Smart City เมืองแห่งเทคโนโลยี ตอบโจทย์ทุกความต้องการของคนในเมือง

GUEST1649747579

สุดยอดขีดเีขียน (556)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:995
เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 22.07 น.

Smart City

ในปัจจุบันที่โลกกำลังหมุนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการคนในเมืองที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นคำว่า Smart City ที่ตอนนี้ หลาย ๆ ประเทศอย่าง San Francisco, Amsterdam, Tokyo ฯลฯ ได้ถูกเรียกว่าเป็น Smart City กันแล้ว แล้วเมืองเหล่านี้ มีลักษณะอย่างไร ทำไมถึงได้รับการกล่าวถึงเช่นนั้น เรามาดูกัน


 

Smart City คืออะไร

 

Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ คือ เมืองที่ได้รับการออกแบบและพัฒนามาเพื่อตอบสนองความต้องการรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในเมือง ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับโครงสร้างปัจจัยพื้นฐาน เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน

ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการคมนาคม ควบคุมสัญญาณจราจรอัตโนมัติ การแก้ปัญหาเรื่องที่จอดรถ ระบบความปลอดภัย โดยการติดกล้องวงจรปิด (CCTV) และพัฒนาระบบตรวจจดจำใบหน้าของอาชญากรระบบประหยัดพลังงาน การวัดระดับการใช้น้ำ และตรวจสอบหากมีน้ำรั่วไหล เป็นต้น ถือว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อคุณภาพของผู้อาศัยในเมือง เรียกได้ว่า เป็น Smart City อย่างแท้จริง


 

เทคโนโลยีสำคัญสำหรับ Smart City 

 

เทคโนโลยีสำคัญสำหรับ Smart City

จากที่อธิบายไปว่า Smart City เป็นรูปแบบของเมืองที่เน้นเทคโนโลยีเป็นหลัก ดังนั้น เทคโนโลยีที่ใช้จึงต้องมีความหลากหลาย มีประสิทธิภาพและครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน ดังต่อไปนี้

1. Smart ICT (ระบบไอซีทีอัจฉริยะ)

 

ระบบไอซีทีอัจฉริยะ หรือ Smart ICT ย่อมาจาก Smart Information and Communication Technology ซึ่งในปัจจุบันนี้ อุปกรณ์ไอทีมากกว่า 5 หมื่นล้านชิ้นจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ โดยที่ 1 ใน 5 ของอุปกรณ์เหล่านี้ จะถูกใช้อยู่ภายในอาคาร นั่นหมายความว่า ข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลจะถูกสร้างขึ้น 

สิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ เราจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้และวิเคราะห์ได้อย่างไร เพื่อที่จะทำให้เมืองมีความยืดหยุ่นในการบริหาร พร้อมทั้งยังสามารถตอบสนองความต้องการในระดับชุมชนและระดับบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในเวลาเดียวกัน โดยที่ Smart City จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทั้ง 3 ส่วนนี้ ทำงานผสานกัน

2. Smart Grid (โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ)

 

โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Grid เป็นโครงข่ายไฟฟ้าที่นำเทคโนโลยีหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบเซนเซอร์และการควบคุมอัตโนมัติเพื่อให้ระบบไฟฟ้ากำลังสามารถรับรู้ข้อมูลสถานะต่าง ๆ ในระบบได้แบบ Real Time ทั้งระบบสารสนเทศ ระบบเก็บข้อมูล และระบบการวิเคราะห์ข้อมูล

เพื่อให้โครงข่ายไฟฟ้าสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น มีความสามารถมากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรน้อยลง มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ มีความยั่งยืนปลอดภัยและที่สำคัญคือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะจะต้องครอบคลุมระบบไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งรวมถึงตั้งแต่ระบบการผลิต ระบบส่ง ระบบจำหน่าย จนถึงระบบของผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญใน Smart City

3. Smart Building (อาคารอัจฉริยะ)

 

อาคารอัจฉริยะ หรือ Smart Building โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกกว่า 70% อาจจะพำนักอาศัยอยู่ภายในอาคารเป็นหลัก และจะยิ่งมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งนั่นหมายความว่า ความคาดหวังของผู้อยู่อาศัยก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย 

โดยอาคารต้องเป็นมากกว่าโครงสร้างผนังและหลังคา ต้องมีเทคโนโลยีที่สามารถมอบความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้มากขึ้น ดังนั้น อาคารจะต้องมีระบบอัจฉริยะที่ทำให้อาคารสามารถตอบสนองต่อความต้องการผู้อยู่อาศัยได้ สามารถเรียนรู้ และปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และที่สำคัญ คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


 

ประโยชน์ของ Smart City

 

Smart City เป็นเมืองที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ภายในเมืองอย่างครอบคลุม เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการและการใช้ชีวิตของทุกคนในเมือง โดยเราสามารถสรุปประโยชน์ได้หลัก ๆ ดังนี้

  1. มีการบริหารจัดการพลังงาน ทั้งภาคการผลิต และการส่งจ่ายพลังงาน โดยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
  2. มีความยืดหยุ่นสูง เลือกใช้เทคโนโลยีที่ง่ายต่อการเรียนรู้และการใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ง่ายและใช้ได้ทุกเพศทุกวัย
  3. ข่าวสารข้อมูลเปิดกว้าง สามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้ในทุกระดับ ทำให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมือง
  4. ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน มีความปลอดภัย รวมถึงเป็นแหล่งบ่มเพาะนักธุรกิจและนักพัฒนาเพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต
  5. เป็นการพัฒนาเมืองเดิมให้น่าอยู่ โดยการปรับปรุงซ่อมแซมระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และการคมนาคมให้ดีตามคุณลักษณะ


 

ข้อดีและข้อเสียของ Smart City

 

ข้อดีและข้อเสียของ Smart City

แต่ Smart City เอง แม้ว่าจะมีประโยชน์มากมายในเชิงการบริหารจัดการเมือง แต่ก็ยังมีข้อดีและข้อเสียที่เกิดขึ้น โดยเราสามารถสรุปข้อมูลได้ดังต่อไปนี้

ข้อดีของ Smart City

 

  • ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
  • ลดเวลาในการทำงาน หรือบริหารจัดการด้านต่าง ๆ 
  • ลดการใช้ทรัพยากรของประชากรและเมือง
  • มีการออกแบบที่ดี สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า
  • ภาคธุรกิจและภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง
  • ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และนำมาใช้ได้ตามความเหมาะสม

ข้อเสียของ Smart City

 

  • ทำให้เกิดขยะทางเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น
  • ประชาชนอาศัยอยู่ในอาคารมากขึ้น อาจจะละเลิกการดูแลตัวเองอย่างการออกกำลังกาย
  • อาจเกิดกาารหลอกลวงทางเทคโนโลยีมากขึ้น
  • เมื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและมากขึ้น อาจจะทำให้ประชาชนบางกลุ่มตามไม่ทัน
  • ประชาชนจะเริ่มหลงลืมการใช้ชีวิตแบบเก่าที่ใช้ร่วมกับธรรมชาติหรือการใช้ชีวิตร่วมกัน


 

องค์ประกอบของ Smart City 7 ด้าน

 

องค์ประกอบของ Smart City

Smart City คือ เมืองที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการใช้ชีวิตและบริหารจัดการภายในเมืองในทุกมิติ ซึ่งสถาบันอาคารเขียวไทยและหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ได้ร่วมมือกันสนับสนุนโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) โดยสรุปเทคโนโลยีที่ใช้ใน Smart City ออกเป็น 7 หมวดดังนี้

1. Smart Economy (เศรษฐกิจอัจฉริยะ)

 

Smart Economy หรือ เศรษฐกิจอัจฉริยะ คือ เมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เมืองเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงธุรกิจการค้าในรายย่อยต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการเป็นส่วนหนึ่งของ Smart City

2. Smart People (พลเมืองอัจฉริยะ)

 

Smart People หรือ พลเมืองอัจฉริยะ ถือเป็นส่วนสำคัญของ Smart City ก็คือ ลักษณะของเมืองที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชากรทุกช่วงวัย เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเปิดกว้างทางด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองร่วมกัน

3. Smart Mobility (การสัญจรอัจฉริยะ)

 

Smart Mobility หรือ การสัญจรอัจฉริยะ ที่ช่วยส่งเสริมความเป็น Smart City โดยการบริหารที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการพัฒนา โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงโครงข่ายของระบบขนส่งและการสัญจรที่หลากหลาย ทั้งถนน บาทวิถี และระบบรางต่าง ๆ เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง พร้อมทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

4. Smart Governance (การปกครองอัจฉริยะ)

 

Smart Governance หรือ การปกครองอัจฉริยะ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของ Smart City เพราะส่วนนี้ หมายถึง เมืองที่มีการพัฒนาระบบบริการภาครัฐ หรือบริหารนโยบายสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยมุ่งเน้นความโปร่งใส เข้าถึงง่าย มีส่วนร่วม และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

5. Smart Living (การดำรงชีวิตอัจฉริยะ)

 

Smart Living หรือ การดำรงชีวิตอัจฉริยะ หมายถึง รูปแบบของเมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ให้ประชาชนมีสุขภาวะ สุขภาพกายและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต สะท้อนถึงความเป็น Smart City อย่างแท้จริง

6. Smart Energy (พลังงานอัจฉริยะ)

 

Smart Energy หรือ พลังงานอัจฉริยะ นับว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของ Smart City เพราะเมืองจะต้องมีการบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความสมดุล ระหว่างการผลิตและการใช้พลังงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการใช้พลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก รวมถึงการลดความสูญเปล่าหรือสิ้นเปลือง และลดการสร้างมลภาวะจากการผลิตไฟฟ้าไม่ว่าจากแหล่งใดก็ตาม

7. Smart Environment (สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ)

 

Smart Environment หรือ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ หมายถึง เมืองที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและลดมลภาวะอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การบริหารจัดการของเสีย เป็นต้น ไปจนถึงด้านการเฝ้าระวังเกี่ยวกับภัยพิบัติ พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในเมืองให้ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ


 

ICT Based Smart City VS Citizen Based Smart City 

 

โดย Smart City มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะบนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Based Smart City) และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะบนพื้นฐานของพลเมือง (Citizen Based Smart City) โดยทั้ง 2 รูปแบบมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

  1. การพัฒนาเมืองอัจฉริยะบนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Based Smart City) จะมีผู้ขับเคลื่อนหลัก คือ บริษัทที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผู้ได้รับผลประโยชน์ คือ บริษัท เจ้าหน้าที่และพลเมืองบางส่วน นิยมใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการพัฒนาเมือง เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยถือว่าเป็นการลงทุนของภาคเอกชน มีลักษณะเป็นเครือข่าย ใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูล 

  2. การพัฒนาเมืองอัจฉริยะบนพื้นฐานของพลเมือง (Citizen Based Smart City) มีผู้ขับเคลื่อนหลัก คือ กลุ่มชุมชนต่าง ๆ ในเมือง ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งพลเมืองและกลุ่มคนที่มีส่วนร่วม เน้นการทำงานร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนมีสวัสดิการสังคมที่ดี โดยใช้กองทุนส่วนบุคคลและการระดมทุนสาธารณะ เน้นการมีส่วนร่วมโดยใช้คลาวด์และแพลตฟอร์มโซเชียล

เรียกได้ว่า ICT Based Smart City และ Citizen Based Smart City เป็นรูปแบบ Smart City ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะแบบ ICT มีเงินทุนในการสนับสนุนและใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล แต่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งตรงข้ามกับแบบ Citizen ที่เน้นความร่วมมือ เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ก็ขาดเงินทุนสนับสนุนและเทคโนโลยีที่เข้ามาพัฒนาเมือง


 

สรุปเรื่อง Smart City

 

สรุปเรื่อง Smart City

Smart City คือ เมืองที่มีการพัฒนา โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาบริหารจัดการประชากรและทรัพยากรของเมือง เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมือง โดยครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านคมนาคม และอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและเต็มที่ที่สุด

 

แก้ไขครั้งที่ 1 โดย GUEST1649747579 เมื่อ21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 22.10 น.

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา