ฉีดวัคซีน HPV สร้างภูมิคุ้มกัน...ลดเสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก”

chutikan

ขีดเขียนหน้าใหม่ (44)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:47
เมื่อ 19 เมษายน พ.ศ. 2564 15.45 น.

     ถ้าพูดถึงโรคมะเร็งทางนรีเวชที่สำคัญและพบได้บ่อย แต่ป้องกันได้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกล่าวถึงโรคมะเร็งปากมดลูก เพราะเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย และตรวจพบมากในช่วงอายุ 35-60 ปี ซึ่งพฤติกรรมของผู้หญิงไทยส่วนใหญ่มักคิดว่าตนเองนั้นไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และอาจจะรู้สึกเขินอาย หรือกังวลเวลาไปพบแพทย์ จึงมองข้ามการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก จนทำให้โรคนั้นลุกลาม และการรักษาจึงเป็นไปได้ยาก ซึ่งมะเร็งปากมดลูกนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus)

     การติดเชื้อ HPV โดยส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ HPV ส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูกของผู้หญิงซึ่งเป็นขั้นแรกของการทำให้เกิดโรคมะเร็ง ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปรากฏเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปแล้ว

การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก
1.การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วโดยการทำการตรวจภายใน, PAP smear, HPV Test เพื่อหาความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก
2.การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อ HPV ทำให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV สาเหตุหลักของ “มะเร็งปากมดลูก”

ชนิดของวัคซีน HPV และประสิทธิภาพในการป้องกัน
วัคซีนป้องกัน
HPV มี 2 ชนิด
1.HPV แบบ 2 สายพันธุ์ จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV ชนิด 16, 18 และมีสารเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน (ASO4)
2.HPV แบบ 4 สายพันธุ์ จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV ชนิด 16, 18 และหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศจาก HPV 6,11

วัคซีนทั้ง 2 ชนิด องค์การอนามัยโลก ให้คำแนะนำว่าสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ตามสายพันธุ์ที่อยู่ในวัคซีน

อายุที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน HPV
     แนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้หญิงอายุ 9 - 26 ปี และจะได้ประโยชน์มากที่สุดถ้าฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก นอกจากนั้นยังแนะนำให้ฉีดในผู้ชายอายุตั้งแต่ 11-15 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ HPV เพื่อไม่ให้เป็นพาหะนำเชื้อไปสู่คู่สมรสด้วย และควรได้รับการฉีดในกลุ่มชายรักร่วมเพศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV หงอนไก่ และโรคหูด

การฉีดวัคซีน HPV ควรฉีดให้ครบ 3 เข็ม โดยแบ่งระยะเป็น
- ครั้งแรก อายุ 9 - 26 ปี
- ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1 - 2 เดือน
- ครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งแรก 6 เดือน
- อาการข้างเคียงของการฉีดวัคซีน HPV

วัคซีน HPV มีความปลอดภัยสูง  ใช้มานานมากกว่า 10 ปี ทั่วโลก ฉีดแล้วมากกว่า 100 ล้านโดส (dose) ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง

สิ่งที่ควรทราบก่อนฉีดวัคซีน HPV
1.ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนฉีดวัคซีน
2.การฉีดวัคซีน HPV ไม่สามารถป้องกันหูดหงอนไก่ได้ทุกราย
3.การฉีดวัคซีน HPV ไม่สามารถกันโรคมะเร็งจากสาเหตุอื่นๆ ได้
4.ถ้าติดเชื้อ HPV ก่อนฉีดวัคซีนอาจจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง หรือไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร
5.วัคซีน HPV ไม่สามารถรักษามะเร็งปากมดลูกได้ ไม่สามารถรักษาหูดหงอนไก่ได้
6.วัคซีน HPV ไม่สามารถป้องกันโรคเริม หรือรักษาโรคเริมได้

คำแนะนำ
1.สตรีที่เคยมีบุตรแล้วสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้
2.ควรฉีดวัคซีน HPV ให้ตามกำหนดและครบ 3 เข็ม
3.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV

ขอบคุณข้อมูล
นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
รพ.นนทเวช https://www.nonthavej.co.th/hpv-vaccine.php

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา