17 ผู้ทรงอิทธิพล ในอาเซียน

Madamread

เริ่มเข้าขีดเขียน (28)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:28
เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 11.50 น.

 

http://www.keedkean.com

 

พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ

            ผู้เปลี่ยนสนามรบ ให้เป็นสนามการค้า

            อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย ทั้งยังเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่สำคัญ เขาเป็นผู้เปลี่ยนสนามรบในภูมิภาคอินโดจีนให้กลายเป็นสนามการค้า

            พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ หรือชื่อที่รู้จักในวงการการเมืองคือ “น้าชาติ” เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1920 ในครอบครัวเชื้อสายจีน จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานครปัจจุบัน) เป็นบุตรของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ กับคุณหญิง วิบูลย์ลักษม์ ชุณหะวัณ มีพี่สาว 3 คน และน้องสาว 1 คน

            ในวัยเด็ก พลเอกชาติชายเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จากนั้นศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ แล้วสอบเข้าเรียนหลักสูตรวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายทหารม้า และศึกษาต่อยังโรงเรียนยานเกราะกองทัพบก (อาร์เมอร์สกูล) รัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

            พลเอกชาติชายเข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1940 ขณะอายุได้ 20 ปี ในตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ จากนั้นได้เลื่อนเป็นผู้บังคับกองร้อย ต่อมาในปี ค.ศ. 1949 ย้ายไปดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และกลับมาเป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ รองผู้บังคับการโรงเรียนยานเกราะผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 2 และผู้บังคับการโรงเรียนยานเกราะ

            ในปี ค.ศ. 1958 พลเอกชาติชายได้รับตำแหน่งเป็นอุปทูตอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำประเทศอาร์เจนตินา เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำประเทศออสเตรีย ตุรกี สำนักวาติกัน และตำแหน่งสำคัญคือ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ตามลำดับ

            ปี ค.ศ. 1972 พลเอกชาติชายเดินทางกลับประเทศไทย จากบทบาทและประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ ทำให้เขาได้เข้ารับตำแหน่ง “อธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ” ซึ่งนับเป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตข้าราชการประจำ ตลอดช่วงระยะเวลา 32 ปีของการรับราชการ จากนั้นในปลายปี ค.ศ. 1972 พลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) ได้เริ่มมีบทบาทในฐานะข้าราชการการเมือง โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ ให้รัฐบาลของ จอมพล ถนอม กิตติขจร นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พลเอกชาติชายก้าวเข้าสู่วงการการเมืองอย่างเต็มตัว

            จากนั้น 2 ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1974 พลเอกชาติชายได้ร่วมกับ พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร (ยศขณะนั้น) ผู้มีศักดิ์เป็นพี่เขย (สามีของ ท่านผู้หญิง เจริญ อดิเรก พี่สาวคนที่ 3 ของพลเอก ชาติชาย ผู้เป็นบิดา-มารดาของนายปองพล อดิเรกสาร) และพลตรี ศิริ สิริโยธิน ก่อตั้ง “พรรคชาติไทย” ขึ้น โดยมี พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก จากนั้นในปีต่อมา พลเอกชาติชายได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนต่อเนื่องรวม 5 สมัย โดยดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี ค.ศ. 1976 และตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 1986

            ในปี ค.ศ. 1986 นี้เอง พลเอกชาติชายได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 2 และนำพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 ในปี ค.ศ. 1988 ได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย หลังจากพล. อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีสมัยก่อนหน้าได้ปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 4 และประกาศวางมือทางการเมือง

            พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1988 ในระหว่างดำรงตำแหน่งมีการปรับคณะรัฐมนตรี 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 1990 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1991 โดยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลารวมประมาณ 2 ปีครึ่ง

            ผลงานของรัฐบาลพลเอกชาติชายที่เป็นนโยบายสำคัญในระดับภูมิภาค คือ การดำเนินนโยบายกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอินโดจีนโดยเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นแนวทางการทูตแนวใหม่

            จากความไม่มั่นคงทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชาที่มีปัญหาการเมืองภายใน ตลอดจนประเทศอื่นๆ ในคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามเย็นที่ต่อเนื่องยาวนาน ทำให้บรรยากาศในภูมิภาคไม่เอื้อต่อการลงทุน การทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจของนักลงทุนชาวต่างชาติก็ไม่สะดวก สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ในฐานะประเทศในภูมิภาคเดียวกัน นำไปสู่การหาทางออกอย่างประนีประนอมตามรูปแบบนักการทูตของพลเอกชาติชาย สิ่งที่เรียกว่าการ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” คือ ส่งสัญญาณทางการทูตไปยังประเทศที่มีความขัดแย้ง มองข้ามเรื่องความมั่นคงภายในประเทศแล้วหันมาร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ เพื่อผลประโยชน์ที่ภูมิภาคจะได้รับร่วมกัน

            ตัวอย่างของการดำเนินนโยบายดังกล่าว เช่น การเจรจาร่วมระหว่างเขมร 4 ฝ่าย เพื่อยุติการสู้รบ โดยเริ่มต้นจากเชิญฝ่ายของนายฮุน เซน เข้ามาเจรจาสันติภาพกับฝ่ายพระบาทสมเด็จพระนโรดม  สีหนุที่บ้านพิษณุโลก โดยพลเอกชาติชายได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกร่วมกัน ระหว่างนายฮุน เซนกับพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้ช่วยส่งเสริมการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศมหาอำนาจ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพในอินโดจีน ส่งผลให้ทุกฝ่ายหันมาเจรจาและพัฒนาไปสู่ข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีส ในเดือนเมษายน 1991 นำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างสันติภาพในกัมพูชาจนสำเร็จ นโยบายนี้ส่งผลดีทั้งในทางเศรษฐกิจ และยังทำให้ทุกประเทศในอินโดจีนหันมาหารือกันกลายเป็นพื้นที่ดึงดูดนักลงทุน ถือว่ามีส่วนช่วยสร้างสันติภาพในระดับภูมิภาคอีกด้วย

            แม้ในระยะเริ่มแรก จะมีบางหน่วยงานและบางองค์กรไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายในของแต่ละประเทศ ทั้งยังมีอุปสรรคจากการเมืองระหว่างประเทศอยู่บ้าง แต่ด้วยบุคลิกที่เป็นนักการทูตของพลเอกชาติชาย และความมั่นคงในจุดยืนที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต พลเอกชาติชายจึงสามารถตอบโต้และดำเนินนโยบายมาได้ตามลำดับ สอดคล้องกับที่สงครามเย็นสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1991 ขณะนั้นประเด็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลงพร้อมๆ กับที่ประเด็นเรื่องความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเข้ามามีความสำคัญแทน

            นอกจากนี้ พลเอกชาติชายยังได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ช่วยส่งเสริมความแน่นแฟ้นของภูมิภาค ผ่านการร่วมมือกับประเทศออสเตรเลีย ผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC) และร่วมสนับสนุนการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรกในปี ค.ศ. 1989 นำไปสู่การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรกในปี ค.ศ. 1989 นำไปสู่การสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (Friendship Bridge) เชื่อมนครเวียงจันทน์กับจังหวัดหนองคายซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยเชื่อมโยงการคมนาคมให้การเดินทางสะดวกขึ้น และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาวแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเชื่อมโยงทางการเมืองและการคลี่คลายความขัดแย้ง และเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศในสมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชายก็ได้เจรจากับญี่ปุ่น เพื่อขอให้สนับสนุนการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 เชื่อมจังหวัดมุกดาหารกับเมืองสะหวันนะเขต เพื่อให้เป็นเส้นทางการส่งออกสินค้าไปสู่ประเทศลาว กัมพูชาเวียดนาม และเป็นการเปิดภาคอีสานของไทยให้ไปออกทะเลที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนามอีกด้วย

            ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่พลเอกชาติชายสามารถแก้ไขได้คือปัญหาเรื่องการถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สหรัฐอเมริกาได้ขอให้ไทยคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพื่อแลกกับสิทธิพิเศษทางการค้าสำหรับสินค้าไทยในตลาดอเมริกา พลเอกชาติชายได้ใช้วิธีการเจรจาในรูปแบบองค์รวมจากการที่ไทยได้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อแก่การค้าและการลงทุน ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อสหรัฐอเมริกาที่จะมาลงทุนในภูมิภาคนี้เช่นกัน จึงทำให้ตลอดเวลา 2 ปีครึ่งที่พลเอกชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรี ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยปราศจากการกีดกันการลงทุนทั้งในภูมิภาคและระหว่างประเทศเฟื่องฟู พร้อมกับมีการดำเนินนโยบายทางการเมืองที่แยบยล อาทิ เริ่มให้ถอนทหารสหรัฐอเมริกาออกจากประเทศไทย  เปิดสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เคยอยู่ในขั้วอุดมการณ์ตรงข้ามกัน ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงที่สุดในโลกถึง 2 ปีซ้อน คือปี ค.ศ. 1988 สูงถึงร้อยละ 13.2 และปี ค.ศ. 1989 สูงถึงร้อยละ 11.2 ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของโลกโดยรวมซบเซา

            นโยบายของพลเอกชาติชายอีกหลายประการยังส่งผลสืบเนื่องต่อการดำเนินนโยบายของไทยในยุคต่อมา เช่น การมีผลผูกพันกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อเปิดเสรีด้านการเงิน การลดภาระด้านงบประมาณของรัฐในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วยการแปรรูป (Privatization) การเปิดโครงการพัฒนาพีเศษเพื่อรองรับการลงทุนจากนานาชาติ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) การเปิดนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและแหลมฉบัง และโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) การขุดเจาะสำรวจหาก๊าซและน้ำมันทั้งบนบกและอ่าวไทย การปรับปรุงพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

            พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ บริหารประเทศจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1991 ก็ถูกยึดอำนาจการปกครองโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ต่อมานำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปี ค.ศ. 1992 หลังจากนั้นพลเอกชาติชายได้เดินทางไปพำนักที่ประเทศอังกฤษระยะหนึ่ง ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทย และ ก่อตั้ง “พรรคชาติพัฒนา” ขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 1992 โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก จากนั้นได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 1992 ถือเป็นการกลับเข้าสู่วงการการเมืองอีกครั้ง

            ด้านครอบครัว พลเอกชาติชายสมรสกับ ท่านหญิง บุญเรือน ชุณหะวัณ มีบุตรธิดา 2 คน พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 1998 ณ โรงพยาบาลคอมเวลล์ สหราชอาณาจักร รวมอายุได้ 78 ปี

            บทบาทของพลเอกชาติชายถือเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการดำเนินนโยบายทางการทูตที่มีความสอดคล้องกันทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านความมั่นคงซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคโดยรวม และถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจรรโลงสันติภาพให้แก่ภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรากฐานอันดีต่อความร่วมมือระหว่างประเทศในยุคต่อๆ มา  

           

 ขอขอบคุณหนังสือ 17 ผู้ทรงอิทธิพลในอาเซียน 

 

แก้ไขครั้งที่ 1 โดย Madamread เมื่อ11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 11.51 น.

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา