นั่งนิ่ง สมาธิ จากหนังสือ จิตคือพุทธะ

Madamread

เริ่มเข้าขีดเขียน (28)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:28
เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556 13.20 น.

http://www.keedkean.com

 

นั่งนิ่งสมาธิ

            อาจารย์เซนต้าวหยวนสอนว่า การนั่งสมาธิคือหนทางหลักของการศึกษาพุทธธรรมแนวเซน

            เซนไม่เขียนคัมภีร์เผยแผ่ด้วยอักษร แต่ก็มิได้ละเมิดหรือผิดห่างไปจากคัมภีร์ เซนถ่ายทอดธรรมด้วยจิตถึงจิต

            อาจารย์ธีรทาสว่า “เรื่องเซนคือสุญญตา ตรงกับหลักสูตรนักธรรมศึกษาชั้นโท หนังสือธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๒ คือสุญญตวิโมกข์, อนิมิตตวิโมกข์, อัปปณิหิตวิโมกข์”

            สมาธิของเซนก็เหมือนกับสมาธิของเถรวาท

            อาจารย์ประวิทย์ รัตรเรืองศรี กล่าวไว้ว่า “การศึกษาธรรมก็คือการกระทำให้แจ้งในอริยสัจและหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่มีคำว่า มหานิกายหรือธรรมยุต และมหายานหรือหินยาน หากยังมัวข้องอยู่ต่อความรู้สึกในทำนองนี้แล้ว การที่จะศึกษาต่อไปถึงคำว่า อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา ก็ไร้ประโยชน์”

            พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้ง) เขียนแนะนำการฝึกนั่งสมถวิปัสสนาไว้ดังนี้ (แปลเป็นภาษาไทยโดยพระอาจารย์จีนธรรมคณาธิการ (เย็นเจี่ยว)

            “...๓. สมถวิปัสสนา (สมถะคือ ใช้ความเพ่ง วิปัสสนาคือ ใช้ปัญญาพิจารณา)

            สมถวิปัสสนาเป็นการภาวนาในใจ ด้วยอาการนั่งนิ่งๆ ณ ที่เงียบสงัด โดยมากมักปฏิบัติกันในเวลากลางคืน ไม่มีเสียงดังรบกวน การนั่งนิ่ง ๆ ภาวนานี้เป็นการกระทำสำรวมจิตไม่ให้พะวงกังวลในอารมณ์ เมื่อดวงจิตสงบเงียบลงแล้ว ให้พิจารณาสิ่งในโลกล้วนแล้วไม่มีความเที่ยงแน่นอน ย่อมผันแปรไม่เป็นแก่นสาร ให้พิจารณาทุกแง่ทุกมุม เช่น

            สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ย่อมมีความก่อขึ้นแล้วก็มีความเสื่อมลง มีการเกิดมาก็ย่อมมีการตายไป เป็นกฎธรรมชาติและธรรมดาล้วนเป็นอนัตตาทั้งสิ้น

            ร่างกายที่ปรากฏเป็นรูปแลเห็นนั้น เป็นสังขารที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยธาตุ สังขารที่เรารักนักรักหนาล้วนไม่มีความเที่ยง ไม่แน่นอน ไม่ใช่อาตมะของเรา เพราะไม่อยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของเรา จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตายด้วยกันทุกคน ไม่มีการยกเว้น”

            พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้ง) อธิบายเรื่อง ‘สมาถวิปัสสนา’ ต่อว่า

            “อันผู้ที่มีชีวิตสุกใสร่าเริงเทียบกับผู้ที่มีชีวิตอับเฉา ทั้งสองฝ่ายล้วนมีน้ำหนักเท่าๆ กันในการมรณะเพราะจะกอบโกยเอาเงินทอง ทรัพย์สมบัติ ตลอดจนของรัก คนที่รัก ติดตัวไปเมื่อสิ้นลมหายใจไม่ได้ด้วยกันทั้งสิ้น

อันสิ่งจะติดตัวไปได้ก็คือกรรมอย่างเดียวและถ้าเป็นกรรมที่ทำลายตนเอง ก็จะนำตัวเจ้าของกรรมไปสู่ทุกขภูมิส่วนกรรมที่เป็นที่พึ่ง ก็จะส่งเสริมให้เจ้าของกรรมไปสู่สุขภูมิ เหล่านี้เรียกว่า ‘ปฏิสารณียกรรม’ ให้ผมสะท้อนนั้นเอง

            เมื่อหมั่นพิจารณาดังนี้แล้ว จะเกิดปัญญามองทะลุเห็นธรรมอันแท้จริงแห่งอริยสัจคือ ทุกข์ ที่เกิดแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และทางแห่งความดับทุกข์ จะเกิดภาวนามัยกุศลอย่างมากมาย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด รู้จักช่วยตนเองให้พ้นจากวัฏสงสาร

            อนึ่ง ในข้อปฏิบัติภาวนานี้ ทางฝ่ายมหายานถือเคร่งครัดมากเพราะเป็นการนำทางให้เกิดธรรมสังเวช บังเกิดความเมตตาแก่มนุษย์และสัตว์ทั่วไป จะเป็นผู้ไม่เห็นแก่ตนเอง จะชักจูงให้ผู้อื่นรอดพ้นจากเวทนาด้วยความปรานี ทั้งจะเป็นผู้มีจิตเบิกบาน ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่เป็นอธรรมใดๆ ด้วย

            การฝึกนั่งสมถวิปัสสนามีวิธีการดังต่อไปนี้

๑.      การนั่งเป็นสมาธิ

นั่งเท้าไขว้กัน เอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย (อย่างเดียวกันกับพระพุทธรูป จะนั่งขัดสมาธิธรรมดาหรือนั่งขัดสมาธิเพชรก็ได้ แบมือซ้ายวางหน้าตัก แล้วเอามือขวาวางทับฝ่ามือซ้าย นั่งศีรษะอย่าตะแคง มองตรงไปข้างหน้า นั่งนิ่งอย่าเคลื่อนที่ อย่านั่งเอียงตัวหรือนั่งพิง นั่งให้ได้ที่สะดวก หลับตาหรือทอดสายตาลงต่ำ แต่ตื่นอยู่เสมออย่าหลับ)

๒.     การกำจัดความหวาดกลัว

ให้นึกในใจว่า มีความศรัทธาบริสุทธิ์ที่จะช่วยคลี่คลายบรรเทาทุกข์ผู้อื่น อย่าได้มีความขลาดกลัว ไม่มีอันตรายใดมาพ้องพาล หากมีกรรมทางกาย วาจา ใจ อันไม่บริสุทธิ์ในอดีต ขอจงมารับแผ่อานิสงส์กุศลบุญครั้งนี้ไปสู่สุคติ อย่าสะดุ้งหวาดต่อภาพที่แลเห็น อย่าตกใจเสียงที่ได้ยิน (ให้ยึดคติมั่นไว้ว่าภาพที่แลเห็นหรือเสียงที่ได้ยินนั้น เทียบเท่าที่เคยแลเห็นปรากฏอยู่ในจอภาพยนตร์ แม้ว่าจะมีรูปทำท่าเงื้อง่าตีลงมาก็เช่นเดียวกันกับภาพในจอภาพยนตร์นั่นเอง หาอาจกระทบตัวเราได้ไม่) กุมสติอยู่เช่นนี้เป็นยอดในการปฏิบัติ

ตั้งสติให้แน่วแน่ ความขลาดกลัวจะหมดไป ในเมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว

๓.      การปล่อยจิต

ให้ปลดปล่อยจิตเป็นอิสระ อย่านึกคิดสิ่งใดๆ การนึกคิดเหตุการณ์ในอดีตจะมีมาก่อน ให้ระงับอารมณ์เหล่านั้นเสีย ข่มจิตให้สงบลง สำรวมจิตเป็นกลาง กุมจิตให้คงไว้ ให้นึกแต่เพียงปลายจมูก หรือกุมจิตเพ่งอยู่ในนิรมิตอย่างหนึ่ง (คิดรวมจิตมาไว้แห่งเดียว ไม่ให้วุ่นวาย) ความฟุ้งซ่านนึกคิดแห่งจิตจะเบาบางเสื่อมคลายลงเป็นลำดับ

๔.     การวางลมหายใจ

ให้หายใจตามสะดวก อย่าอั้นลมหายใจ หายใจยาวๆ ออก และสูดหายใจยาวๆ เข้า ให้ได้ระยะเท่าๆ กัน (เรียกว่าหายใจให้ทั่วท้อง) ค่อยๆ ลดระยะยาวผ่อนสั้นลงให้ได้ระยะเท่าๆกัน อย่าหายใจทางปาก ให้หายใจเข้าออกยาวธรรมดาสม่ำเสมอเรื่อยๆ ไป

๕.     ความรู้สึกเกี่ยวกับประสาท

ให้ยึดคติว่า ‘คำว่ามาร’ นั้นแปลว่า ผู้ที่ชั่ว เป็นศัตรูกับ ‘คำว่าพระ’ ซึ่งแปลว่า ผู้บริสุทธิ์ ฉะนั้น มารจึงมาก่อน เช่น มีอาการเมื่อยตามขา หูมักได้ยินเสียง คันตามหน้า คอ และที่อื่นๆ เหมือนกับตัวไรมาคลานไต่ ขอให้นั่งบริกรรมต่อไปอย่าคลายจากสมาธิ ชั่วขณะหนึ่งสิ่งที่รบกวนเหล่านี้จะระงับไปเอง บางครั้งรู้สึก เช่น น้ำลายจะไหล บางครั้งเรอลมออกมาทางปาก บางครั้งในท้องรู้สึกร้อน ร่างกายร้อนเหงื่อออก จะรู้สึกตึงชา เริ่มต้นตั้งแต่ชาสูงขึ้นมาทุกทีเหมือนตัวฟูพอง สิ่งเหล่านี้คือผลในการนั่งนั่นเอง

๖.     การปรากฏการณ์

ให้มองตรงไปข้างหน้าห่างจากที่นั่งราว ๑ เมตร จะลืมตาหรือหลับตามีผลเท่ากัน (การลืมตารู้สึกว่ายากกว่าหลับตา แต่เมื่อผลเกิดแล้วให้พยายามลืมตาดีกว่าหลับตา) จะมีแสงประกาบแวบวับ ดำบ้างขาวบ้าง แสงแปลบๆ เป็นจุดประกายเล็กๆ มีสีแดง สีเหลือง สีขาว สีน้ำเงินอ่อน และสีม่วง แสงเหล่านี้แตกกระจาย แสงจะอ่อนลง บางทีเห็นแต่เงาแสงมืด บางแสงเหมือนอยู่ในเงาแสงมืด บางแสงเหมือนกับอยู่ในที่ที่มีของบังไว้ จะแลเห็นชัดขึ้นเป็นลำดับ จะแลเห็นภาพ ไม่ได้ยินเสียง จะได้ยินเสียง ไม่แลเห็นภาพ ดังนี้เป็นขั้นนับว่าเริ่มเข้าสมาธิ

จากหนังสือ จิตคือพุทธะ สำนักพิมพ์ be Bright ในเครือบริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด

สามารถติดตามได้ที่

http://www.satapornbooks.co.th/Book/BookDetail.aspx?id=2087

 

            

หน้า จาก 1 ( 1 ข้อมูล )
แสดงจำนวน ข้อมูลต่อแถว
1

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา