โรคซึมเศร้า อาการป่วยทางใจ รักษาหายได้

GUEST1649747579

สุดยอดขีดเีขียน (414)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:765
เมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 14.48 น.

โรคซึมเศร้า

ทุกคนต่างมีเรื่องราว เหตุการณ์ที่ประสบพบเจอในชีวิตแต่ละวันแตกต่างกันออกไป รวมถึงปัญหาที่พบเจอบางครั้งก็สามารถจัดการหาทางออกได้ บางครั้งก็กลายเป็นการสะสมปัญหา ความรู้สึกทับถมจนกลายเป็นความเครียด ความเศร้าที่ไม่สามารถข้ามพ้นไปได้ และนี่อาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า” เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักรู้สึกเศร้า หดหู่ เบื่อหน่าย หมดหวัง และขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ ผู้ป่วยอาจมีปัญหาในการนอนหลับ ความอยากอาหาร และการทำงาน ไม่เพียงแค่ป่วยทางใจ โรคซึมเศร้ายังส่งผลให้เกิดอาการป่วยทางกายอีกด้วย


 

โรคซึมเศร้า คืออะไร

 

โรคซึมเศร้า หรือ Depressive disorder คือ ภาวะทางจิตใจที่มีลักษณะของอารมณ์เศร้าหรือท้อแท้ รู้สึกชีวิตไร้ความสุข ส่วนใหญ่จะมีอิทธิพลต่อการทำกิจกรรมประจำวัน และความสามารถในการทำงาน โรคซึมเศร้า คือไม่ได้เกิดจากความเศร้าเพียงชั่วคราว เช่น การสูญเสียทางอารมณ์ การลาออกจากงาน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เศร้าในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่มีความเศร้าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อาการโรคซึมเศร้าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ การงาน และคุณภาพชีวิตโดยรวม อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ทั้งปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม สังคม และความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง


 

อาการของโรคซึมเศร้า

 

อาการของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ามีอาการที่แตกต่างกันไปตามบุคคล และมีระดับความรุนแรงที่ไม่เหมือนกันด้วย สำหรับอาการโดยทั่วไปที่สามารถพบเห็นในผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีดังนี้

  • อารมณ์ที่เศร้าหรือท้อแท้ ซึมเซา หดหู่ 
  • รู้สึกเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ
  • รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยสนใจ งานอดิเรกที่เคยชอบ
  • นอนมากหรือน้อยเกินไป มีปัญหาในการหลับหลีกหรือหลับมากเกินไปขี้เซา ไม่กระปรี้กระเปร่า
  • มีปัญหาในการรับประทานอาหาร เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือกินจุผิดปกติ
  • สมาธิสั้น จดจ่อได้ยาก ตัดสินใจลำบาก
  • สูญเสียตัวตน ความมั่นใจ หรือความรู้สึกว่าตนเองไม่คู่ควรกับอะไรเลย
  • ขาดความสามารถในการตัดสินใจ มีความลำบากในการตัดสินใจหรือการคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งวนไปวนมา
  • มีความคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตนเอง ไปจนถึงไม่อยากมีชีวิตอยู่

มาถึงตรงนี้แล้วถ้าคุณรู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็นซึมเศร้ามากน้อยแค่ไหน อาจลองหาแบบทดสอบโรคซึมเศร้าทำเพื่อเช็คอาการของตัวเองเบื้องต้นก่อนที่จะไปพบหรือปรึกษาแพทย์
 


 

สาเหตุของโรคซึมเศร้าอะไร

 

สาเหตุของโรคซึมเศร้ายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน โดยโรคซึมเศร้าสาเหตุมีดังนี้

  • สาเหตุทางพันธุกรรม ประวัติของโรคทางอารมณ์ในครอบครัว
  • สาเหตุทางกายภาพ ปัญหาสุขภาพ
  • สาเหตุทางสภาพแวดล้อม สังคม ลักษณะนิสัย


 

ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคซึมเศร้า

 

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

มีหลายปัจจัยที่ทำให้นำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นร่วมกันหรือแยกกันได้

1. ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง

สารสื่อประสาท เช่น ซีโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดปามีน สารสื่อประสาทเหล่านี้มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม การขาดหรือมีระดับของสารสื่อประสาทเหล่านี้ต่ำ อาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้าได้

2. การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในสมอง 

ความสามารถของสมองที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต เช่น โครงสร้างหรือการทำงานของสมองที่เปลี่ยนแปลงไป การเสื่อมสภาพของทักษะการคิด อาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้าได้

3. พันธุกรรม

พันธุกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจมีบทบาทในการเกิดโรคซึมเศร้า หากพบว่าผู้ที่ในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว

4. ประสบเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ

โดยโรคซึมเศร้าเกิดจากการที่สภาพจิตใจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การเลิกรา ปัญหาการงาน และปัญหาทางการเงิน เหตุการณ์เหล่านี้อาจนำไปสู่ความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้

5. ลักษณะนิสัย

ลักษณะนิสัยหรือลักษณะบุคลิกภาพของบุคคลนั้น ๆ อาจมีผลต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้า เช่น เป็นคนอ่อนไหวง่าย คิดมาก มองโลกในแง่ลบ บุคคลที่มีการตั้งเป้าหมายสูง และมีความทะเยอทะยานในการทำตัวเอง อาจมีการสูญเสียทางอารมณ์หากไม่สำเร็จในการตั้งเป้าหมายนั้น จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าสูง

6. การใช้สารเสพติด

การใช้สารเสพติดอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ สารเสพติดที่มักมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้แก่สารเสพติดทุกประการ โดยเฉพาะเป็นผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่ติดสารเสพติดบางชนิด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้


 

โรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายได้ไหม?

 

โรคซึมเศร้ารักษา

โรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายได้ แต่อาจต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากผู้ป่วยและคนรอบข้างในการรักษา การรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบันมี 2 วิธีหลัก ได้แก่

  • การรักษาด้วยยา โรคซึมเศร้ารักษาได้ด้วยยา เพราะตัวยาจะช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้อาการของโรคซึมเศร้าดีขึ้นได้ ยารักษาโรคซึมเศร้ามีหลายชนิด แพทย์จะพิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
  • การรักษาด้วยจิตบำบัด การบําบัดโรคซึมเศร้าจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของโรคซึมเศร้า และเรียนรู้วิธีรับมือกับอาการของโรคซึมเศร้า เมื่อผู้ป่วยได้พูดคุยและระบายความในใจออกมาจิตแพทย์จะรับฟัง และมีวิธีการรักษาให้ผู้ป่วยปรับมุมมองความคิด จิตบำบัดมีหลายวิธี เช่น จิตบำบัดแบบกลุ่ม จิตบำบัดแบบครอบครัว และจิตบำบัดแบบความคิดและพฤติกรรม

การรักษาโรคซึมเศร้ามักใช้ทั้งการรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยจิตบำบัดร่วมกัน การรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ


 

การป้องกันโรคซึมเศร้า ทำอย่างไร

 

การป้องกันโรคซึมเศร้ามีอยู่หลากหลายวิธีที่ ซึ่งแต่ละวิธีเพื่อรักษาสุขภาพทางด้านจิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม ร่างกาย และลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า เรามาดูกันว่าวิธีที่จะสามารถช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าได้นั้นมีอะไรบ้าง

  • ควรรักษาสุขภาพร่างกาย หากดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี จะส่งผลต่อสุขภาพจิต การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยลดความเครียด และช่วยเสริมสร้างความสุขให้กับตัวเอง เป็นวิธีรักษาโรคซึมเศร้าด้วยตัวเอง
  • ปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด เมื่อต้องพบเจอกับปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียด เศร้า และเสียใจ ที่ไม่สามารถจัดการด้วยตนเอง ให้ปรับเปลี่ยนความคิด เรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น และยอมรับในสิ่งนั้น
  • ระบายความในใจ ถ้าคุณเป็นคนที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้า ด้วยจากสาเหตุใดก็ตาม หาคนที่คุณไว้ใจ หรือคนในครอบครัว พูดคุยระบายความในใจเล่าถึงสิ่งที่เก็บเอาไว้ให้คนไว้ใจฟัง เพื่อลดความอึดอัด ความเหนื่อยล้าภายในของคุณ
  • ควรพบจิตแพทย์ ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาทางจิตใจที่หนักหน่วง คำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญทองสุขภาพจิต เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะโรคซึมเศร้าอีกครั้ง


 

โรคซึมเศร้า ใจเราก็ป่วยได้

 

สภาพสังคมปัจจุบันอาจมีส่วนทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น สังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยความเครียดจากการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิต การแข่งขัน และปัญหาต่างๆ ในชีวิต ความเครียดอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ เพราะฉะนั้นการมีจิตใจที่เข้มแข็งและการมีทัศนคติเชิงบวกจะช่วยลดความเสี่ยงให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
แต่ถึงอย่างไรหากพบว่าตนเองมีโอกาสเสี่ยง หรือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ อย่ามองว่าตัวเองผิดปกติและแตกต่างไปจากผู้อื่น คนเราป่วยกายได้ก็สามารถป่วยใจได้ การรักษาถือเป็นทางออกที่ดีและควรรีบพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและหาทางออกของการรักษากันก่อนที่อาการจะรุนแรงขึ้น

 

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา