ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ ตรงจุดและปลอดภัย

nonsachii

หัดอ่านหัดเขียน (9)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:14
เมื่อ 8 มกราคม พ.ศ. 2564 14.42 น.

     โรคมะเร็ง เป็นโรคที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยอยู่ใน 3 อันดับแรกของโรคมะเร็งในประเทศไทย ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มสูงขึ้นถึง 2.4 เท่า การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้และตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นอีกหนึ่งแนวทางช่วยให้สามารถพบผู้ป่วยได้ในระยะแรกเริ่ม เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกจะมีผลการรักษาดีกว่าการรักษาในระยะแพร่กระจายและลดอัตราการเสียชีวิตได้

ส่องกล้องลำไส้ใหญ่เจอติ่งเนื้อควรทำอย่างไร?

     การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เป็นการตรวจที่ถูกยอมรับว่าเป็นการตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุด ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ อย่างในโลกปัจจุบันที่เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น การเฝ้าระวังอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจไม่เร็วพอที่จะป้องกันความรุนแรงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ดังนั้นเมื่อมีความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย การเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้อง จึงเป็นการค้นหาสาเหตุตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้คนไข้ส่วนใหญ่ที่ตรวจเจอติ่งเนื้ออาจเกิดอาการตระหนกตกใจและวิตกกังวล ต้องทำอย่างไรต่อไป ไปหาคำตอบกันเลย

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ Colonoscopy
     การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) คือ การตรวจหาความผิดปกติของภายในลำไส้ใหญ่ โดยการใช้กล้องขนาดเล็กประมาณนิ้วมือ มีความยืดหยุ่นสูง มีลักษณะคล้ายท่อสอดเข้าทางทวารหนักเข้าไปในลำไส้ตรง และตรวจสอบตลอดภายในลำไส้ใหญ่ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจเรียกว่า “Colonoscope” หรือกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ซึ่งจะมีเลนส์รับภาพ แล้วส่งต่อมาที่จอภาพ เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแปลผลวินิจฉัยได้ถูกต้อง

ทำไมต้องตรวจโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่?
     ปัจจุบันพบว่า การส่องกล้องเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ร่วมกับการตัดติ่งเนื้อออก สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่กว่าครึ่งได้จากประชาการปกติ ดังนั้น การส่องกล้องลำไส้ใหญ่จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนั้นในปัจจุบันการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ยังใช้เพื่อวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะเลือดออกทางเดินอาหาร หรือผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียเรื้อรัง อีกด้วย

จำเป็นต้องหยุดยาประจำก่อนหรือไม่
     ปกติแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาเดิมตามปกติ ไม่จำเป็นต้องหยุด แต่ยาบางชนิดอาจขัดขวางต่อการเตรียม และการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ จึงจำเป็นต้องแจ้งแพทย์ถ้าผู้ป่วยรับประทานยาต่างๆ ดังนี้ เช่น ยาต้านเกร็ดเลือด ยากลุ่มแอสไพริน (Aspirin) ยาโคลพลิโดเกล (Copidogrel) หรือพลาวิค (Plavix) กลุ่มยาละลายลิ่มเลือดเช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) หรือเฮบพาริน (Heparin) และยาที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก รวมถึงประวัติการแพ้ยาต่างๆ

จะเป็นอย่างไรบ้างขณะตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่
     ขณะตรวจผู้ป่วยอาจมีความอึดอัดบ้าง น้อยรายมากที่ผู้ป่วยจะมีความเจ็บปวดรุนแรงจนทนไม่ไหว ผู้ป่วยจะรู้สึกมีลมในช่องท้อง และท้องอืด แน่นท้อง เกร็งบ้างในขณะส่องกล้อง โดยแพทย์จะใช้ยาลดระดับความรู้สึก และยาบรรเทาปวด เพื่อช่วยผ่อนคลาย และคลุมอาการปวดเสมอในการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่

     ผู้ป่วยจะนอนตะแคงข้างหรือนอนหงายในขณะตรวจ โดยแพทย์จะสอดกล้องเข้าไปในลำไส้อย่างช้าๆ และค่อยๆถอยกล้องออกมา พร้อมตรวจผิวภายในลำไส้อย่างละเอียด การส่องกล้องจะสิ้นสุดเมื่อถอนกล้องออกมา โดยปกติใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที และใช้เวลาตั้งแต่เริ่มเตรียมตัว และตรวจจนออกจากห้องพักฟื้นทั้งหมด 2-3 ชั่วโมง (ในกรณีที่เตรียมลำไส้มาล่วงหน้าแล้ว)

     ในการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่สามารถส่องกล้องไปได้ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่ ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจจะแนะนำการตรวจวิธีอื่นๆ ในการตรวจส่วนลำไส้ใหญ่ที่เหลือที่ไม่สามารถสอดกล้องเข้าไปได้ต่อไปเมื่อตรวจพบความผิดปกติในการตรวจส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่แพทย์จะทำอย่างไร

     เมื่อแพทย์ตรวจพบความผิดปกติ แพทย์จำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มโดยการสอดเครื่องมือขนาดเล็กผ่านกล้องเพื่อเอาชิ้นเนื้อมาตรวจวินิจฉัย โดยชิ้นเนื้อจะเป็นเพียงเยื่อบุผิวขนาดเล็กแค่เพียงพอต่อการวินิจฉัยเท่านั้น ในกรณีตรวจส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่บางกรณี เพื่อตรวจหาสาเหตุเลือดออกในทางเดินอาหาร เมื่อตรวจพบอาจทำการหยุดเลือดโดยวิธีต่างๆ เช่น การฉีดยา เพื่อหยุดเลือดหรือการจี้โดยความร้อนรวมถึงการใช้อุปกรณ์หนีบเส้นเลือดผ่านกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ถ้าแพทย์ตรวจพบติ่งเนื้อ (Polyps) แพทย์จะตัดติ่งเนื้อออกทั้งหมด  และนำไปตรวจเพิ่มทางพยาธิวิทยา การตัดติ่งเนื้อจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแต่อย่างใด

ติ่งเนื้อคืออะไร และทำไมต้องตัดออก?
     ติ่งเนื้อ คือ เยื่อบุลำไส้ที่งอกเติบโตผิดปกติส่วนใหญ่จะเป็นชนิดที่ดีไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งติ่งเนื้อจะมีขนาดรูปร่างและชนิดต่างๆ กันไป แพทย์จะไม่สามารถแยกได้ 100 เปอร์เซนต์ทั้งหมดจากรูปลักษณะภายนอกของติ่งเนื้อว่าชนิดไหนเป็นมะเร็ง โดยแพทย์จะนำเอาชิ้นเนื้อไปตรวจยืนยันการวินิจฉัยโรคด้วยพยาธิวิทยาอีกครั้ง และการตัดติ่งเนื้อออกเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่เพื่อไม่ให้เกิดขึ้น

เราจะตัดติ่งเนื้อออกอย่างไร?
     แพทย์สามารถทำได้หลายวิธี ติ่งเนื้อเล็กอาจเพียงทำลายโดยความร้อน หรืออาจตัดออกโดยเครื่องมือตัดชิ้นเนื้อ (Forcep) หรือในบางกรณีการตัดติ่งเนื้อที่ใหญ่ขึ้น อาจใช้ขดลวดที่เป็นวง เรียกว่า สแนร์ (Snare) รัดรอบติ่งเนื้อผ่านกล้อง และใช้ไฟฟ้าในการตัดติ่งเนื้อออก ซึ่งขณะทำจะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด

ความเสี่ยง และผลข้างเคียงของการตรวจรักษา
     การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ และการตัดชิ้นเนื้อค่อนข้างปลอดภัยเมื่อได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการส่องกล้อง ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ การทะลุของลำไส้ ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยการผ่าตัด ภาวะลำไส้ทะลุมีโอกาสเกิด 1 ใน 1,000 ในการส่องกล้องปกติ ภาวะเลือดออกจากบริเวณที่ตัดชิ้นเนื้อ มีโอกาสเกิดได้ โดยปกติไม่รุนแรง สามารถหยุดได้เอง โอกาสน้อยมากที่จะมีเลือดออกรุนแรงหลังส่องกล้อง นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีผลข้างเคียงทางการหายใจ หรือความผิดปกติทางหัวใจได้หลังการได้ยาลดระดับความรู้สึกตัว

     โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก และพบได้ไม่บ่อย แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องตระหนักเมื่อรู้สึกผิดปกติที่อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น อาการปวดท้องรุนแรง มีไข้หนาวสั่น และถ่ายเป็นเลือด โดยการถ่ายเป็นเลือดอาจเกิดขึ้นหลังจากส่องกล้องหลายวัน หรือเป็นสัปดาห์หลังการตรวจได้

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
     แพทย์จะให้คำแนะนำเรื่องของการรับประทานยาระบายชนิดพิเศษ และการปรับชนิดของอาหารก่อนการตรวจส่องกล้อง โดยแนะนำให้รับประทานอาหารประเภทเหลวใส และหลีกเลี่ยงการรับประทานผัก และผลไม้ ก่อนวันตรวจส่องกล้อง อย่างน้อย 1 วัน โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำจะช่วยล้างลำไส้ให้สะอาดชัดเจน และเพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการตรวจให้ถูกต้องมากขึ้น

การปฏิบัติตัวหลังการส่องกล้อง
     ผู้ป่วยจะได้รับการเฝ้าระวัง และดูแลใกล้ชิดจนผลของยาลดระดับความรู้สึกตัวหมดไป ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเกร็ง และมีลมในช่องท้องได้เล็กน้อยหลังการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะหายไปอย่างรวดเร็วหลังจากได้ผายลมออกมา หลังจากนั้น แพทย์ผู้ตรวจจะอธิบายผลของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องรอผลวินิจฉัยชิ้นเนื้ออีกครั้งในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ และนำชิ้นเนื้อไปตรวจ

     ถ้าผู้ป่วยได้รับยาลดระดับความรู้สึกตัวระหว่างการตรวจต้องมีคนดูแลอยู่ด้วย และพาผู้ป่วยกลับบ้านพักผ่อนถึงแม้ผู้ป่วยจะรู้สึกตื่นตัวดีเป็นปกติหลังการตรวจส่องกล้อง แต่การตัดสินใจ และการตอบสนองจะไม่เป็นปกติจนกว่าผู้ป่วยจะได้รับการพักผ่อนเพียงพอจึงกลับมาเป็นปกติ ผู้ป่วยจะสามารถรับประทานได้หลังการตรวจแต่ต้องจำกัดการรับประทานอาหาร และไม่ทำกิจกรรมที่มากไปโดยเฉพาะหลังการทำหัตถการการตัดติ่งเนื้อออก

     โรคมะเร็งลำไส้ เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด หากตรวจพบเร็วตั้งแต่ช่วงระยะแรกเริ่ม ก็จะสามารถผ่าตัดได้ ซึ่งการตรวจส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จะช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพรวมของลำไส้ใหญ่ได้ชัดเจน และการตรวจส่องกล้องนี้ ยังใช้สำหรับตัดติ่งเนื้อในลำไส้ที่เกิดขึ้นได้ด้วย อย่าปล่อยให้วิถีการดำเนินชีวิตของคุณต้องเข้าไปใกล้ความเสี่ยงโรคมะเร็งเลยจะดีกว่า เพราะเมื่อเจ้าโรคนี้เข้ามาอยู่ในชีวิตแล้ว สิ่งที่ต้องเสียไปย่อมไม่คุ้มกันเลย

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nakornthon.com/Article/Detail/คลายข้อสงสัย-ส่องกล้องลำไส้ใหญ่เจอติ่งเนื้อควรทำอย่างไร

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา