รวม Q&A ปรึกษาเรื่องมีลูกยาก อยากมีลูกทำไงดี ?

thidarat

ขีดเขียนฝึกหัด (70)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:84
เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 16.37 น.

     ปัจจุบันปัญหาเรื่องการมีลูกยากนั้นพบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกกลุ่มอายุ สาเหตุพบว่าเกิดจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การแต่งงานล่าช้า เนื่องจากการใช้เวลาหมดไปกับการเรียน การทำงาน รวมทั้งการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ความเครียดจากการทำงาน ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุของการมีลูกยาก

     สำหรับคู่แต่งงานที่มีลูกยาก ลองมาแล้วสารพัดวิธีก็ไม่สำเร็จสักที อาจมีคำถามเกี่ยวกับภาวะการมีลูกยากมากมายว่าจะรักษาอย่างไรดี มีวิธีอะไรบ้าง ถ้าจะนับวันไข่ตกทำอย่างไร จะกินยากระตุ้นไข่เองได้หรือไม่ เมื่อไหร่ถึงต้องใช้การอุ้มบุญ ไปคลายข้อสงสัยเหล่านี้กันได้เลยค่ะ

Q : เมื่อไหร่ถึงต้องไปปรึกษาเรื่องมีบุตรยาก?
     คำว่ามีบุตรยากคือการที่คู่สามีภรรยาอยู่ร่วมกันเป็นเวลา 1 ปีแต่ไม่มีบุตร โดยที่มีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอคือประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ดังนั้นคู่สามีภรรยาที่ว่านี้ควรปรึกษาเรื่องการมีบุตร แต่ก็มีหลายกรณีที่อาจจำเป็นต้องรีบมาปรึกษาหรือทำการรักษาเช่น คู่ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ฝ่ายหญิงอาจมีโรคประจำตัว ประจำเดือนมาผิดปกติ ปวดประจำเดือนมาก เหล่านี้ก็น่าสงสัยจะเป็นกลุ่มที่มีบุตรยากโดยไม่ต้องรอให้ครบหนึ่งปี หรือบางครั้งจะมีการตรวจเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตรโดยการคัดกรองเบื้องต้น หาสาเหตุของฝ่ายชายและหญิงก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตรได้

Q : คนที่มีลูกยากต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเพิ่มความสำเร็จในการมีลูก?
     ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการมีบุตรยาก โดยทั่วไปคู่สมรสควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดเหล้าและบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การรักษาภาวะมีบุตรยากอย่างเหมาะสม

Q : มีวิธีนับวันไข่ตกอย่างไร?
     การนับวันไข่ตกเหมาะกับคนที่ประจำเดือนมาตรงตามปกติ โดยทั่วไปคือประมาณ 28 วันจะมีประจำเดือนมาอีกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปจะนับได้ว่ากลางรอบเดือน คือ ระยะตรงกลางระหว่างประจำเดือนวันแรกของรอบที่แล้วกับประจำเดือนวันแรกของรอบถัดไป คือประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือนนับจากประจำเดือนวันแรกเป็นวันที่ไข่น่าจะตก แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นวันนั้นแน่เสมอไป อาจเป็นวันก่อนหน้าหรือวันอื่นถัดๆ ไป แต่ก็จะอยู่ในช่วงกลางระหว่างรอบเดือนสองรอบนั้น แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์วันเว้นวันช่วงระหว่างที่คาดว่าจะมีการตกไข่

Q : การรักษาภาวะมีบุตรยากมีวิธีการอะไรบ้าง?
     วิธีการเบื้องต้นอาจจะเป็นการนับวันไข่ตก การตรวจฮอร์โมนไข่ตก แล้วมีเพศสัมพันธ์กันเองตามธรรมชาติ บางครั้งอาจใช้ร่วมกับวิธีการทานยากระตุ้นไข่ การฉีดยากระตุ้นไข่ เพื่อให้ใข่มีจำนวนมากขึ้น นอกจากนั้น การใช้เทคโนโลยีการคัดเชื้อแล้วทำการฉีดเชื้อหรือเรียกอีกอย่างว่าการผสมเทียม คือการเอาเชื้อฝ่ายชายฉีดเข้าโพรงมดลูกฝ่ายหญิงในระยะเวลาที่เหมาะสม ก็เป็นอีกวิธีการใช้เทคโนโลยีในเบื้องต้นอันหนึ่ง ซึ่งบางคนอาจต้องทำหลายครั้งกว่าจะสำเร็จ

     ส่วนการทำกิ๊ฟ คือการนำเอาไข่กับเชื้อผสมกันในท่อนำไข่ในช่องท้อง โดยต้องใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ปัจจุบันอาจมีการทำน้อยลง เนื่องจากขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ที่ทำการรักษาเรื่องมีบุตรยากมักจะหันมาใช้วิธีการทำเด็กหลอดแก้ว รวมทั้งวิธีทำ ICSI ในการทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์มากที่สุด การเลือกใช้วิธีไหน ขึ้นกับข้อบ่งชี้หรือภาวะที่ผู้ป่วยมีมากประกอบในการตัดสินใจในการรักษาต่อไป

Q : อยากทราบค่าใช้จ่ายในการรักษาสำหรับผู้มีบุตรยากคิดอย่างไร?
     ค่าใช้จ่ายในการรักษาขึ้นกับภาวะของผู้ป่วยที่มี บางคนไม่มีภาวะผิดปกติอะไร อายุยังน้อยก็อาจใช้วิธีการนับวันไข่ตก ตรวจฮอร์โมนการตกไข่ก็อาจมีบุตรได้ บางคนมีโรคที่จำเป็นต้องผ่าตัดก็อาจมีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด หรือบางคนต้องรับยาซึ่งยาบางอย่างมีราคาแพง โดยเฉพาะยาฉีดกระตุ้นไข่ ส่วนการฉีดเชื้อผสมเทียมก็อาจมีค่าใช้จ่ายแต่ไม่แพงมากนัก สามารถทำได้หลายครั้ง

     ส่วนการทำเด็กหลอดแก้วก็ถือว่ามีการใช้ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่ทำการรักษา อาจเป็นหลักแสนขึ้นไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่ทุกคนที่มีความจำเป็นในการทำเด็กหลอดแก้ว ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะมีบุตรยากก็ขึ้นอยู่กับภาวะของแต่ละคน

Q : ทารกที่เกิดจากการรักษามีบุตรยากจะมีความสมบูรณ์หรือไม่?
     จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ที่ได้รวบรวมข้อมูลในการทำเด็กหลอดแก้วรวมทั้งการทำ ICSI พบว่า อัตราการเกิดความพิการในเด็กโดยทั่วไปไม่ได้แตกต่างกัน ยกเว้นความพิการอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์แฝด ซึ่งถ้าเอาตัวเลขของครรภ์แฝดที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติมาดูแล้วเทียบกัน ก็ไม่ต่างกัน ดังนั้น ผู้ที่ทำอาจไม่ต้องมีความกังวลมากนักในเรื่องความพิการในทารก อีกทั้งเทคโนโลยีการตรวจสารพันธุกรรม (PGD) ก่อนที่จะใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปในมดลูก ก็อาจช่วยในการคัดกรองเบื้องต้นในระดับหนึ่ง ซึ่งทำให้ความพิการในทารกหรือทารกที่มีกลุ่มอาการดาวน์ลดลงด้วย

Q : อยากทราบวิธีทานยากระตุ้นไข่ทำอย่างไร?
     การทานยากระตุ้นไข่ ควรได้รับการแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตรยาก ไม่มีซื้อขายตามร้านขายยาทั่วไป โดยทั่วไปจะให้กินยาเป็นเวลา 5 วันในช่วงที่มีประจำเดือน ยากระตุ้นไข่จะช่วยให้จำนวนไข่โตมากขึ้น หรือไข่ตกมากขึ้นนั่นเอง ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์มีมากยิ่งขึ้น บางครั้งอาจต้องใช้ยานี้ร่วมกับการฉีดเชื้อผสมเทียมได้

Q : การกระตุ้นไข่บ่อย ๆ มีผลอะไรหรือไม่? เพราะรักษาด้านนี้มาหลายปีต่อเนื่องตลอด ตอนนี้รู้สึกเหมือนประจำเดือนผิดปกติ
     การกระตุ้นไข่ในแต่ละรอบเดือนจำเป็นต้องเว้นช่วงบ้าง เนื่องจากไข่ที่ถูกกระตุ้นหลายๆ รอบติดกัน อาจทำให้ปริมาณของฟองไข่ลดลง ระบบฮอร์โมนที่ควบคุมประจำเดือนอาจมีการแปรปรวนได้บ้าง การเว้นช่วงการกระตุ้นอาจช่วยให้ประจำเดือนกลับมาปกติได้ อย่างไรก็ตามประจำเดือนที่ผิดปกติอาจมาจากสาเหตุอื่น ดังนั้นควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก่อน

Q : การวินิจฉัยพันธุกรรมของตัวอ่อนคืออะไร? แล้วจำเป็นต้องทำทุกรายหรือไม่?
     การวินิจฉัยพันธุกรรมของตัวอ่อน คือ วิธีการตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมจากเซลล์บางส่วนของตัวอ่อน ทั้งในระดับยีน (gene) หรือระดับโครโมโซม (chromosome) เพื่อคัดเลือกตัวอ่อนที่มีสารพันธุกรรมที่ปกติเท่านั้น มาย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง

Q : หากต้องการได้บุตรที่แข็งแรง ปราศจากโรคที่เกิดจากโครมโมโซมที่ผิดปกติ สามารถทำได้หรือไม่ แล้ววิธีที่เหมาะสมคือวิธีใด?
     ปัจจุบัน มีกระบวนการวินิจฉัยพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนการฝังตัว หรือ PGD (Preimplantation genetic diagnosis) ซึ่งเราสามารถตรวจโครโมโซมของตัวอ่อน ก่อนที่จะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง ทำให้มั่นใจได้ว่าทารกจะมีโครโมโซมที่ปกติ โดยเทคนิคใหม่ที่แนะนำคือ เทคนิค CGH (Comparative Genomic Hybridization) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์โดยสามารถตรวจโครโมโซมได้ทั้ง 24 คู่ อีกทั้งยังมีความถูกต้อง และได้ผลสำเร็จที่ดีกว่าเทคนิคแบบเก่า (FISH: Fluoresence In Situ Hybridization)

Q : หญิงอายุมากมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์บุตรที่ผิดปกติอย่างไรบ้าง แล้วมีวิธีการป้องกันหรือไม่?
     เนื่องจากหญิงที่อายุมากมีจำนวนฟองไข่ลดลง คุณภาพของไข่ลดลง มีการแบ่งตัวของโครโมโซมผิดปกติมากขึ้น จึงมีปัญหามีบุตรยาก มีภาวะแท้งสูงขึ้น อีกทั้งมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ทารกที่มีความผิดปกติทางโครโมโซมสูงขึ้น ได้แก่
- ความผิดปกติของโครโมโซมชนิดโครงสร้าง เช่น Translocation, inversion
- ความผิดปกติของจำนวนโครโมโซม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome)

     เนื่องจากความผิดปกตินี้พบได้ในทารก การตรวจความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน (Preimplantation genetic diagnosis: PGD) จึงมีประโยชน์ในการคัดเลือกตัวอ่อนที่มีพันธุกรรมปกติ เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ และลดอัตราการแท้งบุตรได้อีกด้วย

Q : หากลูคนแรกมีภาวะผิดปกติ และต้องการมีลูกคนที่สองอีก มีโอกาสหรือไม่ที่ลูกจะเกิดมาเป็นปกติได้ และหากฝ่ายหญิงอายุ 40 ปีแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง?
     แนะนำให้รีบมาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก และการวินิจฉัยพันธุกรรมของตัวอ่อน เพื่อประเมินและให้การรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

Q : สามีเป็นหมันต้องทำอย่างไร และอาหารประเภทไหนที่จะบำรุงเชื้อฝ่ายชาย?
     สามีที่เป็นหมันคือ ฝ่ายชายที่ไม่สามารถนำเอาเชื้ออสุจิออกมาได้ หรือไม่มีเชื้อเอาน้ำอสุจิออกมา ซึ่งจริง ๆ แล้วการตรวจเชื้อฝ่ายชายจะทราบว่ามีหรือไม่มีเชื้อ หรือว่ามีเชื้อแล้วผ่านเกณฑ์หรือเปล่า ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะเรียกว่าเชื้ออ่อน คนที่เชื้ออ่อน ก็อาจมีวิธีรักษาโดยการคัดเชื้อการฉีดเชื้อหรือการทำผสมเทียม หรือถ้าอ่อนมากอาจต้องทำ ICSI

     สำหรับอาหารที่บำรุงเชื้อฝ่ายชายไม่มีอะไรเป็นพิเศษ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การงดดื่มเหล้าสูบบุหรี่ หรืองดชากาแฟ ก็จะมีส่วนช่วยได้ รวมทั้งการได้รับประทานยาบางตัวจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจช่วยให้เชื้อแข็งแรงขึ้นมาบ้าง

Q : เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือช็อคโกแลตซีสท์ คืออะไร ทำให้มีบุตรยากหรือไม่?
     ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คือ การที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตนอกโพรงมดลูกในช่องท้อง อาจสะสมตามรังไข่และปีกมดลูก ถ้าเป็นมากอาจทำให้เกิดเป็นช็อคโกแลตซีสท์ได้ ความสำคัญก็คือ การมีภาวะนี้จะทำให้โอกาสในการมีบุตรยากเพิ่มขึ้น เพราะภาวะนี้อาจทำให้มีผังผืดเพิ่มขึ้นที่ปีกมดลูก หรือสารบางตัวจากภาวะนี้ไปทำลายไข่ หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนได้ ผู้ที่มีภาวะนี้ ถ้าเป็นมากก็ควรทำการรักษาก่อนที่จะทำการรักษาให้มีบุตร อาจใช้ยาหรือการผ่าตัดแล้วแต่กรณี บางคนผ่าตัดไปแล้วก็สามารถมีลูกได้เองโดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการมีบุตรเพิ่มเติม

Q : การคัดเพศบุตรมีวิธีอย่างไร?
     การคัดเพศบุตรที่ได้ผลมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือการคัดเชื้ออสุจิแล้วทำการฉีดเชื้อผสมเทียม ซึ่งผลในการคัดไม่แน่นอนนักประมาณ 70% ส่วนอีกวิธีที่ได้ผล 100% คือต้องทำเด็กหลอดแก้วแล้วทำ PGD ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีนอกจากได้ผลแน่นอนแล้ว ก็ยังสามารถทำการคัดกรองความสมบูรณ์ของเด็กเบื้องต้นก่อนได้ด้วย เช่น คัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ เป็นต้น

Q : เมื่อไหร่ถึงต้องอุ้มบุญหรือการใช้เชื้อหรือไข่บริจาค?
     ผู้ที่ต้องอุ้มบุญคือ ในกรณีที่มดลูกมีความผิดปกติหรือมีเนื้องอก หรือบางรายเยื่อบุโพรงมดลูกมีปัญหา ก็ต้องไปใช้มดลูกคนอื่นที่ปกติแทน ส่วนผู้ที่ต้องใช้เชื้อบริจาคก็คือ ผู้ชายทีเป็นหมันหรือไม่มีเชื้อหรือเชื้อน้อยมาก ซึ่งกรณีนี้อาจจะลองเจาะอัณฑะหรือท่อนำเชื้ออสุจิก่อนก็ได้ ถ้าพอมีเชื้อก็อาจทำ ICSI ได้ ส่วนกรณีที่ใช้ไข่บริจาคก็คือ ผู้ที่มีจำนวนไข่น้อยหลังจากกระตุ้นไข่แล้ว หรือได้ไข่ที่ไม่มีคุณภาพ ก็ต้องไปหาไข่ของผู้อื่น โดยส่วนใหญ่จะแนะนำให้เป็นญาติของผู้ที่ต้องการไข่เองมากกว่า เนื่องจากจะได้มีส่วนทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน

     มีลูกยาก สามารรักษาได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมือในการรักษาจากคู่สมรส ส่วนการจะพิจารณาใช้วิธีรักษาแบบใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของคู่สมรสที่ตรวจพบ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร โรงพยาบาลนครธน พร้อมให้การดูแลด้วยแพทย์ที่มีความชำนาญเพื่อผลลัพธ์ในการตั้งครรภ์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับคู่แต่งงานทุกคน

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nakornthon.com/Article/Detail/สารพันปัญหาการมีบุตรยากที่พบบ่อย

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา