สารพันปัญหาโรคกระดูกและข้อ ในผู้สูงอายุ
โรคส่วนใหญ่ที่พบในผู้สูงอายุนั้น อาจเกิดตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว จากการไม่ดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่อง เมื่ออายุมากขึ้นจะแสดงอาการชัดเจนหรือรุนแรง โดยเฉพาะโรคกระดูกและข้อ ในผู้สูงอายุนั้น ไม่ว่าใครก็ต้องพบกับปัญหานี้ ขึ้นอยู่ว่าจะช้าหรือเร็ว
อาการที่ผู้สูงอายุส่วนมากจะมาพบแพทย์ เนื่องจากโรคกระดูกและข้อ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.กระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุน ผู้สูงอายุจะมีปัญหาในเรื่องของกระดูกพรุนหรือบาง เวลาที่ล้มหรือกระแทกอะไรก็ตาม จะทำให้แตกหักง่าย
2.อาการปวดจากความเสื่อม ส่วนมากผู้สูงอายุจะมีอาการปวดเข่า ปวดหลัง ปวดข้อ ฯลฯ โดยความเสื่อมอาจเกิดได้อายุที่มากขึ้น หรือจากการใช้งานข้อในการทำกิจกรรมต่างๆ มากเกินไปตั้งแต่วัยหนุ่มสาวหรือจากทั้ง 2 สาเหตุ อาทิ การเดินขึ้น-ลงบันได การยกของหนักผิดวิธี เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ข้อเสื่อมได้เร็วกว่าคนทั่วไป
อาการที่กล่าวถึงข้างต้น นอกจากอาการปวดแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่อยู่ในภาวะกระดูกพรุน เมื่อกระดูกแตกหรือหัก จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากคนใกล้ชิด
ทั้งกระดูกพรุนและข้อเสื่อม เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องเจอ แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ หากรู้จักและทำความเข้าใจก็จะช่วยให้โอกาสในการเกิดโรค หรือผลลัพธ์จากการเป็นโรคน้อยลง
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการเสียสมดุลของฮอร์โมน ทำให้กระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ การดูดซึมแคลเซียมเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนจะมีภาวะกระดูกพรุนตามธรรมชาติ เนื่องจากฮอร์โมนลดน้อยลง ส่วนปัญหาเรื่องกระดูกพรุนในผู้ชายจะไม่ค่อยพบ ผู้สูงอายุที่มีปัญหากระดูกพรุนหรือกระดูกบางจะกระดูกเปราะและหักได้ง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ พบมากในผู้หญิงที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปและผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไป
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน
ภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุมักไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ยกเว้นเมื่อมีอาการหักของกระดูก จะมีอาการเจ็บปวดบริเวณที่มีกระดูกหัก แต่ผู้สูงอายุสามารถสังเกตุปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ โดยพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้
- อายุมาก
- เพศหญิง
- ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ภาวะหมดประจำเดือน
- สูบบุหรี่
- ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีน้อย
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ออกกำลังกายไม่เพียงพอ
หากทราบว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงตามที่กล่าวมา ควรรับการตรวจหาค่าความหนาแน่นของมวลกระดูก เพื่อที่จะได้รู้ว่า ปัจจุบันความหนาแน่นของกระดูกเป็นอย่างไร หากพบว่าอยู่ในภาวะกระดูกพรุนจะได้เริ่มรับการรักษาและดูแลแต่เนิ่น ๆ
ป้องกัน...ดีที่สุด
การรักษาโรคกระดูกพรุนสามารถป้องกัน โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมา และป้องกันการหกล้มหากทราบว่าตัวเองกระดูกพรุนหรือบาง ควรรับประทานยาเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ภายใต้การดูแลตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยทำให้กระดูกหนาแน่นและแข็งแรงขึ้น หรือควรเสริมด้วยแคลเซียมชนิดเม็ดเพื่อบำรุงกระดูก
โรคข้อเสื่อม
เป็นปัญหาที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น ยิ่งคนเรามีอายุยืนมากขึ้นเท่าไร จำนวนของคนที่เป็นโรคข้อเสื่อม ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น เมื่อมีอายุมากขึ้นจนเข้าวัยทอง หนีไม่พ้นโรคข้อเสื่อม ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าและเกิดขึ้นเมื่อใด โดยมากมักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเข่า และปวดหลัง ซึ่งเป็นส่วนที่เกิดการเสื่อมมากที่สุด เนื่องจากข้อที่ต้องรับน้ำหนักของร่างกายโดยตรง เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกอ่อน ในข้อเหล่านี้เป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุด สมบูรณ์ที่สุด เมื่อคนเราอายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มเสื่อมลง แต่ยังไม่เป็นข้อเสื่อม เพราะร่างกายของเรามีกลไกที่คอยซ่อมแซมเอาไว้ ทำให้สามารถใช้งานข้อได้ตามปกติ โดยยังไม่มีอาการอะไร
แต่เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ขบวนการซ่อมแซมนี้ก็เริ่มเสื่อมตามวัย ผู้สูงอายุจะเริ่มมีอาการของโรคข้อเสื่อม แต่จะแสดงอาการเมื่อใดขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของข้อต่อกระดูกและสภาพร่างกายของแต่ละคน ถ้ามีน้ำหนักตัวมาก น้ำหนักที่กดกระแทกลงมาที่ข้อก็จะมาก ข้อก็จะเกิดความเสื่อมเร็ว ถ้ามีการใช้งานข้อมาก ๆ เช่น มีการเดินมาก ยืนมาก หรือเดินขึ้นลงบันไดมากๆ นั่งยอง ๆ มาก ข้อก็จะเสื่อมเร็ว
ตรวจเพื่อลดความเสี่ยง
หากปล่อยให้ข้อเสื่อมนานไป ผลเสียที่เกิดมากที่สุด คือ ไม่สามารถใช้งานข้อนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อกระดูกสันหลังหรือข้อเข่า ถ้าข้อกระดูกสันหลังใช้งานไม่ได้ จะทำให้ปวดหลัง ลุกนั่งไม่ได้ เดินไม่ไหว เกิดอาการชา แขนขาอ่อนแรง ส่วนข้อเข่าก็เช่นกัน ถ้าเป็นมาก ๆ ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ซึ่งเป็นวิธีเดียวเท่านั้น
เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบดังกล่าว การตรวจสุขภาพข้อต่าง ๆ ที่สำคัญเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงได้ โดยวิธีการตรวจมีดังนี้
- ดูจากอาการของคนไข้ที่พบได้ เช่น ปวดเข่าปวดหลัง ตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- เอ็กซเรย์ เพื่อดูว่ามีความเสื่อมเกิดขึ้นบริเวณข้อหรือไม่
- การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ที่สามารถแสดงภาพกายวิภาคของกระดูกสันหลังหมอนรองกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง และลักษณะของกระดูกข้อเข่า เมื่อสงสัยว่ามีการฉีกขาดของหมอนรองเข่าหรือกระดูกอ่อนภายในข้อร่วมด้วย ซึ่งการตรวจด้วย MRI จะเห็นภาพชัดเจน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนรักษา
ป้องกันข้อเสื่อมได้หรือไม่?
ข้อเสื่อมแม้จะมีวิธีรักษาจำกัดแต่ก็สามารถป้องกันได้ แต่ต้องทำทันทีตั้งแต่วันนี้ เริ่มจากออกกำลังกายเป็นประจำ จัดท่าทางลักษณะการใช้งานข้อให้ถูกต้อง และเมื่อมีอาการปวดข้อหรือหลัง ควรพักผ่อน หรือหยุดทำงานทันที ถ้าปวดมากควรปรึกษาแพทย์ให้เร็วที่สุด
ขอบคุณข้อมูล วารสาร Healthy Living
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nonthavej.co.th/Orthopedic-in-the-elderly.php
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้