ต้อกระจก เลนส์ตาเสื่อมสภาพ เรื่องควรรู้เพื่อรักษาตัวได้ไว

GUEST1649747579

สุดยอดขีดเีขียน (556)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:995
เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 23.58 น.

ต้อกระจก

หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินชื่อโรคต้อกระจกกันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะสับสนกับโรคต้อชนิดอื่น ๆ ทางตา เช่น โรคต้อลม โรคต้อเนื้อ หรือโรคต้อหิน รวมทั้งกังวลถึงอันตรายและวิธีการรักษา เรามาทำความรู้จักกับ “โรคต้อกระจก” กันเลยค่ะ



ต้อกระจก (Cataracts)

ต้อกระจกคืออะไร

ต้อกระจก คือ โรคที่เกิดจากแก้วตา หรือเลนส์ตาเสื่อมสภาพจนมีความขุ่นมัวเกิดขึ้น ปกติเลนส์ตาจะมีความใส ทำหน้าที่รวมแสงให้ตกบนจอประสาทตาพอดี  เมื่อเกิดต้อกระจก ประสาทตาจะรับแสงได้ไม่เต็มที่  ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการตามัว โดยมากโรคนี้มักจะเกิดในผู้สูงอายุ หากไม่รักษา อาจทำให้ตาบอดได้  



สาเหตุโรคต้อกระจก

เลนส์แก้วตาของคนเราประกอบด้วยน้ำและโปรตีนเป็นส่วนมาก ปกติโปรตีนเหล่านี้จะเรียงตัวเป็นระเบียบทำให้แสงผ่านเข้าสู่เลนส์ได้ และเลนส์มีลักษณะใส ต้อกระจกเกิดจากการที่โปรตีนในเลนส์แก้วตาสะสมเป็นกลุ่ม ปกคลุมพื้นที่ในบริเวณแก้วตาจนทำให้เลนส์ขุ่นมัวขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโรคต้อกระจกเกิดจากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

 

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดต้อกระจกในผู้สูงอายุ
  • ดวงตาได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน ๆ ทำให้เกิดต้อกระจกอายุน้อย
  • มีโรคประจำตัวที่ส่งเสริมให้เกิดต้อกระจกได้ เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • โรคทางตา เช่น สายตาสั้นมาก มีประวัติการผ่าตัดจอตาหรือหรือโรคทางกาย เช่น การอักเสบในลูกตา เป็นต้น
  • เคยได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนบ่อย ๆหรือโดนของมีคม
  • เคยฉายรังสีในส่วนบนของร่างกาย ศีรษะ
  • กรรมพันธุ์ และความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด จะเห็นว่าผู้ป่วยเป็นต้อกระจกก่อนเข้าวัยสูงอายุ
  • การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน

 

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคต้อกระจก

โรคต้อกระจกเกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้ ดังนี้

  • การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตเข้าตาเป็นเวลานานๆ
  • โรคเกี่ยวกับตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ 
  • โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
  • การเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตาหรือดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนบ่อยๆ
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น เด็กแรกเกิดที่มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์
  • การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์



สัญญาณเตือนอาการต้อกระจก

โรคต้อกระจกนั้นยากที่จะสังเกตได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เนื่องจากต้องใช้เวลาหลายปีกว่าอาการต้อกระจกจะเพิ่มมากขึ้นจนกระทบต่อการมองเห็น โดยผู้ป่วยมักมีอาการดังนี้

 

  • สายตาตามัว/มองเห็นไม่ชัดเหมือนมีหมอกบัง ขุ่นมากหรือขุ่นน้อยอยู่กับระดับ และตำแหน่งของความขุ่นในเนื้อเลนส์ไม่มีอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่มีแสงสว่างจ้า แต่กลับมองเห็นเกือบปกติในที่มืดสลัว 
  • มองเห็นภาพซ้อน เกิดจากความขุ่นของเลนส์แก้วตาไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว ผู้ป่วยบางรายในระยะแรกจะมีอาการสายตาสั้นมาก หรือเกิดอาการสายตากลับ
  • สู้แสงสว่างไม่ได้ มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะเวลาขับรถในตอนกลางคืน
  • เปลี่ยนแว่นตาบ่อย มองเห็นในระยะใกล้ดีขึ้นหรือไม่ต้องใส่แว่นตาในระยะมองใกล้
  • เห็นฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตา ซึ่งปกติเห็นเป็นสีดำ
  • มองเห็นสีที่ผิดเพี้ยน  และมองเห็นเป็นวงแหวนรอบแสงไฟหรือหลอดไฟ
  • หากปล่อยทิ้งไว้จนอาการหนักขึ้น อาจกลายเป็นโรคต้อหิน ม่านตาอักเสบ ทำให้ปวดตา ตาแดง ไปจนถึงตาบอดได้

 

4 ระยะความรุนแรงโรคต้อกระจก

อาการของโรคต้อกระจกนั้นเกิดจากการเสื่อมสภาพของแก้วตาตามช่วงอายุ แล้วต้อกระจกมีกี่ระยะ แต่ละระยะมีอาการอย่างไร เรามาดูกัน

 

  • ระยะที่ 1 (early cataract) เป็นระยะที่แก้วตาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้ความสามารถมองเห็นน้อยลง ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เห็นแสงสะท้อนไฟจนรบกวนการมองเห็น และทำให้ดวงตาเมื่อยล้าง่ายมากขึ้น
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ต้อกระจกมีความขุ่นไม่มาก แต่จะค่อย ๆ เพิ่มความขุ่นจากตรงกลางแก้วตาขึ้นมาทีละเล็กน้อย พร้อมกับกระจายออกไปในบริเวณรอบแก้วตา จักษุแพทย์มักจะแนะนำทำแว่นสายตาช่วยการมองเห็นและตัดแสงสะท้อน หรืออาจใช้แว่นกันแดด พอจะช่วยให้เห็นดีขึ้นบ้าง
  • ระยะที่ 3 แก้วตาขุ่นมากทั้งอัน อยู่ในระยะที่เรียกว่าต้อแก่หรือต้อสุก (mature cataract) ความขุ่นของแก้วตาจะกระจายไปถึงขอบ ลามไปแก้วตาทั้งหมด เป็นระยะที่มักทำให้ตามัวลงมากจนมีปัญหาในการดำรงชีพ จักษุแพทย์มักจะแนะนำให้รับการผ่าตัดต้อกระจก
  • ระยะที่ 4 แก้วตาขุ่นมากขึ้น เรียกว่าต้อสุกเกิน (hypermature cataract) สายตามัวลงอย่างมาก จำเป็นต้องรับการผ่าตัดหากทิ้งไว้ นอกจากผ่าตัดได้ยากขึ้น อีกทั้งบางรายก่อให้เกิดการอักเสบภายในดวงตาจากการมี protein รั่วออกจากแก้วตา ตลอดจนอาจก่อให้เกิดต้อหินตามมา ซึ่งอาจทำให้นอกจากมัวยังมีอาการปวดตาด้วย และแม้ว่าจะได้รับการผ่าตัดในตอนหลัง สายตาอาจไม่ดีขึ้น

 



วิธีวินิจฉัยต้อกระจก

วิธีวินิจฉัยต้อกระจก

การวินิจฉัยต้อกระจกสามารถทำได้ 2 วิธี โดยการวินิจฉัยด้วยตนเอง และการวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ เรามาดูถึงรายละเอียดของการวินิจฉัยในแต่ละแบบกันเลย

 

  1. การวินิจฉัยโรคต้อกระจกด้วยตนเอง เนื่องจากต้อกระจกไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ลักษณะของดวงตา จึงยากที่จะเห็นความผิดปกติของดวงตา นอกจากต้อจะสุกจนกลายเป็นสีขาวที่ตาดำแล้วถึงจะเห็นได้ชัด ทั้งนี้บุคคลใกล้ชิดหรือตัวผู้ป่วยเองอาจจะต้องสังเกตได้เองหากมีอาการเข้าข่ายที่กล่าวข้างต้น 
  2. การวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์โรคต้อกระจกสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจและทำแบบทดสอบต่าง ๆ ต่อไปนี้ 

 

  • การตรวจวัดสายตา (Visual Acuity Test) การวัดความสามารถการมองเห็นในระยะต่าง ๆ  วิธีนี้เป็นการประเมินว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติทางสายตาให้เห็นหรือไม่ 
  • การทดสอบโดยขยายรูม่านตา (Retinal Eye Exam) ด้วยการหยดยาที่ตาเพื่อให้รูม่านตา เปิดกว้างขึ้น แล้วใช้เลนส์ขยายแบบพิเศษตรวจดูจอประสาทตาและเส้นประสาทตา เพื่อหาความผิดปกติของตา การตรวจวิธีนี้ดวงตาของผู้ป่วยจะมองเห็นในระยะใกล้พร่ามัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง 
  • การตรวจโดยใช้กล้องจักษุจุลทรรศน์ชนิดลำแสงแคบ (Slit Lamp Examination) เป็นการใช้กล้องที่มีความเข้มของลำแสงสูงและบางพอที่จะส่องกระจกตา ม่านตา เลนส์แก้วตา รวมถึงพื้นที่ว่าง ระหว่างม่านตาและกระจกตา ช่วยให้จักษุแพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างที่เป็นส่วนเล็กได้อย่างชัดเจน
  • การตรวจวัดความดันลูกตา (Tonometry Test) เป็นการใช้เครื่องวัดความดันในลูกตา เพื่อแยกระหว่างต้อกระจกกับต้อหินซึ่งจะมีความดันที่ตาสูง 

 

ซึ่งการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและครบถ้วนจะเป็นแนวทางในการวางแผนการรักษาต่อไปอย่างเหมาะสมขึ้นกับระยะและความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ยังสามารถพยากรณ์โรคและประเมินผลการมองเห็นหลังการรักษาได้



วิธีรักษาต้อกระจก

“การรักษาต้อกระจกมีกี่วิธี” “ต้อกระจกรักษาหายไหม” “รักษาต้อกระจกโดยไม่ต้องผ่าตัด” หลากหลายคำถามที่หลายคนสงสัย วันนี้ เรามีคำตอบ


วิธีรักษาต้อกระจกระยะเริ่มต้น

โรคต้อกระจกในระยะเริ่มต้น  ในระยะแรกของการเป็นต้อกระจก บรรเทาได้ด้วยการตัดเปลี่ยนแว่นสายตาใหม่ สวมแว่นกันแดดกันแสงสะท้อน สามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้


วิธีรักษาต้อกระจกระยะรุนแรง

เมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้นในระยะรุนแรง การมองเห็นแย่ลงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ ก็เป็นข้อบ่งชี้ให้จักษุแพทย์รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด มีวิธีการผ่าตัด 2 วิธีที่สามารถทำได้คือ

 

  1. การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง(Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens) เป็นวิธีผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุกมีลักษณะขาวขุ่นเนื้อแข็งมากๆ จน ไม่สามารถสลายได้ด้วยความปลอดภัย จักษุแพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้โดยผ่าตัดแผลใหญ่ ประมาณ 8-10 มม. เพื่อนำต้อกระจกออก เหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้เพื่อใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่และเย็บแผลปิด
  2. การสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification with Intraocular Lens ) ด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ที่มีความถี่สูง เป็นวิธีการรักษาที่สมัยใหม่ในปัจจุบัน แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 2.2 - 3.0 มม. โดยจักษุแพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปสลายต้อกระจกจนหมด เหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้ใส่เลนส์ตาเทียม ซึ่งวิธีนี้มักไม่จำเป็นต้องเย็บแผล เนื่องจากแผลผ่าตัดที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็ก ทำให้ แผลหายเร็ว และผู้ป่วยรู้สึกเคืองจากแผลน้อยมาก 



วิธีป้องกันโรคต้อกระจก

วิธีป้องกันโรคต้อกระจก

การป้องกันโรคต้อกระจก การตรวจสายตาเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเผชิญกับอาการที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้โรคต้อกระจกจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่ออายุมาก แต่ก็สามารถชะลอการเกิดให้ช้าลงได้ด้วยตนเอง โดยการปรับพฤติกรรมหรือลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ต่อไปนี้

 

  • จัดสรรเวลานอนให้เพียงพอ ควรนอนให้ครบ 6 ชั่วโมงในแต่ละวัน
  • งดพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์จัด อาจเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดต้อกระจกเร็วขึ้น 
  • ไม่ควรใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรหยุดพักสายตาเป็นระยะ เช่น อ่านหนังสือหรือ เล่นโทรศัพท์ 
  • จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีแสงสว่างที่พอดีและสบายต่อการมองเห็นไม่มืดจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ 
  •  เลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยตรงด้วยการสวมหมวกมีปีกหรือสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันอันตรายต่อ ดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลต
  • การใช้ยาหยอดตาทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินเอ อี และซี ช่วยบำรุงสายตา
  • แนะนำควรตรวจสายตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

 



ข้อสรุป

โรคต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมสภาพของแก้วตาตามช่วงวัยถือว่าเป็นอันตรายทั้งในผู้สูงอายุและวัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นควรกันไว้ดีกว่าแก้การดูแลสุขภาพ และปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน พร้อมกับตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ เพื่อช่วยยับยั้งปัจจัยที่อาจส่งเสริมให้เกิดต้อกระจก และลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นต้อกระจกตั้งแต่อายุยังน้อย หากมีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคต้อกระจกควรเข้ารับการตรวจรักษาโดยเร็วที่สุด อย่าปล่อยไว้จะรักษาได้ยากและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน


 

แก้ไขครั้งที่ 1 โดย GUEST1649747579 เมื่อ9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 22.08 น.

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา