โรแลนด์ อาดโจวี นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยอาร์เคเดีย ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะทำงานแห่งสหประชาชาติ
เกล็นไซด์, เพนซิลเวเนีย--14 พ.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
โรแลนด์ อาดโจวี นักวิชาการแห่งวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยอาร์เคเดีย ได้รับการคัดเลือกเพื่อร่วมงานกับคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวและคุมขังโดยพลการแห่งสหประชาชาติ เป็นระยะเวลาสามปี (2557-2559) ซึ่งมีผลทันที
นายอาดโจวี นักกฎหมายผู้มีประสบการณ์การสอนที่ครอบคลุมกว้างขวาง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ณ ศูนย์อาร์เคเดีย ประเทศแทนซาเนีย ตั้งแต่ปี 2552-2556 ผ่านทางวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยอาร์เคเดีย ขณะที่เขาดำรงแหน่งที่อาร์เคเดียนั้น เขาได้สอนหลักสูตรกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเป็นสมาชิกคณะทำงานว่าด้วยแอฟริกาศึกษา ซึ่งให้การสนับสนุนการเรียนการสอน และสื่อนำเสนอต่างๆเกี่ยวกับทวีปแอฟริกาและชาวแอฟริกันพลัดถิ่นที่อาร์เคเดียตลอดทั้งปี
“ด้วยประวัติอันน่าประทับใจในวงการศึกษาและกฎหมายระหว่างประเทศ โรแลนด์ อาดโจวี เปี่ยมไปด้วยคุณภาพและจุดแข็งที่จะทำให้เขาก้าวขึ้นเป็นสมาชิกทรงคุณค่าในคณะทำงาน” ดร.นิโคแลตต์ เดอวิลล์ คริสเตนเซน อธิการบดีของมหาวิทยาลัยอาร์เคเดีย กล่าว “ดิฉันมั่นใจว่าประสบการณ์ดังกล่าวจะสั่งสมและเสริมสร้างความรู้เชิงวิชาการ ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้และการรับใช้ประชาคมโลกของโรแลนด์ เราขอแสดงความยินดีกับเขาในโอกาสนี้”
คณะทำงานแห่งสหประชาชาติก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 ในฐานะหน่วยงานย่อยของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นเรื่องการควบคุมตัวและคุมขังโดยพลการ คณะทำงานดำเนินการตรวจสอบคำร้องเรียน และออกปฏิบัติภารกิจภาคสนามทั่วโลกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวและคุมขังโดยพลการ อีกทั้งร่วมงานกับบุคคล รัฐบาล และองค์กรประชาสังคม เพื่อจัดการกับปัญหาความรุนแรง ทั้งนี้ ทางคณะทำงานได้ดำเนินงานตามคำร้องเรียนจากอ่าวกวนตานาโม อียิปต์ แอลจีเรีย อิสราเอล อิหร่าน จีน ไทย อิรัก และอุซเบกิสถาน
นายอาดโจวี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลงานตีพิมพ์และการบรรยายในทั้งสองหัวข้อ ในปี 2553 เขาได้รับเชิญเป็นวิทยากรหลักในการบรรยายสรุปเกี่ยวกับกฎหมายปกครองสหประชาชาติ ที่สำนักงานยูเอ็นประจำกรุงไนโรบี นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้ว เขายังได้ตีพิมพ์รายงานในหนังสือ African Yearbook of International Law ที่วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินปล่อยตัวจำเลยที่แลดูไม่เที่ยงธรรม และคำตัดสินลงโทษที่เบาเกินควรในคดี Gumisiriza (2551, 2552) ซึ่งนายพลวิลสัน กูมิซิริซา และพลทหารใต้บังคับบัญชาที่มีความเกี่ยวข้องกับกองกำลังกบฏของนายพอล คากาเม ประธานาธิบดีรวันดา ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาชญากรรมเมื่อปี 2537
“การแต่งตั้งนายอาดโจวีจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สุดสำหรับชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมตัวโดยพลการ” ลอร์นา สเติร์น รองประธานและผู้อำนวยการบริหารของวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยอาร์เคเดีย กล่าว “นายอาดโจวีเปี่ยมไปด้วยความรอบรู้และความเฉียบแหลมทางกฎหมาย ด้วยความเข้าใจอันลึกซึ้งต่อบริบทของการกักขังในระดับโลก ชื่อเสียงเรื่องความซื่อตรงและความรู้ด้านสิทธิของรัฐและตัวบุคคลนั้น จะช่วยให้เขาดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ได้เป็นอย่างดี”
นายอาดโจวีดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่กฎหมายอาวุโส ที่สำนักทะเบียนบัลลังก์พิพากษาอาชญากรระหว่างประเทศ ประจำประเทศรวันดา และยังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยงานกฎหมายแก่องค์การเอกภาพแอฟริกา (OAU) และหัวหน้าทีมทนายความในคดีที่ประสบความสำเร็จในการยื่นฟ้องรัฐบาลแทนซาเนียต่อศาลแอฟริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิของประชาชน ระหว่างบาทหลวงคริสโตเฟอร์ อาร์ มทิคิลา กับสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย
นายอาดโจวีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขากฎหมายและรัฐประศาสนศาสตร์ รัฐศาสตร์มหาบันฑิต และนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสิทธิมนุษยชน จากมหาวิทยาลัยปารีส เขาเป็นชาวแอฟริกันคนที่สี่ที่ได้นั่งเก้าอี้ในคณะทำงานนับตั้งแต่วันก่อตั้ง
เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอาร์เคเดีย
มหาวิทยาลัยอาร์เคเดีย (Arcadia University) เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนอันดับหนึ่งในเมืองฟิลาเดลเฟีย และเป็นผู้นำด้านการศึกษาต่างประเทศและนานาชาติของสหรัฐ โดยรายงาน Open Doors ประจำปี 2556 ได้ยกให้มหาวิทยาลัยอาร์เคเดียเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของสหรัฐ ในสาขานักศึกษาปริญญาตรีที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ขณะที่ U.S. News & World Report ยกให้อาร์เคเดียอยู่เหนือมหาวิทยาลัยภูมิภาคชั้นนำในภาคเหนือ อีกทั้งยกย่องโครงการศึกษาต่างประเทศของอาร์เคเดีย มหาวิทยาลัยอาร์เคเดียมีความมุ่งมั่นเพื่อส่งมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทันโลก มีการผสมผสานกันอย่างเด่นชัด และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งช่วยเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาในการมีส่วนช่วยและเป็นผู้นำในโลกที่มีความหลากหลายและเต็มไปด้วยพลวัตร สามารถรับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่www.arcadia.edu
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้