อนาคตประเทศไทยและความยั่งยืน คือการทำด้วยวิสัยทัศน์ที่ยั่งยืน
หากจะตั้งคำถามง่าย ๆ ว่าความยั่งยืนคืออะไร เชื่อว่าคำตอบที่ได้ว่าอาจต้องอธิบายลงลึกถึงระดับการสร้างจิตสำนึกในมนุษย์ทุกคน เพื่อให้คำ ๆ นี้ไม่เป็นเพียงคำนามที่ใคร ๆ ก็พูดกัน หรือผูกโยงไว้ท้ายเนื้อหาบทความให้ดูรักษ์โลก แต่เป็นคำที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมได้จริง ๆ บทความนี้จะชวนมาดูว่า ความยั่งยืนคืออะไร สำคัญยังไงกับโลก กับประเทศไทย และคนไทยช่วยอะไรได้บ้าง
ความยั่งยืนคืออะไร ?
ความยั่งยืน หรือ Sustainability คือแนวคิดที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองความต้องการของตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การดำรงชีวิตและพัฒนาสังคมโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เสื่อมโทรมจนเกินไป
อนาคตโลก อนาคตประเทศไทยและความยั่งยืน : มองไปข้างหน้าด้วยวิสัยทัศน์ที่ยั่งยืน
หากอธิบายเรื่องความยั่งยืนให้เข้าใกล้บริบทโลกและประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อาจต้องอธิบายในแง่ของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development ซึ่งเป็นแนวคิดหลักสำคัญที่กำหนดให้ยึดถือกันทั่วโลก เพื่อให้ทุกประเทศช่วยกันขับเคลื่อนพัฒนาประเทศของตนไปในทิศทางที่ดี ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มีความเผื่อแผ่ถึงอนุชนคนรุ่นหลัง และเมื่อความสำเร็จจากทุกประเทศประกอบกันเข้า ก็เชื่อว่าจะทำให้โลกดำเนินไปทิศทางแห่งความยั่งยืนได้
ความเป็นมาของการพัฒนาที่ยั่งยืน
แนวคิดของ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" (Sustainable Development) นั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ แต่มีรากฐานมาจากความตระหนักของมนุษยชาติที่มีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
โดยคำนี้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรายงานของคณะกรรมาธิการโลกเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือในรายงานบรู๊ดแลนด์ (Brundtland Report) เมื่อปี พ.ศ. 2529 โดยตีพิมพ์รายงานชื่อ "Our Common Future" ซึ่งนิยามการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าเป็น "การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของปัจจุบันโดยไม่กระทบต่อความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองความต้องการของตนเอง"
การประชุมระดับนานาชาติที่สำคัญ
หลังจากรายงานบรู๊ดแลนด์เผยแพร่ออกมา ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น และได้มีการจัดประชุมระดับนานาชาติที่สำคัญหลายครั้ง เช่น
- การประชุมสุดยอดโลกเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่เรียกว่า Earth Summit ที่เมืองริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในปี พ.ศ. 2535 โดยเป็นการประชุมที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง ได้มีการลงนามในเอกสารสำคัญหลายฉบับ เช่น Agenda 21 ที่เป็นแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในศตวรรษที่ 21รวมถึงการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) และอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change)
- เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs): เป็นวาระการพัฒนาระดับโลกที่สหประชาชาติกำหนดขึ้นในปี 2015 โดยมีเป้าหมาย 17 ข้อ ครอบคลุมทุกมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การขจัดความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDGs เป็นกรอบการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนภายในปี 2030
แก่นสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน
แก่นสำคัญของความยั่งยืน หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน คือการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การดูแลสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน การลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการส่งเสริมความเท่าเทียม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
บทบาทของประเทศไทยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยได้มีการกำหนดนโยบายและแผนงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย SDGs ผ่านนโยบายต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับชาติและลงลึกไปจนถึงระดับปฏิบัติการ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) และแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงแผนด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการทรัพยากรน้ำ และการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน
ประชาชนไทยจะช่วยเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร
การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของประชาชนไทยทุกคนที่มีส่วนสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศ โดยสามารถเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันได้หลายวิธี เช่น
- ลดการใช้พลังงาน : ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน ใช้หลอด LED ประหยัดน้ำ เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด
- ลดการสร้างขยะ : คัดแยกขยะ รีไซเคิล และลดการใช้พลาสติก
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : เลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ หรือสินค้าที่มีการรับรองมาตรฐาน
- สนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืน : เลือกใช้บริการของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคม
การใช้ของหลุดจำนำและการพัฒนาที่ยั่งยืน
หากมองในแง่ของคนไทยเมื่อก่อน อาจดูเป็นสิ่งที่น่าเซอร์ไพรส์ในการนำสองเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกัน แต่เชื่อหรือไม่ว่านี่คือวิถีชีวิตปกติของชาวต่างชาติที่นำของดีที่ไม่ใช้แล้วออกมาวางขาย เพื่อส่งต่อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าสภาพดี ราคาถูก ให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อหา และปัจจุบันกระแสการส่งต่อสินค้าสภาพดีที่ไม่ใช้แล้วของคนไทย ก็ปรากฏขึ้นมากมายในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเด็ก กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ
ดังนั้น การซื้อของหลุดจำนำก็เช่นกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดประชาชนคนไทยที่สุดแล้ว ยังเป็นการใช้ชีวิตที่มีวิสัยทัศน์ที่ยั่งยืน เพราะการใช้ของหลุดจำนำเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากการนำของใช้ที่ยังดีอยู่กลับมาใช้ใหม่ ช่วยลดการผลิตขยะ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตสินค้าใหม่ และช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น นอกจากนี้ การซื้อของมือสองยังเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตสินค้าใหม่ สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นการกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน
การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเป้าหมายที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน และประเทศไทยก็มีบทบาทสำคัญและมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายนี้ การที่ประชาชนทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน และร่วมกันลงมือปฏิบัติด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างการเลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างการใช้ของหลุดจำนำ เป็นหลาย ๆ วิธีที่เราสามารถทำได้ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่ลูกหลาน ให้แก่ประเทศไทยและโลกใบนี้
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้