อย่าปล่อยให้โรคกระดูกพรุนทำลายชีวิต ตรวจเช็คสุขภาพกระดูกตั้งแต่วันนี้
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือโรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกน้อยลงจากการสะสมกระดูกน้อยเกินไปในขณะที่กำลังเจริญเติบโต หรือมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างมากหลังจากเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ทำให้กระดูกเปราะบางไม่สามารถรับน้ำหนักและแตกหักตามมา อาจเกิดมาจาก 2 ปัจจัย คือ พันธุกรรมและการดำเนินชีวิตที่มีผลต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้เร็วขึ้น โดยปกติมักพบมากในเพศหญิง แต่เพศชายสามารถพบได้ 20 เปอร์เซ็นต์ โรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถพบได้ในวัยหนุ่มสาว
โรคนี้สำคัญอย่างไร
โรคกระดูกพรุนเป็นลักษณะบ่งบอกถึงความชรา พบมากในหญิงสูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้นโอกาสเป็นโรคนี้ก็มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกระดูกบางถึงระดับที่ไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกระแทกได้ก็จะเกิดกระดูกหัก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในขณะทำกิจวัตรประจำวันตามธรรมดาหรือเกิดขึ้นเมื่อได้รับอุบัติเหตุหกล้ม แม้ว่าอุบัติเหตุนั้นจะดูเล็กน้อยก็ตาม กระดูกที่มักจะหัก ได้แก่ กระดูกต้นขา และกระดูกข้อมือ
อันตรายจากกระดูกหัก
เป็นผลอันร้ายแรงที่เกิดขึ้นหลังจากกระดูกพรุน กรณีเกิดกระดูกสันหลังหักจะมีความเจ็บปวดมาก จำเป็นต้องนอนพักในเตียงนานเป็นเดือน เมื่อขยับตัวจะเจ็บมากและจะทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยความลำบาก หลังจากนั้นหลังจะโก่ง ค่อมลง ส่วนกระดูกต้นขามักจะหักตอนหกล้ม ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะได้รับการผ่าตัดเพื่อใส่เหล็กที่กระดูกต้นขาใหม่แทนส่วนที่หัก บางคนไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัด อาจเป็นเพราะมีโรคประจำตัวที่ทำให้มีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูงขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยกระดูกต้นขาหักทั้งที่ได้รับการผ่าตัด และไม่รับการผ่าตัดมากกว่าครึ่งจะไม่สามารถเดินได้อีกต่อไป จะต้องใช้ชีวิตอยู่แต่บนเตียงและต่อมามักจะสียชีวิตเนื่องจากมีโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ปอดบวม มีแผลกดทับที่สะโพก สำลักอาหาร เป็นต้น เป็นภาระมากขึ้น จะเห็นว่าเป็นปัญหาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต
ภัยที่น่ากลัวกว่านี้ก็คือ
โรคกระดูกพรุนมักเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นสะสมในร่างกายมานานโดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบเพราะไม่มีอาการแต่อย่างใด จนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุกระดูกหัก จึงทำให้คนจำนวนมากไม่ทราบว่าสภาวะกระดูกของตนเองนั้นบางไปมากน้อยเพียงใดแล้ว และไม่ได้สนใจที่จะดูแลป้องกันภาวะกระดูกพรุนอย่างจริงจัง
โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
- หญิงวัยหมดประจำเดือน : จะพบว่ามีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียเนื้อกระดูกมากขึ้น 10% ภายใน 5 ปี แรกที่หมดประจำเดือน
- อายุ 40 ปี : ร่างกายจะมีการสูญเสียเนื้อกระดูกไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ทั้งในชายและหญิงประมาณ 0.5 – 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
- อายุ 50 ปี : ในคนเอเชียพบว่าจะมีการสูญเสียเนื้อกระดูกเพิ่มมากขึ้นเป็น 3 – 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี หลังจากช่วงนี้แล้ว อัตราการสูญเสียเนื้อกระดูกจะลดลงเข้าสู่แบบเดิมคือประมาณ 0.5 – 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
สรุปได้ว่าเกิดจากกระบวนการสร้างกระดูกใหม่ทดแทนกระดูกเก่าที่เสื่อมสภาพไม่สมดุลกับกระบวนการสลายของกระดูก ผู้หญิงที่มีการออกกำลังกายน้อย และมีมวลกระดูกต่ำตั้งแต่อายุยังน้อยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
สาเหตุอื่นที่เกิดกระดูกพรุน
1.พันธุกรรม พบว่าชาวผิวขาวมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าชนผิวดำ (นิโกร) ส่วนชาวเอเชีย (รวมทั้งคนไทย) เป็นพวกเผ่ามองโกลอย จะเก็บสะสมเนื้อกระดูกได้มากกว่าชาวผิวขาวแต่น้อยกว่าชาวผิวดำ
2.ปริมาณแคลเซียมที่ได้รับและเก็บสะสมไว้ในขณะนั้น ซึ่งปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสมของแต่ละช่วงอายุมีดังนี้
3.สารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างเนื้อกระดูก
3.1 โปรตีน ปริมาณอาหารโปรตีนที่รับประทานจะต้องสมดุลกับปริมาณแคลเซียมด้วย มีรายงานหลายฉบับชี้ให้เห็นว่า การบริโภคโปรตีนที่มากเกินไป จะทำให้มีการสูญเสียแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะในปริมาณที่มากกว่าที่พบในกลุ่มที่บริโภคโปรตีนต่ำกว่า
3.2 ฟลูออไรด์ แมกนีเซียม และโประแตสเซียม เหล่านี้เป็นสารที่พบปริมาณน้อย แต่มีความจำเป็นในการสร้างกระดูก
3.3 ฮอร์โมนเพศ เพศหญิงจะเห็นได้ชัดเจนในช่วง 5 ปีแรกของการหมดประจำเดือน ซึ่งในช่วงนั้นสุขภาพสตรีทุกคนจะมีการสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างรวดเร็ว (3-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี) ถ้าคูณตัวเลขเหล่านี้จะเห็นว่าสูงถึง 15-25 เปอร์เซ็นต์ ของกระดูกในร่างกาย สำหรับเพศชายนั้นไม่มีช่วงที่สูญเสียเนื้อกระดูกมากๆ อย่างในหญิงวัยหมดประจำเดือน ยกเว้นว่ามีความผิดปกติของการผลิตฮอร์โมนเพศชายจะทำให้เนื้อกระดูกบางกว่าปกติ
3.4 หญิงที่มีการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง จะเกิดการสูญเสียเนื้อกระดูกในลักษณะดังกล่าวในช่วงหลังการผ่าตัด
4.ปัจจัยที่สร้างการต้านสะสมเนื้อกระดูก
4.1 การทานโซเดียมหรือเกลือมากเกินไป ร่างกายจะต้องขับเกลือส่วนเกินออกทางปัสสาวะและจะขับแคลเซียมออกมาด้วย ทำให้มีการสูญเสียแคลเซียมไปทางปัสสาวะมากขึ้น
4.2 แอลกอฮอล์ บุหรี่และกาแฟ จะลดการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารเข้าสู่ร่างกาย ทำให้การสร้างเนื้อกระดูกไม่มีประสิทธิภาพ
4.3 ยาหลายชนิดโดยเฉพาะสเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้จะทำให้มีการสลายของกระดูกมากขึ้น จนเกิดภาวะกระดูกพรุน จะมีอาการปวดหลังปวดกระดูกตามมา
4.4 คนที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (Hyperthyroidism) และโรค Cushing
5.ลักษณะการดำเนินชีวิต (Lifestyle) การทำงานออกแรงและการออกกำลังกายจะทำให้เกิดแรงกดที่กระดูก ซึ่งจะทำให้ร่างกายเสริมกระดูกให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
อาการของโรคกระดูกพรุน...เป็นอย่างไร
ช่วงแรกจะสังเกตไม่เห็นอาการ แต่หากพบว่าส่วนสูงเริ่มลดลง มีอาการหลังค่อม ต่อมารู้สึกปวดที่กระดูก โดยปวดลึกๆ ที่กระดูก เช่น ที่กระดูกหลังขา กระดูกจะหักง่ายเมื่อล้ม
สามารถตรวจร่างกายดูว่ากระดูกพรุนได้หรือไม่ การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density : BMD) โดยเครื่องมือที่อาศัยหลักการทางการเอ็กซเรย์เป็นหลัก เครื่องนี้จะวัดว่ากระดูกมีเนื้อหรือมวลกระดูกมากน้อยเพียงใด และนำค่าที่วัดได้มาเปรียบเทียบกับค่ามวลกระดูกมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันใช้ค่ามวลกระดูกของสตรีชาวญี่ปุ่นเป็นหลัก การเอ็กซเรย์ธรรมดาไม่สามารถจะใช้ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกได้ จนกว่ากระดูกบางไปมากเกินกว่าครึ่งแล้วซึ่งถือว่าช้าเกินไป
ผู้หญิงทุกคน...ต้องตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกหรือไม่ และจะต้องทำเมื่อไหร่
ไม่จำเป็นว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องตรวจความหนาแน่นของกระดูก แนะนำให้ตรวจเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ได้แก่
1.ผู้ที่มีประวัติทำงานออฟฟิศทั้งวัน ไม่โดนแดดประจำ
2.ผู้ที่มีโรคที่ทำให้กระดูกบางลง เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ, โรคทางลำไส้ดูดซึมอาหารไม่ดี (ควรตรวจช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือช่วงจะหมดประจำเดือน ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอตลอดเวลาด้วย)
3.ผู้ที่จะต้องรับยาที่ทำให้มีการสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าปกติ เพื่อช่วยในการรักษาโรคต่างๆ (ถ้าได้รับยาสเตียรอยด์ปริมาณมากเพื่อควบคุมโรค ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพื่อพิจารณาเวลาที่เหมาะสมในการติดตามดูปริมาณเนื้อกระดูก เพราะผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับยาในปริมาณที่แตกต่างกัน)
4.ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้างในช่วงก่อนหมดประจำเดือน (ควรตรวจหลังจากการทำผ่าตัดแล้วติดตามอีก 1-2 ครั้ง ภายในช่วง 5 ปีแรกหลังการผ่าตัด)
อย่าปล่อยให้...โรคกระดูกพรุนทำลายชีวิตท่าน เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ด้วยตนเอง โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช้แรงหักโหมจนเกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อกระดูกและร่างกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามโภชนาการที่ร่างกายควรได้รับ บริโภคโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูงและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชาหรือกาแฟ ไม่สูบบุหรี่ ระมัดระวังในการใช้ยา โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ที่ต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือมาตรวจเช็คสุขภาพกระดูกของท่านตั้งแต่วันนี้...ด้วยโปรแกรมกระดูกสันหลังและโรคกระดูกพรุน ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนนทเวชศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนนทเวช ยินดีให้คำแนะนำและให้การรักษาอย่างมืออาชีพ ด้วยทีมศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทาง ร่วมกับวิสัญญีแพทย์ และทีมสหสาขาวิชาชีพทั้งพยาบาล นักกายภาพบำบัด และเภสัชกร
ขอบคุณข้อมูล : นพ.ชัชวาล ปิยะวรรณสุทธิ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เฉพาะทางกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนนทเวช https://www.nonthavej.co.th/Osteoporosis.php
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้