หลักธรรม 4 เนื่องในวันมาฆะบูชา

pornchokchai

หัดอ่านหัดเขียน (8)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:10
เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 09.48 น.

หลักธรรม 4 เนื่องในวันมาฆะบูชา

จันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

ดูนโยบายของผมที่: http://www.sopon4.housingyellow.com/p.php?p=pages_41.php

 

วันนี้เป็นวันมาฆะบูชา ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก และคุณงามความดีที่ท่านได้ประกอบ โปรดดลบันดาลให้ท่านพบแต่ความสุข สวัสดิ์ สบาย สง่า สว่าง สงบ สดใส และสร้างสรรค์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และขอถือโอกาสนี้นำเสนอหลักธรรม 4 ที่สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้า ดังนี้:

อริยสัจ 4: ความจริงแห่งชีวิต ที่เราชาวพุทธพึงสังวรได้แก่:
1. ทุกข์: "ความทุกข์เกิดขึ้นได้จากภาวะเกิด แก่ เจ็บ ตาย
2. สมุทัย: เหตุแห่งทุกข์
3. นิโรธ: ทางกำจัดทุกข์
4. มรรค: หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์

ชาวพุทธที่แท้ต้องมีหลักธรรมประจำใจสำคัญ 4 ประการ หรือพรหมวิหาร 4 ได้แก่
1. เมตตา: ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุขทั้งทางกายและใจ
2. กรุณา: ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ทั้งทางกายและใจเช่นกัน
3. มุทิตา: ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีในเรื่องต่างๆ โดยไม่คิดริษยา
4. อุเบกขา: การรู้จักวางเฉย หรือวางใจเป็นกลาง เพื่อพิจารณา 

และเพื่อความสำเร็จในชีวิต พระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักอิทธิบาท 4 หรือหลักธรรมเพื่อความสำเร็จ ดังนี้:
1. ฉันทะ: ความพอใจในสิ่งที่ตนมี ตนเป็น ไม่อยากได้ใคร่มีมากเกินไป 
2. วิริยะ: ความพากเพียรในสิ่งนั้น ไม่ย่อท้อง่ายๆ เมื่อพบกับอุปสรรค
3. จิตตะ: ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ ไม่ล้มเลิกความตั้งใจกลางคันง่ายๆ
4. วิมังสา: ความรู้จริงอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ เพื่อความเข้าใจ และความสำเร็จ 

กุศโลบายในการมีเครื่องยึดเหนียมน้ำใจของผู้อื่นเรียกว่า สังคหวัตถุ 4 ได้แก่:
1. ทาน: การให้ การเสียสละ การแบ่งปัน
2. ปิยวาจา: การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน จริงใจ
3. อัตถจริยา: การให้ความช่วยเหลือด้วยจิตที่เป็นกุศล
4. สมานัตตา: การประพฤติตัวเสมอต้นเสมอปลาย

พระพุทธเจ้าให้โอวาทถึงความสุขของบุคคล อันหมายถึง คฤหัสถ์ 4 ไว้ดังนี้
1. สุข เกิดจากการมีทรัพย์สมบัติ มั่นคง ร่ำรวย มีกินมีใช้
2. สุข เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ บำรุงเลี้ยงดูตน ครอบครัว และอื่นๆ
3. สุข เกิดจากการไม่เป็นหนี้ จึงเกิดความปลอดโปร่งโล่งใจ สบายใจ
4. สุข เกิดจากการประกอบอาชีพสุจริต ไม่เบียดเบียนตน และผู้อื่น

นอกจากนี้ยังมีคาถาเศรษฐี หรือทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ 4 ซึ่งถือเป็นหัวใจเศรษฐี ดังนี้:
1.อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น 
2.อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ 
3.กัลยาณมิตตตา คบคนดี ไม่คบคบชั่ว 
4.สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง

รวมทั้งฆราวาสธรรม 4 ประการ ได้แก่:
1.สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน
2.ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต บังคับตัวเองเพื่อลดและละกิเลส และรักษาสัจจะ
3.ขันติ แปลว่า อดทน ไม่ใช่เพียงแต่อดทนกับคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่น
4.จาคะ แปลว่า เสียสละ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน

ที่มา:
วันมาฆบูชา: http://hilight.kapook.com/view/20696
ธรรมะ: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=18060
คฤหัสถ์ 4: http://baanhong.fix.gs/index.php?topic=175.0
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ 4: http://th.wikipedia.org/wiki/ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ดูเพิ่มเติม

ขอให้คนไทยชาวพุทธน้อมนำไปปฏิบัติเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนเองสืบไป และขอนำเสนอบทความที่ผมเขียนดังนี้

เรื่อง “พระพุทธเจ้า: ผู้ประกาศศักยภาพความเป็นมนุษย์”

          พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้อวตารหรือถูกส่งมายังโลกนี้ นี่คือความจริงที่ไม่อาจบิดเบือน แต่ในภายหลังพระพุทธเจ้ากลับได้รับการยกฐานะให้แปลกแยกไปจากความเป็นมนุษย์ บทความนี้จึงมุ่งชี้ให้เห็นถึงพระพุทธเจ้าในแง่มุมที่เป็นมนุษย์ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุธรรมได้ 

          ผมเขียนบทความนี้จากการอ่านหนังสือ “คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่ วรรณกรรมพุทธประวัติในทัศนะใหม่” ที่แปลมาจากหนังสือ “Old Path White Clouds: Walking in the Footsteps of the Buddha” ของท่านภิกษุ ติช นัท ฮันห์ และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย คุณรสนา โตสิตระกูล และคุณสันติสุข โสภณสิริ ซึ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง 
ฝึกฝนเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า 
          มนุษย์ผู้กลายเป็นศาสดานี้ ศึกษาจนรอบรู้ทั้งศาสตร์และศิลปอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง สมัยที่ยังเป็นเด็กนั้นศึกษาจนเก่งคณิตศาสตร์อย่างหาใครเทียบไม่ได้ มีความตั้งใจเรียนด้านภาษาและประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังฝึกฝนกีฬาจนชนะเลิศในการแข่งขันทุกประเภททั้งยิงธนู ฟันดาบ ขี่ม้าและยกน้ำหนัก พระพุทธเจ้ามีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการแสวงหาโอกาสศึกษา 
          ก่อนตรัสรู้ พระพุทธเจ้ายังศึกษาคัมภีร์ศาสนาอื่นจนหมดสิ้น น้อมใจเป็นศิษย์ในหลายสำนักโดยพำนักแห่งละ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง จนพลังภาวนาและพลังสมาธิแก่กล้ายิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถค้นพบหนทางที่แท้จริงได้ในช่วงแรก นี่แสดงชัดว่าผู้ที่จะบรรลุธรรมได้ต้องศึกษาอย่างจริงจังต่อเนื่องจนรู้แจ้งเพื่อนำมาสังเคราะห์ด้วยตนเองในที่สุด 

ผู้ตื่นรู้จากความเชื่อเดิม
          พระพุทธเจ้าหมายถึงบุคคลผู้ตื่นและมีความรู้แจ้งต่อการเปลี่ยนแปลง ความเป็นเอกภาพของสรรพสิ่งที่มีทั้งความเกื้อหนุน ความขัดแย้งและความสัมพันธ์ต่อกันและกัน พระพุทธเจ้าบรรลุถึงหนทางไปสู่การดับทุกข์ในระดับต่าง ๆ ตามศักยภาพของมนุษย์แต่ละคน พระพุทธเจ้าสอนว่าบุคคลไม่สามารถข้ามพ้นจากอวิชชาโดยการสวดอ้อนวอนและยัญบูชาอย่างงมงาย และไม่อาจกำจัดความโกรธ ความกลัวได้ด้วยการเก็บกดความรู้สึก ต้องใช้ปัญญาให้เกิดการรู้จริงถึงปัญหา 
          พระพุทธเจ้ายังกล่าวว่า คำสอนเป็นวิธีการในการบรรลุถึงความจริง แต่มิใช่เป็นตัวความจริงเอง เป็นมรรควิธีแห่งการปฏิบัติ มิใช่เป็นอะไรที่มีไว้สำหรับยึดถือหรือบูชา ดังนั้นใครก็ตามแม้อ่านและจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด แต่ไม่ปฏิบัติ ก็ไม่อาจรู้แจ้ง คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่สิ่งลี้ลับยากเย็น เพราะแม้แต่เด็ก ๆ วรรณะจัณฑาลผู้ไม่มีการศึกษา ก็ยังฟังเข้าใจ 
พระพุทธเจ้าเน้นความเป็นวิทยาศาสตร์โดยกล่าวว่า หากการหมายรู้ของบุคคลถูกต้องแม่นยำ (ด้วยการใช้ข้อมูล ความรู้และปัญญา) ความจริงก็จะปรากฏ พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อและยอมรับต่อสิ่งที่สอดคล้องกับมโนธรรมสำนึก ต่อสิ่งที่บัณฑิตผู้มีคุณธรรมและปัญญายอมรับและสนับสนุน และต่อสิ่งที่เมื่อปฏิบัติแล้วสามารถยังประโยชน์และความสุขแก่ทุกฝ่าย คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่อิงกับศรัทธาความเชื่อที่ห้ามโต้แย้ง พระพุทธเจ้าสอนให้เคารพอย่างแท้จริงต่อเสรีภาพทางความคิด 

ความเป็นมนุษย์ของพระพุทธเจ้า
          พระพุทธเจ้าก็มีความชอบส่วนบุคคล เช่น โปรดประทับภาวนาท่ามกลางป่าประดู่ลาย มีความไม่พอใจ เช่น เคยดุว่าพระราหุล หรือมีความเศร้าในยามที่ภิกษุกลุ่มหนึ่งไม่ใส่ใจรับฟังคำชี้แนะ พระอรหันต์เช่นพระสาลีบุตรก็แสดงอารมณ์เศร้าโดยการเก็บตัวอยู่แต่ในกุฏินับแต่พระโมคคัลลานะถูกฆาตกรรม จนพระพุทธเจ้าไปเยี่ยมปลอบใจ เป็นต้น 
          ในด้านศิลป พระพุทธเจ้ายังเป่าขลุ่ยได้ รู้จักชื่นชมในสิ่งอันสุนทรีย์โดยไม่ถูกครอบงำด้วยความสวยงามหรือความน่าเกลียด นอกจากนี้ยังเคยฝึกเลียนเสียงช้างจนเหมือน ซึ่งครั้งหนึ่งนำไปใช้ในยามคับขันที่ช้างดุร้ายเชือกหนึ่งวิ่งตรงเข้ามา พระพุทธเจ้าเปล่งเสียงช้างออกมาดังสะท้านจนช้างเชือกนั้นหยุดชะงักในทันที 
          พระพุทธเจ้ายังอาจพูดใหม่ แก้ไขให้ถูกต้องได้ กล่าวคือ ครั้งหนึ่งบอกให้พระอหิงสกะ (องคุลิมาล) บอกแก่หญิงผู้หนึ่งว่า ตั้งแต่ตนเกิดมา ไม่เคยประทุษร้ายชีวิตใด พอพระอหิงสกะทักว่า ถ้ากล่าวเช่นนั้นก็เท่ากับพูดเท็จ พระพุทธเจ้าจึงให้พระอหิงสกะกล่าวใหม่ว่า นับแต่วันที่ตนถือกำเนิดในอริยธรรม ไม่เคยประทุษร้ายชีวิตใดเลย เป็นต้น 

ต่อครอบครัวและความรัก
          พระพุทธเจ้ากล่าวสัจพจน์สำคัญกว่า “ที่ใดที่รัก ที่นั่นมีทุกข์” เพราะความผูกพัน หากสูญไป ก็เสียดาย โดยเฉพาะความรักที่อยู่บนฐานของราคะ ตัณหา และความยึดติด แต่ก็ยังมีความรักอีกประเภทหนึ่งที่ประกอบไปด้วยความปรารถนาดีและต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ หรือที่เรียกว่า เมตตาและกรุณา ซึ่งถือเป็นความงามประเภทเดียวที่ไม่จางหายและไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ 
พระพุทธเจ้าแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวมเป็นอย่างดี เช่น การระมัดระวังในการปฏิบัติต่อสงฆ์กลุ่มที่เป็นญาติโดยไม่ให้สิทธิพิเศษใด การเข้มงวดแม้กระทั่งภิกษุณีมหาปชาบดี พระราหุลก็ไม่เคยนอนในกุฏิเดียวกับพระพุทธเจ้า พระราหุลยังเคยปรารภว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยปฏิบัติต่อท่านอย่างชื่นชอบเป็นพิเศษ แต่พระอหิงสกะ (องคุลิมาล) กลับได้รับคำยกย่องอย่างสูงยิ่งในฐานะโจรกลับใจผู้มีความอดทนสูงส่ง เป็นต้น 

มุมมองใหม่ในสิ่งที่เคยเชื่อ
          ปกติเราเชื่อว่าภิกษุไม่ควรสัมผัสสตรี แต่เราก็คงเคยเห็นองค์ทะไล ลามะ หรือท่านภิกษุ ติช นัท ฮันท์ สัมผัสมือกับสตรี ในขณะที่พระพุทธเจ้าไปหาพระนางยโสธรา ก็ยังสัมผัสมือกัน หรือสามเณรราหุลก็ยังเคยสวมกอดพระมารดา เป็นต้น ข้อนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่แตกต่างระหว่างพุทธศาสนาแบบไทยกับแบบอื่น ซึ่งแสดงว่าเราควรใช้วิจารณญาณศึกษาเชิงเปรียบเทียบ
กรณีอดีตชาตินั้น มีกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าเห็นการเกิดและตายทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งกรณีนี้คงขึ้นอยู่กับการตีความ หากตีความอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็หมายถึงว่า “สสารไม่สูญหายไปไหน” พระพุทธเจ้าเคยกล่าวว่า ก่อนที่ตถาคตจะเกิดมาเป็นมนุษย์ ตถาคตเคยเป็นดินและก้อนหิน เคยเป็นต้นไม้ เป็นนก และในชาติปางก่อน พวกเราล้วนเคยเกิดเป็นมอส หญ้า ต้นไม้ ปลา เต่า นก เป็นต้น ดังนั้นพระพุทธเจ้าคงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งเป็นสำคัญ

ปัญหาสังคมในมุมมองใหม่
          ในสมัยพุทธกาล ความยากจนของชาวนา ปัญหาเด็กพิการ ขอทาน การเจ็บป่วย เป็นปัญหาที่แม้แต่กษัตริย์ก็ไม่มีอำนาจที่จะแก้ไข อำนาจของกษัตริย์เปราะบางและมีอยู่อย่างจำกัด แม้กษัตริย์จะทราบถึงความละโมบและการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ก็จำต้องอาศัยพวกขุนนางทุจริตเหล่านี้รักษาบัลลังก์ ขุนนางเหล่านี้ต่างก็ขับเคี่ยวกันเพื่อมุ่งปกป้องและสร้างฐานอำนาจของตนเอง ไม่ใช่มุ่งขจัดความทุกข์ยากให้ผู้ยากไร้ 
          อาจกล่าวได้ว่า การทำทานก็ช่วยบรรเทาทุกข์ผู้ยากไร้ได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทางออกที่ดีจริง อาชญากรรมและความรุนแรง เป็นผลพวงของความอดอยาก ยากจน วิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือประชาชน และช่วยให้ประชาชนมั่นคงปลอดภัยดี ก็คือการมุ่งสร้างเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ โดยการจัดสรรทรัพยากร ทุน และภาษี เป็นต้น 

สร้างความเท่าเทียมในหมู่ชน
          ในสมัยนั้น ประชาชนถูกครอบงำกดขี่จากพวกพราหมณ์ โดยต้องยอมเสียเงินให้เพื่อรับการทำพิธีที่ถูกต้องแม้ว่าพวกเขาจะยากจนเพียงใด แต่พระพุทธเจ้ากลับมุ่งสร้างความเท่าเทียมในหมู่ชน โดยแสดงออกด้วยการดื่มน้ำแก้วเดียวกับเด็กชายวรรณะจัณฑาลทั้งยังให้เด็กคนนั้นดื่มก่อน และยังรับคนจัณฑาลเข้ามาอยู่ในคณะสงฆ์ แต่ทำไมในทุกวันนี้ พุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์กลับแยกกันแทบไม่ออก ใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนเสริมต่อ และใครได้ประโยชน์จากการนี้ 
การช่วงชิงผลประโยชน์ทางการเมือง และการสงครามของกษัตริย์นครต่าง ๆ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน พระพุทธเจ้าก็เคยห้ามศึกในหมู่ญาติ นี่แสดงว่าหากกษัตริย์หรือข้าราชการไม่ได้รับการควบคุมที่ดี ประเทศไม่ได้เป็น “ประชารัฐ” ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ ก็ย่อมก่อสงคราม กดขี่และสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชนได้ 

คำราชาศัพท์กับพระพุทธเจ้า
          ในการเขียนถึงพระพุทธเจ้า เรามักใช้คำราชาศัพท์ พระพุทธเจ้าก็เคยเป็นเจ้าชายมาก่อน และหากครองราชย์ ก็อาจเป็นมหาจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ของโลก แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ประสงค์จะอยู่ในวรรณะกษัตริย์ ประสงค์จะใช้ภาษาและคำพูดธรรมดา ดังนั้นการใช้คำราชาศัพท์กับพระพุทธเจ้า แม้ในแง่หนึ่งถือเป็นการแสดงความเคารพสูงสุด แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นการไม่นำพาต่อความตั้งใจของพระพุทธเจ้าในการสละวรรณะนี้ การใช้คำราชาศัพท์ก็เท่ากับการผูกพันพระพุทธเจ้าไว้กับวรรณะเฉพาะ 
โปรดสังเกตว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ถือตน โดยสมัยที่ลาจากวรรณะกษัตริย์มาบำเพ็ญเพียร เด็กชายวรรณะจัณฑาลให้หญ้ามาใช้ปูนั่ง ก็ยกมือไหว้ขอบคุณ สมัยเป็นพระพุทธเจ้าก็พนมมือ น้อมกายเป็นการตอบรับ พระพุทธเจ้าเคยช่วยเด็กวรรณะจัณฑาลตัดหญ้าด้วย หรือร่วมกับพระอานนท์ช่วยกันอุ้มภิกษุที่อาพาธขึ้นเตียงและเปลี่ยนจีวรให้ แล้วยังขัดถูพื้นกุฏิและซักจีวรที่เกรอะกรังดินของภิกษุดังกล่าว เป็นต้น 
           การที่มนุษย์ผู้หนึ่งสามารถบรรลุธรรม จนประกาศศาสนาให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจมานับได้ 2555 ปีเช่นนี้ ทำให้เห็นชัดถึงศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและจิตใจอย่างเอนกอนันต์ได้ เราจึงต้องเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สามารถเป็นอิสระจากอวิชชาด้วยการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาสังเคราะห์ด้วยปัญญาให้รู้จริง 
           พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ที่เราเข้าถึงได้ และที่สำคัญอย่าลืม “บุคคลไม่สามารถข้ามพ้นจากอวิชชาโดยการสวดอ้อนวอนและยัญบูชา”

-------------------------------------------------------------------------

ความลับการว่ายน้ำข้ามเจ้าพระยาของผม 
อาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

ดูนโยบายของผมที่: http://www.sopon4.housingyellow.com/p.php?p=pages_40.php


          ทุกท่านคงได้เห็นข่าวที่ผมว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 แล้ว วันนี้ผมขออนุญาตเปิดเผยความลับบางประการ และวิงวอนอย่าให้ใครนึกคึกคะนองมาลอกเลียนแบบเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
          วันนั้นผมว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ใต้สะพานพระรามที่ 8 ผมตั้งใจจะว่ายตรงไปฝั่งตรงข้าม แต่เพราะคลื่นและกระแสน้ำ ผมจึงถูกพัดเฉียงไปจนเกือบถึงท่าน้ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อยู่ข้าง ๆ เป็นระยะทาง 300 เมตร โดยใช้เวลา 7 นาที หลังจากนั้นผมจึงว่ายทวนน้ำกลับไปที่ใต้สะพานฝั่งตรงข้ามระยะทาง 100 เมตรโดยใช้เวลาอีกเกือบ 5 นาที สิริรวมแล้วว่ายน้ำอยู่ 400 เมตรใช้เวลาถึง 12 นาที ความจริงผมตั้งใจจะว่ายกลับมาอีกรอบหนึ่งด้วยซ้ำไป แต่เปลี่ยนใจเอาไว้คราวหน้าจะได้เหลือมุขไว้ ‘โชว์พาว’ (ฮา)
           หลายคนงงว่าทำไมผมซึ่งมีอายุ 55 ปี (แต่ใบหน้าดูแก่กว่า) มีน้ำหนัก 83 กิโลกรัม จึงทำสำเร็จได้ พวกหนุ่มฉกรรจ์ปอเต๊กตึ๊งที่มาคอยช่วยเหลือ ถึงกับขอถ่ายรูปกับผมด้วยความทึ่ง ความลับอยู่ที่การฝึกจังหวะหายใจแบบว่ายน้ำ ถ้าเราหายใจไม่เป็น ว่ายแค่ 20 เมตรก็หอบแล้ว ผมฝึกว่ายน้ำจนว่ายต่อเนื่องได้ 2-3 กิโลเมตรโดยไม่เหนื่อย  มาฝึกตอนอายุ 42 ปีแล้ว ฝึกได้ไม่ยาก ใช้เวลาไม่กี่เดือน ความลับอีกอย่างคือผมว่ายท่าฟรีสไตล์ช้า ๆ ไม่ออกแรงมากจนเกินไป ทำให้ไม่เป็นตะคริว เห็นไหมครับทุกคนก็ทำได้เหมือนผมครับ
          ทำไมหลายคนไม่กล้าว่ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สาเหตุคือการกลัวความกว้างและความลึกของแม่น้ำที่ทำให้มองไม่เห็นว่ามีอะไรอยู่เบื้องล่าง รวมทั้งคลื่นแรงบนผิวน้ำและคลื่นใต้น้ำ บางคนบอกว่าน้ำกลางแม่น้ำที่ลึกนั้นเย็นมาก อาจเป็นตะคริว และอาจมีจระเข้ แต่ถ้าเราฝึกฝนจนแข็งแรงพอแล้ว เราก็ทำได้ วันนั้นผมกะจะว่ายตรงไปฝั่งตรงข้ามแต่ก็ถูกน้ำพัดเบนไปเกือบร้อยเมตร ต้องว่ายทวนน้ำถึงจุดหมายรวมระยะทาง 400 เมตร ส่วนเรื่องความเย็นของน้ำกลางแม่น้ำ คลื่นใต้น้ำ จระเข้ ผมก็ไม่พบระหว่างที่ว่ายแต่อย่างใด
          นักว่ายน้ำเก่งๆ ที่เก่งกว่าผมเป็นร้อยเท่าพันทวี ก็ไม่คิดจะว่ายข้ามเจ้าพระยาเช่นผม ความลับก็คือ พวกเขากลัวน้ำสกปรก ผมเองก็ดูแลตัวเองเต็มที่โดยไม่ได้กินน้ำแม้แต่อึกเดียวด้วยการหายใจให้เป็น อันที่จริงน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สะอาดเท่าสระว่ายน้ำและมีคุณภาพลดต่ำลง ผมจึงว่ายน้ำเพื่อรณรงค์ให้ทุกคนรักแม่น้ำและรักษาคุณภาพน้ำให้สามารถใช้ได้
          ความลับประการสุดท้ายที่ทำให้ผมตัดสินใจว่ายน้ำก็คือการคุ้มกันและกำลังใจครับ วันนั้นมีทั้งเจ้าหน้าที่มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า และเพื่อนผมที่เป็นนักว่ายน้ำทีมชาติ ดูผมอยู่ไม่ห่างพร้อมตรงเข้าช่วยเหลือทันที นอกจากนี้ยังมีศรีภริยาและเพื่อนร่วมงานที่บริษัทของผม รวมทั้งกองทัพนักข่าวมาให้กำลังใจอีกมากมาย ถ้าไม่เช่นนั้นอยู่ดี ๆ ผมก็คงไม่ว่ายน้ำข้ามไปหรอกครับ   
          การว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่คนทั่วไปคิดว่าทำไม่ได้นั้น จริงๆ แล้ว หากเรารู้ตัวทั่วพร้อมถึงศักยภาพของเราเองว่ามีความสามารถเพียงพอที่จะว่ายข้ามได้ เราก็ทำได้แน่นอน ความเสี่ยงมีค่าเท่ากับศูนย์ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนดำรงอยู่ เช่น มีคนโดดสะพานลงมาทับพอดี เป็นต้น ความสำเร็จนี้ไม่ได้อยู่ที่ความศรัทธาที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์  ในวันนั้น ผมไปกราบพระรูป ร.8 อดีตนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์เช่นผม ปกติผมกราบพระและนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็เพื่อขอให้มีแน่วแน่เป็นคนดี ไม่จิตตก ไม่ได้ขอพรพิเศษใดๆ
          โดยสรุปแล้ว ผมใช้ความสามารถ ความกล้าและความแม่นยำในการคำนวณทำการที่คนส่วนมากอาจเห็นว่าเป็นไปได้ยาก เพื่อแสดงให้เห็นว่าถึงแม้หน้าจะแก่ แต่ยังมีพลังวังชาทำงาน จิตใจเร่าร้อนเช่นคนหนุ่มสาว รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการสัมผัสและเคารพในสายน้ำ ซึ่งผมหวังขยายผลให้เป็นการว่ายน้ำหมู่เพื่อทวงคืนแม่น้ำเจ้าพระยามาเพื่อชาวบ้าน ไม่ใช่กลายเป็นเพียงที่ระบายน้ำและใช้ขนส่งสินค้าเท่านั้น การพายเรือคลองแสนแสนทั้งที่ส่งกลิ่นบ้างแต่ชาวบ้านเขาก็ทนน้ำเน่ามาชั่วนาตาปี เป็นต้น

[ รูปภาพที่ 1: http://www.sopon4.housingyellow.com/images/sopon_articles/p40_3.jpg ]

โปรดดู link เพิ่มเติมได้ที่
Clip ดร.โสภณ ว่ายน้ำ www.youtube.com/watch?v=Nyl3xUhF7iU&NR=1&feature=endscreen
ข่าว ดร.โสภณ จากเก็บตกจากเดอะเนชั่น www.youtube.com/watch?v=4cPqBTsAVYA
ข่าวค่ำ DNN: www.youtube.com/watch?v=50MdNmNBo_0
ข่าวเที่ยง DNN: www.youtube.com/watch?v=Zlwt-nwcepw
ดร.โสภณ แข่งขันว่ายน้ำที่บริษัท www.youtube.com/watch?v=dSpM4mh9lZw
ดร.โสภณ แสดงตัวอย่างการว่ายแบบช้าๆ: www.youtube.com/watch?v=9Nfvt9J8M78
คำแถลง ดร.โสภณ: การว่ายน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อม: www.sopon4.housingyellow.com/p.php?p=pages_36.php

 

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา