เตือน!! ระวัง “ไข้หวัดใหญ่” โรคที่ไม่ควรมองข้าม
ปฏิเสธไม่ได้นะคะว่า “ไข้หวัดใหญ่” เป็นโรคที่พบบ่อย ติดต่อถึงกันได้ง่าย และระบาดได้รวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ยิ่งในในช่วงฤดูฝน อากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนี้ เป็นสาเหตุทำให้โรคสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว
ทั้งนี้ไข้หวัดใหญ่ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย แถมยังป่วยได้ตลอดทั้งปี มีสถิติผู้ป่วยต่อปีจำนวนไม่น้อย ซึ่งไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายผ่านการหายใจ หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสติดอยู่ โดยไข้หวัดใหญ่มักแสดงอาการที่อาจทำให้ท่านสับสนกับไข้หวัดทั่วไป โดยอาการที่แสดงเด่น ๆ คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ท้องเสีย โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที
ไข้หวัดใหญ่ สามารถแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือสายพันธุ์ A และ B แม้ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน แต่ความรุนแรงค่อนข้างแตกต่างกันอยู่มาก วันนี้เรามาดูข้อมูลเชิงลึก อาการ การรักษา และการป้องกันไข้หวัดใหญ่กันดีกว่าค่ะ
ไข้หวัดใหญ่...ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว พบได้ตลอดปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Influenza Virus มีหลายสายพันธุ์ แบ่งออกได้เป็นประเภท A และ B ซึ่งมีความรุนแรงของโรคใกล้เคียงกัน และเป็นลักษณะภูมิต้านทานแต่ละประเภทเฉพาะตัว ไม่สามารถป้องกันข้ามสายพันธุ์ได้
ลักษณะการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
เนื่องจากมีระยะฟักตัวสั้น หมายความว่ารับเชื้อแล้วเป็นเร็ว ทำให้ติดต่อง่ายและรวดเร็ว มีระยะฟักตัว 1-2 วัน แต่ผู้รับเชื้ออาจมีอาการนานเป็นสัปดาห์ และมีความรุนแรงมากต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างเห็นได้ชัด โดยมีไข้สูง 39 – 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร ซึม ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง จนอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
การแพร่เชื้อ
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ติดต่อง่ายโดยการหายใจเอาเชื้อไวรัสจากสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำมูกหรือเสมหะ หรือการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อน และนำเข้าระบบทางเดินหายใจ
อาการ
ของไข้หวัดใหญ่จะปรากฏแล้วหลังจากรับเชื้อประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา ไม่ควรซื้อยากินเองเพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและแพร่กระจายเชื้อไวรัสให้กับคนใกล้ชิด
การรักษา
ถ้าหากมีอาการรุนแรงมากและอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรรักษาในโรงพยาบาลและให้ยาฆ่าเชื้อไวรัส ปัจจุบันมียาฆ่าเชื้อไวรัสที่ได้ผลดี เช่น Oseltamivir (Tamiflu) แต่ควรใช้โดยการกำกับดูแลของแพทย์ และกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง ปกติจะกินจนครบ 5 วัน ทุกอายุ ทุกเพศ ทุกสายพันธุ์
การป้องกัน
สามารถป้องกันได้โดยสุขอนามัยพื้นฐาน เช่น ล้างมือ ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกในกรณีผู้ป่วย หากอยู่ในภาวะเสี่ยงก็สามารถป้องกันโดยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนครอบคลุมได้ 4 สายพันธุ์
ซึ่งสามารถป้องกันโรคได้ดียิ่งขึ้น และต้องได้รับวัคซีนทุกปี
ปัจจุบันทางองค์กรอนามัยโลก (WHO) มีการประกาศใช้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด คือ แบบ Northern และ Soulthern ซึ่งบางทีพบว่าเหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง ทำให้การฉีดวัคซีนอาจจะไม่สามารถป้องกันได้ครบทุกสายพันธุ์ และในคนที่มีความเสี่ยงสูง หรือ คนที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ เช่น ในคนที่อายุมากกว่า 65 ปี อาจจะมีความจำเป็นต้องได้รีบวัคซีนมากกว่า 1 เข็มต่อปี โดยจะพิจารณาให้วัคซีนปีละ 2 ครั้ง ทั้ง Northern และ Soulthern คือ ประมาณเดือน มีนาคม-เมษายน และ ตุลาคม-พฤศจิกายน เพื่อให้ระดับภูมิต้านทานสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ครบครอบคลุมสายพันธุ์และตลอดปี
บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีดังต่อไปนี้
1.ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
2.ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
3.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
4.เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียน
5.บุคลากรที่ต้องสัมผัสกับบุคคลข้างต้น เช่น ผู้เลี้ยงดูผู้สูงอายุ ผู้เลี้ยงดูเด็ก บุคลากรทางการแพทย์ ครูที่มีหน้าที่สอนนักเรียน
เนื่องจากเชื้อไข้หวัดมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในแต่ละปี โดยไม่สามารถมีการป้องกันข้ามสายพันธุ์ได้ จึงจำเป็นต้องฉีดยาทุกปี เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหากติดเชื้อ ได้แก่ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรัง เบาหวาน และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หรือข้อมูลสุขภาพด้านอื่น ๆ สามารถสอบถามได้ที่โรงพยาบาลนนทเวช โดยเรามีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำตลอดเวลา
ขอบคุณข้อมูล : https://www.nonthavej.co.th/healthy24.php
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้