กระตุ้นให้เต้น หัวใจเต้นเพราะมีไฟฟ้ากระตุ้น
กระตุ้นให้เต้น
หัวใจเต้นเพราะมีไฟฟ้ากระตุ้น
หากไม่มีไฟฟ้ากระตุ้น หัวใจก็หยุดเต้น
แท้จริงแล้วถ้าพูดถึงลักษณะการทำงานของหัวใจ จะมีเพียงการบีบตัวและคลายตัวเท่านั้น การบีบและคลายส่งผลให้มีการไหลเวียนของเลือดแดงและเลือดดำในระบบการไหลเวียนของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงร่างกายคำว่า ‘การเต้นของหัวใจ (Heartbeat)’ น่าจะมีที่มาจากการที่เราสัมผัสได้ถึงชีพจร หรือคลำบริเวณหน้าอกด้านซ้ายแล้วรู้สึกได้ถึงแรงที่กระทำเป็นจังหวะสม่ำเสมอ (Beat) นั่นเอง ขณะเดียวกัน บางคนอาจมีโอกาสได้เห็นหัวใจสัตว์บางชนิด จะเห็นลักษณะเหมือนกับว่าหัวใจกำลังเต้นกระตุกอยู่อย่างเป็นจังหวะ ทั้งที่จริงๆ แล้วหัวใจกำลังบีบตัวและคลายตัวอย่างเป็นจังหวะต่างหาก
หัวใจต้องการพลังงานที่กระตุ้นให้หัวใจเต้นอย่างเป็นจังหวะพลังงานนั้นคือพลังงานไฟฟ้า หัวใจของคนและสัตว์มีโรงงานผลิตไฟฟ้าหลัก เป็นจุดกำเนิดไฟฟ้าธรรมชาติอยู่ในห้องหัวใจด้านบนขวา โรงงานนี้เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นให้หัวใจเริ่มทำงานตั้งแต่เรายังเป็นทารกอยู่ในครรภ์กันเลยทีเดียว กระแสไฟฟ้าที่ผลิตออกมาจะถูกส่งผ่านสายไฟฟ้าธรรมชาติที่ฝังอยู่ในผนังกั้นห้องหัวใจส่วนบนต่อไปยังโรงงานผลิตไฟฟ้าย่อย และคัดกรองกระแสไฟฟ้าที่อยู่ตรงกลางรอยต่อระหว่างหัวใจทั้ง 4 ห้อง หลังจากนั้นจะถูกส่งผ่านสายไฟฟ้าธรรมชาติที่แตกแขวงแยกไปยังกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายและขวา กระตุ้นตามลำดับให้หัวใจห้องบนล่างบีบและคลายประสานกันเป็นจังหวะ
โดยปกติแล้วจุดกำเนิดไฟฟ้าดังกล่าวจะผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาเพื่อกระตุ้นหัวใจให้เต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอในอัตราประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที ในสภาวะพัก ซึ่งอัตราการเต้นก็จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับว่าร่างกายของเราอยู่ในสภาวะใด เช่น การนอนหลับลึก หรือได้ยาบางชนิด อาจทำให้หัวใจเต้นช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที เมื่อออกแรง ตื่นเต้นหรือได้ยาบางชิด หัวใจก็อาจจะเต้นมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น อะไรๆ ในร่างกายก็เริ่มเสื่อมและเริ่มรวนรวมทั้งจุดกำเนิดไฟฟ้าธรรมชาติและสายไฟฟ้าธรรมชาติเหล่านี้ด้วย จากที่เคยผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ ก็ผลิตได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง สายไฟฟ้าที่เคยนำกระแสไฟฟ้าได้ตามปกติ พอเริ่มเสื่อมก็นำกระแสไฟฟ้าได้ช้าลง นานเข้าก็นำไม่ได้เลย เหล่านี้เรียกรวมเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) ที่เกิดจากการเสื่อมของระบบไฟฟ้าหัวใจ
ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคนี้มักมีอายุมากกว่า 70 ปี ทั้งหญิงและชายมีสิทธิ์เป็นได้เท่าเทียมกัน
ถ้าปัญหาความเสื่อม (และรวน) อยู่ที่โรงงานผลิตไฟฟ้าหลัก ผู้ป่วยจะมีทั้งภาวะหัวใจไม่เต้นเลย หยุดเต้นไปเลยเป็นเวลาหลายวินาที (จะหน้ามืดเป็นลมก็ตอนนี้ล่ะ) สลับกับหัวใจเต้นเร็วรัวผิดจังหวะ ตอนนี้ก็จะมีอาการใจสั่น บอกแล้วว่าทั้งเสื่อม ทั้งรวน ทั้งป่วนไปหมด ภาวะแบบนี้เรียกว่า Sick Sinus Syndrome
แต่ถ้าปัญหาอยู่ที่โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าย่อยและการคัดกรองกระแสไฟฟ้า แบบนี้โรงงานผลิตไฟฟ้าหลักยังคงทำงานผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในอัตราปกติ แต่ตอนนี้กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านลงมาถึงโรงงานย่อยนี้กลับไม่สามารถไปต่อได้ กระแสไฟฟ้าที่จะวิ่งผ่านต่อลงไปถึงหัวใจห้องล่างจึงมีไม่พอ ผลก็คือหัวใจจะเต้นช้าเกินไป บางครั้งช้ากว่า 30 ครั้งต่อนาทีภาวะแบบนี้เรียกว่า Complete Heart Block ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียหน้ามืด เป็นลม
วิธีการรักษานั้นไม่ยาก เมื่อระบบไฟฟ้าในหัวใจเสื่อม ก็ฝังอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าให้เสีย อุปกรณ์นี้เรียกว่า เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หรือ Pacemaker นั่นเอง หลายคนคงคุ้นเคย หรืออย่างน้อยคงเคยได้ยินมาบ้าง ลักษณะเป็นกล่องโลหะขนาดประมาณกลักไม้ขีดไฟ ข้างในมีแบตเตอรี่เป็นแหล่งสร้างพลังงาน ฝังไว้ใต้ชั้นไขมันหรือชั้นกล้ามเนื้อบริเวณถัดลงมาจากกระดูกไหปลาร้าฝั่งขวาหรือซ้าย มีสายไฟฟ้า (เป็นสายไฟฟ้าจริงๆ) ต่อจากเครื่องเข้าสู่หัวใจโดยตรง เครื่องจะถูกตั้งโปรแกรมให้ปล่อยกระแสฟ้ากระตุ้นให้กำหนดให้แตกต่างกันไปสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ระยะเวลาการใช้งานของแบตเตอรี่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องต้องทำงานปล่อยกระแสไฟฟ้ามากหรือน้อยแค่ไหน โดยเฉลี่ยก็ 5-10 ปี จึงจะเปลี่ยนแบตเตอรี่กันครั้งหนึ่ง
ผู้ป่วยหญิงอายุ 89 ปี ญาตินำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากสังเกตว่าผู้ป่วย ‘ไม่เหมือนเดิม’ มีประวัติความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงเล็กน้อยและหัวใจเต้นผิดจังหวะ กินยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน
ผมพบว่าผู้ป่วยมีร่างเล็กผมเกร็ง นอนตาลอยอยู่บนเตียง ถามตอบได้ความสั้นๆ บางครั้งจับใจความไม่ได้ คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่จับได้จากเครื่องขณะนั้นบอกว่าหัวใจของผู้ป่วยเต้น 30-35 ครั้งต่อนาที ในขณะที่ความดันโลหิตตัวบนสูง 180-190 มิลลิเมตรปรอท ผมเริ่มลังเลเพราะผู้ป่วยอายุขนาดนี้ส่วนหนึ่งอยู่สภาพหลงลืมช่วยตัวเองไม่ได้ การรักษา บางอย่าง เช่น การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจอาจจะไม่ได้ประโยชน์ แต่ญาติก็ยังยืนยันในลักษณะเดิมว่า
“ปกติคุณยายไม่เป็นแบบนี้”
ผมตัดสินใจใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบชั่วคราวซึ่งทำได้ทันทีขณะนั้น เพื่อทำให้หัวใจกลับมาเต้นในอัตราปกติคือประมาณ 60 ครั้งต่อนาที ตั้งใจจะรอดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง ทำให้วางแผนการรักษาได้ง่ายขึ้น
หลายชั่วโมงต่อมา ผมเดินกลับมาเยี่ยมผู้ป่วยอีกครั้ง คราวนี้ผมพบว่าผู้ป่วยสูงวัยคนเดิมนอนตาแป๋วดูละครโทรทัศน์อยู่
“ยาย หมอมาเยี่ยมแหน่ะ” ญาติที่เฝ้าอยู่ในห้องพูดกับผู้ป่วย
“อ้าว...หมอเหรอ สวัสดีนะจ๊ะ” ยกมือไหว้อย่างคล่องแคล่ว
ผมชวนผู้ป่วยคุยเรื่องสัพเพเหระ คุยกันสนุกกำลังออกรส
“เห็นคุณยายบอกว่ามีพี่สาว อายุเท่าไรเหรอครับ” ผมถามทีเล่นทีจริงเพราะเห็นผู้ป่วยอายุเกือบ 90 ปีแล้ว
“พี่สาวฉันก็อายุมากกว่าฉันนี่แหละ ฮ่า ฮ่า ฮ่า”
หลังจากนั้นผมเลยได้รู้ว่า ‘คุณยายปกติ’ ที่ญาติบอก คือคุณยายที่คุยสนุก มีมุขคอยอำหมอและพยาบาล หัวเราะร่วนทั้งวัน ความจำดีมาก (แถมยังเล่นหวยใต้ดินอยู่) กินได้นอนหลับปกติ โดยมีลูกหลานคอยดูแลเอาใจใส่ที่บ้านมาตลอด
สรุปคือ อาการซึม ตาลอย ดูหลงลืมในวันแรก มีสาเหตุมาจากหัวใจเต้นช้าเกินไป แม้ว่าร่างกายจะพยายามปรับสภาพให้ความดันโลหิตสูงก็ตาม ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองก็ยังไม่พอที่จะทำให้ผู้ป่วนอยู่ในสภาวะที่มีสติสัมปชัญญะปกติได้
คราวนี้ผมไม่ลังเลที่จะปรึกษาหมอเฉพาะทางด้านไฟฟ้าหัวใจให้ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจให้ผู้ป่วยรายนี้ เนื่องจากคุณภาพชีวิตของคุณยายยังดีอยู่มาก
หลังผ้าตัดฝังเครื่อง 2 วัน ก็ถึงเวลาที่ผู้ป่วยจะได้กลับบ้าน
“ยาย ลาคุณหมอก่อน จะกลับบ้านกันแล้ว” ญาติบอกคุณยายที่นอนยิ้มกริ่มอยู่
“หมอจ๋า คุณหญิงบุญมาขอลาละนะจ๊ะ” ไม่พูดเปล่า ยกมือไหว้พร้อมกับยักคิ้วให้ด้วย!
จากหนังสือ รู้ทันป้องกัน โรคหัวใจ
http://www.satapornbooks.co.th/Book/BookList.aspx?src=%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%99...&typeSearch=1
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้