รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุอัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดจากอะไร? พร้อมวิธีการรักษาจากโรงพยาบาลนครธน

Pacraa

ขีดเขียนหน้าใหม่ (49)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:55
เมื่อ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 11.39 น.

 

 

          ในปัจจุบันพบว่าคนไทยป่วยเป็น โรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มมากขึ้น พบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย โรคหลอดเลือดสมองมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและไม่ทันตั้งตัว  โดยเมื่อหลอดเลือดในสมองตีบอุดตันและแตก จะเป็นสาเหตุอัมพฤกษ์อัมพาต และอาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด วันนี้เราจึงมีข้อมูลความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง พร้อมวิธีการรักษาจากโรงพยาบาลนครธน มาฝากกันค่ะ

 

 

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือ ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองขาดเลือด โดยอาการผิดปกติจากโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ปากเบี้ยว พูดไม่ขัด กลืนลำบาก แขนขาชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีกของร่างกาย และมักมีอาการเฉียบพลัน

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. หลอดเลือดสมองตีบตันหรืออุดตัน (ischemic stroke) พบได้ประมาณ 70% ของโรคหลอดเลือดสมอง การอุดตันเกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง

ในบางรายอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นสามารถหายได้เองใน 24 ชั่วโมง เรียกว่า ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack – TIA)

  1. หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 30% ของโรคหลอดเลือดสมอง การแยกว่าคนไข้ที่มีอาการเหล่านี้เป็นจากโรคหลอดเลือดสมองตีบตันหรือโรคหลอดเลือดสมองแตกนั้นจำเป็นต้องใช้การเอกซเรย์สมองมาช่วยแยก เนื่องจากอาการของทั้งสองกลุ่มนี้มีความคล้ายคลึงกันแต่มีปัจจัยเสี่ยงและการรักษาที่ต่างกัน

 

โรคหลอดเลือดสมอง มีอาการอย่างไร?

  • มีอาการอ่อนแรงที่ใบหน้า เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หลับตาไม่สนิท หรือชาที่ใบหน้า
  • มีอาการแขนขาอ่อนแรงอย่างเฉียบพลันโดยมักเป็นครึ่งซีก
  • มีอาการแขนหรือขาชาอย่างเฉียบพลัน มักจะเป็นซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
  • พูดไม่ออก หรือฟังไม่เข้าใจ รวมทั้งพูดลำบาก หรือพูดไม่ชัด
  • มองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็น
  • มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเฉียบพลัน โดยที่ไม่มีสาเหตุ
  • มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ซึมลง เรียกไม่รู้ตัว
  • มีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน
  • มีอาการเดินเซ เดินลำบาก การทรงตัวไม่ดีอย่างเฉียบพลัน

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยต้องแยกเป็นปัจจัยเสี่ยงเป็น
2 กลุ่ม ดังนี้

 

โรคหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน (Ischemic stroke)

ปัจจัยเสี่ยง แบ่งเป็น ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ เช่น อายุ และปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ได้แก่

  • ความดันโลหิตสูง
  • เบาหวาน
  • ไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • โรคหัวใจบางประเภท เช่น โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งสามารถทำให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจแล้วหลุดไปอุดหลอดเลือดสมองได้

 

 

การรักษา

  1. 1. การรักษาจำเพาะเพื่อเปิดเส้นเลือดที่ตีบ มีสองวิธี
  • การให้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic treatment) : ยา recombinant tissue plasminogen activator (rtPA) เป็นยาละลายลิ่มเลือดที่ใช้เป็นยามาตรฐานในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบ แต่มีข้อจำกัดคือต้องให้ภายใน 4.5 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มมีอาการจนถึงเวลาเริ่มให้ยา และต้องไม่มีข้อห้ามการให้ยาซึ่งจะพิจารณาโดยแพทย์ โดยพบว่า ผู้ป่วยประมาณ 30% มีอาการดีขึ้นที่ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นได้คือ ภาวะเลือดออกในสมองหรือส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งพบได้ประมาณ 6-7% ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ พบว่า ประมาณ 0.1% ของคนไข้มีอาการแพ้ยาได้ ซึ่งหากเป็นการแพ้อย่างรุนแรงจนทำให้ทางเดินหายใจตีบหรือความดันโลหิตต่ำ อาจเสียชีวิตได้
  • การใส่สายสวนทางหลอดเลือดแดงเพื่อเปิดหลอดเลือด (Mechanical thrombectomy) : จะใส่สายสวนผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ แต่มีข้อจำกัดคือสามารถทำได้เฉพาะการอุดตันของหลอดเลือดสมองบางเส้นที่ใหญ่พอ และต้องมาภายใน 12-24 ชั่วโมง

หลังได้การรักษาจำเพาะเพื่อเปิดเส้นเลือดตีบ ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องเข้ารับการดูแลในหอผู้ป่วยอภิบาลหนัก (CCU) เพื่อติดตามอาการทางระบบประสาท ความดันโลหิต ขีพจร อย่างน้อย 24-72 ชั่วโมง และต้องมีการเอกซเรย์สมองซ้ำ 24 ชั่วโมงหลังได้รับการรักษาเพื่อดูว่ามีเลือดออกในสมองซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของการรักษาหรือไม่

 

  1. 2. การรักษาอื่น
  • การให้ยาต้านเกร็ดเลือด (Antiplatelet) เช่น แอสไพริน
  • การให้น้ำเกลือ
  • การกายภาพบำบัด
  • ควบคุมปัจจัยเสี่ยงเพื่อลดโอกาสการเกิดหลอดเลือดสมองตีบซ้ำ เช่น งดบุหรี่ ควบคุมน้ำตาล ความดันโลหิตและไขมันในเลือด
  • การผ่าตัด : จะทำเฉพาะผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะสมองบวมมาก

ภาวะแทรกซ้อน

  1. 1. ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท ได้แก่
  • มีการตีบตันของหลอดเลือดมากขึ้นแม้จะได้รับการรักษาแล้ว
  • มีเลือดออกของสมองในส่วนที่ขาดเลือด
  • สมองบวม
  • ชัก
  1. 2. การติดเชื้อ : การติดเชื้อที่พบบ่อยในผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ การติดเชื้อทางเดินหายใจ และ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  2. 3. หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน ซึ่งมักเกิดในขาข้างที่อ่อนแรง ซึ่งลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นสามารถ หลุดไปอุดที่ปอด จนทำให้เกิดการขาดออกซิเจนได้

โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)

ปัจจัยเสี่ยง

  • ความดันโลหิตสูง
  • ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เช่น เส้นเลือดโป่งพอง (Aneurysm) หรือ ความผิดปกติตรงรอยต่อระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ (Arteriovenous malformation – AVM)

การรักษา

  1. 1. ในส่วนของเลือดที่กดเบียดเนื้อสมอง : หากเลือดที่ออกมีปริมาณไม่มาก แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองแล้วรอให้เลือดสลายไปเอง แต่หากเลือดที่ออกมีปริมาณมากจนกดเบียดสมองส่วนอื่นที่สำคัญ แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัด
  2. 2. ในส่วนของการป้องกัน
  • ความดันโลหิตสูง : ควบคุมความดันโลหิต
  • ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง : สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นกับตำแหน่งและขนาด เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี การใส่สายสวนไปอุดหลอดเลือดที่ผิดปกติ (Embolization) ใช้คลิปหนีบหรือใส่ขดลวดอุดตำแหน่งนั้นไว้

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack – TIA)

คนไข้กลุ่มนี้ทั้งอาการและปัจจัยเสี่ยงจะเหมือนกลุ่มคนไข้หลอดเลือดสมองตีบ แต่ อาการจะหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากมีการหลุดของลิ่มเลือดที่อุดตันเส้นเลือดออกไปเอง ดังนั้นคนไข้กลุ่มนี้ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดเหมือนคนไข้หลอดเลือดสมองตีบ แต่มีความจำเป็นต้องหาปัจจัยเสี่ยงและควบคุมปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหลอดเลือดสมองตีบซ้ำ

          รู้ทันสาเหตุ โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุอัมพฤกษ์ อัมพาต ต้นเหตุของความพิการ และอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือหากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้น ที่อาจจะส่งผลให้เป็น โรคหลอดเลือดสมอง แนะนำมาปรึกษาแพทย์ผู้เชียวชาญที่ โรงพยาบาลนครธน เรายินดีให้บริการดุจคนในครอบครัว สามารถให้คำแนะนำคุณอย่างเป็นกันเอง รู้ตัวก่อน ระวังได้ก่อน

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nakornthon.com/Article/Detail/โรคหลอดเลือดสมอง-Stroke-ตีบแตกตันอันตราย

#โรคหลอดเลือดสมอง, โรงพยาบาลนครธน,หลอดเลือดในสมองตีบอุดตันและแตก,อัมพฤกษ์ อัมพาต 

 

 

 

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา