เส้นเอ็นอักเสบจากอุบัติเหตุ ปวดมากกว่า 3 วันแล้วยังไม่หาย ควรรีบพบแพทย์

thidarat

ขีดเขียนฝึกหัด (70)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:84
เมื่อ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2565 11.14 น.

     เส้นเอ็น คือส่วนปลายของกล้ามเนื้อที่ยึดติดอยู่กับกระดูก เส้นเอ็นจะทำงานหนักทุกครั้งที่เราขยับเขยื้อน หรือทำกิจกรรมที่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อนาน ๆ หรือใช้งานบริเวณข้อต่อบ่อย ๆ มีโอกาสที่จะเกิดเส้นเอ็นอักเสบได้ ซึ่งอาการเส้นเอ็นอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้หลายจุดด้วยกัน เช่น บริเวณ ไหล่ ข้อศอก ข้อมือ สะโพก และส้นเท้า เมื่อเส้นเอ็นอักเสบจะมีอาการเจ็บปวดมาก หากอักเสบรุนแรงจะขยับเขยื้อนบริเวณนั้นลำบาก โดยปกติอาการปวดจะค่อย ๆ ทุเลาลงเมื่อรีบทำการรักษาเบื้องต้นได้ดี แต่ในรายที่เส้นเอ็นอักเสบรุนแรงมีอาการเส้นเอ็นฉีกขาดร่วมด้วย หากปล่อยไว้นานอาการปวดอาจเรื้อรังได้ ดังนั้นหากใครที่มีอาการเส้นเอ็นอักเสบจากอุบัติเหตุ ปวดมากกว่า 3 วันแล้วยังไม่หาย ควรรีบพบแพทย์ทันที วันนี้เรามีข้อมูลความรู้จากทางศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน เกี่ยวกับอาการเอ็นอักเสบมาฝากกัน ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้เลยค่ะ

     เส้นเอ็นอักเสบ (Tendinitis) เกิดขึ้นได้ง่ายโดยที่เราอาจไม่ทันระวังตัว ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ทุกกิจกรรมที่ทำ ไม่เพียงแต่เกิดกับนักกีฬาเท่านั้น สาเหตุมักเกิดจากการที่เส้นเอ็นถูกใช้งานหนักเกินไป หรือได้รับบาดเจ็บที่ซ้ำ ๆ จนเกิดการอักเสบขึ้น ทำให้เกิดอาการปวด กดเจ็บ บริเวณเส้นเอ็น โดยปกติอาการของเส้นเอ็นอักเสบส่วนใหญ่มักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน ด้วยการพักและดูแลรักษาตนเอง แต่หากพบว่ายังคงมีอาการรุนแรง กระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากกว่า 3 วัน อาจเกิดภาวะเส้นเอ็นฉีกขาดได้ โดยแพทย์อาจจำเป็นต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องซ่อมแซมเส้นเอ็นฉีกขาด (Arthroscopic Surgery) เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

เส้นเอ็นอักเสบเกิดจากสาเหตุใดบ้าง
เส้นเอ็นอักเสบ (Tendinitis) สามารถเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- จากการเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณหนึ่ง ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน โดยเฉพาะการทำอาชีพหรืองานอดิเรกที่ต้องมีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเอ็นซ้ำ ๆ ซึ่งทำให้เอ็นบริเวณที่ถูกใช้งานตึงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดการอักเสบขึ้น
- อุบัติเหตุ ส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บอย่างฉับพลันจากการออกกำลังกาย เล่นกีฬา และอาจเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเอ็นฉีกขาดได้
- การอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรือผิดท่า ทำให้เอ็นต้องเกร็งตัวตลอดเวลา ก็ทำให้เส้นเอ็นอักเสบได้ เช่น นั่งทำงานผิดท่า นอนผิดท่า
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น จะมีความยืดหยุ่นลดลง ทำให้เกิดเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย หรือเส้นเอ็นอักเสบได้ง่ายขึ้น

อาการของเส้นเอ็นอักเสบ
     เส้นเอ็นอักเสบ ส่วนใหญ่จะเป็นการเจ็บนอกข้อ และพบได้บ่อยในบริเวณ เอ็นข้อศอก เอ็นไหล่ เอ็นหัวเข่า และเอ็นร้อยหวาย โดยจะมี อาการปวดตรงที่เกิดเส้นเอ็นอักเสบ โดยจะปวดตื้อ ๆ บ่อยครั้ง อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการขยับในข้างที่เป็น มีอาการบวม บางครั้งอาจรู้สึกอุ่น ๆ หรือมีอาการแดงร่วมด้วยแต่จะไม่บวมในข้อ มีก้อนบวมนูนตามเอ็นกล้ามเนื้อนั้น ๆ บางครั้งขยับแล้วเจ็บมาก เนื่องจากมีเอ็นฉีดขาด

การวินิจฉัยเส้นเอ็นอักเสบ
     การวินิจฉัยเส้นเอ็นฉีกขาดนั้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและซักประวัติ สอบถามอาการเบื้องต้น เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น กิจกรรมที่ทำก่อนจะมีอาการ ลักษณะของอาการปวด ความถี่และระยะเวลาที่เกิดอาการ นอกจากนี้แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยพิเศษเพิ่มด้วยเครื่องมือที่จำเป็น อาทิ การตรวจเอกซเรย์ และ การตรวจภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

การรักษาเส้นเอ็นอักเสบ
โดยปกติอาการของเส้นเอ็นอักเสบส่วนใหญ่มักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน ซึ่งการรักษา แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
     1.ภาวะเส้นเอ็นอักเสบที่ไม่รุนแรง และยังสามารถขยับท่าทางเคลื่อนไหวได้บ้าง แพทย์จะแนะนำให้พักและดูแลรักษาตนเองด้วยการประคบร้อน หรือเย็น รวมไปถึงการรับประทานยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบ ในบางกรณีอาจมีการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย ถ้าเป็นมาก ปวดมาก แพทย์อาจพิจารณาใส่เฝือกอ่อนเพื่อให้อวัยวะนั้นได้พัก ลดการขยับ แต่จะใส่ระยะสั้นๆ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะได้ไม่เกิดภาวะข้อยึดติด

     2.ภาวะเส้นเอ็นอักเสบรุนแรง จากอุบัติเหตุ หรือมีอาการเส้นเอ็นอักเสบต่อเนื่อง และพักมา 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการปวดมาก บวมมาก มีจ้ำเลือดขนาดใหญ่ ขยับข้อได้ลดลง รู้สึกอ่อนแรง ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ อาจจะมีภาวะเส้นเอ็นอักเสบจนฉีกขาดได้จำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม รวมทั้งแพทย์อาจจำเป็นต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องซ่อมแซมเอ็นฉีกขาด (Arthroscopic Surgery)

การผ่าตัดส่องกล้องซ่อมแซมเส้นเอ็นฉีกขาด (Arthroscopic Surgery)
     การผ่าตัดส่องกล้องซ่อมแซมเอ็นฉีกขาด (Arthroscopic Surgery) เป็นวิธีผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็นที่ขาด หรือสร้างเอ็นใหม่ โดยนำเส้นเอ็นจากบริเวณอื่นมาทดแทน โดยศัลยแพทย์จะเปิดแผลขนาดเล็กแล้วใช้กล้องขนาด 4 มิลลิเมตรส่องเข้าไปดูภายในบริเวณที่มีการฉีกขาดของเส้นเอ็น ภาพที่ได้จะถูกส่งขึ้นจอภาพที่อยู่ในห้องผ่าตัด ทำให้แพทย์สามารถเห็นส่วนต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ก่อนที่จะใช้เครื่องมืออีกตัวหนึ่งมาช่วยเสริมในการจับและเย็บเส้นเอ็นที่ฉีกขาด โดยแผลที่เกิดจากการผ่าตัดส่องกล้องจะมีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ ขนาด 0.5 -1 เซนติเมตร จำนวน 3-4 รู ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีรอยโรคมากน้อยเพียงใด

     ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery) จะมีข้อดีตรงแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อผู้ป่วยจะมีอาการบาดเจ็บหลังการผ่าตัดน้อยกว่า ใช้เวลาพักฟื้นสั้น แผลเล็กมาก เกิดรอยแผลเป็นน้อย และมีโอกาสในการติดเชื้อที่ต่ำกว่า ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติได้รวดเร็วกว่า

ยกระดับการระงับความเจ็บปวด หลังจากการผ่าตัดส่องกล้องซ่อมแซมเส้นเอ็นฉีกขาด (Arthroscopic Surgery)
     เทคนิคการระงับความเจ็บปวดหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจะไม่ต้องเผชิญกับอาการปวดแผลหลังผ่าตัด ด้วยวิธีการฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerve Block) ซึ่งเป็นวิธีระงับปวดที่มีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัย โดยเป็นการใช้เข็มหรือใส่สายคาเพื่อให้ยาชาที่บริเวณเส้นประสาทส่วนปลาย เพื่อให้ยาชาออกฤทธิ์ยับยั้งการนำสัญญาณประสาทไม่ให้เข้าไปในไขสันหลัง จะทำภายใต้การใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง(ultrasound) โดยแพทย์จะทำการตรวจสอบตำแหน่งเส้นประสาทก่อนจะให้ยา จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับการระงับปวดหลังผ่าตัด ซึ่งมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง

     จากจุดเริ่มต้นแค่มีอาการเส้นเอ็นอักเสบที่ดูเหมือนเล็กน้อย หากเราละเลยปล่อยไว้นานไม่รีบทำการรักษา อาการอักเสบอาจเรื้อรังลุกลามรักษายากก็เป็นได้ ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้าม สำหรับใครที่มีอาการเส้นเอ็นอักเสบอยู่ มีข้อสงสัย มีคำถามเพิ่มเติมกับทางศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน มีความพร้อม และมีบุคลากรทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับ และคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา

สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมก่อนได้ตามข้อมูลที่ให้ไว้ได้เลยค่ะ : https://www.nakornthon.com/article/detail/เส้นเอ็นอักเสบ-ปล่อยไว้นานเรื้อรังอาจรุนแรงถึงขั้นเอ็นฉีกขาดได้

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา