ดร.โสภณ ไม่รับ “โฉนดชุมชน” มีนโยบายรื้อแต่ไม่ไล่

pornchokchai

หัดอ่านหัดเขียน (8)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:10
เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 10.20 น.

ดร.โสภณ ไม่รับ โฉนดชุมชน มีนโยบายรื้อแต่ไม่ไล่

พฤ 28 กุมภาพันธ์ 2556 

 

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.#4

ดูนโยบายของผมได้ที่นี่: http://www.sopon4.housingyellow.com/

 

          ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 ไม่เห็นด้วยกับระบบโฉนดชุมชนที่ให้อภิสิทธิ์แก่ผู้บุกรุกผิดกฎหมาย แต่มีนโยบาย “รื้อแต่ไม่ไล่”

          ตามที่มีข่าวว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 16 รับข้อเสนอของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ข้อหนึ่งว่า “แก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ให้เกิดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีการรับรองสิทธิในรูปแบบโฉนด (ชุมชน) กรณีที่ดินสาธารณะริมคลอง ยกเลิกนโยบายไล่รื้อที่พัก ชุมชน ด้วยมาตรการกฎหมาย หรือใช้ความรุนแรง กทม.ผ่อนปรนการออกทะเบียนบ้านในโครงการที่อยู่อาศัยคนจน ตามเจตนารมณ์กฎกระทรวง ในพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร”

          กรณีนี้ผม ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ หมายเลข 4 ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะ

          1. การบุกรุกอยู่อาศัยอยู่อาศัยบนที่ดินของบุคคลอื่นหรือของทางราชการ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทางราชการจะออกมารับรองสิทธิให้ไม่ได้

          2. การบุกรุกอยู่อาศัยแบบผิดกฎหมายมาหลายสิบปี ถือว่าได้“กำไรชีวิต” ไปแล้ว จะให้อยู่ต่อไปอย่างนี้โดยไม่มีที่สิ้นสุดย่อมเป็นไปไม่ได้ สมควรพอ พอเพียงเสียที

          3. การบุกรุกอยู่ในใจกลางเมืองอย่างผิดกฎหมายในลักษณะนี้ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนทั่วไปที่ต้องเก็บหอมรอมริบไปซื้อบ้านของตัวเองอย่างถูกกฎหมายที่ตั้งอยู่นอกเมือง เดินทางออกจากบ้านก่อน 6โมงเช้า และกว่าจะถึงบ้านก็มืดค่ำ เปลืองเงิน ไม่ปลอดภัยอีกต่างหาก แต่พวกนี้กลับอยู่สบาย ๆ

          4. ยิ่งในกรณีที่ดินริมคลอง การบุกรุกสร้างบ้านคร่อมคลอง กีดขวางทางน้ำ ทำให้ชุมชนและสังคมเดือดร้อน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะออกโฉนดชุมชนให้ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายร้ายแรง

          5. แม้แต่ชาวบ้านทั่วไปที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมายแต่อยู่อาศัยริมคลอง ริมแม่น้ำ ทางราชการยังเวนคืนบ้านพักที่อยู่ริมคลองเหล่านี้เพื่อการสร้างถนนและเขื่อนป้อนกันน้ำท่วม  การอยู่กีดขวางสร้างปัญหาต่อส่วนรวมเช่นนี้เป็นสิ่งพึงลด ละ เลิก และจะยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป

          อย่างไรก็ตาม ดร.โสภณ เห็นใจและใส่ใจต่อความทุกข์ยากของประชาชนโดยเฉพาะที่ยากจนจริง ๆ ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงตรวจสอบดูว่าใครจนจริงไม่มีที่ไป ใครไม่ได้จนจริง  สำหรับคนจนจริง ๆ ก็ควรจัดหาที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม โดยเฉพาะคนชรา ก็ควรที่จะมีที่พักอาศัยเป็นสวัสดิการสังคม แต่สำหรับผู้เช่าบ้านในชุมชนบุกรุกริมคลอง ก็ควรย้ายออกไปเช่าที่อื่น  ส่วนเจ้าของบ้านที่ปล่อยให้เช่าได้ประโยชน์โดยตัวเองไม่ได้อยู่อาศัยมานาน ก็ควรหยุดรับประโยชน์ที่ไม่ชอบเหล่านี้

          ผมมีนโยบาย “รื้อแต่ไม่ไล่” สำหรับผู้บุกรุกริมคลองทั้งหลาย คือ เราจะปล่อยให้ประชาชนอยู่อย่างไม่ถูกสุขลักษณะไม่ได้  เราจะมัวหาคะแนนเสียงด้วยการช่วยเหลือพวกเขาแบบไม่ยั่งยืนไม่ได้  ยิ่งจะให้ใครมาบุกรุกอยู่อาศัยเอาเปรียบสังคมต่อไปยิ่งไม่ได้ และเพื่อการป้องกันน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ในคลองหรือริมคลองควรไม่มีบ้านโดยเฉพาะบ้านที่บุกรุกที่ดินบุคคลอื่นหรือทางราชการอยู่

          ผมจึงมุ่งหวังที่จะสร้างที่อยู่อาศัยให้กับบุคคลที่ถูกรื้อหรือเวนคืนทั้งหลายให้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่ถูกเวนคืน จะได้ไม่เดือดร้อนในการย้ายที่อยู่อาศัยไปอยู่ไกล ๆ ไม่รบกวนวิถีชีวิต เช่นที่ย้ายชาวสลัมขึ้นตึกในกรณีของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทำมาแล้วที่คลองไผ่สิงโต โดยสร้างตึกสูงถึง 27ชั้นมารองรับ  ยิ่งกว่านั้นยังต้องป้องกันว่าในกรณีที่ผู้ได้สิทธิไม่อยู่อาศัยเอง และย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว จะปล่อยให้คนอื่นมาเช่า หรือมาอยู่แทนไม่ได้ ต้องยึดคืนมา จะให้ใครมาหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบไม่ได้

          การไม่ให้เกิดอภิสิทธิ์แก่บุคคลเฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะที่อ้างความจน จะทำให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครได้รับการดูแลโดยเสมอหน้า และทุกภาคส่วนมีกำลังใจสร้างสรรค์กรุงเทพมหานครให้น่าอยู่

 

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา