โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ หรือภูมิแพ้อากาศ เกิดขึ้นจากสาเหตุใด?
การเรียนรู้ไม่สะดุด เมื่อหยุดภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งนี้อุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปีประมาณ 3-4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาไวต่อสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคือง ทำให้แสดงอาการต่างๆ ตามชนิดของโรคภูมิแพ้ โดยในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก มีควันพิษและของเสียเกิดขึ้นมากมาย ทำให้มีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังพบว่าภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรังอันดับ 3 ที่ทำให้เด็กวัยเรียนต้องขาดเรียนอีกด้วย
1.โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ หรือภูมิแพ้อากาศ
สาเหตุของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยด้วยกัน
1.พันธุกรรม สาเหตุหลักในการเกิดโรคภูมิแพ้ หากพ่อหรือแม่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 30-50% แต่หากเป็นโรคภูมิแพ้กันทั้งพ่อและแม่ ลูกที่เกิดมาก็จะมีโอกาสเป็นมากขึ้นประมาณ 50-70%
2.สิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง นุ่น ขนสัตว์ เชื้อราแมลงสาบ เกสรดอกไม้ เป็นต้น กลิ่นฉุนต่างๆ เช่น กลิ่นบุหรี่ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสภาวะทางอารมณ์ และจิตใจ
อาการของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
คัดจมูก น้ำมูกไหล จามบ่อย ไอเรื้อรัง คันคอ คันตา มีเสมหะ มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นโดยการหายใจ ช่วงเวลาที่ทำให้เกิดโรคได้ง่าย คือช่วงเช้าและกลางคืน จะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วอาการก็จะดีขึ้น
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
แพทย์จะทำการซักประวัติโดยละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกาย เช่น ตรวจระบบทางเดินหายใจส่วนบน ดูในจมูก ทอนซิล ฟังปอด เป็นต้น อาจมีการเอกซเรย์ไซนัส หรือเอกซเรย์ปอดเพื่อให้ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัด หากเป็นเด็กอายุประมาณ 7-8 ขวบ แพทย์อาจตรวจสมรรถภาพปอดร่วมด้วย เพื่อช่วยวินิจฉัยภาวะหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น หรือโรคหอบหืด
การรักษาและป้องกันโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
1.การรักษาในเด็กทารก ควรให้ดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพราะในนมแม่มีสารภูมิคุ้มกันสูงและช่วยต้านทานโรคภูมิแพ้
2.การปรับสิ่งแวดล้อม ดูแลห้องนอน อุปกรณ์เครื่องนอน ไม่ให้สกปรก นำออกตากแดดเพื่อฆ่าตัวไรฝุ่น และงดการสูบบุหรี่ในบ้าน
3.การรักษาทานยา หลักๆ คือ กลุ่มยาแก้แพ้ ถ้าอาการเป็นมากอาจใช้ยาพ่นจมูกร่วมด้วย หากมีอาการไออาจจำเป็นต้องใช้ยาพ่นขยายหลอดลม ควรใช้ยาภายใต้คำสั่งหรือการแนะนำของแพทย์ หากมีอาการแพ้ที่รุนแรงให้รีบพบแพทย์ทันที
4.การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายควบคู่ไปกับการดูแลร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ
2.โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง
สาเหตุของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
สาเหตุโรคไม่แน่ชัด แต่มีแนวโน้มถ่ายทอดทางพันธุกรรมมากที่สุดมักเกิดร่วมกับโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้อากาศ ซึ่งโรคนี้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ไวกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นที่ผิวหนังนอกจากนี้ผู้ที่ครอบครัวไม่เคยมีประวัติการเป็นภูมิแพ้ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน เพราะอาจมีความผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ในยีนส์แต่ไม่แสดงอาการออกมา
อาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
มีอาการคัน หรือ ผื่นแดง เป็นๆ หายๆ ผิวแห้งหยาบ มักพบที่แก้มศอก เข่า ในเด็กทารก ส่วนเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ขึ้นไป มักพบตามข้อพับ แขนขา คอ หากเป็นมานานจนเข้าสู่ระยะเรื้อรังจะพบเป็นแผ่นหนา แข็ง และมีขุย จนทำให้ผิวเป็นรอยแผลเป็น
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง
แพทย์จะซักประวัติอาการทางผิวหนัง ประวัติครอบครัว ร่วมกับตรวจร่างกาย และแพทย์จะใช้ชุดทดสอบอาการแพ้ของผู้ป่วยเพื่อการวินิจฉัย คือ การสะกิดแล้วหยดสารก่อภูมิแพ้ (Skin Prick Test) การฉีดสารก่อภูมิแพ้ (Skin Injection Test) หรือโดยวิธีตรวจเลือดหาสิ่งที่แพ้ (Specific IgE)
ประโยชน์ของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- ทำให้ผู้ป่วยทราบว่าตนแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด และแพ้มาก-น้อยเพียงใด
- ผู้ป่วยสามารถกำจัด หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ตนแพ้ได้ตรงชนิด ซึ่งจะทำให้อาการของโรคดีขึ้นได้
- ถ้าจำเป็นต้องรักษาโดยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ แพทย์จะใช้ผลการทดสอบภูมิแพ้นี้เป็นข้อมูลในการสั่งวัคซีนสำหรับฉีดให้ผู้ป่วย
การรักษาและป้องกันโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
การรักษาในเด็กหรือทารกควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ไม่อาบน้ำที่มีอุณหภูมิร้อนจัดหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอากาศร้อน หรือหันมาใช้โลชั่น ครีม หรือขี้ผึ้งบำรุงผิวหนังให้คงความชุ่มชื้นอยู่เป็นประจำ หากจำเป็นต้องใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์
3.โรคภูมิแพ้อาหาร
สาเหตุของโรคภูมิแพ้อาหาร
สามารถเกิดได้ทั้งจากการถ่ายทอดกรรมพันธุ์และสิ่งเเวดล้อมหากคุณพ่อคุณแม่มีอาการภูมิแพ้อยู่แล้ว ลูกที่เกิดมามีโอกาสในการเป็นภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นถึง 60% หรือในอีกกรณี หากพ่อแม่พี่น้องไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้ ก็เป็นไปได้ที่เมื่อเด็กได้รับอาหารประเภทโปรตีน แล้วโปรตีนเกิดรั่วเข้าสู่กระแสเลือดไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือได้รับอาหารแบบเดิมซ้ำๆ ก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้เช่นกัน
อาการของโรคภูมิแพ้อาหารเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกายแต่ที่พบบ่อย มี 3 ระบบ ได้แก่
- ระบบทางเดินอาหาร จะแสดงอาการคันปาก ปากบวมริมฝีปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน (เป็นอาหารหรือเป็นเลือด) ปวดท้อง ท้องเสีย (ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นเลือดปน) ในเด็กเล็กบางรายอาจพบอาการปวดท้องแบบโคลิก
- ระบบผิวหนัง จะแสดงอาการผื่นคัน ลมพิษ ริมฝีปาก หนังตาบวมใต้ผิวหนังที่หน้าหรือเป็นผื่นคันแบบน้ำเหลืองก็ได้
- ระบบทางเดินหายใจ จะแสดงอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหลไอ หอบ แน่นหน้าอก ในรายที่อาการแพ้รุนแรง มีอาการคอ และหลอดลมบวมจนตีบ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ ช็อกรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้อาหาร
แพทย์จะซักประวัติอย่างละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอาการที่เกิดขึ้นกับชนิดของอาหารที่รับประทาน ถ้าหยุดอาหารนั้นแล้วอาการแพ้หายไปหรือไม่ ระยะเวลาที่เกิดอาการ พร้อมตรวจร่างกายเพื่อค้นหาและประเมินอาการแพ้อาหารอย่างละเอียด ในรายที่ไม่แน่ใจหรือ สงสัยว่าแพ้อาหารหลายชนิด แพทย์จะให้ผู้ป่วยจดบันทึกอาหารที่รับประทานตลอดวันโดยละเอียดเป็นระยะเวลา 2 – 4 สัปดาห์รวมถึงอาการผิดปกติต่างๆ
การรักษาและป้องกันโรคภูมิแพ้อาหาร
การรักษาในเด็กหรือทารกควรปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการก่อนเสมอ เพื่อไม่ให้ลูกน้อยขาดสารอาหารที่จำเป็นในแต่ละวันโดยทั่วไปแนะนำให้เลี่ยงอาหารที่สงสัยว่าแพ้ รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มที่แพ้ด้วยจนกว่าอาการแพ้จะดีขึ้นตามช่วงอายุ แต่หากผู้ปกครองสังเกตว่าเด็กมีอาการ เช่น ผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวมหรือถ่ายเป็นมูกเลือด ถ้ามีอาการสัมพันธ์กับการกินอาหารโดยเฉพาะอาหารกลุ่มเสี่ยงแนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
อาการแพ้อาหารสามารถหายได้หรือไม่
เด็กที่แพ้อาหารสามารถหายได้ถ้าหลีกเลี่ยงอย่างเต็มที่เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน – 1 ปี หรือนานกว่านั้น ซึ่งโอกาสในการหายขึ้นอยู่ว่าแพ้อาหารชนิดใด ถ้าแพ้นมวัว ไข่ แป้งข้าวสาลีในเด็กเล็กมีโอกาสหายได้เมื่อโตขึ้น
แม้ว่าโรคภูมิแพ้จะเป็นโรคที่พบมากขึ้นในเด็ก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคภูมิแพ้ได้ หรือหากสงสัยว่าลูกน้อยของท่านเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่ ท่านสามารถนัดหมายหรือปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ที่ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
ขอบคุณข้อมูล
พญ.ลักษณารีย์ จิรสุขประเสริฐ
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง
รพ.นนทเวช https://www.nonthavej.co.th/Allergy.php
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้