นโยบายต่อครู ศูนย์เยาวชนและที่อยู่อาศัย
นโยบายต่อครู ศูนย์เยาวชนและที่อยู่อาศัย
ศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556
ดร.โสภณ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 ได้เดินทางไปหาเสียงและได้นำเสนอนโยบายที่น่าสนใจไว้ดังนี้:
นโยบายต่อครู กทม.
ส่วนมากผู้สมัครอื่น ๆ ที่ไปแสดงวิสัยทัศน์พร้อมผมเมื่อวานนี้ที่คุรุสภา มุ่งเน้นที่การจัดสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ กทม. มีแผนดำเนินการด้วยดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมเสนอก็คือ การให้องค์กรวิชาชีพครูที่มีอยู่ต้องมีความเป็นประชาธิปไตย ผู้แทนมาจากการเลือกตั้งของครู ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้ง ลากตั้งหรือสรรหา ซึ่งไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย และไม่ได้ผู้แทนที่เป็นปากเสียงหรือรู้ปัญหาครูจริง ๆ
ผมยังเสนอให้มีการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อยกระดับวิชาชีพให้สูงขึ้นด้วยความสามารถล้วน ๆ ไม่ใช่ “ด.ว.ง.” หรือเด็กใคร วิ่งหรือไม่ และเงินถึงหรือไม่ การมีใบอนุญาตและมีการสอบทุกปี จะทำให้ครูมีการพัฒนาตนเอง โดยเน้นที่นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้ระบบการศึกษาของ กทม. ได้รับการยกระดับให้สูงยิ่งขึ้น
ยิ่งกว่านั้น ผมยังเสนอให้ตำแหน่งบริหารกับตำแหน่งวิชาการเท่ากัน ไม่ใช่เอาครูดี ๆ ไปบริหาร 1 คน เท่ากับเสียครูดี ๆ ไป 1 คน ได้ผู้บริหารห่วย ๆ มา 1 คน ผู้บริหารก็จัดการงานธุรการทั่วไป ไม่ใช่ชี้เป็นชี้ตายกลายเป็นเจ้าชีวิตคนอื่น อย่างนี้คนจะถูกครอบงำ และที่สำคัญการแต่งตั้งโยกย้ายต้องมีความเป็นธรรม อย่าให้มีข่าวซุบซิบเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ข้าราชการ (ครู) กทม. จะได้มีกำลังใจทำงานเพื่อประชาชนกรุงเทพมหานคร
นโยบายที่อยู่อาศัย
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ กทม. ทุกวันนี้ในกรณีของสำนักการโยธาก็คือ การตรวจอาคารเมื่อประชาชนก่อสร้างเสร็จ ตามระเบียบต้องตรวจละเอียดถึงขนาดของบันได ลูกระนาด ฯลฯ ซึ่งเสียเวลาเจ้าหน้าที่และเจ้าของบ้าน เจ้าของโครงการ อาคารใดที่สถาปนิกได้ออกแบบและมีวิศวกรก่อสร้างแล้วตามนั้น ควรเป็นความรับผิดชอบของนักวิชาชีพเหล่านี้เอง
แนวเวนคืนต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ต้องชัดเจน บางทีกำหนดไว้กว้างเป็นกิโลเมตร แต่จะเวนคืนจริงเพียง 60 เมตร อย่างนี้ชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็ “พลอยฟ้าพลอยฝน” ไปด้วย จะซื้อ-ขายก็ไม่มีคนเอาด้วย และหากมีการเวนคืนไม่ควร “ต่ำ-ช้า” หมายถึงจ่ายต่ำ ๆ จ่ายช้า ๆ ควรจ่ายให้สมเหตุผล ควรสร้างบ้านหรือห้องชุดใกล้ๆ เพื่อย้ายชาวบ้านที่ไม่ต้องการรับค่าทดแทนให้ไปอยู่ที่อื่น สามารถอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนในการย้ายโรงเรียนหรือที่ทำงาน
กทม. ควรจัดหาที่ให้ติดป้ายโฆษณาชั่วคราวต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบ ทุกวันนี้โครงการต่าง ๆ ต้องจ่ายพิเศษ (ให้ใครก็ไม่รู้) เพื่อให้ติดป้ายในที่สาธารณะให้อยู่ได้นาน ๆ กทม. น่าจะหารายได้จากการติดป้ายชั่วคราวได้มหาศาล แล้วนำเงินมาพัฒนากรุงเทพมหานครได้อีกมาก
ผมเห็นว่าควรสร้างอาคารสูง ๆ อย่ากลัวไฟไหม้ เพราะอาคารสมัยใหม่มีระบบป้องกันดี ตามสถิติอาคารสูงไฟไหม้ลดลงตามลำดับ อย่าให้ระบบดับเพลิงที่ไม่มีประสิทธิภาพมาเป็นข้ออ้างห้ามสร้างตึกสูง เพราะจะทำให้กรุงเทพมหานครขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต
นโยบายต่อเยาวชน
เยาวชนเป็นผู้มีพลังมาก ควรเปิดโอกาสให้แสดงพลังเชิงสร้างสรรค์เพื่อสังคม เป็นการปลูกจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม รักหมู่คณะ ชุมชน โดยการให้การศึกษาให้ทราบว่า งบประมาณที่รัฐบาลนำเงินภาษีจากประชาชน ตาสีตาสา มาสนับสนุนต่อปีสูงมาก เราจึงควรแทนคุณประชาชน ไม่ใช่เห็นว่าเป็นของฟรี จะได้ไม่ดูถูกประชาชนคนเล็กคนน้อยทั้งหลาย
ระบบการเรียนการสอนนักเรียน นักศึกษาต้องมีประสิทธิภาพ มีครูดี ๆ มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดชั้นเลิศผ่านระบบ online ในกระบวนการเรียนต้องให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ให้นักเรียนมีส่วนร่วม ไม่ใช่สอนแบบพระตีระฆังไปวัน ๆ นอกจากนี้ในองค์กรของเยาวชน ต้องมาจากกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การสรรหา หรือแต่งตั้ง เพื่อให้เป็นผู้แทนของเยาวชนที่แท้จริง
ดูนโยบายของผมได้ที่นี่: http://sopon4.housingyellow.com/p.php?p=pages_38.php
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้