เทคนิคสวนหัวใจคืออะไร? มีข้อดีต่อการซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจอย่างไร?
เทคนิคการสวนหัวใจหรือ (TAVI/TAVR) คือการซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก เพื่อเพิ่มความแม่นยำและปลอดภัยเพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจสูงวัยที่มีความเสี่ยงในการรักษาสูง
นายแพทย์ระพินทร์ กุกเรยา หัวหน้าอายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้กล่าวว่า
“สังคมในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนเป็นสังคมของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โรคของความเสื่อมตามวัย ก็จะปรากฎมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
หนึ่งในโรคต่างๆเหล่านั้น คือ หลอดเลือดและลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ กรอบ แข็ง หมดความยืดหยุ่น และมีไขมัน หินปูนเกาะ ทำให้ลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิดหรือปิดไม่สนิท ส่งผลให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบรุนแรง ซึ่งพบได้บ่อยในลิ้นหัวใจเอออร์ติก คือ ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดแดงใหญ่ ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างพอเพียง มีผลให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย อ่อนกำลัง หน้ามืดเป็นลมได้บ่อยๆ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นในการสูบฉีดเลือด ทำให้ผนังหัวใจหนาตัว ซึ่งนำไปสู่ภาวะหัวใจวายในที่สุด
จากการติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้พบว่า ผู้ป่วยกว่า 80% ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว จะเสียชีวิตภายในระยะเวลา 3 ปี ส่วนผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ จะอยู่ด้วยความยากลำบาก ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีโรคประจำตัวอื่นๆร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถุงลมปอดเสื่อมสภาพ เป็นต้น ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตจากการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยการเปิดหน้าอกสูงมาก
เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตอยู่กับครอบครัวและบุตรหลานได้อย่างมีความสุข จึงมีการพัฒนาวิธีการรักษาโดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก ซึ่งใช้สายสวนหัวใจที่มีลิ้นหัวใจเทียมอยู่ปลายสายสอดเข้าไปทดแทนลิ้นหัวใจเดิมที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เพื่อให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ตามปกติ”
นายแพทย์โกสินทร์ ทัพวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพเผยว่า
“TAVI เป็นหัตถการที่เปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ เป็นหัตถการที่เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุที่มีอายุประมาณ 80 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงกับการผ่าตัดสูง ผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจตีบมากๆ ผู้ป่วยที่ปอดไม่ดี ผู้ป่วยที่เคยทำผ่าตัดหัวใจมาก่อนแล้ว ผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดใหญ่แข็งมากๆ ผู้ป่วยประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีลิ้นหัวใจกั้นระหว่างหัวใจช่องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่ หรือที่เรียกว่า ลิ้นหัวใจเอออติก (Aortic Valve), ผู้ป่วยที่ไม่มีทางเลือก, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือ การรักษาที่ยากซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากแต่เดิมผู้ป่วยมักไม่ได้รับการผ่าตัด เพราะมีความเสี่ยงที่จะผ่าตัด หลักการของ TAVI
เป็นการใช้ลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อยึดติดอยู่กับขดลวดพิเศษซึ่งสามารถม้วนให้เล็กเพื่อเข้าไปอยู่ในท่อเล็กประมาณ 8-10 มิลลิเมตรของระบบนำส่ง (Delivery system) จากนั้นก็สอดระบบนำส่งไปตามหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบไปยอดของหัวใจห้องล่างซ้าย ไปจนถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออติกส์ จากนั้นจึงทำการปล่อยตัวลิ้นหัวใจที่ม้วนอยู่ออกมาจากระบบนำส่ง ซึ่งจะทำให้ลิ้นหัวใจกางออก กลายเป็นลิ้นหัวใจอันใหม่ โดยที่ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กๆ บริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง หรือบริเวณหน้าอกด้านซ้ายหรือด้านบนของหน้าอกข้างขวา
ซึ่งข้อดีของการรักษาด้วย TAVI ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น, ร่างกาย ฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะความเจ็บปวดที่แผลน้อย เนื่องจากไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก และการดมยาลดน้อยลง รวมถึงความเสี่ยงในการรักษาลดลง ภาวะแทรกซ้อนน้อยลง เช่น ติดเชื้อ ไตวาย และมีโอกาสเสียชีวิตน้อยลง ซึ่งโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ มุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาสุขภาพและชีวิตให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ดูแลหัวใจผู้ป่วยอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพจะเลือกทำการรักษาด้วย TAVI ในห้องผ่าตัดไฮบริด (Hybrid OR) ซึ่งเป็นการนำศักยภาพของห้องสวนหัวใจและห้องผ่าตัดหัวใจและเส้นเลือดมารวมกันไว้ในห้องเดียวด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการผ่าตัดร่วมกับการสวนหัวใจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์ที่สามารถปรับมุมและเคลื่อนตัวได้ 360 องศา พร้อมระบบการนำภาพเอกซเรย์แบบ Flex move Heart Navigator และ Software Heart Navigator
ซึ่งสามารถถ่ายภาพหัวใจได้ทุกมุมอย่างละเอียด เพื่อให้แพทย์กำหนดและชี้จุดในการผ่าตัดหรือทำหัตถการแม่นยำ และปลอดภัยมากขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นจากการสวนหัวใจ หรือระหว่างใส่ขดลวดเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ ก็สามารถทำการผ่าตัดได้ทันที โดยไม่ต้องย้ายเตียงหรือย้ายห้อง
อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.bangkokhospital.com/hearthospital/en/patient-support/news-and-media/detail/8
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้