ฝากบทความดีๆเรื่องประชาคมอาเซียนด้วยค่ะ
ประชาคมอาเซียน ผลกระทบต่อธุรกิจและกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดของประเทศไทย
รองศาสตราจารย์ ดร. จุฑา เทียนไทย
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ความเป็นมาของประชาคมอาเซียนและแนวโน้มในอนาคต
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ก่อนที่จะมีการกล่าวขานกันเรียกว่ากลุ่มประชาคมอาเซียนนั้น เดิมทีได้มีการรวมตัวของกลุ่มประเทศเหล่านี้ภายใต้ชื่อเรียกอื่น ว่าสมาคมอาเซียนกันมาก่อน ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้ประเทศทั้ง 10 ประเทศในปัจจุบัน ทั้งนี้เดิมทีการดำเนินการจัดตั้งสมาคมอาเซียนนั้นจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ซึ่งในระยะเริ่มแรกนั้น ประเทศไทยและประเทศอื่นๆอีก 4 ประเทศเป็นแกนนำรวมทั้งหมด เป็น 5 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย ไทย (2510) สิงค์โปร์ (2510) อินโดนีเซีย (2510) มาเลเซีย (2510) ฟิลิปปินส์ (2510) ต่อมามีประเทศ บรูไน ( 2527) เวียตนาม (2538) ลาว (2540)พม่า (2540) และ กัมพูชา (2542) ได้เข้ามาร่วมสมทบรวมเป็น 10 ประเทศดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน และในอนาคตอันใกล้ คาดว่าอาจจะมีประเทศอื่นๆอีก 3 ประเทศ หรืออีก 6 ประเทศเข้ามาร่วมด้วย ประเทศเหล่านี้ประกอบไปด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ดังที่เรียกขานกันในนาม กลุ่ม ASEAN +3 หรือ ASEAN + 6 กันตามลำดับและเมื่อเป็นเช่นนั้นในอนาคต ประชาคมอาเซียนจะกลายเป็นกลุ่มประชาคมที่มีประชากรจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก หรือประมาณ 3,284 ล้านคนและทำให้เป็นการรวมกลุ่มที่มี สภาพเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่โตมากกว่าการรวมกลุ่มของภูมิภาคอื่นๆในโลก ดังที่มีผู้รู้หลายท่านได้กล่าวว่าจะเท่ากับประมาณ 22% ของ GDP ของโลกทีเดียว
ในระยะแรกของการเป็นสมาคมอาเซียน ผู้นำในประเทศเหล่านี้ก็ได้ให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในด้านต่างๆ จนกระทั่งในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2546 ได้มีการเห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่กลุ่มประเทศทั้ง 10 นี้น่าจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านต่างๆให้ทัดเทียมกับการการรวมกลุ่มในภูมิภาคอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ฯลฯ ดังนั้นผู้นำของแต่ละประเทศจึงตกลงใจลงนามในปฎิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน หรือ“ข้อตกลงบาหลี” ให้จัดตั้ง ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ขึ้นและมีเป้าหมายที่อยากจะให้สำเร็จเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายในปี พ.ศ.2563 หรือปี ค.ศ. 2020 ซึ่งนับเป็นกำหนดเวลาเดิม ต่อมา ในการประชุม ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 12 ที่ประเทศฟิลิปปินส์เหล่าผู้นำในชาติต่างๆได้เล็งเห็นว่าหากการรวมตัวกันตามกำหนดเดิมอาจไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควรโดยเฉพาะความร่วมมือช่วยเหลือระหว่างกันและกันในด้านต่างๆจึงตกลงร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้นทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันซีกโลกต่างๆกำลังมีสภาพมีการแข่งขันที่รุนแรงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและในด้านอื่นๆ หากล่าช้าไป การรวมกลุ่มจะได้รับผลสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่น้อยลงและประกอบกับในปัจจุบันอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของบางประเทศสูงมาก เช่น จีนและอินเดีย ซึ่งประชาคมอาเซียนซึ่งอยู่ใกล้ชิดสามารถที่จะแสวงหาประโยชน์และความร่วมมือในด้านต่างๆได้ทันเหตุการณ์ ดังนั้นผู้นำทั้ง 10 ประเทศจึงตกลงให้ร่นเวลาให้แล้วเสร็จในปี 2558 หรือ ค.ศ. 2015 และเพื่อที่จะให้การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนเป็นจริง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ อำเภอชะอำ และหัวหิน เมื่อ 1 มีนาคม 2552 ผู้นำทั้ง 10 ประเทศจึงได้ลงนามรับรองปฎิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 อีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะให้เป็นข้อตกลงและเป็นข้อกำหนดให้แต่ละประเทศรับไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ปัจจุบันกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ 580 ล้านคนซึ่งนับว่าจะเป็นกลุ่มประชาคมที่มีขนาดใหญ่พอสมควรและมีความสำคัญทางการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนการร่วมมือเสริมสร้างความมั่นคงและความร่วมมือช่วยเหลือกันทางสังคมวัฒนธรรมที่พึงพาซึ่งกันและกันในอนาคต
องค์ประกอบหลักของประชาคมอาเซียน
ในประเทศไทย เรามักจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีความสำคัญ มีผลกระทบในด้านต่างๆกันมาพอสมควร จนทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวกันว่าการจัดตั้งประชาคมอาเซียนจะมีแต่ด้านเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจเป็นแกนนำแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ แต่อันที่จริงแล้วองค์ประกอบหลักของประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกสามปี ( พ.ศ.2558) นั้น จะประกอบไปด้วยแกนหลักๆ 3 ด้านด้วยกัน ซึ่งจะเรียกว่า 3 เสาหลักก็ว่าได้ และองค์ประกอบหลักๆทั้ง 3 ทั้งสามส่วนนี้ ประกอบไปด้วยด้วย
1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community –(APSC)
2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – (AEC)
3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC))
พันธกิจและเป้าหมายของแต่ละด้าน
พันธกิจสำคัญของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community (APSC)) นั้น จะเกี่ยวข้องกับ การมุ่งให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ การจัดให้มีระบบการจัดการการขัดแย้งระหว่างกันและกัน การส่งเสริมให้มีเสถียรภาพด้านการเมืองและความมั่นคง และการมีกรอบความร่วมมือเพื่อรองรับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาคมมีความปลอดภัยและมั่นคงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC)นั้นมีเป้าหมายที่จะมุ่งให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้เกิดความมั่งคั่ง ภูมิภาคมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆได้ และเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศอาเซียน รวมทั้งมุ่งให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของ สินค้า การบริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจและลดปัญหาความยากจน และความเลื่อมล้ำทางสังคมภายในปี 2020 เรียกได้ว่าเน้นหนักไปในด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนเป็นสำคัญ ทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (single market and production base) อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียนเพื่อลดช่องว่างของการพัฒนา และช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมกระบวนการการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ประการสุดท้ายส่งเสริมความร่วมมือในนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ตลาดการเงินและตลาดทุน การประกันภัยและภาษีอากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม การพัฒนาความร่วมมือทางด้านกฎหมาย การเกษตร พลังงาน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยยกระดับการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงานให้พัฒนาขึ้น
ส่วนองค์ประกอบของประชาคมอาเซียนองค์สุดท้าย ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC)) นั้นมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนของแต่ละประเทศอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดีและมีความมั่นคงทางสังคม ยกคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสหรือไร้โอกาส ขจัดความยากจนส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน มีมาตรฐาน คุณภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันลดความเสี่ยงทางสังคมของ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการ ให้การดูแลด้านสาธารณสุข การศึกษา และอื่นๆ ส่งเสริมให้สตรีและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน ด้วยการฝึกทักษะให้ความรู้ รวมทั้งทั้งการเข้าถึงสินเชื่อขนาดย่อม และระบบข้อมูลได้ง่ายขึ้น แก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาระบบสาธารณสุข ให้ดีขึ้น เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ป้องกันอันตรายจากการแพร่กระจายของโรคร้ายแรง เช่น โรคเอดส์ และโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัดนก วัณโรค เป็นต้น ป้องกันปัญหายาเสพติด และพยายามทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ปลอดจากภัยคุกคามเหล่านี้
ดังนั้นจึง เป็นที่ยอมรับกันในประเทศไทย ว่าประชาคมอาเซียนที่จะมาถึงในปี พ.ศ. 2558 นั้นจะมีความสำคัญ และมีผลกระทบกับทุกภาคส่วนในด้านต่างๆกันมากพอสมควร โดยเฉพาะที่มีการเน้นย้ำกันเป็นพิเศษ เห็นจะได้แก่ด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community – AEC และสิ่งนี้ทำให้ทุกภาคส่วนของธุรกิจในประเทศไทยต่างหวั่นไหวไปกันตามๆแม้ว่าอันที่จริงแล้ว องค์ประกอบหลักของประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกสามปีนั้น จะประกอบไปด้วยแกนหลักๆ 3 ด้านด้วยกันดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นแต่ดูเหมือนคนจะลืมอีกสองเสาหลักไปอย่างสิ้นเชิง แต่เมื่อมีผู้กล่าวขวัญกันอยู่เสมอโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งในสามเสากันมามาก ผู้เขียนใคร่ขอแสดงข้อคิดเห็นบทวิเคราะห์ให้เห็นถึงผลกระทบทางด้านนี้เสียเลยทั้งในด้านบวกและด้านลบที่จะมีต่อประเทศไทย เพื่อความกระจ่างว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจะมีสิ่งใดบ้างที่ประเทศไทยจะได้รับผลดีและผลเสียในวันข้างหน้า
ผลกระทบในทางบวกต่อประเทศไทย
เป็นที่ยอมรับกันว่า เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์ในทางบวกหรือผลดีที่จะเกิดขึ้นจะมีดังนี้คือ
ประการแรก ก็คือ จะมีตลาดสินค้าและบริการที่ใหญ่ขึ้น นักธุรกิจไทยจะมีตลาดการค้าที่ใหญ่ขึ้น เพราะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 580 ล้านคน เพราะทั้ง 10 ประเทศนี้ต่างก็มีจำนวนมหาศาลพอสมควร โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรประมาณ 220 ล้านคน บวกกับ ฟิลิปปินส์ ประมาณ 87 ล้านคน เวียดนาม 84 ล้านคน ไทยอีกประมาณ 63 ล้านคน เหล่านี้เป็นต้น นับว่าจะการเพิ่มโอกาสทางการค้าเนื่องจากมีขนาดตลาดที่ใหญ่โตขึ้น และจะเอื้อให้การผลิตในลักษณะที่ผลิตมากขึ้นต้นทุนต่ำลงย่อมมีโอกาสมากขึ้นด้วย (Economies of Scale) แต่ทั้งนั้นทั้งนี้แต่ละประเทศก็ต้องออกแรงขยันหาตลาดและมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการหาลูกค้าเช่นกัน
กลยุทธ์ในด้านการตลาดการหาลูกค้าจะต้องทบทวนกันใหม่ เพราะลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาในประเทศย่อมนำกลยุทธ์ที่เขาเคยประสบความสำเร็จหรือเหนือกว่าเราออกมาใช้และจะมีการนำวัฒนธรรมในการบริโภคสินค้าเข้ามาให้นักการตลาดของเราได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม เราต้องเรียนรู้พฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการตลอดจนลูกเล่นทางการค้าของเขา รวมทั้งความเชื่อต่างๆ การปรับตัวของธุรกิจภายในประเทศจะต้องทันต่อเหตุการณ์และสภาพของตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครปรับตัวหรือมีการเตรียมการที่ดีย่อมได้ผลในทางบวกแต่ในทางตรงกันข้ามหากพ่อค้าของเราปรับตัวช้า จะสูญเสียโอกาสและอาจจะสูญเสียฐานของลูกค้าเดิมไปด้วยเช่นกัน
ประการที่สอง ประเทศไทยจะได้อานิสงส์ ในการที่จะกลายมาเป็นเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุน เงินลงทุน จากต่างประเทศได้มากขึ้นเพราะต่อไปนี้การขยายการลงทุนจากต่างประเทศมาไทยจะกระทำได้ง่ายขึ้น หากเป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ และประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่นๆหลายประการโดยเฉพาะทัศนคติของคนไทยที่มีต่อนักลงทุนชาวต่างชาตินั้นดีมาก แม้ว่าบางครั้งการลงทุนของต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน การจ้างงาน หรือการนำเทคโนโลยีมาช่วยประเทศไทยเลย แต่คนไทยก็ไม่เคยรังเกียจนักลงทุนเหล่านี้ เหมือนดังประเทศอื่น อีกทั้งระเบียบกฎเกณฑ์ด้านการลงทุน ประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่าเปิดโอกาสมากกว่าหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้ แม้กระทั่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวหรือพม่า เป็นต้น
กลยุทธ์ในด้านการลงทุนและการเงิน ของประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้ทันการเข้ามาของต่างชาติ การเปิดเสรีมากเกินไปนอกจากจะทำให้ฐานะของประเทศไทยเกิดความเสี่ยงมากขึ้นแล้ว ไทยจะไม่สามารถหาประโยชน์ได้มากเหมือนแต่ก่อนที่ยังไม่เปิดเสรีในด้านนี้ กฎหมายหรือกฏเกณฑ์ต่างๆของภาครัฐด้านการลงทุนและการเงินจะต้องรื้อปรับระบบกันใหม่ (Reengineering) ในขณะนี้ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศได้รับผลดีอย่างเต็มที่และต้องหามาตรการในการลดความเสี่ยงในด้านการลงทุนและการเงิน ทุกรูปแบบ แต่มิใช่เป็นการสกัดกั้นอย่างมีอคติต่อนักลงทุนชาวต่างชาติเช่นกัน ทั้งนี้รวมทั้งกฎหมายที่ว่าด้วยการถือครองอสังหาริมทรัพย์เช่น ที่ดินเป็นต้น มิฉะนั้นแล้ววันข้างหน้าคนไทยจะไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ธุรกิจก็เป็นธุรกิจของต่างชาติที่เข้ามามีบทบาททำให้ธุรกิจท้องถิ่นที่มีมาแต่ช้านานสูญหายไปหมด โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย
ประการที่สาม การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสามารถทำให้ประเทศไทยมีอำนาจในการเจรจาต่อรองต่อเวทีโลกได้มากขึ้น เพราะต่อไปนี้จะมีฐานประชาคมอาเซียนสนับสนุนอยู่และไม่ใช่ไปแบบโดดเดี่ยวเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งสามารถทำให้ประเทศคู่ค้าต้องรับฟังมากขึ้น เพราะดีไม่ดีอาจจะไปกระทบกับประชาคมอาเซียนไปด้วยเนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกของประชาคมประเทศหนึ่ง
กลยุทธ์ที่จะช่วยได้อาจเป็นไปในรูปการสร้างและการขยายเครือข่ายโดยมีพันธมิตรคู่ค้าที่เป็นนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มอาเซียนเพื่อจะเป็นฐานหรือตัวช่วยในการเจรจาต่อรองมากขึ้น ทั้งนี้โดยอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ร่วมกันและภายใต้ความเป็นธรรมและเสมอภาค รวมทั้งการเรียนรู้เทคนิคในการเจรจาต่อรองในรูปแบบต่างๆทีสอดคล้องต่อประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ
ประการที่สี่ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะทำให้นักธุรกิจไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจและการค้ามีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้ดีขึ้นจากเดิมเพื่อการรองรับการแข่งขัน และสามารถนำมาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆที่พร้อมจะออกไปเพื่อการแข่งขัน รวมทั้งประเทศไทยสามารถเรียนรู้เทคนิคด้านต่างๆของประเทศในกลุ่มนี้มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้าน การผลิต การตลาด การขนส่งและโลจิสติกส์ การจัดการ การเจรจาต่อรอง การเงิน การท่องเที่ยว การเดินอากาศ และอื่นๆ
กลยุทธ์ที่เหมาะสมในประเด็นนี้ก็คือเราต้องหาเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดำรงความเหนือกว่าให้ได้ การลงทุนพัฒนาและการวิจัยในด้านเทคโนโลยีของธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหนทางในการอยู่รอดและสร้างความได้เปรียบในด้านการแข่งขัน ภาครัฐต้องเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาในด้านการผลิตและการบริการและต้องมาช่วยภาคเอกชนในทุกวิถีทาง เพราะหากปล่อยให้ภาคเอกชนกระทำการแต่เพียงฝ่ายเดียวจะไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว เนื่องจากขาดงบประมาณและความร่วมมือของหน่วยงานราชการ การสร้างนวัตกรรมของประเทศไทยจะเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างความแตกต่างและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทยในวันข้างหน้าเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ประการที่ห้า จะมีผลต่อการจ้างแรงงานเพราะสามารถเข้าโรงงานอุตสาหกรรมที่ให้ค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าเดิมรวมทั้งการออกไปหารายได้เพิ่มขึ้นจากค่าแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนสถานประกอบการสามารถที่จะสร้างรายได้ของสถานประกอบการให้มากขึ้นจากการขยายตลาดและการเพิ่มปริมาณลูกค้ามากขึ้น และในที่สุดก็จะมีผลต่อรายได้ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทยดีขึ้นรวมทั้งการได้รับสินค้าและการบริการที่ดีขึ้นหรือมีตัวเลือกและทางเลือกมากขึ้นจากเดิม
กลยุทธ์ที่เหมาะสมในประเด็นนี้ ก็คือการเพิ่มทักษะในด้านภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ที่เคยมีมาแต่ก่อน แต่จำเป็นที่จะต้องมีการเรียนการสอนด้านภาษามาเลย์ ภาษาเวียตนาม ภาษาเขมร ลาว และภาษาพม่าให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในประเด็นนี้ผู้เขียนได้ทราบว่าประเทศมาเลย์เซียได้มีการเรียนการสอนภาษาไทยกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเพื่อการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะ ดังนั้นภาครัฐไม่ว่าจะเป็นระดับประถม มัธยม สายวิชาชีพ หรือแม้กระทั่งระดับอุดมศึกษาก็น่าที่จะมีการปรับตัวเตรียมการกันได้แล้ว เพราะเรื่องของภาษาเป็นเรื่องของการใช้เวลาและการฝึกหัดที่ต้องกินเวลาพอสมควรเพื่อให้ได้ผลดี ในส่วนการศึกษาของภาคเอกชนโดยเฉพาะสถานศึกษาภาคเอกชนก็ควรปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเตรียมการผลิตนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีความพร้อมในด้านนี้ออกไปเช่นกัน
ประการที่หก เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็เท่ากับว่าต่อไปนี้จะมีการปรับปรุงแรงงานฝีมือในสาขาวิชาชีพต่างๆ (7 วิชาชีพ)ให้เท่าเทียมนานาประเทศ สาขาวิชาชีพเหล่านี้ได้แก่ วิศวกร แพทย์ พยาบาล นักบัญชี นักสำรวจ ทันตแพทย์ และผู้ประกอบวิชาชีพ สถาปนิก เพราะสาขาวิชาชีพเหล่านี้เป็นสาขาวิชาชีพหน้าด่านของไทยที่มีความพร้อมสูง มีสมาคมและการรวมตัวที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์ และเป็นสมาคมที่ประชาคมอาเซียนได้ยกมาเป็นกลุ่มแรกของไทยที่จะมีการวางกฏเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ หากจะมีคนในประเทศสมาชิกเข้ามาทำงานในกลุ่มวิชาชีพทั้งเจ็ดนี้ในไทย แต่ในทางกลับกันหากคนไทยที่ทำงานในกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้ยังไม่พร้อมในการปรับตัว ปัญหาก็จะตกมาสู่พวกเขาเช่นกัน ในประเด็นนี้ข้อสรุปก็คือ การเปิดให้ผู้ประกอบอาชีพที่มีคุณสมบัติตามที่ คณะกรรมการประสานงานวิชาชีพสาขาต่างๆทั้ง 7 สาขา (ASEAN Joint Coordinating Committee) และหน่วยงานที่กำกับดูแลวิชาชีพหรือองค์การระดับประเทศสมาชิกต่างๆ หรือ สภาวิชาชีพ (Professional Regulatory Authority) หรือกระทรวง/องค์การที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิก ขึ้นทะเบียนหรือออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพชาวต่างชาติเข้ามาประกอบวิชาชีพในประเทศอาเซียนได้ โดยต้องปฏิบัติตามกฎและระเบียบภายในประเทศนั้นๆ ในทำนองกลับกันหากคนไทยที่ประกอบวิชาชีพเหล่านี้ก็สามารถที่จะไปทำงานยังประเทศอื่นที่มีค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการไทย หรือแรงงานไทยก็จะมีโอกาสออกไปลงทุนหรือทำงานในต่างประเทศมากขึ้น และได้รับค่าตอบแทนที่สูงจากเดิม
กลยุทธ์ที่ควรนำมาพิจารณาในประเด็นนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ความรู้ในด้านภาษาของคนในกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว สามารถสื่อสารได้หลายภาษามากขึ้นจากแต่เดิม รวมทั้งเทคนิคและวิธีการใหม่ๆในการประกอบอาชีพในด้านนั้นๆ ที่จะต้องนำมาเสริมเพิ่มเติมความรู้ให้มากขึ้นจากเดิม รวมทั้งกลยุทธ์ในด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่หาหนทางจูงใจให้คนดีและคนเก่งอยู่ในองค์การของเราให้นานที่สุด ศาสตร์ในด้านการรักษาทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าไว้ในองค์การหรือ Talent Management ควรจะถูกหยิบยกมาพิจารณาและให้ความสำคัญมากขึ้น มิฉะนั้นจะเกิดเหตุการณ์สมองไหลไปสู่องค์การของต่างชาติทั้งในและนอกประเทศไทยกันหมด
ประการที่เจ็ด ประเทศไทยสามารถอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือกันในภาคเศรษฐกิจหรือ AEC นี้เข้าไปเสริมสร้างความสัมพันธ์ในด้านการเมือง การปกครองการป้องกันประเทศให้ดีขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและลดข้อขัดแย้งต่างๆกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็น พม่า กัมพูชา หรือประเทศอื่นๆ โดยผ่านความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเป็นหัวหอกเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีตและจะช่วยให้ด้านอื่นๆมีสัมพันธภาพอันดีตามมาในที่สุด
กลยุทธ์ที่เหมาะสมคือการเรียนรู้และการปรับตัวโดยอาศัยการศึกษาและการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการวัฒนธรรมข้ามชาติหรือที่เรียกว่า Cross Cultural Management มาเป็นหลักเพื่อให้เกิดการผนึกความร่วมมือร่วมใจ ปรองดองกันระหว่างคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่ร่วมกันโดยปราศจากข้อขัดแย้งทางด้าน สังคม เศรษฐกิจและการเมือง
ประการที่แปด ประเทศไทยสามารถหาวัตถุดิบ และทรัพยากรทางธรรมชาติจากแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์แทนการทำลายทรัพยากรภายในประเทศ เรียกได้ว่าไปหามาจากที่อื่นแทนการร่อยหรอของทรัพยากรภายในประเทศไทย ทำให้ไทยมีแหล่งนำเข้าวัตถุดิบจากนานาประเทศมากขึ้น และอาจช่วยในการดำเนินธุรกิจที่ลดต้นทุนในการผลิตและการดำเนินการลงได้
ในประเด็นนี้ การดำเนินกลยุทธ์อะไรก็ตามเหล่านี้ จะต้องดำเนินด้วยความรอบคอบและอยู่ภายใต้ความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกัน มิฉะนั้นประเทศไทยจะได้ชื่อว่ามีแต่นักธุรกิจที่ไปทำลายทรัพยากรของประเทศเขาหรือไปกอบโกยผลประโยชน์จากบ้านเขามา
ประการที่เก้า ประเทศไทยสามารถเกิดการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องธุรกิจ การค้า การท่องเที่ยว กฎหมาย การลงทุน การเงิน รวมทั้งการเรียนรู้ทางการเมือง สภาพสังคมและวัฒนธรรม เทคโนโลยีจากประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทยในขณะนี้คือ การเรียนรู้เรื่องการศึกษา การจัดการธุรกิจ การป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น รวมทั้ง กลยุทธ์ กลวิธี ทางการค้า และ Business Model ซึ่งในที่นี้หมายถึง วิธีการหาเงินของประเทศต่างๆว่าเขาได้มาด้วยวิธีใด และนักธุรกิจ ครูอาจารย์ด้านธุรกิจศึกษาและนักเศรษฐศาสตร์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำมาพัฒนาให้ดีขึ้น และช่วยให้คุณภาพชีวิตของสังคมไทยดีขึ้นในวันข้างหน้า
กลยุทธ์ที่เหมาะสมคือการฝึกที่จะเป็นผู้เรียน หรือนักเรียนที่ดีที่คอยสังเกต จดจำ บันทึก ปรับปรุง ทดสอบ รวมทั้งเป็นนักฟังที่มีประสิทธิภาพ (Good Listener) เพื่อการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานของเราให้ดีขึ้นไปจากเดิม
ประการที่สิบ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง องค์การ หรืออุตสาหกรรมต่างๆต้องรีบปรับตัว ปรับปรุง พัฒนาตัวเองให้ทันต่อวิถีทางการทำงานของคน องค์การ หรืออุตสาหกรรมของประเทศต่างๆในประชาคมอาเซียน อาทิ ครูอาจารย์ วิศวกร แพทย์ พยาบาล นักบัญชี นักสำรวจ ทันตแพทย์ สถาปนิก ต้องมีความรู้มากขึ้นจากเดิม ต้องหาความรู้ที่จะมาปิดจุดอ่อนของเราที่ยังด้อยชาติอื่นๆ อาทิความรู้ด้านภาษาอังกฤษมาเพิ่มเติม ความรู้เดิมๆคงไม่สามารถเอามาใช้เพื่อการแข่งขันได้เหมือนเดิม แต่จะต้องขวนขวายหารูปแบบ และวิธีการใหม่ๆมาใช้ด้วยเช่นกัน นับว่าเป็นโอกาสในการพัฒนา ปรับปรุง หรือแก้ไของค์ความรู้ด้าน เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ การค้าการลงทุน การแพทย์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ ให้ทันสมัยและมีความพร้อมมากขึ้นจากเดิม เป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาของไทยในวันข้างหน้า
ประการที่สิบเอ็ด นับเป็นโอกาสของบางสาขาวิชาชีพที่จะไปทำงานในกลุ่มประเทศในประชาคมอาเซียนได้ง่ายขึ้น และนี่อาจเป็นหนทางหนึ่งในการขจัดความยากจนของแรงงานไทยภายในประเทศบางคน เนื่องจากเขาสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเคลื่อนย้ายไปทำงานต่างแดน
ดังนั้นกลยุทธ์ที่เหมาะสมก็คือ การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆอย่ารอให้วันเวลาผ่านไปพยายามสะสมความรู้ประสบการณ์และทักษะมาเพิ่มเติมให้เกิดคุณค่าในตัวตนให้มากขึ้น การเข้ารับการฝึกอบรมในด้านที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขีดความสามารถหรือสมรรถนะของตนจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ประสบความสำเร็จในการทำงานและการสร้างรายได้ให้ได้มากขึ้น
ประการที่สิบสอง จากประโยชน์ที่ประเทศไทยจะปรับฐานภาษีให้เท่าเทียมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อการแข่งขันนั้น จะเท่ากับเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกของไทยของไทยให้มากขึ้นจากเดิม อันจะทำให้เป็นการหาเงินตราต่างประเทศเข้าไทยได้มากขึ้น ช่วยในการพัฒนาประเทศโดยรวม
ในประเด็นสุดท้ายนี้ กลยุทธ์ในด้านการหารายได้มาชดเชยส่วนที่ปรับลดลงไปจากน่าจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องค้นหาวิธีการ เพราะจากการปรับฐานภาษีให้ลดลงมาจากประมาณ 30% ลงมาให้เหลือ 23% ในปี 2555 และจะให้เหลือ 20% ในปี 2556 และ 2557นั้นรัฐต้องสูญเสียภาษีที่จะนำไปพัฒนาประเทศมากพอสมควร หากไม่คิดหาหนทางที่จะหารายได้มาชดเชยส่วนนี้ รัฐจะลำบากในวันข้างหน้าในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนเพื่อสาธารณประโยชน์และระบบสาธารณูปโภคที่ต้องใช้เงินภาษีมาจุนเจือ
ผลกระทบในทางลบต่อประเทศไทย
ประการแรก ที่กล่าวขวัญและกลัวกันมากในขณะนี้ก็คือ จะมีแรงงานต่างชาติไหลเข้าสู่วิชาชีพ วงการอุตสาหกรรมต่างๆมากขึ้นและจะมาแย่งแรงงานที่เป็นคนไทยไป ทำให้แรงงานไทยเสียโอกาสในการถูกว่าจ้างลดลง ซึ่งมีหนทางที่จะเกิดขึ้นได้และเป็นไปได้เช่นกัน แต่เราต้องไม่ลืมว่าแรงงานเหล่านั้นมีทักษะเท่าเทียมกับแรงงานไทยหรือไม่ เพราะแรงงานไทยได้ชื่อว่าเป็นแรงงานที่มีทักษะพอสมควร แต่หากแรงงานต่างชาติมีทักษะที่เท่าเทียมกับแรงงานไทยหรือเหนือกว่า เพราะอย่างน้อยด้านภาษาอังกฤษที่เขาเหนือกว่านั้น เราก็คงต้องกำหนดยุทธ์ศาสตร์หรือกลยุทธ์ในการขวนขวายเพิ่มเติมความรู้ด้านนี้เพื่อมาปิดจุดอ่อนของแรงงานไทยให้มากที่สุด เพียงแต่ว่าขณะนี้เรามีหน่วยงานใดที่ได้ดำเนินการแล้วหรือยัง ซึ่งคงต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะภาครัฐซึ่งมีสถานศึกษาอยู่ในความดูแลควรจะเป็นหัวหอกหรือแกนนำ เพราะเราท่านก็ทราบถึงจุดอ่อนข้อนี้ดี
ประการที่สอง สิ่งที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคือ ประเทศไทยอาจได้รับสินค้าและการบริการที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน และไม่มีความปลอดภัยที่เพียงพอทะลักเข้ามาตีตลาดอาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเลคโทรนิก บางอย่างซึ่งอาจอาศัยช่องว่างจากการเปลี่ยนแปลงแหล่งที่มาของสินค้าเสียใหม่ ทำทีเป็นว่ามาจากประชาคมอาเซียน แต่อันที่จริงมาจากแหล่งผลิตจากที่อื่น ซึ่งสามารถเข้ามาตีตลาดของไทยได้ง่ายขึ้น และจะทำให้คนไทยต้องบริโภคสินค้าที่ด้อยคุณภาพไปโดยปริยาย เพราะสินค้าเหล่านี้มักสร้างความแตกต่างด้วยการขายถูกกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นกลยุทธ์ที่เหมาะสมก็คือเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานในการควบคุม ดูแล ด้านคุณภาพของสินค้าและบริการให้กระทำการอย่างเข้มงวด เพื่อผลประโยชน์ของสังคมไทยรวมทั้งการรณรงค์ของหน่วยงานภาครัฐให้รู้ถึงรายละเอียดของสินค้าและการบริการที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งผลเสียของการใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมาจากต่างแดน
ประการที่สาม ทำให้การแข่งขันทางธุรกิจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการชาวไทย ซึ่งต้องปรับตัวในด้าน การวิจัยและพัฒนาคุณภาพ เทคโนโลยีในการผลิต การจัดการ การฝึกอบรม ฯลฯ ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมและผลสุดท้าย เมื่อมีต้นทุนในการดำเนินงานและการผลิตที่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าก็จะสูงขึ้นจากเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้คนไทยต้องซื้อของแพงขึ้นและจะมีผลกระทบไปถึงภาวะเงินเฟ้อได้เช่นกัน
ประการที่สี่ ส่วนแบ่งของตลาดสินค้าที่เคยมีมา อาจต้องสูญเสียแก่นักลงทุนจากต่างชาติ ทำให้เสียลูกค้าเก่า เพราะเดิมมีผู้ค้าไม่มากรายแต่ตอนนี้กลับมีผู้ค้ามากรายขึ้น ซึงก็คงจะทำให้ผู้ค้าชาวไทยต้องเหนื่อยมากเป็นพิเศษไปจากเดิมเพื่อการรักษาฐานของผู้บริโภคไว้ และต้องปรับตัวพอสมควร
ประการที่ห้า ผู้บริโภคชาวไทยจะได้รับสินค้าและการบริการที่แปลกใหม่แต่ทำให้สินค้าไทยตัวเดิม โดยเฉพาะสินค้า การเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ไทย จะได้รับความเสียหายทันที ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแย่ลง เหมือนที่เคยกับผลไม้ของประเทศจีนที่เข่าสู่ประเทศไทย แม้ว่าประเทศไทยจะบอกว่าเราได้ส่งออกไปยังประเทศจีนเช่นกัน แต่ผลได้ผลเสีย เรายังคงเป็นรองอยู่ และเมื่อเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเช่นนี้ เราก็คงได้เห็นการบริโภคสินค้าแปลกๆเกิดขึ้นอีก ทำให้เกิดกระแสการบริโภคสินค้าใหม่จากต่างชาติเกินความจำเป็นและพอเพียงแก่สังคมไทย แต่ละเลยสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และจะมีผลทำให้เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา เดือดร้อนกันตามๆ หากไม่มีการควบคุมดูแลกันให้ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรของไทย
นอกจากนี้จะทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น ในการดูแลผู้ค้า ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ผู้บริโภคชาวไทย โดยจะมีผลกระทบต่อการออกกฎหมาย และระเบียบ ต่างๆ อันจะทำให้นักธุรกิจไทย พลอยเสียหายหรือได้รับผลกระทบกระทบกระเทือนตามไปด้วยและทำให้เกิดความยุ่งยากในการประกอบการมากขึ้น
ประการที่หก การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้นักลงทุนชาวไทยหนีไปลงทุนในประเทศอื่น มีผลต่อ การจ้างแรงงานไทยภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆอาจต้องหยุดชะงักลง ทั้งนี้เพราะแรงงานไทยขาดแคลน เนื่องจากไปทำงานในต่างประเทศที่ได้ค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่า ทำให้เกิดปัญหาแรงงานในประเทศมากขึ้น ในทางกลับกันเราอาจต้องหาแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทย รวมทั้งการไปจ้างทำการผลิตในต่างประเทศ ที่มีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า (Outsourcing) สามารถกระทำได้ง่ายมากขึ้นเนื่องจากขณะนี้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกันแล้วระหว่างชาติที่เป็นสมาชิก และหากเหตุการณ์เช่นนี้บานปลายไปเรื่อยๆ วันหนึ่งข้างหน้าประเทศไทยจะประสบปัญหาเหมือนอย่างที่สหรัฐอเมริกาพบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทำให้คนอเมริกันตกงานหางานทำไม่ได้ เพราะธุรกิจอุตสาหกรรมนิยมไปจ้างแรงงานถูกที่อยู่ในประเทศอื่นดำเนินการแทน และจะเป็นปัญหาระยะยาวของไทยในวันข้างหน้าหากละเลยประเด็นเช่นนี้ไป ดังนั้นทางออกในประเด็นนี้รัฐอาจต้องพิจารณาเตรียมการเกี่ยวกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการไปจ้างทำของในประเทศอื่นแทนที่จะกระทำการในประเทศไทย หรือ การกำหนด Outsourcing Regulations ขึ้นมาเพื่อการป้องกันปัญหาไม่ให้นายทุนไปจ้างทำของในประเทศอื่นจนเกินความจำเป็นและทำให้โรงงานในประเทศไม่สามารถเปิดทำงานและแรงงานไม่มีงานทำดังเช่นปกติ ซึงสามารถนำไปสู่วิกฤติการณ์การว่างงานในอัตราส่วนที่สูงและเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
ประการที่เจ็ด นักลงทุนต่างชาติที่มีความพร้อมมากกว่าจะเข้ามาแข่งขันในทางธุรกิจได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการชาวไทยที่ส่วนใหญ่ที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) แข่งขันได้ยากและจะสูญหายไปเหมือนดังที่เกิดจากกรณี การเกิดร้าค้าปลีกขนาดใหญ่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย ทำให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กประเภทโชห่วยในท้องถิ่นต้องปิดกิจการลงไปเป็นจำนวนมาก กลยุทธ์ที่จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวการณ์เช่นนี้ ก็คือผู้ประกอบการจะต้องร่วมมือร่วมใจรวมตัวผนึกกำลังกัน อย่ากระทำการแต่เพียงลำพังแต่คนเดียวเพราะอาจขาดทรัพยากรหรือทุนดำเนินการ รวมทั้งนำความรู้ด้านการตลาดในการสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relations )มาใช้ให้ได้ผลเพราะจะเป็นการรักษาตลาดและลูกค้าของตนเอาไว้ได้
โดยสรุป สิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางบวกหรือผลกระทบทางลบก็ตาม รัฐและองค์การภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องหันมาให้ความสนใจกันอย่างจริงจัง และควรรีบหามาตรการคุ้มครองธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทย กลยุทธ์หรือยุทธ์ศาสตร์ต่างๆนอกเหนือจากที่ยกมาเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อย จะต้องถูกหยิบยกมาเตรียมการและนำมาพิจารณาเพื่อความเหมาะสมที่สามารถรองรับเหตุการณ์เช่นนี้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความมั่นคง เป็นความเป็นความตายของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนเป็นการสร้างสมรรถนะความสามารถในด้านการแข่งขันซึ่งนับวันประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับที่ตกต่ำไปเรื่อยๆ การปล่อยนิ่งเฉยโดยไม่ดูดายหรือแค่ลมปากที่พูดกันไปวันๆของใครก็ตาม ย่อมไม่มีผลดีเกิดขึ้นกับประเทศ ชั่วโมงนี้ วันนี้ เราต้องเริ่มดำเนินการ ร่วมมือกันหาทางออกที่เป็นประโยชน์แก่สังคมไทยจึงจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อย่าปล่อยให้บทเรียนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และนำความสูญเสีย หายนะมาสู่สังคมไทยกันอีกเลย อย่างน้อยเราควรรู้จักคุณค่าของความเสียหาย อย่างน้อยขอให้จำเหตุการณ์เหล่านั้นกันบ้าง และนำเอามาเป็นบทเรียนกับสังคมไทยในอนาคตและพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่าให้เกิดอีกกับลูกหลานของเราในวันข้างหน้า จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในวันนี้ เพราะประเทศไทยนั้นเป็นของเราทุกคน และเป็นบ้านที่เรารักของเราทุกคนไม่ใช่หรือ ?
__________________________________________
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้