ประจำเดือนมามากผิดปกติ สัญญาณ “เนื้องอกในมดลูก” ของผู้หญิงทุกวัย
เชื่อว่าตอนนี้ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ ที่อาจเป็นสัญญาณเนื้องอกมดลูก เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง เกี่ยวกับเนื้องอกมดลูกอยู่อีกมาก เพราะเนื้องอกในมดลูกนี้ เป็นโรคทางนรีเวช ที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ได้เกือบทุกคน เช่น หากมีผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีประจำเดือนเข้ามาตรวจอาจพบเนื้องอกในมดลูกได้ถึง 30-50% (ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)
ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงต้องให้ความใส่ใจถึงความผิดปกติ และ สัญญาณเตือนต่าง ๆ ของโรคที่เกิดขึ้นกับร่างกายอีกด้วย วันนี้เราได้นำข้อมูลความรู้จากทางศูนย์สุขภาพสตรี ของโรงพยาบาลนครธน เกี่ยวกับเนื้องอกมดลูกมาฝากกัน เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจถึงอาการของโรค และประเภทของเนื้องอกมดลูกว่ามีกี่ประเภท รวมถึงแนวทางการรักษา เพื่อลดความกังวลใจ และเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคทางนรีเวชนี้ ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณและคนที่คุณรักได้เสมอค่ะ
เนื้องอกในมดลูก อีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่พบบ่อยประมาณร้อยละ 25 ในผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป และพบ 1 ใน 3 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ สามารถพบได้ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในตัวมดลูก โดยมีขนาดต่างกันไป อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ บางชนิดโตช้า บางชนิดโตเร็ว แต่ที่น่าเป็นกังวลคือผู้หญิงหลายคนมักไม่รู้ว่าตัวเอง อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ เนื่องจากเนื้องอกในมดลูกจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ บอกชัดเจน มักทราบโดยบังเอิญจากการที่ตรวจสุขภาพประจำปีหรือมาปรึกษาแพทย์ด้วยโรคอื่น ๆ
เนื้องอกมดลูก มีกี่ประเภท?
เนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri หรือ Uterine Fibroid) มีทั้งชนิดธรรมดาและชนิดที่เป็นมะเร็ง โดยส่วนใหญ่เกิดจากชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกที่เป็นเนื้องอกธรรมดามากกว่า ซึ่งมีเนื้องอก 2 แบบใหญ่ ๆ คือ
- เกิดจากกล้ามเนื้อโดยตรง หรือเกิดจากมีเนื้ออย่างอื่นแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อของมดลูก
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แทรกเข้ามาในมดลูก หรือมีหลายเม็ดเกาะกันเป็นกลุ่มจนใหญ่ขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกในมดลูก
ปัจจุบันในทางการแพทย์นั้นยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริง และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโรคใด ๆ แต่ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ และพบว่ามีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งสร้างในรังไข่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหญิงวัยเจริญพันธุ์จึงมีอัตราการเกิดเนื้องอกในมดลูกสูง และเนื้องอกมักจะฝ่อตัวเล็กลงหลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยตัวเนื้องอกนี้มักเจอในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์คือ มีประจำเดือนไปสัก 3 ปี 5 ปี 10 ปี แล้วเริ่มตรวจเจอว่ามีเนื้องอกมดลูก
ประจำเดือนมามากผิดปกติ สัญญาณเนื้องอกในมดลูก
ประจำเดือนมามากผิดปกติ คือ อาการบ่งชี้หรือสัญญาณเตือนเนื้องอกในมดลูก เนื้องอกมดลูกนั้นอาจทำให้ประจำเดือนมามากและนานขึ้น มีลิ่มเลือดหรือเป็นก้อนปนออกมา อาจจะมีอาการปวดท้องน้อยที่เพิ่มมากขึ้น หรือไม่ปวดก็ได้ หรือในบางกรณีมีอาการปวดท้องน้อยคล้ายเหมือนมีประจำเดือน แต่กลับไม่มีประจำเดือน
อาการที่อาจเป็นเนื้องอกในมดลูก
อาการของเนื้องอกในมดลูกขึ้นกับความรุนแรง ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลย แต่เมื่อตรวจภายใน หรืออัลตราซาวด์กลับพบเนื้องอก และนอกจากอาการเกี่ยวกับประจำเดือนที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอาการที่พบได้บ่อย ดังนี้
- ปวดท้องน้อย มักมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของเนื้องอก เช่น มีขนาดใหญ่ขึ้นจนเลือดไปเลี้ยงเนื้องอกไม่พอ ทำให้เนื้องอกขาดเลือด หรือปวดท้องน้อยเพราะเนื้องอกไปกดเบียดอวัยวะอื่นๆ จนทำให้เกิดการปวดแบบหน่วงๆ เหมือนมีก้อนหนักๆ ในท้อง
- ปัสสาวะบ่อย อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- ท้องผูก อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ต่อกับทวารหนัก
- ปวดท้องขณะมีเพศสัมพันธ์
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- คลำเจอก้อนที่ท้องน้อย
- การมีบุตรยากและแท้งบุตร จะตรวจพบเมื่อคนไข้ไปตรวจกับหมอผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตรยาก พออัลตราซาวด์ถึงจะเจอ อันนี้มักจะเป็นลักษณะก้อนเล็ก ๆ ไม่มีอาการอะไร บางทีอาจจะมีก้อนแค่ 1-2 เซนติเมตรอยู่ในโพรงมดลูก ไปขวางการฝังตัวของทารกทำให้มีบุตรยาก
ตรวจวินิจฉัยเนื้องอกในมดลูก
เมื่อผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ด้วยมีอาการที่อาจสงสัยว่าจะเป็นเนื้องอกมดลูก แพทย์จะทำการซักประวัติ และสอบถามถึงอาการต่าง ๆ พร้อมกับทำการตรวจภายใน การตรวจด้วยการคลำ และทำอัลตราซาวด์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง การตรวจอัลตราซาวด์แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
1.การตรวจโดยผ่านทางหน้าท้อง ซึ่งแพทย์จะให้คนไข้ดื่มน้ำเปล่าแล้วกลั้นปัสสาวะเอาไว้จนในกระเพาะปัสสาวะมีปริมาณน้ำปัสสาวะมากพอ เพื่อให้สามารถมองเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนขึ้น
2.การตรวจโดยผ่านทางช่องคลอด โดยแพทย์จะทำการสอดอุปกรณ์อัลตราซาวด์เข้าไปทางช่องคลอด คนไข้อาจจะต้องนอนหงายหรือนอนตะแคงเข่าชันชิดหน้าอก หรือนอนบนขาหยั่ง ซึ่งแพทย์จะสามารถมองเห็นภาพของมดลูกและรังไข่จากจอมอนิเตอร์ได้ชัดเจน
การรักษาเนื้องอกมดลูก
การรักษาเนื้องอกมดลูกสามารทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการ ลักษณะของเนื้องอก และปัจจัยโดยรวมของผู้ป่วย เช่น อายุ ความต้องการในการมีบุตร การตั้งครรภ์ ซึ่งผู้ป่วยบางรายสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา แต่ในบางรายแพทย์อาจจะพิจารณาให้ใช้การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมี 2 แบบ ได้แก่
1.วิธีผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบมาตรฐาน เป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้องคล้ายคลึงกับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง โดยเปิดแผลบริเวณหน้าท้องในแนวขวาง เวลาผ่าตัดจะสามารถเห็นได้ว่าท่อไตอยู่ตรงไหน เนื้องอกอยู่ตรงไหนจึงสามารถแยกได้อย่างชัดเจนทำให้การผ่าตัดค่อนข้างปลอดภัย และสามารถเก็บมดลูกไว้ใช้งานได้ปกติ
2.วิธีผ่าตัดแบบส่องกล้อง การผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกในมดลูก ได้รับความนิยมและมีข้อดีในหลายๆ ด้าน คือ แผลมีขนาดเล็ก คนไข้เสียเลือดน้อย เจ็บตัวน้อย ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มากที่สุด การป้องเนื้องอกมดลูกได้ดี คือการหมั่นตรวจภายในเป็นประจำทุกปี รวมถึงการตรวจอัลตราซาวด์ และเมื่อพบอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที ศูนย์สุขภาพสตรี ของโรงพยาบาลนครธน มีความพร้อมเป็นอย่างมากมีบุคลากรทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับและคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาท่านอยู่ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลก่อนได้ตามลิงค์ด้านล่างได้เลยค่ะ
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลนครธน https://www.nakornthon.com/article/detail/เนื้องอกในมดลูก-โรคยอดฮิตของผู้หญิงทุกวัย
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้