เนื้องอกมดลูก ภัยเงียบจากก้อนเนื้อเล็ก ๆ ที่ส่งผลร้ายกว่าที่คิด
ภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของผู้หญิงหลายคน ก้อนเนื้อเล็ก ๆ ที่อาจซ่อนตัวอยู่ในมดลูกโดยไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจก่อให้เกิดความทรมานอย่างแสนสาหัส ที่เรียกว่า เนื้องอกมดลูก ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประจำวัน การมีบุตร หรือแม้กระทั่งความมั่นใจในตนเอง ดังนั้น ความเข้าใจถึงสาเหตุ อาการเนื้องอกมดลูก และแนวทางการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสมและมีชีวิตที่แข็งแรง
เนื้องอกมดลูก คืออะไร?
เนื้องอกมดลูก หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ไฟบรอยด์" (Fibroids) หรือ "ไมโอมา" (Myomas) เป็นเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อมดลูก พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่ในบางรายอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติได้ ซึ่งเนื้องอกในมดลูกเกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อเรียบของมดลูกที่เจริญเติบโตผิดปกติ มีขนาดแตกต่างกันไป ตั้งแต่เล็กมากจนถึงขนาดใหญ่เท่าลูกแตงโม ทั้งนี้ เนื้องอกที่มดลูกสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผนังมดลูก ด้านนอกของมดลูก หรือในโพรงมดลูก
เนื้องอกมดลูก มีกี่ชนิด? แต่ละชนิดเป็นอย่างไร?
เนื้องอกมดลูก แม้จะเป็นเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็สร้างความกังวลใจให้กับผู้หญิงหลายคน ด้วยขนาดและตำแหน่งที่แตกต่างกัน เนื้องอกเหล่านี้จึงส่งผลต่อร่างกายและอาการที่แสดงออกมาได้หลากหลาย เพื่อช่วยให้เข้าใจถึงผลกระทบและแนวทางการรักษาที่เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยสามารถแบ่งเนื้องอกมดลูกออกเป็น 3 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้
- เนื้องอกบริเวณผิวนอกผนังมดลูก (Subserosal Fibroid) เนื้องอกมดลูกชนิดนี้จะเติบโตออกมาทางผิวด้านนอกของมดลูก ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อที่ยื่นออกมาจากตัวมดลูก หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ อาจกดทับอวัยวะข้างเคียง ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย หรือท้องผูก ในบางกรณี หากเกิดการบิดขั้วของเนื้องอก จะทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
- เนื้องอกในเนื้อมดลูกหรือในผนังมดลูก (Intramural Fibroid) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดขึ้นภายในผนังกล้ามเนื้อมดลูก เนื้องอกในมดลูก อาการ คือ เมื่อเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น จะทำให้มดลูกมีขนาดโตขึ้น และอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย หรือประจำเดือนมามาก ส่งผลให้ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมามาก มีบุตรยาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก
- เนื้องอกในโพรงมดลูก (Submucosal Fibroid) คือ ก้อนเนื้อในมดลูกเจริญเติบโตเข้าไปในโพรงมดลูก เป็นชนิดที่ส่งผลต่อประจำเดือนมากที่สุด ทำให้ประจำเดือนมามากและนานกว่าปกติ อีกทั้งยังมีผลต่อการมีบุตรยากมากกว่าชนิดอื่น
เนื้องอกมดลูกมีอาการอย่างไรบ้าง?
เนื้องอกมดลูกเป็นเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อมดลูก แล้วเนื้องอกมดลูกอาการเป็นอย่างไร ผู้หญิงหลายคนที่มีเนื้องอกที่มดลูกอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่ในบางรายอาจมีอาการที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง และจำนวนของเนื้องอก อาการเนื้องอกมดลูกที่พบบ่อยมีดังนี้
1. อาการเนื้องอกในมดลูกเกี่ยวกับประจำเดือน
- ประจำเดือนมามาก (Menorrhagia) เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด โดยมีเลือดประจำเดือนออกมามากกว่าปกติ อาจต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ หรือมีลิ่มเลือดออกมาด้วย อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง (Anemia) ซึ่งมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และหน้ามืด
- ประจำเดือนมานาน (Prolonged menstruation) ประจำเดือนมานานกว่า 7 วัน
- ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) ปวดท้องน้อยหรือปวดหลังในช่วงมีประจำเดือน อาจปวดรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน
2. อาการปวดของเนื้องอกมดลูก
- ปวดท้องน้อยหรือปวดหลัง โดยปวดแบบหน่วง ๆ หรือปวดเฉียบพลัน อาจปวดตลอดเวลาหรือเป็น ๆ หาย ๆ หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่อาจกดทับอวัยวะข้างเคียง ทำให้เกิดอาการปวดได้
- ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ (Dyspareunia) เนื้องอกมดลูกที่อยู่ใกล้ช่องคลอดอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
3. อาการของเนื้องอกมดลูกเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะและลำไส้
- ปัสสาวะบ่อย (Urinary frequency) เนื้องอกที่กดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย ๆ
- ปัสสาวะลำบาก (Urinary urgency) รู้สึกปวดปัสสาวะแบบกลั้นไม่ได้
- ท้องผูก (Constipation) เนื้องอกที่กดทับลำไส้ใหญ่ ทำให้ถ่ายอุจจาระลำบาก
4. เนื้องอกมดลูกอาการอื่น ๆ
- เนื้องอกขนาดใหญ่อาจคลำเจอก้อนเนื้อในช่องท้องได้
- มีบุตรยาก (Infertility) เนื้องอกที่อยู่ในโพรงมดลูกอาจขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน ทำให้มีบุตรยาก
- แท้งบุตร (Miscarriage) เนื้องอกอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร
เนื้องอกมดลูกเกิดจากสาเหตุอะไร?
แม้ว่า ในปัจจุบัน สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดเนื้องอกมดลูกจะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่การศึกษาทางการแพทย์บ่งชี้ว่า มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปัจจัยทางพันธุกรรมและฮอร์โมนเพศหญิง โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้องอก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ประวัติครอบครัวของผู้ป่วย หากมีญาติสายตรงเป็นเนื้องอกมดลูก ความเสี่ยงในการเกิดก็จะเพิ่มขึ้น รวมถึงปัจจัยด้านเชื้อชาติ โดยพบว่า ผู้หญิงผิวดำมีความเสี่ยงสูงกว่าเชื้อชาติอื่น ๆ นอกจากนี้ ปัจจัยด้านไลฟ์สไตล์ เช่น ความอ้วน และการรับประทานอาหารที่มีเนื้อแดงในปริมาณมาก ก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดเนื้องอกมดลูกได้เช่นกัน
เนื้องอกมดลูกมีวิธีการป้องกันอย่างไรบ้าง?
แม้จะยังไม่ทราบว่า เนื้องอกมดลูกเกิดจากอะไร แต่มีแนวทางปฏิบัติบางอย่างที่อาจช่วยลดความเสี่ยงหรือชะลอการเติบโตของเนื้องอกได้ ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนัก เพราะภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการเกิดเนื้องอกมดลูก
- ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ เพราะการออกกำลังกายช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนและลดความเสี่ยงของภาวะอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของเนื้องอกมดลูก
- เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระและไฟเบอร์สูง
- ลดการบริโภคเนื้อแดงและอาหารแปรรูป ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดก้อนเนื้อในมดลูก
- อาหารบางชนิดที่มีผลการวิจัยว่ามีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูก เช่น ผักตระกูลกระหล่ำเช่น บรอกโคลี ผักคะน้า และผักกาดขาว
- การตรวจสุขภาพภายในเป็นประจำช่วยให้ตรวจพบเนื้องอกมดลูกได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมามาก ปวดท้องน้อย หรือปัสสาวะบ่อย ควรปรึกษาแพทย์ทันที
เนื้องอกมดลูก ภัยเงียบที่ผู้หญิงควรรู้
เนื้องอกมดลูกเป็นเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงที่เกิดจากกล้ามเนื้อมดลูกเจริญเติบโตผิดปกติ สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบว่าเนื้องอกมดลูกเกิดจากอะไร แต่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิงและพันธุกรรม อาการเนื้องอกในมดลูกมีหลากหลาย เช่น ประจำเดือนมามาก ปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย หรือไม่มีอาการเลย โดยเนื้องอกมดลูกสามารถแบ่งตามตำแหน่งที่เกิดได้เป็น 3 ชนิดหลัก ๆ คือ บริเวณผิวนอกผนังมดลูก ในผนังมดลูก และในโพรงมดลูก สามารถป้องกันได้โดยควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้