต่การสร้างนวัตกรรมเส้นใยสิ่งทอและนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมแฟชั่น กระบวนการผลิต คำนึงถึงการสร้างตราสินค้า และตลาดคู่แข่ง คู่ขนานไปกับธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมรายได้พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
สิ่งทอ เป็นหนึ่งในศิลปะและวัฒนธรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์และชนชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทอผ้า วัสดุในการทอ การย้อม ลายผ้า และการสวมใส่ ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งที่แต่ละสังคมเรียนรู้ สั่งสม และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งน่าเสียดายหากวัฒนธรรมอันล้ำค่านี้จะสะดุดลงอย่างที่ในปัจจุบัน ผ้าทอพื้นเมืองกลายเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่ระลึกจากการท่องเที่ยว ที่มีไว้สวมใส่ในโอกาสพิเศษเท่านั้น
ด้วยความตั้งใจนี้ประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านแฟชั่น ศาสตราจารย์ ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล หัวหน้าหน่วยวิจัยแฟชั่นและนฤมิตศิลป์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ริเริ่ม “โครงการนวัตกรรมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ จากจังหวัดน่าน สู่สากลเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ในช่วงปี 2563 – 2565 ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนศตวรรษที่ 2 (Second Century Fund : C2F) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ นักวิจัย รวมถึงศิษย์เก่าจุฬาฯ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล
“ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ เชื่อมโยงวัฒนธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้านได้ น่าเสียดายที่ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาอย่างยาวนานเหล่านี้จะสูญไป เพราะขาดการพัฒนาอย่างครบวงจร ขาดการทำตลาด ส่งผลให้การทอผ้าของชุมชนไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดผู้บริโภคในปัจจุบัน จนกลายเป็นปัญหาคลาสสิกที่มักพบได้ในชุมชนที่ยึดอาชีพทอผ้าในประเทศไทย” ศ.พัดชากล่าว
วิจัยปัญหา สานต่อจิตวิญญาณผ้าทอไทยให้ร่วมสมัย
“นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ลายผ้าทอจากภูมิปัญญาชุมชนคงความเป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่นดั้งเดิมมากเกินไป ไม่ถูกพัฒนาตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นคนเมืองรุ่นใหม่ที่มีรสนิยมสากล” ศ.ดร.พัดชา กล่าวโดยยกตัวอย่างเสื้อลายม้ง
“ลวดลายของเสื้อลายม้งตอกย้ำสัญญะของชุมชนชาติพันธุ์มากเกินไป ทำให้ดูเป็นของที่ระลึกแบบสินค้า OTOP ไม่ใช่เสื้อผ้าหรือของที่จะใช้ในชีวิตประจำวันปกติได้ การเป็นของที่ระลึกไม่ผิดนะ แต่มันทำให้ตลาดแคบ ซึ่งทุนทางวัฒนธรรมจะอยู่ต่อไปได้ ตลาดต้องกว้างขึ้น ซึ่งหมายความว่าผลิตภัณฑ์ต้องสอดคล้องกับความต้องการของคนร่วมสมัย ใช้ได้ในหลายโอกาส เข้ากับกระแสนิยม และรูปแบบมีความเป็นตะวันตกมากขึ้น” ศ.ดร.พัดชา กล่าวย้ำ
รูปแบบการพัฒนาลวดลายบนผ้าให้ร่วมสมัย
โมเดลพัฒนาทุนวัฒนธรรมสิ่งทอครบวงจร
โดยมาก แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนมักเน้นไปที่การผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด หรือดีขึ้นมา ก็จะเพิ่มเรื่องการส่งเสริมการตลาด แต่จะดีที่สุดเมื่อคำนึงถึงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมให้ครบวงจรอย่างเป็นระบบและทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนปลายน้ำ โดยเฉพาะกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่ง ศ.ดร.พัดชา กล่าวว่า “เป็นเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในกระแสนิยม และการเปิดตลาดในช่องทางใหม่ ๆ ซึ่งในโครงการนี้ใช้โมเดลการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ด้วยวัฒนธรรมสิ่งทอ”
ศ.ดร.พัดชา อธิบายโมเดลการพัฒนาทุนวัฒนธรรมอย่างครบวงจรว่าประกอบด้วย 7 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่
- Creative consult โดยร่วมมือกับนักออกแบบมืออาชีพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญา
- สกัดองค์ความรู้เฉพาะทางของชุมชน
- แก้ปัญหา พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามกลุ่ม (Cluster) โดยพยายามทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถใช้ได้หลากหลายโอกาสมากขึ้น
- พัฒนานวัตกรรมสิ่งทอจากทุนวัฒนธรรมเฉพาะ Cluster นั้นๆ สร้างเป็นอัตลักษณ์จำเพาะกลุ่ม
- พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย โดยเอารูปแบบเทรนด์ของตะวันตกเข้ามาผสมผสาน ทั้งนี้ โครงการฯ ได้แบ่ง Product line เป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์หรูหรา (Luxury) เจาะกลุ่มตลาดระดับบน
- ผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม (Tradition) เจาะกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ยังชื่นชอบลายผ้าต้นฉบับ
- ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย (In trend) เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งลายผ้าจะตามกระแสนิยม เรียบง่าย สะท้อนไลฟ์สไตล์มากขึ้น
- ผลักดันให้เกิดตราสินค้าในแต่ละผลิตภัณฑ์
- เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งแบบหน้าร้านและแบบออนไลน์
ผลิกโฉม 8 แบรนด์สิ่งทอ จ.น่าน สู่ความเป็นสากล
ศ.ดร.พัดชา กล่าว “ทางโครงการฯ จึงทดลองนำร่องโมเดลกับ 8 กลุ่มผ้าทอใน จ.น่าน โดยระดมคณาจารย์ นิสิตประจำภาควิชานฤมิตศิลป์ และศิษย์เก่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากประสบการณ์ในวงการแฟชั่นที่เคยทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มาร่วมมือกันสร้างอัตลักษณ์ให้กลุ่มผ้าทอทั้ง 8 กลุ่มเป้าหมาย”
“เราเริ่มจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ประกอบการและหาแนวทางในการพัฒนาอัตลักษณ์ตราสินค้าใหม่ ให้มีความสอดคล้องและสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการผลิตสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์คุณภาพร่วมสมัย ภายใต้ตราสินค้าของตนเองได้จริง ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 8 กลุ่ม ได้แก่ …”1. กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ภายใต้ตราสินค้า “Soul Lung” 2. ร้านวราภรณ์ ผ้าทอ อำเภอเวียงสา ภายใต้ตราสินค้า “WORA” 3. ร้านรัตนาพร ผ้าเขียนเทียน อำเภอปัว ภายใต้ตราสินค้า “มนต์คราม” (Mon Karm) 4. ร้านฝ้ายเงิน โดยใช้ชื่อตราสินค้า “FAINGERN” 5. กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านปางกอม อำเภอสองแคว ภายใต้ตราสินค้า “Nana Colours” 6. กลุ่มผ้าทอไทลื้อ บ้านเก็ต อำเภอปัว ภายใต้ตราสินค้า “Lifecocoa” 7. ศูนย์ผ้าทอไทลื้อ บ้านดอนมูล อำเภอท่าวังผา ภายใต้ตราสินค้า “ThaiMool” และ 8. มีสเอ โปรดักส์ ภายใต้ตราสินค้า “Sasudee”
เมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้นแล้ว หนึ่งในแผนการเปิดช่องทางการตลาดและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คือ การท่องเที่ยว ซึ่งทีมวิจัยได้ร่างแผนที่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 2 เส้นทาง ตามรูปแบบกิจกรรมและจำนวนวันที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาได้ ได้แก่ เส้นทางการท่องเที่ยวแบบช้อป-ชิม-แชร์ (Shop, Taste, and Share) และ เส้นทางการท่องเที่ยวสิ่งทอและงานฝีมือ (Textile and Craft Destination) โดยหวังว่าจะเกิดวงจรรายได้ที่ยั่งยืนแก่ชาวบ้าน
ศ.ดร.พัดชา เสนอทางออกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยให้ยั่งยืนก้าวสู่เวทีการค้าระดับนานาชาติว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องมี co-sale หรือคนกลางที่เป็นสะพานธุรกิจ คอยประสานคัดเลือกผลิตภัณฑ์ผ้าของไทยไปขายให้กับแบรด์ดังในตลาดต่างประเทศ เช่น คนกลางรับยอดการผลิตเสื้อผ้าจากแบรนด์ดังมาจ้างชุมชนให้ทอผ้า หรือย้อมผ้าตามสีและรูปแบบของดีไซเนอร์ชาวตะวันตก ซึ่งถ้าทำได้แบบนี้อาชีพทอผ้าของชุมชนก็จะมีความสม่ำเสมอมั่นคง”
นอกจากนี้ การได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยหนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยและผู้ประกอบการ อย่างเช่นภาครัฐที่อาจช่วยกำหนดตราสินค้าที่ใช้รับรองมาตรฐานผ้าทอไทย ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการซื้อทำให้ตลาดผ้าทอไทยเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น
สุดท้าย ศ.ดร.พัดชา ฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ ทั้งผู้ประกอบการและกลุ่มลูกค้า ให้ช่วยกันต่อลมหายใจให้ทุนวัฒนธรรมของไทย
“อาชีพการทำผลิตภัณฑ์จากรากวัฒนธรรมจะมีความยั่งยืนได้ มิได้ขึ้นอยู่กับตัวผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ได้มาตรฐานเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการต้องปรับแนวคิดให้ก้าวตามยุคสมัย ปรับดีไซน์ให้สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ง่าย ปรับราคาให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ และมองหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อให้มียอดคำสั่งซื้อที่ต่อเนื่อง ที่สำคัญ คือ การมีคนรุ่นหลังมาสืบสานกิจการต่อ และการที่มีผู้คนหันมาใส่ผ้าทอไทยเพิ่มมากขึ้นก็จะมีส่วนสนับสนุนให้อาชีพนี้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน”
สำหรับชุมชุนและผู้ประกอบการที่ต้องการคำปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นชุมชน หรือต้องการแบ่งปันเรื่องราว “เที่ยวสร้างสรรค์” สามารถเข้ามาพูดคุยได้ที่ สถาบันการเรียนรู้และการประกอบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chula Creative Tourism Academy (CUCT) ทางอีเมล: creativejourneyth@gmail.com
Facebook: เที่ยวสร้างสรรค์ https://www.facebook.com/creativejourneyth
เว็บไซต์ https://www.creativejourneyth.com/
หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ สามารถติดต่อเพื่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
คุณฐนิตา หวังวณิชพันธุ์ ศูนย์สื่อสารองค์กร โทร. (+66) 2218 3280 หรืออีเมล thanita.w@chula.ac.th
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงติด 100 อันดับแรกของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ โดย (QS) World University Rankings 2021-2022”
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้