สร้างภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยวัคซีน HPV
เมื่อพูดถึงอีกหนึ่งโรคร้ายของผู้หญิงจะต้องมี “โรคมะเร็งปากมดลูก” อยู่ในลำดับต้นๆ แน่นอน โดยโรคมะเร็งปากมดลูก ถือเป็นมะเร็งระบบสืบพันธุ์เพศหญิงที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของหญิงไทย จากสถิติเราพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้า รวมทั้งพฤติกรรมของผู้หญิงส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และรู้สึกเขินอาย กลัวที่จะพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นกว่าจะรู้ตัวว่ามีอาการผิดปกติ จนทำให้โรคมะเร็งนั้นได้เข้าสู่ในระยะลุกลามยากต่อการรักษา วันนี้โรงพยาบาลนนทเวชจึงมีความรู้ดีๆ ถึงวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคมะเร็งปากมดลูก โดย นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล
“มะเร็งปากมดลูก” เป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในบรรดาโรคมะเร็งที่พบในคนไทย เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus)
การติดเชื้อ HPV โดยส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ HPV ส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูกของผู้หญิงซึ่งเป็นขั้นแรกของการทำให้เกิดโรคมะเร็ง ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปรากฏเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปแล้ว
การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก
1.การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วโดยการทำการตรวจภายใน, PAP smear, HPV Test เพื่อหาความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก
2.การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อ HPV ทำให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV สาเหตุหลักของ “มะเร็งปากมดลูก”
ชนิดของวัคซีน HPV และประสิทธิภาพในการป้องกัน
วัคซีนป้องกัน HPV มี 2 ชนิด
1.HPV แบบ 2 สายพันธุ์ จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV ชนิด 16, 18 และมีสารเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน (ASO4)
2.HPV แบบ 4 สายพันธุ์ จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV ชนิด 16, 18 และหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศจาก HPV 6,11
วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ทั้ง 2 ชนิด องค์การอนามัยโลก ให้คำแนะนำว่า
สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ตามสายพันธุ์ที่อยู่ในวัคซีน
สิ่งที่ควรทราบก่อนฉีดวัคซีน HPV
1.ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนฉีดวัคซีน
2.การฉีดวัคซีน HPV ไม่สามารถป้องกันหูดหงอนไก่ได้ทุกราย
3.การฉีดวัคซีน HPV ไม่สามารถกันโรคมะเร็งจากสาเหตุอื่นๆ ได้
4.ถ้าติดเชื้อ HPV ก่อนฉีดวัคซีนอาจจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง หรือไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร
5.วัคซีน HPV ไม่สามารถรักษามะเร็งปากมดลูกได้ ไม่สามารถรักษาหูดหงอนไก่ได้
6.วัคซีน HPV ไม่สามารถป้องกันโรคเริม หรือรักษาโรคเริมได้
คำแนะนำ
1.สตรีที่เคยมีบุตรแล้วสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้
2.ควรฉีดวัคซีน HPV ให้ตามกำหนดและครบ 3 เข็ม
3.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV
เพราะการป้องกัน ย่อมดีกว่าการรักษา “โรคมะเร็งปากมดลูก” สามารถป้องกันด้วย “การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV” และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตนเอง หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที และที่สำคัญควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อการดูแลรักษาด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้อย่างทันท่วงที
โรงพยาบาลนนทเวช พร้อมให้คำแนะนำ การป้องกัน ดูแลและรักษา “โรคมะเร็งปากมดลูก” ด้วยทีมแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบบการณ์ ภายใต้มาตรฐาน JCI ที่ทั่วโลกยอมรับ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่โรงพยาบาลนนทเวช
นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nonthavej.co.th/hpv-vaccine.php
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้