ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร หาสาเหตุการปวดกระเพาะ ป้องกันโรคร้าย
หลายท่านมีอาการปวดท้องอยู่บ่อย ๆ แต่อาจจะไม่ได้ปวดมาก คิดว่าคงเป็นโรคกระเพาะ กินยาไปเดี๋ยวก็หาย ฟังดูแล้วเหมือนจะไม่ร้ายแรง บางคนก็อาจจะใช้ชีวิตอยู่กับอาการปวดท้องจนเคยชิน หิวข้าวก็ปวดท้อง กินอิ่มแล้วก็ยังปวดท้องอีก ด้วยภาวะสังคมที่เร่งรีบและชีวิตประจำวันที่วุ่นวาย หลายคนจึงปล่อยปละละเลย ทำให้เกิดพฤติกรรมและปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารได้ คุณเคยคิดไหม ว่าโรคในกระเพาะอาหารอาจร้ายแรงกว่าที่คุณคิด การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร จึงเป็นอีกวิธี ที่ใช้ตรวจหาความผิดปกติของกระเพาะอาหารซึ่งเป็นวิธีตรวจที่นิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
การส่องกล้องจะทำให้เห็นเยื่อบุกระเพาะ เพื่อดูการอักเสบ ดูแผลในกระเพาะ ดูเนื้องอก นอกจากนั้นยังสามารถตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา หาเซลล์มะเร็ง, เพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย ร่วมไปถึงการส่องกล้องเพื่อรักษาห้ามเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นได้
การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (EGD) เป็นมาตรฐานเพื่อการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อีกทั้งเป็นการตรวจที่สามารถทำได้ง่ายใช้เวลาไม่นาน และในโรคบางโรคแพทย์สามารถให้การรักษาได้ทันที เช่น ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน ทำให้ลดความจำเป็น และความเสี่ยงของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัด
1.อาการปวดจุกแน่นท้องหรือแสบร้อนบริเวณท้องส่วนบน หน้าอก หรือบริเวณลำคอ
2.อาการท้องอืดท้องเฟ้อเหมือนอาหารไม่ย่อย
3.มีอาการเรอหรือคลื่นไส้อาเจียนบ่อย ๆ
4.อาการกลืนติด กลืนลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บ
5.อาการเจ็บคอ คอแห้ง เสียงแหบหรือไอบ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
อาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการแสดงอันเนื่องมาจากความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนบน ซึ่งได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ส่วนใหญ่เรามักจะคิดว่าอาการเหล่านี้เกิดจากการรับประทานอาหารรสจัด รับประทานอาหารผิดประเภท หรือรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา แต่ในความจริงแล้วมีโรคทางเดินอาหารส่วนบนอีกมากที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเหล่านี้ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อนในหลอดอาหาร โรคหลอดอาหารอักเสบ โรคเนื้องอกในหลอดอาหาร หรือกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไล (Helicobacter pylori) ในกระเพาะอาหารยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และยังสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งของกระเพาะอาหารได้ ดังนั้น การตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นย่อมส่งผลดีต่อการรักษา และสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นผลร้ายแรงได้
ข้อบ่งชี้ในการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน
1.ผู้ที่มีอาการของระบบทางเดินอาหารส่วนบนดังกล่าวข้างต้นที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น ในกรณีที่พบแผล ในกระเพาะอาหาร แพทย์สามารถทำการตรวจพิสูจน์เนื้อเยื่อ (Tissue Biopsy) เพื่อแยกสาเหตุของการเกิดแผล รวมทั้งสามารถตรวจหาเชื่อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไล (Helicobacter pylori) ได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังสารมารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องในกรณีพบติ่งเนื้องอกในทางเดินอาหารได้อีกด้วย
2.ผู้ที่มีอาการของระบบทางเดินอาหารส่วนบนร่วมกับการมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนภัย ได้แก่ ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี ท้องอืดท้องโตเป็นเวลานาน คลำได้ก้อนบนท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด กลืนอาหารติด กลืนลำบาก มีอาการอาเจียนบ่อยๆ มีประวัติครอบครัวของโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งล้วนเป็นสัญญาณเตือนภัยที่แสดงถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
3.เพื่อตรวจติดตามการการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric Ulcer) เพื่อยืนยันการหายของแผล และช่วยขจัดข้อสงสัย สาเหตุของแผลที่อาจเกิดจากมะเร็งกระเพาะอาหาร และติดตามการหายของเชื้อแบคทีเรีย ฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไล หลังได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อโรค
4.ผู้ที่มีอาการถ่ายอุจาระเป็นสีดำ ถ่ายเป็นเลือดปนดำ หรือมีภาวะโลหิตจาง ซึ่งบ่งบอกว่ามีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน (Upper Gastro Intestinal Bleeding: UGIB) การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนสามารถให้การวินิจฉัยโรค และสามารถทำการรักษาห้ามเลือดได้ทันที
5.เพื่อให้การรักษาในกรณีที่มีการกลืนสิ่งแปลกปลอมลงในหลอดอาหาร หรือกระเพาะอาหาร (Foreign Body) เช่น เหรียญ ถ่านแบคเตอร์รี เข็ม กระดูกสัตว์ กางปลา เป็นต้น
6.เพื่อให้การวินิจฉัย และประเมินความรุนแรงในกรณีที่มีการกลืนสารกัดกร่อน (Corrosive Ingestion) เช่น กรดหรือ ด่าง น้ำยาล้างห้องน้ำ
7.เพื่อทำการรักษา แก้ไขภาวะตีบตันของทางเดินอาหาร (Stricture) อันเป็นผลมาจากเนื้องอกทางเดินอาหาร การเกิดแผลในทางเดินอาหาร หรือการตีบตันเป็นผลจากกลืนสารกัดกร่อน
การปฏิบัติตัวก่อนส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน
ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้ดูแลถึงความจำเป็นในการตรวจ และประเมินความพร้อมก่อนการตรวจส่องกล้อง ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคความดันโลหิตสูง โรคเลือดหรือทานยาใดๆ อยู่ประจำหรือแพ้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
กล้องส่องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscope) เป็นกล้องขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นสายยาว และมีกล้องติดอยู่ที่ปลายสายซึ่งกล้องจะถูกเชื่อมโยงด้วยสายใยนำแสงความละเอียดสูง และถูกถ่ายทอดไปยังจอภาพซึ่งแพทย์ สามารถที่จะดูการตรวจได้อย่างต่อเนื่อง
ผู้รับการตรวจจำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนเวลาส่องกล้อง และก่อนเริ่มตรวจส่องกล้องผู้รับการตรวจบางรายจะได้รับการพ่นยาชาที่บริเวณลำคอเพื่อป้องกันการระคายเคือง และกล้องจะถูกสอดผ่านทางปาก และลำคออย่างนุ่มนวลในท่าตะแคง เพื่อทำการตรวจอวัยวะสำคัญ 3 ส่วน คือ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น โดยผู้ได้รับการตรวจจะได้รับยาคลายกังวล หรือยานอนหลับ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายขณะได้รับการตรวจด้วย การตรวจส่องกล้องเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที หลังจากนั้น ผู้ได้รับการตรวจจะได้พักผ่อนในห้องพักฟื้น(Recovery Room) ประมาณ 1-2 ชั่วโมง และสามารถทราบผลการตรวจส่องกล้องได้ในวันเดียวกัน
การปฏิบัติตัวหลังการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน
- สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ และงดเว้นการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
- อาจมีอาการระคายคอประมาณ 1-2 วัน หลังการส่องกล้อง ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้โดยกลั้วคอด้วยน้าเกลืออุ่น หรืออมยาอมเพื่อช่วยบรรเทาอาการระคายคอ
- อาจจะรู้สึกท้องอืด ปวดมวนท้อง หรือ มีแก๊ส ซึ่งเป็นอาการปกติ และการผายลมจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้
- ไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากในช่วงวันที่ 1-2 หลังการส่องกล้อง (เช่น วิ่ง ยกของน้ำหนักมากกว่า 5 กิโลกรัม หรือ ขี่จักรยาน)
- แพทย์จะให้ยาผ่านทางเส้นเลือด หากบริเวณที่เจาะเส้นเลือดมีอาการเจ็บ แดง หรือบวม สามารถใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นวางบริเวณดังกล่าวประมาณ 15-20 นาที และทำวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 2 วัน นอกจากนี้ การวางแขนบนหมอนหนุน จะช่วยให้อาการดังกล่าวลดลงได้ หากอาการดังกล่าว ไม่หายไปภายใน 2 วัน ควรปรึกษาแพทย์
- หากใช้ยา Aspirin หรือ Plavix หรือ NSAIDs (Ibuprofen (Motrin, Advil), Naprosyn, Indomethacin, Celebrex) เป็นประจำ กรุณาหยุดใช้ยาชั่วคราว และปรึกษากับแพทย์ทางเดินอาหารและตับ หรือแพทย์ที่สั่งยาให้ ก่อนที่จะกลับไปใช้ยาดังกล่าวอีก
- ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือ ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักรขนาดใหญ่ในช่วง 24 ชั่วโมง หลังส่องกล้อง
หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพบแพทย์ทันที
- เจ็บหน้าอกหรือปวดท้องรุนแรง
- อุจจาระเป็นสีดำเข้ม และ/หรือ อาเจียนเป็นเลือด
- มีลิ่มเลือดสีแดงสด หรือลิ่มเลือดจานวนมากออกมาทางทวารหนัก
- หนาวสั่นหรือมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
อาการปวดท้อง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายที่จะตามมาได้ ดังนั้นคุณจึงไม่ควรละเลย หากมีอาการที่ยังไม่รุนแรงก็สามารถรักษาโดยการรับประทานยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหากอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังข้างต้นแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนหรือตรวจกระเพาะอาหาร เพื่อหาสาเหตุและรับรักษาอย่างถูกต้อง ทันท่วงที และป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้อีก
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nakornthon.com/Article/Detail/การตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน-Esophagogastroduodenoscopy-EGD
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้