เอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด อุบัติเหตุจากกีฬา อย่าปล่อยทิ้งไว้
อาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด เป็นอาการบาดเจ็บที่รุนแรงจากการเล่นกีฬาโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล และการวิ่งมาราธอนในระยะต่าง ๆ มักจะพบเห็นข่าวการบาดเจ็บของนักกีฬาเกี่ยวกับเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดอยู่เสมอ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษา หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ข้อเข่าแย่ลง
รู้จัก...เอ็นไขว้หน้าหัวเข่า
เอ็นไขว้หน้าหัวเข่า หรือ Anterior Cruciate Ligament (ACL) คือเส้นเอ็นขนาดใหญ่เส้นหนึ่งที่อยู่ภายในเข่า โดยจะเกาะอยู่ระหว่างปลายกระดูกต้นขา (Femur Bone) และต้นกระดูกหน้าแข้ง (Tibia Bone) หน้าที่หลักๆ ของเอ็นเส้นนี้ คือเสริมความมั่นคงให้แก่ข้อเข่า ควบคุมการเคลื่อนไหวของหัวเข่าและหน้าแข้ง ให้เคลื่อนไหวได้มากน้อยและในมุมต่าง ๆ ป้องกันไม่ให้เราเหยียดเข่าเกินองศา (Hyperextension) จนทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังและผิวข้อเข่า ถือว่าเป็นเส้นเอ็นที่มีความสำคัญต่อข้อเข่ามาก เพราะหากเส้นเอ็นนี้บาดเจ็บหรือฉีกขาดอย่างถาวร จะทำให้ข้อเข่าขาดความมั่นคงอย่างหนัก ขณะที่ผู้ป่วยเดินจะรู้สึกเข่าหลวม ปวดภายในเข่า และทำให้เข่าเสื่อมตามมาได้เร็วขึ้น
เอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาดเกิดจากอะไร
อาการเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาดมักพบได้บ่อย โดยเฉพาะสาเหตุจากการเล่นกีฬาและเกิดจากการบิดหมุนของหัวเข่าที่รุนแรง ทำให้เส้นเอ็นเกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับการเล่นกีฬาทุกประเภท โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องมีการปะทะ เช่น นักฟุตบอล นักวอลเลย์บอล นักบาสเกตบอล หรืออาจเกิดจากกิจกรรมอื่นทั่วไป เช่น ตกบันได อุบัติเหตุ แม้แต่เดินสะดุดก็อาจทำให้เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาดได้เช่นกัน
อาการเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาดเป็นอย่างไร
- รู้สึกมีอะไรดีดอยู่ข้างในขา
- หัวเข่าใช้งานไม่ได้ในขณะที่ได้รับบาดเจ็บ
- หัวเข่าบวมปูดทันทีหรือภายในไม่กี่ชั่วโมง
- มีอาการเจ็บปวดรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นได้
โดยบางรายหลังจากเอ็นหัวเข่าฉีกขาด อาการปวด บวม อักเสบบริเวณหัวเข่าจะค่อยๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง โดยไม่รู้สึกผิดปกติ แต่เมื่อกลับไปเล่นกีฬาหรือใช้งานอีก จะรู้สึกว่าเข่าไม่มั่นคงและจะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดหมอนรองข้อฉีกขาด ส่งผลให้เกิดอาการงอเข่าไม่ลง ปวดบริเวณข้อ ตามมา
การรักษาเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด
โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีภาวะเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด จะยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ แต่อาจจะเกิดภาวะข้อเข่าเคลื่อน ในกิจกรรมที่ต้องมีการบิดหมุนของหัวเข่า และที่สำคัญผู้ที่มีภาวะเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาดเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการบาดเจ็บต่อหมอนรองเข่าและกระดูกอ่อนหัวเข่า ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันสมควร ซึ่งการรักษาแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
รักษาโดยการไม่ผ่าตัด เหมาะกับผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการทำกิจกรรมที่ใช้หัวเข่ามากนัก และสามารถปรับพฤติกรรมตนเองให้เหมาะกับเข่าที่ไม่สามารถบิดหมุนรุนแรง
รักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้อง เหมาะสำหรับผู้ป่วยอายุน้อย และต้องการกลับไปใช้ชีวิตประจำวันและกีฬาในระดับใกล้เคียงกับก่อนการบาดเจ็บ
การผ่าตัดส่องกล้องรักษาเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด
การรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า ทำได้โดยการผ่าตัดซ่อมสร้างเส้นเอ็นด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery) โดยนำเส้นเอ็นจากบริเวณอื่นมาทดแทน โดยทั่วไปจะใช้เอ็นจากสะบ้าเข่าหรือเอ็นบริเวณรอบ ๆ มาใช้ การผ่าตัดส่องกล้อง มีข้อดี คือผ่าตัดเจาะรูเล็กเพื่อใส่อุปกรณ์ และกล้องสำหรับส่องเข้าไปในข้อ แสดงภาพที่ จอคอมพิวเตอร์ช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดได้อย่างชัดเจน คนไข้จะมีอาการบาดเจ็บหลังการผ่าตัดน้อยกว่า ใช้เวลาพักฟื้นสั้น และมีโอกาสในการติดเชื้อที่ต่ำกว่า ซึ่งคนไข้จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติได้รวดเร็วกว่า
ผ่าตัดส่องกล้อง แล้วจะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เมื่อไหร่
โดยทั่วไปหลังการผ่าตัด ประมาณ 1 เดือนผู้ป่วยจะใช้ไม้เท้าและสนับเข่า 3 เดือนหลังผ่าตัด จะเดินเร็วได้ และ 6-9 เดือนหลังผ่าตัด แพทย์จะให้ทำกายภาพบำบัดที่เหมาะสมกับกีฬาแต่ละแบบ และประมาณ 1 ปีหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายด้วย
ปัจจุบันมีการผ่าตัดเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ทำกายภาพบำบัดได้ง่ายกว่าเดิม ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด ควบคู่การทำกายภาพบำบัดเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาดนั้น หากไม่รีบรักษาจะส่งผลให้เข่าเสื่อมก่อนวัยได้
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน https://www.nakornthon.com/Article/Detail/เอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาดจากการเล่นกีฬารักษาได้ด้วยผ่าตัดส่องกล้อง
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้