เช็คให้ชัวร์ รู้ทันภัยร้ายมะเร็งเต้านม

chutikan

ขีดเขียนหน้าใหม่ (44)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:47
เมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2563 10.11 น.

หากพูดถึงโรคร้ายที่ผู้หญิงทุกคนต่างกลัวและไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ก็คงไม่พ้นโรคร้ายอย่าง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุเพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบันได้มีผลวิจัยออกมาแล้วพบว่าอายุที่มากขึ้น เป็นปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อในทรวงอก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออัตราการเกิดมะเร็งเต้านม ข้อมูลเพิ่มเติมจากสถาบันสุขภาพระดับชาติจากประเทศสหรัฐอเมริกา ยังระบุอีกว่า ผู้หญิงในวัย 35 - 40 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมถึง 1 ใน 235 ในขณะที่เมื่ออายุก้าวสู่วัย 50 ปี ความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 54 และเมื่ออายุ 60 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 23 เลยทีเดียว

มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รีบรักษา มีโอกาสหายสูง
     มะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงทั่วโลก และเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย แต่เนื่องจากปัจจุบันผู้หญิงยุคใหม่มีความตื่นตัวในการตรวจสุขภาพมากขึ้น ทำให้เราสามารถพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ ได้เร็วขึ้น เปอร์เซ็นต์การตรวจพบเจอในระยะเริ่มต้นมีมากขึ้น การรักษาให้หายจึงมีมากขึ้นตามลำดับ

สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมจริง ๆ แล้ว มะเร็งเต้านมยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้เราไม่ทราบวิธีที่จะป้องกัน ยกเว้นกรณีที่เป็นกรรมพันธ์ ทราบสาเหตุแน่ชัด ซึ่งเราสามารถป้องกันได้

กลุ่มเสี่ยง
1.ผู้ที่มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นโรคมะเร็งเต้านม
2.ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป
3.ผู้ที่ใช้ยาฮอร์โมนนานติดต่อกันมากกว่า 5 ปี

     วิธีการการป้องกันที่ดีที่สุด...คือการตรวจพบเจอให้เร็วที่สุด ร้อยละ 90 ของเนื้องอกในเต้านมของสตรีถูกพบครั้งแรกด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นการตรวจเต้านมด้วยตนเองจึงเป็นเรื่องจำเป็น ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ หลังหมดระดูได้ 7- 10 วัน เพราะเป็นระยะที่เต้านมไม่บวมและนิ่มทำให้ตรวจได้ง่าย และสำหรับสตรีที่เริ่มเข้าสู่วัยหมดระดูหรือได้รับการตัดมดลูกไปแล้ว ควรทำการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง (Breast self-examination)
3 วิธีที่คุณเองก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง
1.ยืนหน้ากระจก
- ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย เปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้างว่ามีการบิดเบี้ยวของหัวนมหรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
- ประสานมือทั้งสองข้างเหนือศีรษะแล้วกลับมาอยู่ในท่าเท้าสะเอวพร้อมสำรวจหาสิ่งผิดปกติ
- ให้โค้งตัวมาข้างหน้าโดยใช้มือทั้งสองข้างวางบนเข่าหรือเก้าอี้  ในท่านี้เต้านมจะห้อยลงไปตรงๆ หากมีสิ่งผิดปกติก็จะเห็นได้ชัดมากขึ้น

2.นอนราบ
- นอนในท่าสบายและสอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ซ้าย
- ยกแขนเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านซ้ายแผ่ราบ ซึ่งจะทำให้คลำพบก้อนเนื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอกซึ่งมีเนื้อมากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งมากที่สุด
- ให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนางคลำทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ ที่สำคัญคือ ห้ามบีบเนื้อเต้านมเพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่

3.ขณะอาบน้ำ
- สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็กให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการจะตรวจบนศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างคลำในทิศทางเดียวกับที่คุณใช้ในท่านอน
- สำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ให้ใช้มือทั้งสองข้างนั้นประคองและตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งให้ตรวจคลำจากด้านบน ขณะอาบน้ำให้ถูสบู่ด้วยจะทำให้คลำง่ายขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การตรวจสุขภาพเพื่อค้นหารอยโรคซ่อนเร้น รวมทั้งเป็นคนช่างสังเกตดูว่าเรามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ เมื่อพบสิ่งผิดปกติควรรีบพบแพทย์ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที

Health’s Tip

** ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหารอยโรคซ่อนเร้น เพื่อนำไปสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที
** ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 35 ปี ควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ หลังหมดระดูได้ 7- 10 วัน เพราะเป็นระยะที่เต้านมไม่บวมและนิ่มทำให้ตรวจได้ง่าย

     สำหรับผู้หญิงที่มีแนวโน้มจะเป็น มะเร็งเต้านม นอกจากจะเกิดจากพันธุกรรมได้แล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นจากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากมีโอกาสเป็นมะเร็งมากเช่นกัน เพราะโรคร้ายไม่เข้าใครออกใครหมั่นสังเกตตนเอง ด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเองอยู่เป็นประจำก่อน หากคลำพบก้อนเนื้อที่มีลักษณะแข็งและขรุขระ โดยอาจเป็นก้อนเรียบหรืออาจพบผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือมีรูปร่างของเต้านมผิดไปจากเดิม หากพบสิ่งผิดปกติลักษณะนี้ควรรีบไปพบแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจให้ชัดเจนว่าไม่เป็นมะเร็งเต้านม หรือหากเป็นก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nonthavej.co.th/healthy16.php

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา